“สาดน้ำ-รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่-สรงน้ำพระ” ทำไมคนไทยต้องทำ 3 อย่างนี้ในวันสงกรานต์?

สงกรานต์ สาดน้ำ 2004 ประกอบ บทความ สาดน้ำ-รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่-สรงน้ำพระ
กลุ่มชายหญิงเล่นน้ำสงกรานต์ ปี 2004 (ภาพ : 2Bangkok.com)

สงสัยไหม ทำไมต้อง “สาดน้ำ-รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่-สรงน้ำพระ” ใน เทศกาลสงกรานต์

การ สาดน้ำ-รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่-สรงน้ำพระ ใน เทศกาลสงกรานต์ เรื่องนี้…มีนักวิชาการหลายคนวิเคราะห์และสันนิษฐานอยู่มากมาย เพราะเป็นที่น่าข้องใจของคนไทยจำนวนมาก รวมไปถึงบรรดาเจ้านาย

อย่าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงเคยไตร่ตรองเรื่องนี้ไว้ใน “สาส์นสมเด็จ” ที่รวบรวมลายพระหัตถ์ระหว่างพระองค์และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า…

เรื่องรดน้ำสาดน้ำสงกรานต์ได้ตริตรองแล้ว เห็นว่าจะมาแต่มูลอันเดียวกัน คือเวลาสงกรานต์เป็นเวลาร้อน อยากจะอาบน้ำด้วยกันสิ้น ทีแรกเห็นจะชวนกันไปลงอาบน้ำที่ตีนท่า เป็นธรรมดาคนแก่ย่อมทำอะไรได้น้อย คนหนุ่มสาวจึงได้ช่วยปฏิบัติคนแก่ นี่เป็นมูลแห่งการรดน้ำ 

แล้วพวกหนุ่มสาวนั้นก็เล่นเย้าหยอกกันเองโดยฐานคะนอง มีวักน้ำสาดกันเป็นต้น นี่เป็นมูลแห่งการสาดน้ำ เมื่อนึกเอาประเพณีมาเทียบก็นึกได้ดังนี้

๑. เคยได้ยินกรมขุนพิทยลาภตรัสเล่าว่า ที่เชียงใหม่ถึงเวลาสงกรานต์เจ้าเชียงใหม่ไปลงท่า แล้วขี่คานหามกลับ​เข้าวัง ตามทางนั้นชาวเมืองดักสาดน้ำกันตลอดทาง เปียกปอนกันหมดทั้งองค์เจ้าและบริพารกระทั่งถึงวัง นี่ได้แก่ประเพณีลงท่าเวลาสงกรานต์ และเห็นจะได้แก่พิธีลดแจตรซึ่งมีในกฎมนเทียรบาล (หน้า ๑๓๗) อ่านก็เอาความได้รัวเต็มที 

ได้ความเป็นอันว่าลงท่า มีพระสงฆ์ลงสรงด้วย ส่วนองค์พระเจ้าแผ่นดินนั้นปรากฏว่าสรง ๓ เพลา แล้วเสด็จกลับทางเรือ ‘ท้าวพระยาลูกขุนนุ่งผ้าลงน้ำมาทีเดียว’ ดูเป็นทีท่านพวกเหล่านั้นจะเปียกปอนมาตามกัน หรือจะหมายความว่าลงเรือมาโดยทางน้ำตามเสด็จก็เข้าใจไม่ได้แน่ 

แต่ที่กรุงเก่ากลับทางเรือ ผิดกันกับทางเชียงใหม่กลับทางบกนั้น ก็เห็นได้ง่ายว่ากรุงเก่าเป็นที่ลุ่ม อาจขุดกลองใช้ต่างถนนก็ได้ เชียงใหม่เป็นที่ดอน จำต้องใช้ถนนการกลับทางเรือคงไม่ถูกสาดน้ำ เพราะคนจะบุกบั่นเข้าไปให้ใกล้พระองค์ไม่ถึง การสาดน้ำจึงได้เลิกไป 

อย่างเชียงใหม่คงเป็นประเพณีเก่า เราก็เคยอยู่ดอนมาก่อนเหมือนกัน แล้วย้ายมาอยู่ลุ่ม ประเพณีก็ย่อมเปลี่ยนไปตามภูมิประเทศ เป็นงดสาดน้ำเมื่อเสด็จกลับจากไปลงท่า

๒. การสรงน้ำพระก็เห็นจะมีมาช้านาน เราก็สรง​กันอยู่จนบัดนี้ ทั้งพระพุทธรูปและพระสงฆ์ แต่การสรงพระพุทธรูปเห็นจะมีมาทีหลัง ด้วยใช้แต่น้ำอบประพรมพอเป็นพิธีเสียแล้ว เริ่มแรกเห็นจะทำแต่แก่พระสงฆ์อันเป็นคน ซึ่งย่อมรู้จักร้อนนั้นก่อน 

ก่อนนี้ก็นิมนต์ไปลงแช่น้ำที่ตีนท่า อย่างที่ปรากฏในกฎมนเทียรบาล ทีหลังจึงคิดทำแก้ไขไปด้วยความศิริวิลัย ในทางภาคอีสานทราบว่าเขาใช้ราง ใครอยากสรงน้ำพระก็ช่วยกันตักน้ำใส่ในราง พระสงฆ์สรงน้ำทางปลายราง ไม่ต้องลงไปแช่ในท้องน้ำ 

ในราชการทางกรุงเทพฯ เราเคยเห็นก็แต่นิมนต์พระไปสรงน้ำพุที่หน้าโรงกษาปน์เก่า เขาว่าแต่ก่อนใช้อ่างตั้งบนม้าสูงติดบัวลักน้ำให้พระสรง การตักน้ำใส่อ่างดูเหมือนเป็นหน้าที่รักษาพระองค์ทำ ไม่มีชาวบ้านมากลุ้มกล้ำเพราะเป็นการหลวง

๓. แม้การอาบน้ำจริงๆ ในฝ่ายคฤหัสถ์ก็ได้เคยเห็นคราวหนึ่ง ไปถวายน้ำสงกรานต์กรมพระนเรศรและรดน้ำเจ้าจอมมารดากลิ่น วันที่จะไปเป็นวันอะไรซึ่งเกี่ยวกับสงกรานต์นั้นจำไม่ได้ แต่เมื่อถวายน้ำกรมพระนเรศรแล้ว ตรัสเรียกให้ตามเสด็จไปเรือเจ้าจอมมารดากลิ่น ไปถึงที่นั้นเห็นหลาน ๆ ​ของท่านมาประชุมกันอยู่พร้อม ในกาลนั้นเจ้าจอบมารดากลิ่นก็ขึ้นเตียง 

กรมพระนเรศรกับพระโอรสของท่านก็ช่วยกันอาบน้ำให้ อาบน้ำอันแต่งไว้ในขันสาครอย่างรดซู่ๆ จริงๆ ตรัสเรียกให้เกล้ากระหม่อมช่วยอาบด้วย เกล้ากระหม่อมก็ได้เข้าช่วยอาบอย่างลูกหลานของท่านคนหนึ่ง แล้วก็ทาน้ำอบและให้ผ้าแก่ท่าน จึงมานึกว่าการรดน้ำสงกรานต์คงเป็นเช่นนี้มาก่อน 

การรดที่เอาน้ำอบไปหยดให้ในมือไม่ว่าเวลาไรนั้น เห็นจะเป็นการย่นย่อลงทีหลัง ตลอดถึงสรงน้ำพระพุทธรูปก็ทำไปอย่างเดียวกันด้วย การให้ผ้าก็คงจะเกิดทีหลังเหมือนกัน จะถือเอาอะไรเป็นเหตุก็เห็นจะต่างคนต่างคิด แล้วก็เลยเป็นธรรมเนียมไป

๔. การสาดน้ำแก่กันในฤดูสงกรานต์ ก็เห็นว่าจะเป็นมาอย่างกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ตามธรรมดาคนย่อมชอบเล่น เล่นแล้วก็ยัวะ ยัวะเข้าแล้วก็ลืมความควรและมิควร สาดเสียไม่คำนึงว่าใครจะเล่นด้วยหรือจะไปธุระ แล้วเพียงแต่เปียกน้ำเท่านั้นก็ยังไม่สาแก่ใจ ต้องการให้เปื้อนเห็นปรากฏยิ่งขึ้นด้วย จึงเอาสิ่งที่เป็นมลทินใส่ลงไปในน้ำอีก แม้กระนั้นก็ยังไม่ถึงใจ ​ไปควักเอาก้นหม้อมาทากันแห้งๆ อีกซ้ำหนึ่ง 

จึงเกิดเป็นมอมสงกรานต์กันขึ้น ด้วยประการดังนี้

ทางสันนิษฐานแห่งการรดน้ำสาดน้ำสงกรานต์ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ สันนิษฐานไปแต่ในทางไทย ด้วยทราบประเพณีอยู่มาก ส่วนทางต่างประเทศนั้นไม่ได้กล่าวถึง ด้วยทราบประเพณีของเขาน้อย แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าคงจะอาศัยมูลเหตุอย่างเดียวกัน และเอาอย่างกันบ้าง เพราะบ้านเมืองอยู่ใกล้ชิดติดต่อกัน แล้วมีอากาศร้อนเหมือนกัน เมืองที่มีอากาศหนาวจะมาเหมือนกันเข้าไม่ได้เลย…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๒/เมษายน/วันที่-๒๙-เมษายน-พศ-๒๔๘๒-น


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2567