“ศรีบูรพา” วางแผนให้ “ยาขอบ” ปลอมพงศาวดารเป็น “ผู้ชนะสิบทิศ”

ในวงจรการเขียนนิยายอิงพงศาวดาร ผู้ชนะสิบทิศจึงไม่ได้เป็นนิยายชุดบุกเบิก

ก่อนหน้าที่ “ยาขอบ” จะเขียนยอดขุนพลขึ้นเป็นชีวิตของบุเรงนองตอนปฐมวัย ได้มีนิยายอิงพงศาวดารไทยและโดยเฉพาะนิยายอิงพงศาวดารจีนออกสู่ตลาดแล้วอย่างกว้างขวาง แต่ประเด็นสําคัญนั้นอยู่ที่ ยอดขุนพล และ ผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งถือกําเนิดขึ้นในขณะเวลาหรือยุคสมัยที่นิยายทั้งสองประเภทได้พัฒนาขึ้นมาจนถึงจุดที่ “เกินสุกงอม” หรือเรียกได้ว่ามาถึง “ทางตัน” แล้ว

โดยเฉพาะนิยายอิงพงศาวดารไทยที่ไม่อาจฟันฝ่าสร้างฐานะภาพที่เป็นเลิศให้ตัวละครไปได้ไกลเกินกว่าการเป็น “ข้าช่วงใช้” ใต้เบื้องพระยุคลบาท ขณะที่กงล้อประวัติศาสตร์ได้หมุนคืบหน้าเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลง สามัญชนผู้มีการศึกษามีสํานึกในศักยภาพของปัจเจกบุคคลสูขึ้น และไม่ได้พอใจอยู่กับสภาพของสังคมวัฒนธรรม หรือการปกครองที่ยังเน้นความต่างทางชนชั้นหรือฐานันดรศักดิ์เป็นสําคัญ

ยอดขุนพล และ ผู้ชนะสิบทิศ นับเป็นนิยายที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการสั่งสมประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจในวิถีความเป็นไปของสังคมการเมือง และข้อจํากัดของนิยายอิงพงศาวดารในเวทีนักอ่านไทยเป็นอย่างดี

เรื่อง ยอดขุนพล ของ “ยาขอบ” เริ่มปรากฏสู่สายตาประชาชนเป็นครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “สุริยา” (พ.ศ. 2474) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ [ศรีบูรพา] ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์คนสําคัญของยุคและคณะทําขึ้นให้เป็น “หนังสือพิมพ์น้องของไทยใหม่” ที่ออกมาก่อน โดยมุ่งหมายให้ “สุริยา” ลงพิมพ์เรื่องจําพวกเบาๆ ขายฉบับละ 3 สตางค์ (ในขณะที่ไทยใหม่ขายฉบับละ 5 สตางค์)

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เล่าเพิ่มเติมไว้ใน “ในคัคนานต์แห่งวรรณกรรมไทยได้สูญเสียนกอินทรีย์ไปตัวหนึ่ง” ว่า “ด้วยหนังสือพิมพ์ ‘สุริยา’ ชุมนุม มิตรสหายของเราได้ขยายใหญ่ขึ้น ข้าพเจ้าเรียก ‘ยาขอบ’ มารับตําแหน่งบรรณาธิการ และได้สันต์ เทวรักษ์ ชาวเทพศิรินทร์รุ่นเดียวกันมาช่วยงาน แผนกบันเทิง ณ ที่นี้ นาม ยาขอบ ได้ขึ้นสู่ตําแหน่งดารา”

ต่อมาเมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ และคณะออกจากไทยใหม่ และไปรวมกันอีกครั้งที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ก็ได้ชักชวน “ยาขอบ” ให้มาเขียนเรื่องทํานองเช่นยอดขุนพล ซึ่งเรียกกันว่าเป็นนิยายปลอมพงศาวดารอีกครั้ง ซึ่ง ณ สนามประชาชาตินี้เอง ที่นิยายของยาขอบภายใต้ชื่อ ผู้ชนะสิบทิศ ได้ถือกําเนิด (เริ่มลงพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475)

ผู้ชนะสิบทิศ เป็นงานที่เกิดจาก “น้ำมือ” และ “มันสมอง” ของสามัญชน คือ เป็นงานที่เขียนขึ้นด้วย “น้ำมือ” ของนายโชติ แพร่พันธุ์ หรือ “ยาขอบ” และขณะเดียวกันก็เป็นงานที่ได้ต้นตอมาจากแบบอย่างและการวางแผนด้วยปัญญาอันเลอเลิศของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่มุ่งจะ “ทําการปฏิวัติเลิกล้มจารีตอันเหนียวแน่นข้อหนึ่งในการทําหนังสือพิมพ์” คือ เลิกล้มการลงพิมพ์นิยายที่เรียกกันว่า พงศาวดารจีน ซึ่ง “…ในตอนหลังๆ นี้ออกจะเต็มไปด้วยความไร้สาระ”

และจะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ปฏิบัติจารีตการเขียนนิยายอิงพงศาวดารไทยพร้อมกันไปด้วย โดยยึดหลักเกณฑ์ว่า ในการเขียนนิยายอิงพงศาวดารของเรา เราจะเอามาแต่นามของบุคคลในพงศาวดารและลักษณะนิสัยของบุคคลนั้นตามที่เราจะศึกษาได้จากพฤติการณ์ของเขาที่ปรากฏ ในพงศาวดาร ส่วนพฤติการณ์ของเขาที่จะปรากฏในนิยายของเรานั้นจะเป็นพฤติการณ์ที่เราคิดขึ้นใหม่ ซึ่งเราอาจจะประดิษฐ์ให้สนุกสนานน่าตื่นเต้นยิ่งกว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในพงศาวดารเป็นไหนๆ”

แนวลักษณะการเขียนตามกล่าวนี้ “ยาขอบ” ได้รับเข้าไว้อย่างเต็มที่ และซ้ำยังได้อาศัยแบบอย่างนิยายเรื่อง “ยอดทหารหาญ” ที่ “ศรีบูรพา” เองเขียนเป็นเรื่องอิงพงศาวดารมอญลงไว้ในไทยใหม่ด้วย

“ยาขอบ” ได้เล่าถึงข้อเสนอแนะของ “ศรีบูรพา” ที่ส่งผลโดยตรงต่องานวรรณกรรม “ปลอมพงศาวดาร” ของเขาว่า

“ ‘ศรีบูรพา’ แนะให้ข้าพเจ้าโจนเข้าไปในชนิดของเรื่องที่ผู้อ่านกําลังต้องการ แต่ให้สติว่า ควรถือเอาการบําเรอผู้อ่านด้วยความสนุกและให้งดงามด้วยศิลปของการประพันธ์ยิ่งกว่าการกอดต้นฉบับพงศาวดารเดิมๆ ให้แน่นไว้ ข้าพเจ้าเชื่อคติของนักเขียนมีชื่อผู้นี้ เชื่อจนความเห็นของ ‘ศรีบูรพา’ ที่ว่าควรให้ชื่อ ‘ยาขอบ’ ที่ใช้เขียนแต่เรื่องตลกขบขันนี้แหละ มาเขียนเรื่อง (ปลอม) พงษาวดาร เพื่อให้ผู้อ่านเห็นชื่อยาขอบ แล้วจะได้สงสัยว่านี่แกจะพาเรื่องรบๆ รักๆ ไปได้ตลอดรอดฝั่งอย่างไรกัน ข้าพเจ้าเริ่มเรื่องชื่อ ‘ยอดขุนพล’ โดยเคร่งในคติที่ว่าจะบําเรอผู้อ่านให้สนุกยิ่งกว่ากอดพงษาวดารเดิม”

กระนั้น จุดหักเหสําคัญอันเป็นที่มาของพลังและเสน่ห์แห่ง ยอดขุนพล และ ผู้ชนะสิบทิศ ไม่ได้เป็นเพียงผลอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงแนวการเขียนนิยายอิงพงศาวดารให้เป็นนิยายปลอมพงศาวดาร และหากจะพิจารณากันอย่างลุ่มลึก น่าจะอยู่ที่การเลือกที่จะไม่เขียนนิยายอิงพงศาวดารไทยและอิงพงศาวดารจีน แต่เลือกที่จะเขียนนิยายอิงพงศาวดารพม่า

การเขียนนิยายอิงพงศาวดารไทยนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่ามีข้อจํากัด คือ ต้องยึดประวัติศาสตร์พงศาวดารเป็นกรอบ แต่ที่สําคัญยิ่งกว่าคือ เวทีนี้ยังกั้นคอกให้สามัญชนเป็นได้แต่เพียงข้าผู้ซื่อสัตย์ใต้เบื้องพระยุคลบาทเท่านั้น ในขณะที่นิยายอิงพงศาวดารจีนมีข้อจํากัดอันเป็นปัญหาที่ต่างไปคือ มีผู้นําไปเขียนไปแปลงก่อนหน้าแล้วเป็นจํานวนมาก จนกลายเป็นนิยายที่ “เต็มไปด้วยความไร้สาระ”

กระนั้นนิยายอิงพงศาวดารจีนก็เป็นตัวอย่างสําคัญที่ยืนยันในข้อเท็จจริงที่ว่า หากนักประพันธ์เลือกที่จะเขียนเรื่องอิงพงศาวดารที่ไม่ใช่เรื่องของไทย แต่เป็นเรื่องของชาติอื่น ย่อมจะมี “อิสระ” มากกว่าในการบรรเลงเรื่องและตัวละครให้พลิกคว่ำพลิกหงายผิดไปจากพงศาวดารจริง กลายเป็นบ่อเกิดแห่งเสน่ห์และจุดดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้

กล่าวได้ว่าความสําเร็จส่วนหนึ่งของ “นิยายพงศาวดารจีนปลอม” ไม่ว่าจะเป็นชั่นบ้อเหมาหรือเจงฮองเฮง อยู่ที่ผู้ประพันธ์พยายามที่จะไม่ยึดติดอยู่กับกรอบของพงศาวดารนั่นเอง เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนิยายแนวนี้ในยุคสมัยที่ “ยาขอบ” จะเริ่มเขียน ยอดขุนพล และ ผู้ชนะสิบทิศ นั้นอยู่ที่การปลอมพงศาวดารจีนได้ถูกทํากันจน “เฝือ” เสียแล้ว และได้เข้าสู่ “ทางตัน” ซึ่งทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้อ่านจะลดความนิยมในการอ่าน

แต่อยู่ที่พัฒนาการของแนวการเขียนได้มาถึง “จุดอิ่มตัว” แล้ว (จนกระทั่งเกิดเรื่องจีนกําลังภายในแปลขึ้นในภายหลัง ศักราชใหม่ของเรื่องเริงรมย์จีนในยุทธจักรหนังสือไทยจึงได้ขยายตัวขึ้นอีกครั้ง) ทําให้ผู้เขียนหนังสือหรือทําหนังสือพิมพ์ที่ไม่เพียงมุ่งแสดงอุดมการณ์ แต่ยังต้อง “เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง” พร้อมกันไปกับการต้องประคับประคองให้หนังสืออยู่รอด ต้องขวยขวายหาทางออกให้หนังสือพิมพ์ของสํานักตนขายได้ติดตลาด

ทางออกของ “ศรีบูรพา” คือ การเปิดแนวทางใหม่ให้กับนิยายอิงพงศาวดารที่ถูกนําลงพิมพ์เป็นตอนในหน้าหนังสือพิมพ์

นี่คือที่มาของเรื่อง “ยอดทหารหาญ” ของ “ศรีบูรพา” และ “ผู้ชนะสิบทิศ” ของ “ยาขอบ” อันเป็นนิยายอิงพงศาวดารมอญและพม่า ซึ่งนอกจากจะหลีกเลี่ยงปัญหาความซ้ำซ้อนจําเจได้แล้วยังเปิดโอกาสให้ผู้เขียนมีอิสระในการใช้ จินตนาการสร้างเรื่องและชะตากรรมของตัวละครได้กว้างไกลและพิสดารกว่า นิยายอิงพงศาวดารไทย

ต่อเรื่องนี้ “ศรีบูรพา” ได้กล่าวไว้ว่า

“เมื่อข้าพเจ้าเขียนเรื่องอิงพงศาวดารมอญ เขาจึงเลือกเขียนเรื่องอิงพงศาวดารพม่า เมื่อมียอดทหารหาญในพงศาวดารมอญและในไทยใหม่ เขาจึงตกลงให้มียอดขุนพลในพงศาวดารพม่าและในสุริยาเป็นคู่กัน เขารับเอาคําแนะนําที่จะแหวกการดําเนินเรื่องออกไปจากพงศาวดารไปใช้อย่างเต็มเหยียด จนกระทั่งในภายหลังเขาได้เรียกนิยายของเขาว่า นิยายปลอมพงศาวดาร มิใช่อิงพงศาวดาร และเขายังได้แถลงไว้ใน คํานําหนังสือเรื่องผู้ชนะสิบทิศว่า ในนิยายอันยาวเหยียดเรื่องนั้น เขาได้ยืมข้อความในหนังสือพงศาวดารมาใช้เพียง 8 บรรทัดเท่านั้น”

กระนั้นการที่จะเข้าใจขั้นตอนการ “พลิกโฉม” พระเจ้าบุเรงนองในงาน วรรณกรรม ยอดขุนพล และ ผู้ชนะสิบทิศ จําเป็นที่จะต้องเข้าใจความหมายเบื้องลึกของสิ่งที่ “ศรีบูรพา” และ “ยาขอบ” เรียกว่าการ “ปลอมพงศาวดาร” ก่อน

เจตจํานงของสองนักเขียนต่อการ “ปลอมพงศาวดาร” นั้นไม่น่าจะเป็นเพียงการหลีกเลี่ยง “การเขียนที่เดินตามแนวพงศาวดารกันจริงๆ” แท้จริงการดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติการเบื้องหลังความคิดที่มุ่งจะปฏิวัติเลิกล้มจารีตของการประพันธ์อิงพงศาวดารเดิม

คําว่า “ปลอมพงศาวดาร” ที่ถูก “ยาขอบ” นํามาตีแผ่ในคํานําของการตีพิมพ์รวมเล่มหนังสือผู้ชนะสิบทิศครั้งแรก (พ.ศ. 2477) นั้นเทียบได้กับ “คําประกาศ” ที่ยืนยันในความคิดและเจตจํานงของผู้ประพันธ์ว่ามุ่งที่จะเขียน “เรื่องเริงรมย์” มากกว่าจะเขียนประวัติศาสตร์ ดังคําชี้แจงตอนหนึ่งที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยหวังจะให้เรื่องของข้าพเจ้าให้ความรู้ในเชิงพงษาวดารแก่ท่านผู้อ่าน เพราะท่านผู้อ่านคนใดอยากได้ความรู้ทางพงษาวดารก็ย่อมจะศึกษาได้จากพงษาวดารจริงๆ อยู่แล้ว จะต้องมาเปล่าเปลืองเวลากับเรื่องที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วันละหน้าๆ ทําไมกัน”

การ “ปลอมพงศาวดาร” ของ “ศรีบูรพา” และ “ยาขอบ” แท้จริงคือ การเขียนนิยายให้เป็นนิยาย ไม่ใช่เขียนนิยายให้เป็นประวัติศาสตร์

ถึงแม้ในฐานะของผู้เขียน “ยาขอบ” ถือเป็นภาระที่จะต้องให้ความพิถีพิถันต่อการวางท้องเรื่องให้สอดรับกับ “บรรยากาศ” ของยุคสมัย แต่สําหรับกับ “ผู้อ่าน” แล้ว “ยาขอบ” ต้องการให้ลืมโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งก็คือลืมเรื่องในพงศาวดาร และ “เข้ามาอยู่ในเรื่องและโลกสมมุติ” ของผู้ประพันธ์ ความตอนหนึ่งของคํานําหนังสือสะท้อนซึ่งเจตจํานงดังกล่าวอย่างชัดเจน

“เมื่อท่านปล่อยความรู้สึกลงมาให้ผู้ชนะสิบทิศ ท่านได้เข้ามาอยู่ในเรื่องและโลกสมมุติของข้าพเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้นท่านควรลืมโลกจริงๆ ของท่านเสีย และอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้มีเกียรติยศพาท่านไปสนุกในดินแดนอันเป็นของข้าพเจ้าเอง”

การปฏิวัติความคิดในการสร้างงานวรรณกรรมที่มีท้องเรื่องและตัวบุคคลอยู่ในประวัติศาสตร์ด้วยการเอาประวัติศาสตร์มาเขียนให้เป็นนวนิยายเต็มรูปแบบนี้ ส่งผลโดยตรงต่อการ “พลิกโฉม” บุเรงนอง ทั้งนี้เนื่องจากการเขียนนิยายตามกรอบและเจตนารมณ์ของ “ศรีบูรพา” และ “ยาขอบ” นั้นมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการเขียนพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ เพราะงานเขียนในลักษณะหลังนั้นเน้นความสําคัญที่ตัวเหตุการณ์ แต่การ “ปลอมพงศาวดาร” นั้นเน้นความสําคัญที่ “คน” เป็นหลัก

จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เหตุใด “ยาขอบ” ถึงต้องชี้แจงอธิบายโดยละเอียดถึงความแตกต่างระหว่างงานประพันธ์ของเขาที่เน้น “นิสัยใจคอ” กับงานประพันธ์ประเภทอิงพงศาวดารที่ “แข่งขันกันในเชิงว่าใครจะเขียนให้ถูกถ้วนตามพงษาวดารยิ่งกว่ากัน” ดังความในคํานําตอนหนึ่งว่า “ในการเขียนนี้ข้าพเจ้าไม่พยายามกอดพงษาวดารก็จริง แต่ข้าพเจ้าพยายามอย่างมากที่สุดที่จะกอดนิสสัยใจคอของบุเรงนอง”

ในความเป็นจริง “ยาขอบ” ไม่เพียงให้ความสนใจพิเศษเฉพาะตัวบุเรงนอง แต่ยังพิถีพิถันกับตัวละครสําคัญทุกตัวในฐานะที่เป็น “ชีวิต” ที่โลดเต้นอยู่ในหน้านิยายของเขา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีผู้กล่าวว่า “คุณโชติจัดตัวละครในนิยายของเธอดุจเดียวกับตัวละครทุกตัวมีชีวิตจิตใจเลือดเนื้อเช่นเธอ”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2562