จับโกหก “ยาขอบ” 70 ปี-เชื่อเป็นตุเป็นตะ “ผู้ชนะสิบทิศ” เขียนจากพงศาวดารพม่า 8 บรรทัด?

ผู้ชนะสิบทิศ ยาขอบ

เป็นความเชื่อที่บอกต่อๆ กันมาว่า โชติ แพร่พันธุ์ หรือ “ยาขอบ” ผู้เขียน นวนิยาย (ปลอม) พงศาวดารเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” นำโครงเรื่องมาจากพงศาวดารพม่าเพียง 8 บรรทัด

ฟังไม่ได้สรรพ จับเอามากระเดียด อาจเป็นเรื่องจริง เพราะจากหลักฐานซึ่งเป็นคำพูดแกมสัพยอกของยาขอบเองก็ดี นักประพันธ์สมัยนั้นพูดเองก็ดี รวมถึงคำพูดของอีกหลากท่านที่อยู่ในแวดวงวรรณกรรม ก็ต่างเชื่ออย่างสนิทใจว่า ยาขอบน่าจะนำความบางส่วนจากพงศาวดารพม่า 8 บรรทัด ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มาสร้างเป็นอมตนิยายที่มีตัวหนังสือมากกว่า 1,554,400 อักษร

และก็เชื่ออย่างนั้นเรื่อยมา นับจากยาขอบเขียนนวนิยายซึ่งถือกันว่าเป็นภาคแรกของ “ผู้ชนะสิบทิศ” ตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สุริยา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2472

เขียน “ผู้ชนะสิบทิศ” ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จนไปจบภาคหนึ่งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 จากทั้งหมด 3 ภาค ซึ่งมีกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” เป็นบรรณาธิการ

หากนับจาก พ.ศ. 2472 อันเป็นปฐมสำหรับงานเขียน (ปลอม) พงศาวดาร ถึงปีปัจจุบัน (เมื่อ พ.ศ. 2542-กองบก.ศิลปวัฒนธรรม) ความเชื่อได้ล่วงเลยมากว่า 70 ปีแล้ว!

โชติ แพร่พันธุ์ หรือ ยาขอบ

เพราะฉะนั้น หากจะวิเคราะห์ ถึงสาเหตุแห่งความเชื่อ ก็น่าที่จะย้อนไปดูเมื่อครั้ง “ศรีบูรพา” บอกแก่ยาขอบให้เขียนเรื่อง “ยอดทหารหาญ” แทน

ซึ่งครั้งนั้น ยาขอบได้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกไว้ในเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าขึ้นศาล” ดังความท่อนหนึ่งว่า…

“วันใดที่คุณกุหลาบยังมึนไม่โปร่งใสพอสำหรับจะเขียนยอดทหารหาญ ก็โยนภาระอันนั้นมาให้ข้าพเจ้า นี่แหละเป็นเหตุให้เมื่อออกหนังสือพิมพ์สุริยา คุณกุหลาบจึงกำหนดให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องปลอมพงศาวดารชื่อ ‘ยอดขุนพล’ อันเป็นเบื้องต้นแห่งผู้ชนะสิบทิศ”

“ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจตัวเองเลย แต่เขาก็บอกว่า ทำไมแกเขียนยอดทหารหาญในบางวันแทนฉันได้ เพราะฉะนั้นแกก็ควรจะเขียนเรื่องปลอมพงศาวดารทำนองยอดทหารหาญ เป็นงานของแกเองได้เหมือนกัน”

กอปรกับคำพูดของ “ศรีบูรพา” ที่บอกว่า…ในการเขียนนิยายพงศาวดารของเรา เราจะเอามาแต่นามของบุคคลในพงศาวดาร และลักษณะนิสัยของบุคคลนั้น ตามที่เราจะศึกษาได้จากพฤติการณ์ของเขาที่ปรากฏในพงศาวดาร ส่วนพฤติการณ์ของเขาที่จะปรากฏในนิยายของเรานั้น จะเป็นพฤติการณ์ที่เราคิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งเราอาจจะประดิษฐ์ให้สนุกสนาน น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในพงศาวดารเป็นไหนๆ

จากนั้น “ศรีบูรพา” ก็แนะนำให้ยาขอบไปอ่าน สังเกตการผูกเรื่อง และดำเนินเรื่องจากนิยายฝรั่ง ชนิดที่ร่ำลือกันว่าอ่านแล้ววางไม่ลง พร้อมกันนั้นก็ได้มอบหนังสือเรื่อง “ทแกล้วทหารสามเกลอ” (The Three Musketeers) ของ Dumas ที่ “ครูเหลี่ยม” แปลให้ไป 1 เล่ม

กำลังใจที่เกิดจากคำพูด การกระทำของ “ศรีบูรพา” ครั้งนั้น ไม่เพียงเป็นการจุดประกายความคิด ความฝันให้แก่ยาขอบ หากยังทำให้เขาเกิดอาการประหม่า และกังวลใจไม่น้อย สำหรับงานเขียนนวนิยายครั้งแรก ซึ่งต่อมากลายเป็นอมตนิยายประวัติศาสตร์แห่งวงการวรรณกรรม

ยาขอบ เขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ในเรื่อง “คำปราศรัย” ดังความตอนหนึ่งว่า…ฉันต้องออกวิ่งเที่ยว ขอจดหมายของฉันคืนมาจากบรรดาผู้รับทั้งหลาย รวบรวมคืนได้ราว 700 ฉบับ แล้วก็มาลอกบางประโยค บางตอน ที่เห็นว่าจะใช้ในการเขียนหนังสือไปเบื้องหน้าได้เข้าไว้ เป็นอันว่าฉันได้สร้างเครื่องมือพรรณนาความเรียงในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ไว้สำหรับให้ตนเองใช้ จากสิ่งที่เป็นของตนเองแต่ดั้งเดิมมานั้นเอง

“ในที่สุดฉันก็จับปากกาขึ้นเขียนนวนิยายเป็นครั้งแรกในชีวิต เจ้าจะเด็ดก้าวจากหลังม่านออกมาในท่ามกลางคนดู ซึ่งไม่ได้ตบมือให้เลย ฉันเขียนอยู่หลายวันด้วยทั้งว้าเหว่และหวาดหวั่น ค่าที่เรื่องของตนดูไม่เป็นที่แยแสหรือมีร่องรอยว่าจะมีใครสนใจเสียเลย”

ไม่นาน ยาขอบได้ค้นพบประตูลับ จากจดหมายของผู้อ่านที่มีเข้ามาทั้งติและชม จนให้รู้สึกได้ว่าประตูลับที่ค้นพบนี้ เสมือนหนึ่งเป็นสะพานแห่งอักษร ที่ทอดเชื่อมระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านให้รู้จักกันในมิติที่กว้างขึ้น

ผลตรงนี้ ไม่เพียงทำให้ “ยอดขุนพล” ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านอย่างกว้างขวาง หากยังถูกนำมารวมเล่มเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2476 ด้วย

นับจาก “ผู้ชนะสิบทิศ” ปักทวนแทงใจผู้อ่านไปเรียบร้อยแล้วใน “ประชาชาติ” ตั้งแต่ พ.ศ. 2475

เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากคำนำที่ยาขอบเขียนในรวมเล่ม “ยอดขุนพล” จึงพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า…

“เรื่องยอดขุนพลนี้ ข้าพเจ้าเขียนจากข้อความซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารพม่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ หน้า 107 ระหว่างบรรทัดที่ 4 ถึงบรรทัดที่ 11 เหตุที่เสนอโดยละเอียดดังนี้ก็เพื่อที่จะบอกให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เมื่อตัวจริงมีอยู่ในพงศาวดารมีอยู่ 8 บรรทัด แต่เรื่องยอดขุนพลมี 3,224 บรรทัด”

“ฉะนั้น ส่วนที่แตกต่างออกไปจากต้นเรื่องเดิมนั้น ย่อมเป็นส่วนที่ข้าพเจ้าจะต้องรับผิด ถ้าได้สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินขึ้นไม่สมใจของท่านผู้อ่านด้วยประการใดก็ดี”

กระนั้น ก็ยังไม่มีใครทราบอยู่ดีว่า พระราชพงศาวดารพม่า 8 บรรทัด หน้า 107 ระหว่างบรรทัดที่ 4 ถึงบรรทัดที่ 11 นั้นมีใจความว่ากระไร?

กระทั่งไปเจอหลักฐานที่ “ส.พลายน้อย” รวบรวมไว้ในหนังสือ “ยาขอบ ชีวิต และงานของผู้แต่งอมต นิยายผู้ชนะสิบทิศ” หน้า 91 ที่บอกว่า…มีผู้อ่านหลายคนถามผู้เขียนว่า ที่ยาขอบบอกว่าเขียนจากพระราชพงศาวดารพม่า 8 บรรทัดนั้น มีข้อความว่ากระไร ที่ถามเช่นนี้ก็เพราะไม่เคยเห็นพระราชพงศาวดารพม่าฉบับที่ยาขอบอ้างถึง และถ้าเชื่อตัวเลขที่พิมพ์ในหนังสือประวัติบางเล่มหน้า 108 แล้ว ก็จะไม่ได้ความอันควรนำมาเขียนได้เลย เพราะตัวที่อ้างถึงนั้น อยู่หน้า 107 ในบรรทัด 4 มีความว่า…

“ราชกุมาระกุมารีแลจะเด็ดทั้ง 3 ก็เล่นหัวสนิทสนมเจริญวัยมาด้วยกันในพระราชวังเมืองตองอูจนรุ่นขึ้นอยู่มาวันหนึ่ง พระราชเทวีทรงสังเกตุเห็นอาการสนิทสนมกันอย่างไม่ชอบกล เหลือจะอภัยโทษได้ในระหว่างพระราชบุตรีกับของจะเด็ดบุตรพระนมของพระราชกุมารมังตรา อันเป็นอนุชาต่างพระมารดาของพระราชธิดาองค์นั้น”

“จึงกราบทูลฟ้องพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์กริ้ว พระมหาเถรขัติยาจารย์ขอพระราชทานโทษจึงโปรดอภัยให้ แล้วตรัสให้ไปรับราชการเป็นเจ้าพนักงานผู้น้อยอยู่ในกรมวัง จะเด็ดพากเพียรพยายามเอาใจใส่ในราชการ โดยจงรักภักดีอย่างแข็งแรงที่สุด จึงได้เลื่อนยศบรรดาศักดิขึ้นโดยลำดับ จนได้เป็นนายทหารมีตำแหน่งแลยศสูง”

จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเบื้องต้นน่าจะเป็นปฐมเหตุแห่งการปลอมพงศาวดารพม่า ตามที่ “ยาขอบ” กล่าวอ้างจริง แต่กระนั้น ก็ให้อดสงสัยต่อไปไม่ได้ว่า 8 บรรทัด จากพงศาวดารพม่า “ยาขอบ” สามารถรจนาสร้าง “ผู้ชนะสิบทิศ” ได้มากกว่า 1,554,400 อักษร รวมเล่มได้มากถึง 8 เล่ม จริงหรือ?

ทั้งๆ ที่ “ยาขอบ” เคยสัพยอกตัวเองว่า…ใครหนอจะเชื่อได้ลงคอ ว่าตัวหนังสือเล็กๆ ที่พิมพ์อยู่บนหน้ากระดาษ นับได้เป็นเรือนพันหน้า ไม่ใช่เพียงจำนวนหลายร้อยหน้านี้ จะเป็นงานเขียนซึ่งเกิดจากน้ำมือของคนขี้เกียจ ผมมองดูเองก็ยังไม่เชื่อว่าตนเองจะเขียนได้ขนาดนี้

กับความท่อนหนึ่งที่บอกแต่เพียงสั้นๆ ว่า…ผมได้แต่เพียงลอกตะลุยเขามา

ปุจฉาตรงนี้ เมื่อศึกษาจากบทวิเคราะห์ในหนังสือโขน, คาราบาว, น้ำเน่าและหนังไทย เรื่อง “ประวัติศาสตร์ที่เหนือประวัติศาสตร์ในผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ” ที่ “อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์” เป็นผู้เขียน จึงได้ภาพที่ขัดแย้งกันว่า…

“ในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ นอกจากยาขอบได้อ่านหนังสือวรรณคดีไทยมาอย่างโชกโชน ท่านน่าจะได้อ่านประวัติศาสตร์พม่ามาปรุโปร่งไม่น้อย หนังสือที่ท่านอ้างไว้อย่างน้อยก็มีสองเล่มคือ พระราชพงศาวดารพม่า ฉบับของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และประวัติศาสตร์สากลของหลวงวิจิตรวาทการ”

“นอกจากนี้ ยังเชื่อแน่ว่าท่านได้อ่านพงศาวดารมอญฉบับแปลด้วย เนื่องจากชื่อเฉพาะที่ท่านใช้ในผู้ชนะสิบทิศ ล้วนเป็นชื่อที่ออกเสียงตามสำเนียงมอญทั้งสิ้น เหตุฉะนั้นเมื่ออ่านผู้ชนะสิบทิศ จึงทำให้หวนระลึกถึงเหตุการณ์ในพงศาวดารพม่าอยู่มาก นับตั้งแต่ชื่อตัวละครจำนวนไม่น้อย ก็เป็นชื่อที่ปรากฏจริงในพระราชพงศาวดาร หลายคนเข้าใจผิดว่าท่านไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์พม่ามากไปกว่านั้น”

“และเท่าที่ผมได้ประสบมาด้วยตัวเอง บางคนถึงกับเหมาว่าท่านไม่รู้ประวัติศาสตร์ไทยด้วยว่าบุเรงนองจะมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก เหตุฉะนั้นเมื่อท่านได้ทราบในภายหลัง ท่านจึงไม่สามารถจบเรื่องผู้ชนะสิบทิศของท่านได้ นับเป็นจินตนาการเกี่ยวกับยาขอบอันผาดโผน แต่ไม่ได้เรื่องเอาเลย”

“เฉพาะเพื่อรวบรวมเอาชื่อเหล่านี้มาใช้ ยาขอบก็ต้องอ่านพระราชพงศาวดารพม่าเป็นปึกแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ 8 บรรทัด ยิ่งมาคิดถึงว่ามีเหตุการณ์บางอย่างในผู้ชนะสิบทิศ ที่ปรากฏเค้าอยู่ในพระราชพงศาวดารพม่าหลายยุคสมัย ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่ายาขอบอ่านพระราชพงศาวดารพม่า (และคงจะมอญด้วย) อย่างปรุโปร่งทีเดียว”

ความตรงนี้ เมื่อสอบถามอาจิณ จันทรัมพร อดีตที่ปรึกษา และบรรณาธิการอำนวยการโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก ก็ได้ภาพที่สอดรับกันว่า…

“เป็นไปไม่ได้เลยที่ว่า ยาขอบจะอ่านพระราชพงศาวดารพม่าเพียง 8 บรรทัด แล้วมาเขียนเป็นนวนิยายขนาด 5 เล่มจบ ผมว่าเรื่องนี้เป็นความถ่อมตนประการหนึ่งของยาขอบ คือไม่อยากให้ใครตำหนิติเตียน เพราะเขากำลัง (ปลอม) พงศาวดารพม่า อีกประการหนึ่งน่าจะเป็นอารมณ์สนุกสนาน เนื่องจากเขามักจะกล่าวติดตลกอยู่เรื่อยๆ ว่า ตัวเขาเองจบแค่ ม.4 จากโรงเรียนเทพศิรินทร์เท่านั้น แต่สามารถสร้างงานที่ยิ่งใหญ่ได้”

“ที่สำคัญ คุณอย่าลืม ว่าช่วงชีวิตวัยเด็กของยาขอบ เขาถูกฝึกการอ่านหนังสือให้กับ พ.ต.อ.พระยาบริหารนครินทร์ฟัง อ่านไม่อ่านเปล่า เขายังถูกฝึกเรื่องการย่อความด้วย ถ้า พ.ต.อ.พระยาบริหารฯ หลับ แล้วตื่นขึ้นมาจำความเดิมไม่ได้ เขาก็ต้องเล่าให้ฟังอีกครั้ง และหนังสือที่อ่านส่วนใหญ่เป็นหนังสือจีน เช่น เลียดก๊ก สามก๊ก ฮั่นเฉียว และอื่นๆ”

“รวมไปถึงตำนานยุทธศิลป์ของเสด็จในกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และหนังสือที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการรบต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า หนังสือเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการสัประยุทธ์ทั้งสิ้น ที่สำคัญ หนังสือเหล่านี้ล้วนเป็นหน้าต่างบานใหญ่ที่สะท้อนให้เขารู้จักตนเอง และรู้ว่าโลกในหนังสือมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง”

“เหมือนช่วงหนึ่งที่ยาขอบไปอาศัยอยู่กับท่านเจ้าคุณพิทักษ์ภูบาล และที่บ้านหลังนี้มีหนังสือมากมายอยู่ในตู้ ด้วยความเป็นเด็กเขาจึงหยิบหนังสือเหล่านั้นมาอ่าน และบังเอิญท่านเจ้าคุณมาเห็นเข้า จึงหยิบหนังสือออกจากมือเขาทันที พร้อมกับพูดว่า ต้องอ่านระวัง มือก็ต้องเช็ดล้างให้สะอาดเสียก่อน เจ้าเห็นไหมหนังสือเหล่านี้ มีลายพระหัตถ์เซ็นพระราชทานแก่ข้าเป็นพิเศษ จากนั้นก็ชี้ให้ดูพระปรมาภิไธยแล้วจึงส่งหนังสือให้อ่านต่อ”

ว่าไปแล้ว การที่ยาขอบอาศัยอยู่บ้านท่านเจ้าคุณพิทักษ์ภูบาล เป็นความโชคดีไม่น้อยต่อวงการวรรณกรรมในเวลาต่อมา เพราะนอกจากจะได้อ่านหนังสืออย่างที่ชอบแล้ว เขายังไม่ต้องอ่านให้ใครฟังอีกต่อไปด้วย ที่สำคัญเขาได้มีโอกาสรู้จักหนังสือที่ดีที่สุดอีกเล่มหนึ่งก็ที่นี่ นั่นคือ “มหาภารตยุทธ์”

ว่ากันว่า หลังจากที่เขาอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ได้เกิดเหตุการณ์บางอย่างกับตัวเขาด้วย!

“ขณะที่นอน ก็นอนไม่หลับ เพราะเห็นและได้ยินแต่ภาพและเสียงคนตะลุมบอนกันในสนามรบ เป็นกองทัพรถศึกรูปร่างเหมือนรถพระอาทิตย์ในรูปแล่นกันสนั่นหวั่นไหว ลูกศรสาดโปรยอยู่แน่นหนาในท้องฟ้า ภาพและเสียงเหล่านี้หลอกหลอนผมอยู่ตลอดคืน พอตื่นขึ้นตอนกลางวัน จึงนอนซมไปด้วยพิษไข้”

“จากนั้น ก็ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้อีกเลย กระทั่ง 10 ปีผ่านไป เมื่อเริ่มใช้นามปากกาว่ายาขอบ แล้วได้มีโอกาสเขียนเรื่องเชิงเล่า ก็ได้มีโอกาสหยิบเรื่องนี้มาเขียนไปตามความประทับใจ จากนั้นก็เขียนเรื่องเชิงเล่าแบบนี้อีกหลายๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องสามก๊ก ฉบับวณิพกด้วย”

เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นการด่วนสรุปเกินไป หากจะบอกว่า “ผู้ชนะสิบทิศ” น่าจะมาจากการอ่านหนังสือที่หลายหลากของยาขอบ ในช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านมา

หาใช่เป็นงานเขียนที่อาศัย “จินตนาการ” ของ “นักประพันธ์” เดินเรื่องแต่เพียงถ่ายเดียวไม่!

และเมื่อศึกษา ก็พบคำพูด เอกสาร ที่ต่างช่วยยืนยันได้ว่า ยาขอบน่าจะอ่านหนังสือ ค้นคว้า หรือสอบถามจากคนที่มีความรู้มากกว่า เผื่อว่าเวลาเขียน “ผู้ชนะสิบทิศ” จะได้ไม่ติดขัด

หนึ่งในนั้นคือ “เวทางค์” หรืออดีตนายร้อยตรีทองอิน บุณยเสนา นักเขียนชื่อดังในคณะสุภาพบุรุษ และสหายสนิทของยาขอบ ได้เขียนเล่าไว้ว่า…

“ข้างที่นอนของเพื่อนจะมีหนังสือพงศาวดารพม่าของเสด็จในกรมนราธิปประพันธ์พงศ์ หนังสือสามก๊ก ราชาธิราช ตลอดจนหนังสือตำรายุทธศาสตร์ของไอ้ผี ของเพื่อนวางซ้อนกันไว้ตั้งใหญ่ จากหนังสือพงศาวดารพม่าซึ่งในท้ายเล่มจะมีคำในภาษาพม่าหรือมลายู และมีคำแปลไว้ให้เสร็จนั่นเอง เพื่อนได้ใช้สำหรับการตั้งชื่อตัวละครในผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งจะหาไม่ได้ในพงศาวดารจริงของพม่า หรือมลายูเองเลย”

กับคำพูดของชลอ เภกะนันท์ เพื่อนสนิทที่เคยอาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านของ พ.ต.อ.พระยาบริหารนครินทร์ ก็ได้เล่าไว้ในหนังสือ “ยาขอบอนุสรณ์” ดังความตอนหนึ่งน่าสนใจว่า…

“โชติเขาไปเขียนเรื่องอิงพงศาวดาร สร้างชื่อสร้างเสียงยอดขุนพล และผู้ชนะสิบทิศ เป็นที่ติดปากติดใจคนอ่านนัก เรื่องยังไม่จบมาติดอยู่ตรงเรื่องเพชรนิลจินดา ขอให้ข้าพเจ้าช่วยค้นให้ พอข้าพเจ้าค้นได้ โชติก็มาด่วนตาย เขาเคยบอกกับข้าพเจ้าว่าจะจบลงตรงบุเรงนองมหาราช คือตัวจะเด็ดปลอมตัวเป็นพ่อค้าขายเพชรเข้าไปจนถึงตีเมืองยะไข่ เลยเข้าไปถึงกรุงสยาม”

เพราะฉะนั้น สมมติฐานที่ตั้งไว้เกี่ยวกับเรื่อง “จับโกหกยาขอบ 70 ปี เชื่อเป็นตุเป็นตะ ผู้ชนะสิบทิศ มาจากพงศาวดารพม่า 8 บรรทัด” จึงน่าจะไม่ใช่การหยิบโครงเรื่องพระราชพงศาวดารพม่าเพียง 8 บรรทัด ตามที่ยาขอบกล่าวอ้างเสียแล้ว

เพราะจากหลักฐานเอกสาร คำพูดของเพื่อนนักประพันธ์ นักประวัติศาสตร์วรรณกรรมเบื้องต้น คงพอสรุปภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า ในช่วงผ่านมายาขอบพยายามสร้างความเชื่อให้เป็นเช่นนั้น

ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับอนุชนรุ่นหลังจะเชื่อตามที่ยาขอบกล่าวอ้างไว้หรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษากันต่อไป

แต่อย่าลืมว่าประวัติศาสตร์ในช่วงผ่านมา ไม่ได้บอกเล่าความจริงไปเสียทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้ปกครองประเทศขณะนั้นด้วย

แม้แต่ประวัติศาสตร์วรรณกรรมของไทย…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก :

หนังสือยาขอบอนุสรณ์ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า

หนังสือยาขอบ ชีวิตและงานของผู้แต่งอมตนิยาย “ผู้ชนะสิบทิศ” โดย “ส.พลาย น้อย” สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง

หนังสือโขน, คาราบาว, น้ำเน่าและหนังไทย โดย “นิธิ เอียวศรีวงศ์” สำนักพิมพ์มติชน

หนังสือบุเรงนองกะยอดินนรธา กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย โดย “ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2565