“นูราริเฮียง” ปีศาจในตำนานญี่ปุ่น ต้นแบบของ “มุซัน” ราชาอสูรใน Demon Slayer

(ซ้าย) นูราริเฮียง (ขวา) มุซัน (ภาพโดย Taikai2018 จาก Brigham Young University สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 4.0 และ เฟซบุ๊ก Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba)

คิบุตสึจิ มุซัน ราชาอสูรในเรื่อง “ดาบพิฆาตอสูร” มนุษย์คนแรกที่กลายเป็นปีศาจ อาจมีต้นแบบมาจากโยไคผู้ทรงพลังในตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่นอย่าง “นูราริเฮียง” ปีศาจในร่างชายชรา

Demon Slayer : Kimetsu no Yaiba หรือ ดาบพิฆาตอสูร มังงะสัญญาติญี่ปุ่น ผลงานของ โคโยฮารุ โกโตเกะ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2559 กลายเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์การ์ตูนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเล่าเรื่องราวของ คามาโดะ ทันจิโร่ เด็กหนุ่มผู้กลายเป็นนักล่าอสูร หลังจากครอบครัวของเขาถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม และเนซึโกะ น้องสาวของเขาต้องพลอยกลายเป็นอสูรไปด้วย

Advertisement
Demon Slayer : Kimetsu no Yaiba ดาบพิฆาตอสูร
Demon Slayer : Kimetsu no Yaiba หรือ ดาบพิฆาตอสูร เวอร์ชันอนิเมะ (ภาพจาก X Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba)

ในเรื่องดาบพิฆาตอสูร ทันจิโร่ต้องพบเจอกับอสูรมากหน้าหลายตา ซึ่งนายเหนือหัวของอสูรทั้งหมดในมังงะเรื่องนี้คือ คิบุตสึจิ มุซัน ราชาอสูรผู้ลึกลับ ทรงพลังอำนาจ และเป็นเจ้าแห่งการหลอกลวง เพราะมีความสามารถในการแปลงกายเหมือนปีศาจในตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่นอย่าง “นูราริเฮียง” (滑瓢 – Nurarihyon) ผู้นำของเหล่าโยไค

โยไค (妖怪 – Yokai) คือภูต ปีศาจ หรือผีพื้นบ้านญี่ปุ่น เป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติในตำนาน อาจให้โชคลาภหรือภัยร้ายก็ได้ โยไคจึงกึ่งกลางอยู่ระหว่าง คามิ (かみ – kami) คือเทพ วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ กับ โอนิ (鬼 – oni) คือผีร้าย สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่ได้อาศัยในสวรรค์หรือนรก แต่อยู่ร่วมกับมนุษย์ มีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างจากเรา ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง หรือแม้แต่ความปรารถนาที่จะก่อกวนผู้คน

ลักษณะของ นูราริเฮียง โดยทั่วไปจะเป็นชายชราศีรษะโตและโค้งมน ใบหน้าอิ่มเอิบ ผิวหนังเหี่ยวย่นตามวัย เสื้อผ้าอาภรณ์สวยงามอย่างผู้มีอันจะกิน หลักฐานเก่าสุดของโยไคตนนี้อยู่ในสมุดภาพ “เฮียกไก ซูกัง” (百怪図巻) ขบวนแห่ราตรีร้อยอสูร ตำราโบราณที่รวบรวมโยไคในตำนานญี่ปุ่นเอาไว้จำนวนมาก เขียนขึ้นในสมัยเอโดะ

ตามตำนานดั้งเดิม นูราริเฮียง ถือเป็นโยไคใจดี ค่อนข้างอ่อนโยน แต่มักแอบย่องเข้าบ้านผู้คนระหว่างที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ แล้วดื่มด่ำกับน้ำชา ข้าวปลาอาหาร เพลิดเพลินกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และทรัพย์สินมีค่าภายในบ้าน ประหนึ่งเป็นเจ้าบ้าน

ว่ากันว่า อิทธิฤทธิ์ของนูราริเฮียงสามารถสะกดให้คนภายนอกเข้าใจว่าเป็นของบ้าน ส่วนเจ้าบ้านตัวจริงที่พบเห็นเขาจะหลงลืมตัวตน และคิดว่านูราริเฮียงเป็นเจ้านายของบ้านเสียเอง จนกว่าโยไคตนนี้จะจากไป ทิ้งให้ผู้คนได้สติกลับมา พลางครุ่นคิดว่า “ผู้เฒ่าท่านนั้นคือใครกันละนี่?”

นูราริเฮียง
นูราริเฮียง – 滑瓢 ขณะแอบเข้าบ้านผู้คน (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ข้อดีของนูราริเฮียงคือ เขามักจะมาเยือนและจากไปอย่างสงบ ไม่ทำร้ายใคร บางครั้งจึงถูกขนานนามว่า “เทพอาคันตุกะ” บ้านร้างบางแห่งในญี่ปุ่นจะถูกดัดแปลงโดยการเพิ่มศาลเจ้าและจุดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อต้อนรับเทพอาคันตุกะที่จะแวะมาเยี่ยมเยือน

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชื่อเสียงด้านความเจ้าเล่ห์และฉลาดแกมโกงของนูราริเฮียงถูกเพิ่มเข้ามา เขาสามารถใช้ทักษะการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตา และมีอิทธิฤทธิ์ในการล่อลวงหรือเอาชนะมนุษย์รวมถึงโยไคตัวอื่น ๆ ได้ ไปจนถึงการแต่งเติมเรื่องรูปลักษณ์ว่าเป็น “สิ่งมีชีวิตไร้หน้า เหมือนปลาดุก ถือกำเนิดจากดวงจิตแห่งการล่อลวง”

เรื่องราวนี้ถูกสันนิษฐานว่าอาจเชื่อมโยงกับทฤษฎีสัตว์ทะเลรูปร่างกลม ๆ ในตำนานแถบทะเลเซโตะ พื้นที่จังหวัดโอคายามะของญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อว่า “โอมิโบสึ” (星海坊主 – Umi bozu) สัตว์ลึกลับขนาดตัวเท่าศีรษะมนุษย์นี้มักจะผลุบ ๆ โผล่ ๆ ตามผิวน้ำเพื่อล่อหลอกและเย้าแหย่ชาวประมง ก่อนจะอันตรธานไปอย่างลึกลับ

นูราริเฮียงยังมีสถานะ “ราชาอสูร” บทบาทดังกล่าวพบได้ในมังงะเรื่อง GeGeGe no Kitaro หรืออสูรน้อยคิทาโร่ ผลงานของ มิซูกิ ชิเงรุ นักเขียนการ์ตูนระดับตำนานของญี่ปุ่น ผู้มีบทบาทในการนำเสนอโยไคในรูปแบบมังงะ ทำให้ผีพื้นบ้านญี่ปุ่นปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปสมัยใหม่และโด่งดังไปทั่วโลก นูราริเฮียงเป็นผู้นำสูงสุดของเหล่าโยไคในมังงะเรื่องดังกล่าว และเป็นที่เคารพยำเกรงของปีศาจทั้งหลายในเรื่อง ทำให้ภาพลักษณ์ความเป็นเจ้าแห่งปีศาจ ราชาแห่งอสูร รวมถึงพลังอำนาจของนูราริเฮียงเด่นชัดมากขึ้น

ดังเราจะเห็นถึงลักษณะร่วมกันระหว่าง “มุซัน” ใน ดาบพิฆาตอสูร กับ นูราริเฮียง ทั้งความเป็นราชาอสูร ผู้บัญชาการเหล่าปีศาจ อสูรทั้งหลายล้วนให้ความยำเกรงและเชื่อฟัง รวมถึงมีอิทธิฤทธิ์ในการแปลงกาย เปลี่ยนแปลงรูปร่าง – รูปลักษณ์ของตน และหลอกลวงมนุษย์ แต่มุซันมักจะอยู่ในร่างมนุษย์เพศชายวัยฉกรรจ์ ไม่ใช่ชายชราแบบนูราริเฮียง

แม้จะมีต้นกำเนิดเป็นปริศนา แต่การเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ และเป็นเจ้าแห่งเหล่าภูตผีปีศาจ ทำให้ตัวตนของนูราริเฮียงกลายเป็นเรื่องเล่าสุดอมตะของญี่ปุ่น มีอิทธิพลต่อมังงะและอนิเมะมาถึงศตวรรษที่ 21

อาจเป็นเพราะความคาดเดายาก ทำให้ปีศาจในตำนานโบราณตนนี้ยังมีเสน่ห์ ความน่าสนใจ และดึงดูดคนรุ่นใหม่ไม่เสื่อมคลาย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://yokai.moifa.org/#/

https://gamerant.com/demon-slayer-characters-japanese-mythology/

https://www.nationalgeographic.com/history/article/nurarihyon-yokai-japanese-folklore-demon-slayer


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2567