รู้หรือไม่? เคยมีการอัญเชิญ “พระแก้วมรกต” หนีสงครามไปเพชรบูรณ์

พระแก้วมรกต เคย ถูก อัญเชิญ ไป ถ้ำฤๅษีสมบัติ เพชรบูรณ์
ปากถ้ำฤๅษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่อัญเชิญ "พระแก้วมรกต" มาประดิษฐาน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ระหว่าง พ.ศ. 2485-2486 เป็นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอยู่ในภาวะคับขัน กรุงเทพฯ ถูกโจมตีและทิ้งระเบิดอย่างหนักจากฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี วางแผนจะย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งมีการขนย้ายพระคลังสมบัติ และของมีค่าคู่แผ่นดิน เพื่อหนีสงคราม รวมถึง “พระแก้วมรกต” ซึ่งถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ “ถ้ำฤๅษีสมบัติ”

การอัญเชิญ “พระแก้วมรกต” จากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานที่ถ้ำฤๅษีสมบัติ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์  มีเรื่องราวพอสรุปได้ดังนี้

ที่ประชุมเสวนาทางด้านประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ (ในขณะนั้น) กล่าวว่า

“เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี มีพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งได้เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พระเดชพระคุณรูปนั้นได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้มาอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ทำให้หัวหน้าส่วนราชการ นักการเมือง นักปราชญ์ท้องถิ่น และนักวิชาการต่างให้ความสนใจกรณีดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับเรื่องเล่าที่ชาวบ้านในละแวกถ้ำฤๅษีสมบัติเล่าว่า เคยมีการอัญเชิญ “พระแก้วมรกต” มาประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งนี้

พระสงฆ์ที่รูปดังกล่าวก็คือ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ขณะที่ท่านมีอายุ 98 ปี หากยังมีความจำที่เป็นเลิศ โดยท่านได้เล่าให้ฟังว่า

“…เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระบัญชาให้หลวงพ่อซึ่งในขณะนั้น… จำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2… ไปกับลูกศิษย์คนหนึ่งและหม่อมเจ้าหรือหม่อมราชวงศ์? จากสำนักพระราชวังคนหนึ่ง…

เดินทางโดยรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จังหวัดพิจิตร แล้วนั่งรถยนต์ ซึ่งขณะนั้นใช้ฟืนถ่านต้มหม้อน้ำให้เดือด แล้วไอน้ำดันเครื่องยนต์ทำงานขับเคลื่อนล้อรถ เดินทางไปถึงเพชรบูรณ์หนทางลำบากมาก…”

หลังจากที่ท่านเดินทางมาถึงเพชรบูรณ์แล้ว ก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากถ้ำ พร้อมด้วยทรัพย์สินของมีค่าต่างๆ ขึ้นรถบรรทุกที่มีทหารคอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด พระอุดมญาณโมลีเล่าต่อไปว่า

“…การอัญเชิญ พระแก้วมรกต ในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่นๆ อันมีค่าของชาติ โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ…โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ 7 วัน…” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ข้อมูลจากคำบอกเล่าที่เกิดขึ้น ทำให้เรื่องพระแก้วมรกตเคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ “ถ้ำฤๅษีสมบัติ” จริงๆ กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวเพชรบูรณ์ และมีความพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ชุดข้อมูลดังกล่าวให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันก็มีการประชาสัมพันธ์ถ้ำฤๅษีสมบัติให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดด้วย

ถ้ำฤๅษีสมบัติ ที่อยู่บนเขาก็ได้รับการพัฒนาเส้นทางเข้าถึงอย่างสะดวก มีบันไดขึ้นไปจนถึงปากถ้ำ ปากถ้ำทำเป็นประตูทางเข้าแบบไม่มีบานเปิด สูงประมาณ 2 เมตร กว้างประมาณ 1.5 เมตร ภายในถ้ำเป็นอุโมงค์ มีการปรับปรุงพื้นโดยลาดเป็นพื้นซีเมนต์ และเป็นห้องโถงปรับเป็น 2 นอกจากนี้ ยังมีช่องอุโมงค์ที่ลาดลึกเข้าไปข้างใน สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นพื้นที่ที่ใช้เก็บของมีค่า

ส่วนด้านนอกเหนือปากถ้ำ มีการก่อผนังด้วยหินภูเขาและปูนสูงประมาณ 4 เมตร ขนาดประมาณ 10 x 10 เมตร ลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม หลังคาคอนกรีตลาดด้วยปูนซีเมนต์เป็นลานกว้าง แต่หลังคาได้ยุบพังลงมา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารกองบัญชาการทหารที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับคลังสมบัติ ข้างปากถ้ำทั้ง 2 ด้าน ยังมีป้อมยามรักษาการณ์ที่ก่อด้วยหินภูเขาเป็นรูปซุ้ม

ข้อมูลเรื่องการอัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐานที่ถ้ำฤๅษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์ จากการสัมภาษณ์ พระอุดมญาณโมลี พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ มีอายุพรรษามาก ทำให้ชาวเพชรบูรณ์ต่างเชื่อมั่นในข้อมูลหลักฐานที่มีว่า พระแก้วมรกตในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเพื่อความปลอดภัย ณ จังหวัดเพชรบูรณ์จริงๆ แม้ว่ายังไม่มีการพบหลักฐานที่เป็นหนังสือราชการหรือที่เป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันก็ตาม

ในกรณีนี้ อาจเป็นการปิดข่าวเพื่อความปลอดภัยของ “พระแก้วมรกต” และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน หรือเพราะว่าไม่ได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาก็ไม่อาจทราบได้ ยังมีความจำเป็นที่ควรจะได้ช่วยกันหาคำตอบ เพื่อจะได้คลี่คลายปมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ของชาติในเรื่องพระแก้วมรกตให้มีความกระจ่างชัดสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ธีระวัฒน์ แสนคำ “พระแก้วมรกตเคยถูกอัญเชิญไปประดิษฐานในถ้ำฤาษีสมบัติที่จังหวัดเพชรบูรณ์ (?)” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 เมษษยน 2567