“เลข 9” สำคัญไฉน? ความมงคลและอิทธิพลทางไสยศาสตร์ของเลข 9

9 ๙

เลข 9 (๙) มีความสำคัญทั้งในความเชื่อของชาวไทยและชาวจีน มีอิทธิพลทางความคิดเรื่องความมงคล หรือการเป็น “เลขมงคล” สูงที่สุด ดังจะเห็นว่าถ้าต้องเลือกหนึ่งตัวเลขจากลำดับ 0-9 หากผู้เลือกต้องการสื่อความหมายเรื่องความสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรือง เลข 9 มักจะถูกนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ เสมอ

ในทางพุทธศาสนา (แบบไทย) องค์กรสงฆ์ไทยกำหนดให้ระดับสูงสุดในการเรียนพระปริยัติธรรม คือ เปรียญธรรม 9 ประโยค และพระสงฆ์รูปที่สำเร็จถึงเปรียญธรรม 9 ประโยคจะได้รับสถานะส่วนบุคคลภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์

ทั้งมีพระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายใต้ “ฉัตร 9 ชั้น” ในพระอารามหลวง โดย ฉัตร 9 ชั้น ยังใช้ปกคลุมพระเศียรของพระมหากษัตริย์ในวันบรมราชาภิเษก

สวรรค์ชั้น 9 ถือเป็นชั้นสูงสุดในแนวคิดของพุทธ และเป็นสัญลักษณ์ของ “นิพพาน” ยังไม่รวมเรื่องดาวเคราะห์ทั้ง 9 ตามคติโหราศาสตร์ เหล่านี้ทำให้เลข 9 เป็นตัวเลขที่มีค่าสูงที่สุด

เพราะเหตุนี้ เลข 9 จึงดีที่สุด ส่องสว่างที่สุด สูงส่งที่สุด ในทางพุทธศาสนา หากเป็นของขลังก็ถือว่ามีความบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

เลข 9 ยังหมายถึงพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 9) พระพุทธเจ้า การตรัสรู้ การพัฒนา หรือ “ก้าวไปข้างหน้า” เพราะ 9 (เก้า) เป็นคำพ้องเสียงของ “ก้าว” การก้าวหน้า ก้าวไกล ความคล้องจองนี้ทำให้เกิดการให้ความหมายที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 ว่าเป็น “รัชกาลแห่งความก้าวหน้า”

ตามคติของชาวจีน วันที่ 9 เดือน 9 ตามเดือนจันทรคติ คือวันสุดท้ายของเทศกาลเฉลิมฉลองเทพจักรพรรดิทั้งเก้าตามความเชื่อของลัทธิเต๋า เป็นวันที่สำคัญที่สุดของเทศกาลถือศีลกินผัก (เจ) ซึ่งเป็นเทศกาลยิ่งใหญ่ระดับชาติของไทยในปัจจุบัน และมีความคิดสอดคล้องกับลัทธิบูชาเจ้าแม่กวนอิม

ในงานศึกษาเทศกาลเฉลิมฉลองเทพจักรพรรดิทั้งเก้า ของอีริค โคเฮน (Erik Cohen) เสนอว่า ความเชื่อเรื่องเลข 9 ของชาวจีน เป็นตัวเลขที่มีความเข้มแข็งของเพศชาย (หยาง) เมื่อตัวเลขที่แสดงถึงเพศชาย 2 ตัวปรากฏขึ้นในวันที่ 9 เดือน 9 ตามเดือนจันทรคติ จึงเป็นเวลาที่เทศกาลเฉลิมฉลองเทพจักรพรรดิทั้งเก้าเริ่มต้นขึ้น

วันนี้เรียก “วันคู่เก้า” หรือวันที่ (เพศชาย) มีความแข็งแกร่งเป็น 2 เท่า ความเป็นชายหรือหยางจะมีพลังสูงสุดในรอบปี และเป็นช่วงเวลาของหยินหรือความเป็นหญิงเริ่มต้นขึ้น

ความคิดเชื่อมโยงกับความร่ำรวยของเลข 9 ยังอบอวลไปทั่วในวิถีทางวัฒนธรรม การค้า และการเมืองของไทย ยกตัวอย่าง วัฒนธรรมการไหว้พระ 9 วัด หรือศาลเจ้า 9 แห่ง เสริมสิริมงคล หรือการที่คนจำนวนหนึ่งยินดีจ่ายมากกว่าปกติหลายเท่าเพื่อให้ได้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่มีเลข 9 ติดกันหลายตัว 

ชนชั้นนำไทย (กองทัพ) ก็ดูจงใจเลือกวัน-เวลาการปฏิบัติการครั้งสำคัญ โดยให้มีเลข 9 อยู่ด้วย อย่างเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ของพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เกิดขึ้นในวันที่ 19 เดือน 9 (กันยายน) พุทธศักราช 2549 โดยผู้นำรัฐประหารปรากฏตัวออกสื่อโทรทัศน์ครั้งแรก เวลา 09.39 นาฬิกา ของวันถัดมา

หากผู้อ่านมีข้อมูลหรือประสบการณ์ทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับความเป็น “เลขมงคล” ของเลข 9 ที่เห็นว่าน่าบอกต่อ ลองมาแลกเปลี่ยนกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

แจ็คสัน เอ. ปีเตอร์; วิราวรรณ นฤปิติ แปล. (2566). เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน(ไทย)นิยม. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 เมษายน 2567