เร็กเก กัญชา กับกษัตราแห่งเอธิโอเปีย รู้จัก “ลัทธิรัสตาฟาเรียน” ศรัทธาของ “บ๊อบ มาร์เลย์”

บ๊อบ มาร์เลย์ ราชา เพลงเร็กเก กับ จักรพรรดิไฮเล เซลาสซี เอธิโอเปีย คนสำคัญ ใน ลัทธิ รัสตาฟาเรียน
(ซ้าย) บ๊อบ มาร์เลย์ ปี 1976 (ขวา) จักรพรรดิไฮเล เซลาสซี แห่งเอธิโอเปีย (จาก AFP PHOTO / HO และ Wikimedia Commons)

โรเบิร์ต เนสตา มาร์เลย์ (Robert Nesta Marley) หรือ บ๊อบ มาร์เลย์ (Bob Marley) ศิลปินชาวจาเมกาผู้เปรียบดัง “ไอคอนิก” ของ เพลงเร็กเก คนจำนวนมากอาจจดจำเขาในฐานะราชาเพลงเร็กเกและศาสดาของ “สายเขียว” แต่ทราบหรือไม่ว่า บ๊อบ มาร์เลย์ ไม่ได้สูบ “กัญชา” เพื่อสันทนาการเท่านั้น แต่เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของศรัทธาที่เขาสมาทานเป็นศาสนาของตน นั่นคือ ลัทธิรัสตาฟาเรียน (Rastafarianism) หรือรัสตาฟารี

แม้ชีวิตของบ๊อบ มาร์เลย์ จะสั้นเพียง 36 ปี แต่เขาคือศิลปินนักปฏิวัติ ผู้สร้างวัฒนธรรมดนตรีประชานิยมขึ้นในจาเมกา ประเทศเล็ก ๆ ที่เป็นเกาะกลางทะเลแคริบเบียน และแพร่หลายไปทั่วโลก ดังจะเห็นว่าดนตรีของเขานั้นดังข้ามน้ำข้ามทะเลจากจาเมกาสู่ทวีปอเมริกา ยุโรป แอฟริกา ทุกพื้นที่ในโลกที่มีคนดำหรือชนเชื้อสายแอฟริกันอาศัยอยู่ และเป็นที่รับรู้ในระดับสากลของคนทั้งโลก

กำเนิด “ลัทธิรัสตาฟาเรียน”

เร็กเก กลายเป็นดนตรีของการปลดปล่อย การต่อต้าน และการต่อสู้ทางชนชั้น จนเกิดคำกล่าวว่า “ที่ไหนมีการต่อสู้ ที่นั่นย่อมมีเร็กเก ที่ไหนมีการประท้วง ที่นั่นย่อมมีเสียงเพลงของบ๊อบ มาร์เลย์”

นั่นเพราะ บ๊อบ มาร์เลย์ ใช้ดนตรีสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ตลอดชีวิตของเขา และสร้างสรรค์ได้แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า “พระเจ้า”

พระเจ้าของบ๊อบ มาร์เลย์ คือพระเจ้าในลัทธิรัสตาฟาเรียน ซึ่งเป็นพระเจ้าองค์เดียวกันกับกลุ่มศาสนาอับราฮัม (ยูดาห์ คริสต์ อิสลาม) โดยเชื่อมโยงกับศาสนาคริสต์เป็นหลัก เพราะพวกเขาเชื่อและศรัทธาในพระคัมภีร์ไบเบิล

ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 1967 บ๊อบ มาร์เลย์กับเพื่อนสมาชิกวง เดอะ เวลเลอร์ส (The Wailers) คือวงดนตรีวงแรกของจาเมกาที่ปวารณาตนนับถือลัทธิรัสตาฟาเรียนอย่างเป็นทางการ บ๊อบในวัย 22 ปี เริ่มไว้ผมทรงฟั่นเชือก หรือเดรดล็อค (Dreadlock) ตั้งแต่นั้น พวกเขากินอาหารตามความเชื่อ เริ่มสูบกัญชากันหนักขึ้น พร้อมกันนั้นก็หมั่นศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน และฝึกพูดภาษาของชาวรัสตา

“ลัทธิรัสตาฟาเรียน” คืออะไรกันแน่?

สามารถนิยามลัทธินี้อย่างง่ายได้ว่า นี่คือศาสนาคริสต์เวอร์ชันคนดำ เพื่อคนดำ และโดยคนดำ เพราะพวกเขาเชื่อเรื่อง “พระเมสสิยาห์” หรือพระผู้ช่วยให้รอดของคนดำ

รัสตาฟารี ถือกำเนิดขึ้นในประเทศจาเมกาเมื่อราวทศวรรษ 1930 จากความเชื่อว่า จักรพรรดิไฮเล เซลาสซี (Haile Selassie) แห่งเอธิโอเปีย คือพระผู้ไถ่บาปให้คนดำ เป็นองค์ศาสดาที่มาช่วยให้พวกเขาพ้นทุกข์ และเป็นพระเจ้าที่จุติในร่างมนุษย์เหมือนพระเยซูคริสต์

จักรพรรดิไฮเล เซลาสซี เดิมชื่อ รัส (แปลว่า เจ้าชาย) ตาฟารี มาคอนเนน (Ras Tafari Makonnen) แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Might of Trinity” หรือพลานุภาพแห่งพระตรีเอกานุภาพ เป็นบุตรของเจ้าชายคอนเนน พระญาติองค์หนึ่งของจักรพรรดิเมนีเลกที่ 2 (Menilek II) แห่งเอธิโอเปีย

ภายหลังการสวรรคตของจักรพรรดิ ปัญหาผู้สืบทอดและภาวะความไม่เป็นที่นิยมในองค์รัชทายาททำให้รัสตาฟารี มาคอนเนน ไต่เต้าขึ้นสู่ราชบัลลังก์เอธิโอเปีย และเฉลิมพระนามว่า “ไฮเล เซลาซี” แต่แม้จะอยู่ห่างกันค่อนทวีป การขึ้นครองราชย์ของพระองค์ถูกตีความในหมู่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวผิวดำในจาเมจาว่า นี่คือการกลับมาของ “พระคริสต์”

นำไปสู่การตีความพระคัมภีร์ไบเบิล (เพิ่มเติม) ด้วยการผสมผสานแนวคิดชาตินิยมคนดำเข้าไป ผลลัพธ์คือ “ดินแดนแห่งพันธสัญญา” หรืออาณาจักรแห่งพระเจ้าของคนดำไม่ใช่ปาเลสไตน์ แต่เป็นกาฬทวีป หรือแอฟริกา อันมีศูนย์กลางอยู่ที่เอธิโอเปีย ยิ่งเมื่อพระจักรพรรดิทรงอ้างถึงการสืบเชื้อสายของพระองค์ว่ามีโคตรวงศ์เป็นกษัตริย์โซโลมอน (Solomon) ทำให้ชาวรัสตารุ่นบุกเบิกเชื่อมั่นว่า “พระคริสต์ของคนดำ” ถือกำเนิดขึ้นแล้วจริง ๆ

“รัสตาฟารี” ชื่อเดิมของจักรพรรดิไฮเล เซลาสซี จึงกลายเป็นชื่อขบวนการหรือลัทธิของพวกเขาไปโดยปริยาย

ณ เวลานั้น จักรพรรดิไฮเล เซลาสซี กลายเป็นพระเจ้าที่ยังมีพระชนม์ชีพของชาวรัสตา พลานุภาพของพระองค์เปล่งประกายไปทั่วทุกหนแห่ง ผ่านบทเพลงเร็กเกของบ๊อบ มาร์เลย์

“กัญชา” พืชที่เชื่อมโยงกับศาสนกิจ

นอกจากนี้ ชาวรัสตายังมองว่า พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับคนขาวเป็นไปเพื่อกำกับควบคุมทาสผิวดำ พวกเขาจึง “เลือก” เชื่อและศรัทธาในพระคัมภีร์เป็นเรื่อง ๆ และเชื่อว่าการจะเข้าใจพระคัมภีร์อย่างถ่องแท้ได้ต้องเข้าถึงด้วยกรรมฐาน และการใช้ “กัญชา” จากอิทธิพลของชาวฮินดู (อินเดีย) ที่เข้ามาเป็นแรงงานในจาเมกายุคนั้น (คำว่า “Ganja” คือภาษาฮินดี) แม้แต่คำว่า “กาลี” ที่ใช้เรียกกัญชาคุณภาพดี ยังมีรากศัพท์จากภาษาฮินดีที่หมายถึงมหาเทวีแห่งความมืดมิด

ความเชื่อดังกล่าวทำให้ชาวรัสตาใช้กัญชากันอย่างแพร่หลาย ทั้งในชีวิตประจำวันและการประกอบศาสนกิจ

อันที่จริงพืชชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นจาเมกามานานแล้วก่อนเกิดลัทธิรัสตาฟาเรียน พวกเขาทั้งใช้สูบ ผสมลงในน้ำดื่มเหมือนใบชา ผสมในซุปหรือสตู และกินเพื่อเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ชาวรัสตาให้คุณค่ากัญชาเหนือการเสพเพื่อความพึงพอใจ เพราะมันมี “สภาวะธรรม” แห่งการบำเพ็ญภาวนาและสมาธิ โดยอ้างจากพระคัมภีร์ไบเบิล ในบทว่าด้วย Psalm ข้อ 18 : 8 ความว่า

“พวยควันล่องลอยออกจากนาสิกของพระองค์ และไฟออกจากพระโอษฐ์”

จากข้อความนี้ ชาวรัสตาถือเป็นหลักฐานว่า แม้แต่พระเป็นเจ้ายังทรงเสพ “สมุนไพร”

และ วิวรณ์ (Revelations) ข้อ 22 : 2 ที่ระบุว่า “พฤกชาติและสายธารแห่งชีวิต… ใบแห่งพฤกษานั้นบำบัดโรคภัยให้แก่มวลมนุษย์” แม้ข้อความข้างต้นจะไม่ระบุว่า “ใบ” แห่งพฤกษชาติที่ว่าคืออะไร แต่ชาวรัสตา “เคลม” ไปเรียบร้อยว่าคือ “กัญชา” แน่ ๆ

ชาวรัสตายังมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอีกหลายอย่างที่เราน่าจะคุ้นหูคุ้นตาอยู่บ้าง นอกจากดนตรีเร็กเกที่เป็นดั่งบทเพลงทางศาสนาแล้ว พวกเขายังปฏิเสธการตัดผมและเลือกไว้ผมยาวทรงฟั่นเชือก บ่อยครั้งเราจะพบพวกเขาสวมหมวกที่ประกอบด้วยสีแดง เขียว และเหลือง อันเป็นสีประจำพระองค์ของจักรพรรดิไฮเล เซลาสซี และธงชาติเอธิโอเปีย

ชาวรัสตา รัสตาฟารี รัสตาฟาเรียน
ชาวรัสตากับสัญลักษณ์-สีต่าง ๆ ในลัทธิรัสตาฟาเรียน (ภาพโดย Getu Degefu Adugna ใน Pixabay)

ชาวรัสตาจำนวนไม่น้อยยังเป็นมังสวิรัติ รับประทานเฉพาะอาหารธรรมชาติ ได้แก่ ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช บางคนไม่แตะเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ บางคนปฏิเสธเนื้อหมูเหมือนชาวยิว มุสลิม และออร์โธดอกซ์ รวมถึงปฏิเสธการคุมกำเนิด โดยมองว่าเป็นแผนการของคนขาวที่พยายามจำกัดจำนวนของคนดำ

สำหรับ บ๊อบ มาร์เลย์ และเดอะ เวลเลอร์ส พวกเขาต่างอุทิศตนให้ลัทธิรัสตาฟาเรียน บ๊อบเป็นคนหนึ่งที่เชื่อมั่นและดำเนินชีวิตภายใต้วิถีดังกล่าว โดยการชี้แนะของผู้อาวุโสของลัทธิในกรุงคิงสตัน เมืองหลวงของจาเมกา และได้รับมอบหมายให้เผยแผ่พระกิตติคุณและความเลื่อมใส่ต่อพระจักรพรรดิด้วย

นี่คือเหตุผลที่ เพลงเร็กเก ของ บ๊อบ มาร์เลย์ นอกจากจะอบอวลไปด้วย “สื่อ” แห่งการต่อสู้และการปลดแอกของคนผิวดำและผู้ด้อยโอกาสแล้ว มันยังคละคลุ้งไปด้วย “สาร” แห่งคำสอนทางศาสนา จนหลาย ๆ ผลงานเพลงของเขานั้นประหนึ่งว่าเขากำลัง “เทศนาด้วยบทเพลง” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สตีเฟน เดวิส; อัคนี มูลเมฆ แปล. (2538). ศาสดาขบถ กัญชา อัตถีเพศ และเทศนาด้วยบทเพลง. กรุงเทพฯ : ปัจเจกชน.

https://www.britannica.com/topic/Rastafari

https://fourtwenty.ltd/blog/history-of-rastafarianism/

https://www.thepeople.co/history/the-legend/2948


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2567