11 พฤษภาคม 1981: “บ๊อบ มาร์เลย์” ตำนานศิลปินเร็กเกชาวจาเมกา เสียชีวิต

บ๊อบ มาร์เลย์
ภาพถ่ายของ บ๊อบ มาร์เลย์ ในปี 1976 (AFP PHOTO / HO)

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 1981 โรเบิร์ต เนสตา มาร์เลย์ (Robert Nesta Marley) หรือ บ๊อบ มาร์เลย์ ศิลปินดังชาวจาเมกาผู้ทำให้ดนตรีเร็กเกเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้เสียชีวิตลงระหว่างรับการรักษาโรคมะเร็งในไมอามี สหรัฐอเมริกา ขณะที่เขามีอายุได้เพียง 36 ปี

มาร์เลย์เกิดที่เมืองไนน์ไมล์ (Nine Miles) จาเมกา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1945 พ่อของเขา นอร์วัล ซินแคลร์ มาร์เลย์ (Norval Sinclair Marley) เป็นผู้ดูแลไร่ผิวขาว ขณะที่แม่ของเขา เซเดลลา มัลคอล์ม (Cedella Malcolm) เป็นหญิงผิวดำลูกสาวผู้นำท้องถิ่นในชนบท ชาติกำเนิดของเขาจึงถือเป็นผลผลิตจากโลกในคู่ขนาน

ในวัยเด็ก พ่อผู้ถูกตัดออกจากกองมรดกเนื่องจากแต่งงานกับหญิงผิวดำ และมิได้ใช้ชีวิตอยู่กับมาร์เลย์มากนักเคยลักพาตัวเขาไปปล่อยให้หญิงชรารายหนึ่งในเมืองคิงส์ตัน (Kingston) ดูแล จนกระทั่งคนรู้จักของครอบครัวมาเจอเขาโดยบังเอิญ และช่วยพาเขากลับบ้านที่ไนน์ไมล์

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มาร์เลย์กลับมายังคิงส์ตันตะวันตก (West Kingston) อีกครั้ง โดยอาศัยอยู่ในชุมชนการเคหะภายใต้งบอุดหนุนของรัฐ ในย่านเทรนช์ทาวน์ (Trench Town) พื้นที่สลัมยากจนที่มักถูกเปรียบเทียบว่าเป็นแหล่งเน่าเสีย เขาและเพื่อนๆได้ร่วมกันตั้งวง “เดอะเวลเลอร์” (The Wailers) ขึ้นที่นี่ และเริ่มบันทึกเสียงในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 ด้วยดนตรีแนวสกาของจาเมกา พร้อมกับนำเสนอเนื้อหาชีวิตของคนยากจนในย่านเสื่อมโทรมซึ่งถือเป็นการแสดงจุดยืนให้ว่า ศิลปินจาเมกาไม่จำเป็นต้องยึดแนวทางของผู้ให้ความบันเทิงต่างชาติ แต่ทุกคนสามารถเขียนเพลงจากวัตถุดิบใกล้ตัว รวมถึงเรื่องราวของชาวบ้านผู้ด้อยโอกาสในสลัมของอินเดียตะวันตก

พวกเขาพัฒนาดนตรีเร็กเกด้วยความช่วยเหลือจากลี เพอร์รี (Lee Perry) โปรดิวเซอร์ชาวจาเมกาผู้ริเริ่มดนตรีเร็กเก ก่อนเซ็นสัญญากับไอส์แลนด์ (Island Records) ค่ายเพลงระดับนานาชาติในปี 1972 และได้ออกอัลบัมเร็กเกชุดแรก “แคทช์อะไฟร์” (Catch a Fire) ด้วยดนตรีสำเนียงเร็กเกประสานดนตรีร็อกทำให้พวกเขาได้รับความนิยมไปทั่วโลก และทำให้บ๊อบ มาร์เลย์ สมาชิกผู้โดดเด่นของวงกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ ซึ่งนำไปสู่การแยกวงในช่วงต้นปี 1974

อีริก แคลปตัน นักกีตาร์ชื่อดังระดับโลกได้นำเพลง “ไอช็อทเดอะเชรีฟฟ์” (I Shot the Sheriff) ของเดอะเวลเลอร์ มาทำใหม่ในแบบของเขาในปี 1974 ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของมาร์เลย์โด่งดังขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันมาร์เลย์กลายเป็นผู้นำวงเวลเลอร์ที่ปราศจากสมาชิกดั้งเดิม (ปีเตอร์ ทอช [Peter Tosh], บันนี เวลเลอร์ [Bunny Wailer]) ก็สร้างผลงานออกมาอีกมากมายซึ่งล้วนได้รับความนิยม (เช่น No Woman No Cry, Exodus, Could You Be Loved, Redemption Song)

ภาพกราฟฟิตี ของ บ๊อบ มาร์เลย์ บนกำแพง ที่ ซานฟานซิสโก สหรัฐฯ
ภาพกราฟฟิตีของ บ๊อบ มาร์เลย์ บนกำแพงย่านเฮทแอชเบอรี (Haight-Ashbury) ของซานฟานซิสโก สหรัฐฯ ศูนย์กลางชาวฮิปปีในยุค 60 ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2006 (AFP PHOTO / GABRIEL BOUYS)

นอกจากนี้ มาร์เลย์ ยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาสามารถเอาชีวิตรอดจากการพยายามลอบสังหารด้วยเหตุผลทางการเมืองในปี 1976 ต่อมาในปี 1978 เขาพยายามผลักดันในการยุติสงครามการเมืองภายในของจาเมกา ด้วยการจัดคอนเสิร์ตเพื่อสันติภาพ “วันเลิฟ” (One Love) ในเดือนเมษายน ชื่อเสียงในฐานะผู้เคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองทำให้เขาได้รับเชิญไปร่วมแสดงในงานฉลองอิสรภาพของซิมบับเวในปี 1980

เดือนเมษายน 1981 รัฐบาลจาเมกาได้มอบเหรียญเกียรติยศให้กับมาร์เลย์ หลังจากนั้นเพียงหนึ่งเดือนเขาก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แต่หลังความตายชื่อเสียงของเขายิ่งโด่งดังยิ่งกว่าเมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตอยู่ ในปี 1984 อัลบัมเลเจนด์ (Legend) ซึ่งรวบรวมผลงานของเขากลายเป็นอัลบัมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดด้วยยอดจำหน่ายเกินกว่า 20 ล้านชุดไปแล้ว (ตัวเลขปี 2004 จาก Forbes)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

Encyclopedia Britannica


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2561