กำเนิด “ฮิปฮอป-แร็ป” จากวัยรุ่นใช้ปาร์ตี้ในชุมชน กลายเป็นดนตรีฮิตทั่วโลกได้อย่างไร

การแสดงโชว์ ระหว่าง พักครึ่ง ใน การแข่ง ซูเปอร์โบว์ล ศิลปิน ฮิปฮอป
การแสดงโชว์ระหว่างพักครึ่ง ในการแข่งซูเปอร์โบว์ล (Super Bowl LVI) ที่สนาม SoFi Stadium ใน Inglewood รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2022 ภาพจาก VALERIE MACON / AFP

วัฒนธรรมดนตรีในสหรัฐอเมริกากระจายไปทั่วโลกอย่างแพร่หลาย บรรดาดนตรีรูปแบบต่างๆ ซึ่งแพร่ออกมาจากสหรัฐอเมริกา ต้องยอมรับว่า “ฮิปฮอป” (Hip Hop) เดินทางมาไกลกว่าที่หลายคนคิดมาก เห็นได้ว่า รูปแบบของดนตรีชนิดนี้ไม่เพียงยึดครองชาร์ตจัดอันดับความนิยมของสถาบันต่างๆ ในช่วงหลายปีหลังมานี้ องค์ประกอบของวัฒนธรรมที่มาควบคู่กับดนตรียังแทรกเข้าไปมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะในแง่มุมการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง

แต่ละยุคสมัยล้วนมีศิลปินปรากฏตัวขึ้นมาสร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้าง หาใช่แค่ในวงการดนตรี นับตั้งแต่เอลวิส (Elvis) ลุกขึ้นมาเต้นเขย่าโลก, ปรากฏการณ์ “เดอะ บีเทิลส์” (The Beatles) และคลื่นวงดนตรีจากฝั่งบริติชถาโถมเข้าสู่ฝั่งสหรัฐอเมริกา มาจนถึงยุคของดนตรีฮิปฮอป และการแร็ป แนวดนตรีที่ว่านี้เคยถูก BuzzAngle บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านดนตรีระบุว่า เป็นแนวดนตรีที่มีผู้ฟังในสหรัฐฯ บริโภคดนตรีแนวนี้ 24.7 เปอร์เซ็นต์ จากการบริโภคดนตรีทั้งหมดในสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของประชาชนผู้บริโภคดนตรีในประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรมอีกแห่งของโลกทีเดียว

อันที่จริงแล้ว ก่อนที่ดนตรีฮิปฮอปจะเป็นดนตรีซึ่งดังขึ้นในแทบทุกพื้นที่เหมือนในทุกวันนี้ ฮิปฮอป เริ่มก่อตัวขึ้นไม่นานมานี้เอง ต้องยอมรับว่า การกำเนิดขึ้นของฮิปฮอป ก่อตัวขึ้นท่ามกลางความแตกต่างจากเชื้อชาติและชนชั้น นั่นเป็นเหตุผลที่เจมส์ แม็กไบรด์ (James McBride) นักเขียนสายวัฒนธรรมดนตรีแสดงความคิดเห็นว่า ดนตรีฮิปฮอปปกคลุมด้วยข้อมูลที่มาจากแหล่งต่างๆ อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ ซึ่งล้วนแต่บอกเล่าข้อมูลที่อ้างว่าเป็นความจริงในมุมของตัวเอง

เชิงดนตรีวิทยาชาติพันธุ์

ในแง่มุมประวัติศาสตร์แบบวัฒนธรรมร่วมสมัยของ “ฮิปฮอป” แบบคร่าวๆ ส่วนใหญ่แล้วถูกบอกเล่าว่าเป็นดนตรีที่กำเนิดจากปาร์ตี้ของวัยรุ่นในเมือง (จะอธิบายต่อไป) แต่หากอ้างอิงในเชิงวิชาการสายมานุษยวิทยาแล้ว เจมส์ แม็กไบรด์ นักเขียนสายดนตรีอธิบายว่า ดนตรีที่ประกอบกับเสียงพูด สามารถแกะรอยย้อนไปได้จนถึงเรือที่ลำเลียงทาสจากแอฟริกาตะวันตกตั้งแต่หลายศตวรรษก่อน

ต้นตอของดนตรีลักษณะ “ฮิป-ฮอป” ย้อนกลับไปได้ถึงเพลงเต้นที่มีเสียงกลองของกลุ่มนักเล่าเรื่องจากแอฟริกาตะวันตก เป็นส่วนผสมระหว่างดนตรีกับการใช้คำในแง่การบอกเล่าการเดินทางอันเจ็บปวดของเหล่าทาสที่รอดชีวิตมาจากการเดินทาง นักวิชาการเกี่ยวกับดนตรีของคนผิวดำต่างบ่งชี้ว่าการพูดประกอบดนตรี (Speech-song) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนผิวดำมายาวนานมากแล้ว

เจมส์ แม็กไบรด์ อธิบายว่า กระแสส่วนหนึ่งปรากฏว่า ชิ้นงานที่วางรากฐานสำหรับการแร็ปให้เป็นที่รู้จักคือ อมีรี บารากา (Amiri Baraka) ศิลปินในยุค 50s จนถึง 60s บารากา ทำการแสดงโดยใส่เสียงที่เขาสร้างขึ้น (กรีดร้อง, ร้องไห้, ย่ำเท้า, และเสียงพูด) เข้ากับจังหวะดนตรี เขาถูกเรียกว่า “beat poet” เป็นศิลปะการแสดงชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่า การแสดงชนิดนี้อาจมองได้ว่าเป็นอิทธิพลส่งต่อมาถึงศิลปินทริโอแร็ปกลุ่มแรกที่เรียกว่า “เดอะ ลาสต์ โพเอทส์” (The Last Poets)

ผลงานของ The Last Poets เป็นงานดนตรีประกอบด้วยเสียงกลองและการอ่านกวี ในยุคที่ไม่มีสื่อและเทคโนโลยีทันสมัย ผลงานของพวกเขาขายได้ 4 แสนชิ้นใน 3 เดือน หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเล่าว่า พวกเขาอาศัยแต่การบอกเล่าปากต่อปากเท่านั้น

พวกเขาอาจไม่ได้มองว่าดนตรีลักษณะเดียวกับพวกเขาจะพัฒนามาสู่วัฒนธรรมร่วมสมัยที่เป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก

เชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม นักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านดนตรีส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ฮิปฮอปเริ่มตั้งเค้าก่อตัวช่วงยุค 60-70s แวดวงดนตรีในช่วงปลายยุค 60s จนถึงต้นยุค 70s กระแสยังเป็นของดนตรีดิสโก (Disco) อันที่จริงแล้ว บางแห่งอธิบายว่า จุดเริ่มต้นของดิสโกก็คล้ายกับฮิปฮอป คือเริ่มโดยดีเจผิวดำและวัฒนธรรมย่อยกลุ่มลาติโน แต่สิ่งที่แยกความแตกต่างระหว่างทั้งคู่คือเรื่องชนชั้นและวัย กล่าวคือ ดิสโกเป็นดนตรีสำหรับการสังสรรค์ของผู้ใหญ่ในไนท์คลับกลางเมือง ขณะที่ฮิปฮอปเริ่มต้นจากกลุ่มวัยรุ่นที่ยังสวมรองเท้าผ้าใบ

ขณะที่ฮิปฮอปค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากกิจกรรมในเมืองหลังยุคอุตสาหกรรม และเชื่อกันว่าเริ่มต้นขึ้นจากพื้นที่เมืองในนิวยอร์ก เจมส์ แม็กไบรด์ ก็บอกเล่าเช่นนั้นเช่นกัน เขาเล่าว่า การก่อตัวของฮิปฮอปเริ่มต้นในช่วงต้นยุค 70s

ราวปี 1973 อันเป็นช่วงที่นิวยอร์กมีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง โรงเรียนรัฐตัดงบด้านศิลปะอย่างสิ้นเชิง การศึกษาและกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีในโรงเรียนซบเซา ย่านบร็องซ์ (Bronx) เป็นชุมชนที่มีแต่ปัญหาทางสังคมเชิงโครงสร้าง อาทิ อัคคีภัย ความยากจน ผู้คนตกงาน และอาชญากรรม ท่ามกลางปัญหามากมาย ฮิปฮอปถือกำเนิดขึ้นในบริบทเช่นนั้นเอง

ท่ามกลางภาวะตีบตันทางศิลปะ ขณะที่ผู้ใหญ่ยังนิยมกับบรรยากาศแสงสีแวววาวของดิสโก วัยรุ่นในย่านบร็องซ์ (Bronx) และฮาร์เล็ม (Harlem) สร้างกิจกรรมแปลกใหม่ขึ้นมา กิจกรรมเกี่ยวกับ “ฮิปฮอป” ก่อร่างขึ้นจากห้องเก็บแผ่นเสียงของดีเจท้องถิ่นเท่านั้นเอง ชื่อของบุคคลที่คนในวงการถือกันว่าเป็นอิทธิพลสำคัญต่อรากฐานของสุ้มเสียงแบบฮิปฮอปอย่าง แอฟริกา แบมบาตา (Afrika Bambaataa) ซึ่งนำลำโพงมายัดในหน้าต่างห้องของแม่ที่อยู่ชั้นล่าง ต่อสายลำโพงเชื่อมสัญญาณเข้ากับเครื่อง “เทิร์นเทเบิล” (Turntable) หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงในห้องนอนของเขา และจัดปาร์ตี้ในบ้านขนาดย่อมๆ

คูล เฮิร์ก

ขณะที่บางรายอ้างอิงถึงชื่อของดีเจที่ก่อร่างกิจกรรมคล้ายกันในเวลาไล่เลี่ยกันอย่าง คูล เฮิร์ก (Kool Herc) หรือ คูล ดีเจ (Kool DJ) มีบางคนยกว่าเขาเป็นดีเจผู้จัดปาร์ตี้ฮิปฮอปคนแรก เจมส์ แม็กไบรด์ เล่าว่า “คูล ดีเจ” จัดกิจกรรมทางดนตรีและสันทนาการขึ้นทางฝั่งตะวันออกของบร็องซ์ ห่างออกไปทางตอนใต้อีกไม่กี่ไมล์ก็มีกิจกรรมของ “แกรนด์มาสเตอร์ แฟลช” (Grandmaster Flash) อีกหนึ่งดีเจที่หาเทคนิคลูกเล่นมาใช้กับเทคโนโลยีทำให้เครื่องเทิร์นเทเบิล กลายเป็น “เครื่องดนตรี” อีกจำพวกได้

(แอฟริกา แบมบาตา และบางแหล่งข้อมูลระบุว่า คูล เฮิร์ก เปิดเพลงปาร์ตี้ในแถบตะวันตกของบร็องซ์ ขณะที่ย่านตอนใต้ของบร็องซ์ เป็นแหล่งต้นตอสำคัญของวัฒนธรรมฮิปฮอป)

ปาร์ตี้ของคูล ดีเจ มีขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม 1973 “คูล เฮิร์ก” ให้สัมภาษณ์ในสารคดี “Hip-Hop Evolution” ถึงบรรยากาศของปาร์ตี้ครั้งนั้นว่า มีคนราว 40-50 คนมาร่วม เพลงดังกระหึ่ม ผู้คนเต้นรำ ตื่นเต้นควบคู่กับรู้สึกอันตราย “คูล เฮิร์ก” ไม่ได้เปิดเพลงดิสโก แบบที่ได้ยินในวิทยุ แต่เปิดเพลงโซลของเจมส์ บราวน์ และดนตรีฟังก์ ที่หลายคนไม่เคยได้ยินจากวิทยุ ไม่ใช่แค่เพลงที่เฮิร์ค เลือกมาเปิดเท่านั้น ยังเป็นเรื่องของ “วิธีการ” ด้วย

บุคคลที่ทรงอิทธิลต่อฮิปฮอป (จากซ้ายไปขวา), แฟ็บ ไฟฟ์ เฟรดดี้ (Fab 5 Freddy), เครซี่ เลกส์ (Crazy Legs), ไอส์ ที (Ice T), เบรนต์ กลาส ผอ. พิพิธภัณฑ์ Smithsonian, คูล เฮิร์ก (Kool Herc) และ แกรนด์มาสเตอร์ แฟลช (Grandmaster Flash) ในงานแถลงข่าวคอลเล็กชั่นฮิปฮอป ที่นิวยอร์ก เมื่อ 28 ก.พ. 2006 ภาพจาก TIMOTHY A. CLARY / AFP

แดน ชาร์นาส (Dan Charnas) นักเขียนเจ้าของผลงาน The Big Payback ให้สัมภาษณ์ในสารคดีเดียวกันว่า เฮิร์ค เลือกเปิดเพลงเป็นท่อนๆ โดยไม่มีเสียงเครื่องดนตรีอื่นนอกจากกลองและเบส อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อาจพอเห็นเค้าของฮิปฮอปขึ้นบ้างแล้ว นอกจากนี้ “คูล เฮิร์ก” ยังเล่นแผ่นเสียงต่อกันสองเครื่องโดยไม่มีช่วงที่เพลงหยุด คูล เฮิร์ก จะใช้วิธียืดท่อนที่เป็นเสียงกลองเดี่ยวๆ ออก ในวงการมีศัพท์เรียกเทคนิคนี้ว่า “merry go round” บางครั้งก็ใช้เพลงเดียวกันสองแผ่นต่อกันเพื่อยืดท่อนที่ต้องการในกรณีที่มีนักเต้นเท้าไฟกำลังวาดลวดลายอยู่

กรณีนี้ยังเชื่อมโยงกับลักษณะคนที่เต้นในช่วงเบรคของเพลง (ที่เป็นท่อนเพลงซึ่งมีแต่เสียงให้จังหวะอย่างกลองกับเบสและถูกยืดออก) ว่า “เบรค แดนเซอร์” (Break Dancer) และพวกที่มาเต้นก็มักเต้นแข่งประชันกันด้วยท่าที่พิสดารกว่าเพื่อเอาชนะกัน ในปัจจุบันคำศัพท์ที่เรียกนักเต้นแบบนี้ก็คือ “บีบอย” (B-Boy) นั่นเอง

ในปาร์ตี้ยุคแรก ไม่ได้มีแค่เสียงเพลงเท่านั้น องค์ประกอบหนึ่งยังมีบุคคลที่เรียกว่า “เอ็มซี” (MC- master of ceremonies) ถ้าเรียกให้ง่ายในแบบไทยๆ คงเป็น “พิธีกร/ผู้ดำเนินรายการกิจกรรม” เอ็มซีที่ทำงานกับเฮิร์ค คือ “โค้ก ลา ร็อก” (Coke La Rock) โค้ก ให้สัมภาษณ์โดยยอมรับว่า ก่อนหน้าจับไมค์ในปาร์ตี้ เขาเคยมีหน้าที่ขายกัญชาในงานมาก่อน ช่วงแรกๆ ที่เขาถือไมค์ ก็เพียงแค่เรียกชื่อเพื่อนที่มาร่วมปาร์ตี้ร่ายเป็นลิสต์ไปเรื่อยๆ

เจมส์ แม็กไบรด์ อธิบายเพิ่มเติมว่า หน้าที่ของเอ็มซี ก็คือ “แร็ป” (พูด) ต่อเนื่องระหว่างเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศในปาร์ตี้ “เอ็มซี” ก็เป็นเช่นเดียวกับอาชีพอื่นที่มีคู่แข่ง พวกเขาพยายามหาวิธีเอาชนะเอ็มซีอื่นในแวดวง สไตล์การเต้นในปาร์ตี้ที่นักเต้นต้องการเอาชนะกันก็ทำให้เกิดรูปแบบการเต้นที่เรียกกันว่า “ล็อกกิ้ง” (Locking), “ป๊อปปิ้ง” (Popping) และเบรคกิ้ง (Breaking)

รากฐานของฮิปฮอปก่อขึ้นมาโดยที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ทราบ พวกเขาแค่ทำกิจกรรมของตัวเองในเวลานั้นโดยมีบุคคลเปิดเพลงที่เรียกว่า “ดีเจ” มีคนถือไมค์ที่เรียกว่า “เอ็มซี” ย่านบร็องซ์ ในเวลานั้นกลายเป็นย่านที่รุ่มรวยด้วยกิจกรรมดนตรีและปาร์ตี้ ดึงดูดกลุ่มบุคคลหลากหลายตั้งแต่เชื้อสายเปอร์โตริโก, โดมินิกัน และแอฟริกัน-อเมริกันในบริเวณมาเข้าร่วมด้วย

วัฒนธรรม Hip-Hop

แอฟริกา แบมบาตา (Afrika Bambaataa) ที่จัดปาร์ตี้เปิดเพลงขึ้นในบร็องซ์ ยังให้สัมภาษณ์ว่า แม้บรรยากาศในปาร์ตี้จะสนุกสนาน แต่สำหรับคนทั่วไปในเวลานั้น พวกเขามักกลัวที่จะย่างกรายมาในแถบนั้น คนที่ร่วมปาร์ตี้บางทีก็เป็นแก๊งข้างถนนซึ่งเข้ามาแจม ในช่วงเวลานั้น แก๊งต่างๆ ในบร็องซ์ ก็ปะทะกันดุเดือด เกิดความสูญเสียขึ้นด้วย ขณะที่จัดกิจกรรมบันเทิง พวกเขาก็ต้องหาทางจัดระเบียบและอยู่ร่วมกันในชุมชน แบมบาตา มีบทบาทในการหลอมรวมแก๊งต่างๆ เข้าเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “ซูลูเนชั่น” (The Zulu Nation) โดยมีดนตรีเป็นตัวประสานเชื่อม ผู้คนเริ่มเข้ามาเป็นเอ็มซี ดีเจ และวาดภาพกราฟฟิตี (Graffiti)

แบมบาตา เล่าว่าองค์ประกอบในการรวมตัวกันมี 5 ประการคือ เอ็มซี, ดีเจ, นักแต่งเพลง, บี-บอย และบี-เกิร์ล (บางครั้งที่ให้สัมภาษณ์ เขาเอ่ยถึง “กราฟฟิตี” ด้วย) ผสมสผสานกันเป็นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ในสารคดี “Hip-Hop Evolution” แบมาบาตา ยังกล่าวว่า ช่วงเวลานั้นเองที่เรียกชื่อวัฒนธรรมว่า “ฮิป-ฮอป”

ขณะที่งานเขียนของเจมส์ แม็กไบรด์ มองว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่รู้มาก่อนว่าพวกเขาร่วมจารึกประวัติศาสตร์ทางดนตรี และเจมส์ ยังเล่าว่า บุคคลหนึ่งในกระบวนการนั้นคือเอ็มซีชื่อ เลิฟบัก สตาร์สกี (Lovebug Starski) คือหนึ่งในคนที่ใช้คำ “ฮิป-ฮอป” (Hip-Hop) โดยเจมส์ แม็กไบรด์ เล่าว่า ว่ากันว่าเอ็มซีรายนี้จะเอ่ยคำ “ฮิป-ฮอป” ระหว่างเบรคเพื่อรักษาจังหวะเอาไว้ แต่ในปัจจุบัน คำว่า “ฮิป-ฮอป” มักเป็นคำที่ถูกมองว่ามาควบคู่กับการ “ร้องแร็ป”

เมื่อมีดนตรีจากดีเจแล้ว ช่วงนั้นเอ็มซีก็ยังทำหน้าที่อยู่ แต่การแร็ปให้เข้าจังหวะกับเพลงแบบจริงจังนั้น มีหลายอิทธิพลที่ทำให้เกิดการแร็ปอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การจัดวิทยุของนักพูดนักจัดรายการท้องถิ่นในนิวยอร์ก ผู้ฟังก็นำมาประยุกต์กับการ “แร็ปบนท้องถนน” ทั่วไป สำหรับศิลปินที่ร้องแร็ปเป็นจังหวะคนแรกก็ยังไม่สามารถบอกแบบแน่ชัดได้ว่าเป็นใคร บางครั้งก็มีชื่อของดีเจ ฮอลลีวูด (DJ Hollywood) เข้ามาถูกพูดถึงว่าเป็นคนบุกเบิกด้วย ดีเจ ฮอลลีวูด มักเล่นกับคนดู สร้างความสนุกสนานกับผู้ร่วมงานด้วยการหยอกล้อโดยใช้คำคล้องจอง วลีของดีเจฮอลลีวูด เป็นที่รู้จักในวงการซึ่งทำให้ดีเจในนิวยอร์กเริ่มนำมาเป็นไอเดียใช้งานต่อด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากหลักฐานของฝ่ายทางการจากสำนักงานสวนสาธารณะแห่งนิวยอร์ก “แหล่งกำเนิดฮิป-ฮอป” อย่างเป็นทางการก็คืออพาร์ทเมนต์ เลขที่ 1520 ย่านเซดจ์วิค อเวนิว (Sedgwick Avenue) ทางตอนใต้ของบรองซ์ ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งดีเจ คูล เฮิร์ค จัดปาร์ตี้วันที่ 11 สิงหาคม 1973 ดังที่เล่าข้างต้น

ข้อมูลจากทางการเล่าว่า ปาร์ตี้ ครั้งนั้น คูล เฮิร์ค มาเปิดเพลงในงานปาร์ตี้ฉลองกลับมาเรียนอีกครั้งที่จัดโดยพี่สาว คืนวันนั้นคูล เฮิร์ก เริ่มจากเปิดเพลงเร็กเก้ แต่ฝูงชนวัยรุ่นราวร้อยคนไม่ตอบสนอง เขาจึงเปลี่ยนไปเปิดเพลงฟังก์ ที่มีเครื่องเคาะหนาหู เมื่อนั้นฝูงชนจึงปาร์ตี้กันสุดเหวี่ยง ปาร์ตี้ครั้งนั้นถือเป็นรากฐานของโดมิโนทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนโฉมวัฒนธรรมดนตรีอเมริกันและมีอิทธิพลต่อทิศทางวัฒนธรรมโลกมาจนถึงวันนี้ ดีเจที่มีชื่อเสียงในช่วงเริ่มต้นก็มักได้อิทธิพลจากการเข้าชมปาร์ตี้ซึ่งมีดีเจ “คูล เฮิร์ก” เปิดแผ่น

คำว่า “ฮิป-ฮอป”

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ปาร์ตี้ของเหล่าดีเจแพร่หลายในบร็องซ์ คำว่า “ฮิป-ฮอป” ยังไม่ได้ปรากฏชัดในวงกว้าง ดีเจแต่ละรายมีศัพท์เรียกกิจกรรมของตัวเอง เฮิร์ก เรียกว่า “บี-บีทส์” (B-beats) แกรนด์มาสเตอร์ แฟลช (Grandmaster Flash) เรียกว่า “เดอะ เก็ท ดาวน์” (The Get Down)

คำว่า “ฮิป-ฮอป” ถูกสันนิษฐานมี 2 แหล่งกำเนิดตั้งต้นที่พอเป็นไปได้คือ ไม่มาจาก คีธ “คาวบอย” วิกกินส์ (Keith “Cowboy” Wiggins) สมาชิกของกลุ่ม “แกรนด์มาสเตอร์ แฟลช แอนด์ ฟิวเรียส ไฟฟ์” (Grandmaster Flash and the Furious Five) ก็มาจากเอ็มซีที่ชื่อ “เลิฟบั๊ก สตาร์สกี” (Lovebug Starski) ไม่ว่าจะเป็นใคร แต่โดยทั่วไปแล้ว เป็นที่รับรู้กันว่า “แบมบาตา” ทำให้คำว่า (วัฒนธรรม) “ฮิป-ฮอป” แพร่หลาย

ในช่วงกลางยุค 70s จนถึงปลายยุค 70s สถานีวิทยุกระแสหลักแทบไม่เปิดเพลงที่เป็นกระแสทางวัฒนธรรมในบร็องซ์ เหล่าดีเจก็ขายผลงานที่เรียกว่า “มิกซ์เทป” (mix tapes) ที่พวกเขานำแทร็กเพลงที่พวกเขาเปิดมาตัดต่อรวมกันในแบบฉบับของเขาเอง กระทั่งเริ่มมาปรากฏในวิทยุในช่วงปี 1979

ฮิป-ฮอป เริ่มพัฒนาจากดนตรีปาร์ตี้ มาสู่การวิพากษ์วิจารณ์สังคมในช่วงต้นยุค 80s เจมส์ แม็กไบรด์ เล่าว่า ช่วงแรกนั้นมาจากงานของแกรนด์มาสเตอร์ แฟลช แอนด์ ฟิวเรียส ไฟฟ์ ที่เรียกว่า “เดอะ เมสเสส” (The Message) ที่เผยแพร่เมื่อปี 1982 เดิมทีเพลงนี้เขียนขึ้นในปี 1980 เนื้อหาในเพลงเอ่ยถึงการสไตร์คงานในระบบขนส่งมวลชนนิวยอร์กเมื่อปีเดียวกัน เรียกได้ว่า เป็นเพลงแร็ปที่เผยแพร่ในวงกว้างเพลงแรกที่มีเนื้อหาเอ่ยถึงเชิงสังคม

ขณะที่ศิลปินฮิปฮอปที่ทำงานในกลุ่มเฉพาะทางก็มีเอ่ยถึงเรื่องเชิงสังคมกันอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับศิลปินกระแสหลักที่ทำงานเชิงพาณิชย์โดยตรง ปฏิเสธได้ยากว่าเนื้อหาของพวกเขามักเกี่ยวกับเรื่องวิถีชีวิตโดยใช้คำที่รุนแรง

ทศวรรษต่อมา ในยุค 90s การแร็ปที่ถูกคนทั่วไปเรียกว่า “แก๊งสเตอร์ แร็ป” (gangsta rap) ก็ปรากฏขึ้นอย่างกว้างขวาง ศิลปินที่ทำให้งานกลายเป็นที่นิยมในวงกว้างย่อมมีศิลปินอย่าง “ทูพัก ชาเคอร์” (Tupac Shakur) และ “บิ๊กกีสมอลล์” หรือ Notorious B.I.G. ยุคนั้นดนตรีฮิป-ฮอป และการแร็ป อยู่ในวงศิลปินที่เขียนเนื้อหาบอกเล่าการดิ้นรนในวิถีชีวิตของพวกเขาเชื่อมเข้ากับปัญหาอาชญากรรมในเมือง ภาพของดนตรีแร็ปก็ถูกเชื่อมโยงเข้ากับรถหรู, แฟชั่น และเครื่องดื่ม

จากการก่อร่างในสหรัฐฯ หลังจากนั้นเป็นต้นมา วัฒนธรรมฮิป-ฮอป และเพลงแร็ป กระจายตัวไปทุกมุมโลก แม้แต่ในแอฟริกาเอง ซึ่งเจมส์ แม็กไบรด์ มองว่า วัฒนธรรมนี้เดินทางครบ “วงรอบ” จากแอฟริกา มาสู่สหรัฐฯ และหวนมาสู่บ้านเกิดในแอฟริกาอีกครั้ง

แน่นอนว่า ทุกวันนี้วัฒนธรรมฮิปฮอปแทรกซึมเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยและกิจกรรมเชิงสังคมที่มากกว่าแค่วิพากษ์วิจารณ์ บอกเล่าปัญหาวิถีชีวิต สะท้อนถึงเส้นทางการค้าทาส และอาชญกรรม แต่มันขยายวงกว้างกลายเป็นช่องทางสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้นอย่างเรื่องทางการเมือง ศิลปินแร็ปในสหรัฐอเมริกาเองก็ใช้เพลงของตัวเองเป็นช่องทางเช่นกัน

ด้วยลักษณะดนตรีที่ไม่ซับซ้อน มีจังหวะชวนขยับตาม ประกอบกับการร่ายคำคล้องจอง ที่เรียกว่า “การแร็ป” ควบคู่กับภาพลักษณ์และกลิ่นอายที่เชื่อมโยงกับต้นตอของวัฒนธรรม (ดังที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น) ไม่แปลกเลยที่ดนตรีฮิปฮอปจะเป็นลักษณะของดนตรีที่ได้รับความนิยมในชาร์ตจัดอันดับเพลงกระแสหลัก ไปจนถึงเป็นเพลงที่ใช้วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมือง มากกว่าดนตรีแบบโฟล์ค (หรือป๊อป) ซึ่งเคยเป็นลักษณะดนตรีสำหรับศิลปินในยุค 60-70s ใช้ร่ายบทกวีอันสวยงามควบคู่กับดนตรีอันไพเราะและเรียบง่าย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

McBride, James. “Hip-Hop Planet”. National Geographic. April 2007.

Leight, Elias. “Hip-Hop Continued to Dominate the Music Business in 2018”. Rolling Stone. Online. Published 3 JAN 2019. Access 20 AUG 2020. <https://www.rollingstone.com/music/music-news/hip-hop-continued-to-dominate-the-music-business-in-2018-774422/>

Lynskey, Dorian. “Grandmaster Flash: ‘Hip-hop’s message was simple: we matter’”. The Guardian. Online. Published 7 AUG 2016. Access 20 AUG 2020. <https://www.theguardian.com/music/2016/aug/07/the-get-down-baz-luhrmann-grandmaster-flash-hip-hop>

สารคดี “Hip-Hop Evolution”. Netflix. 2020


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2563