“ต่า ตา ตา ต๊า” ดูเบื้องหลังทำนองเพลง Cherry Pink สู่เพลงประกอบ “ระบำโป๊” ในไทย

ระบำโป๊ นางระบำ สะพานเหล็ก เคยเป็นแหล่ง โสเภณี มาก่อน
นางระบำ (ภาพจาก หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2474)

“ต่า ตา ตา ต๊า” ทำนองในเสียงเครื่องเป่าจากท่อนอินโทรของเพลง Cherry Pink and Apple Blossom White (มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า “เชอร์รี พิงก์”) เมื่อดังขึ้นมา แน่นอนว่า ชาวไทยที่มีชีวิตร่วมสมัยตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบันนี้จะต้องจินตนาการถึงภาพท่วงท่าลีลาเย้ายวน บางคนอาจนึกไปไกลถึงภาพกิริยา “เปลื้องผ้า” หรือ “ระบำโป๊” แล้วทำไมเพลงนี้ถึงกลายเป็นทำนองสัญลักษณ์สำหรับประกอบการเต้นเย้ายวนไปจนถึงเปลื้องผ้าเสียได้

การโชว์ที่เรียกว่าระบำเปลื้องผ้า หรือสมัยก่อนในยุคแรกเรียกกันว่า “ระบำเปลือยกาย” บ้างก็เรียกกันว่า “ระบำนายหรั่งหัวแดง” “ระบำมหาสเน่ห์” หรือ​ “ระบำโป๊” จากการสืบค้นของ วีระยุทธ ปีสาลี เจ้าของผลงานหนังสือ “กรุงเทพฯ ยามราตรี” (มติชน, 2557) พบว่า ในช่วงทศวรรษที่ 2460-2480 หรือในสมัยรัชกาลที่ 6-7 ปรากฏมหรสพต่าง ๆ มากมายในกรุงเทพฯ

นี่ย่อมเป็นไปตามวิถีชีวิตยามค่ำคืนของชาวเมือง มีตั้งแต่โรงภาพยนตร์เปิดใหม่เห็นได้ทุกมุมเมือง ร้านกินดื่มสังสรรค์ หรือที่ซึ่งผู้คนไปพบปะกันก่อนเดินทางกลับบ้านอย่างร้านกาแฟ คลับ ผับ บาร์ คาเฟ่ ที่มีให้เห็นมากขึ้นในย่านเยาวราชและบางรัก แต่สิ่งที่น่าตื่นใจที่สุดในช่วงเวลานั้น ย่อมเป็น “ระบำเปลือยกาย” ซึ่งวีระยุทธ ปีสาลี บรรยายไว้ว่า ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ ราวทศวรรษที่ 2470-2480

สำหรับเพลงประกอบการเต้นที่คนยุคนี้คุ้นกันกับเสียงทรัมเป็ต 4 โน้ตแรกดัง “ต่า ตา ตา ต๊า” ยังไม่พบข้อมูลว่า ใครริเริ่มนำเพลง Cherry Pink มาประกอบการเต้นแนว ๆ นี้ และทำไมถึงต้องเลือกเพลงนี้ ช่างเป็นทำนองที่เข้ากันได้ดี เรียกได้ว่าเป็นภาพจำฝังหัวของคนทั่วไปกันหมดแล้ว

ในช่วงแรกนั้น ระบำแนวที่ว่าจัดแสดงตามงานวัด เช่นงานวัดภูเขาทอง งานวัดหัวลำโพง แน่นอนว่าตำรวจก็มาดำเนินการกันไป เมื่อถูกจับก็ย้ายไปอยู่ชั้นบนของตลาดบำเพ็ญบุญ หรือบางครั้งก็ไปแสดงที่สถานเริงรมย์อื่น ๆ ก็มี

ข้อมูลหลายแห่งบอกตรงกันว่า ระบำโป๊ยุคแรกหรือยุคบุกเบิกของไทยคือ “ระบำตาหรั่ง” หรือคณะนายหรั่ง แต่จากการบอกเล่าของศุภาศิริ สุพรรณเภสัช ผู้เขียนหนังสือ “เพลงของโลกและของเรา” (มติชน, 2557) บอกว่า ระบำตาหรั่งก็ไม่ได้ใช้เพลง Cherry Pink ประกอบการแสดง เพราะเต้นมาก่อนเพลงฮิตนานหลายสิบปี

เอนก นาวิกมูล นักเขียนผู้สนใจประวัติศาสตร์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2563 เล่าถึงคณะตาหรั่งไว้ว่า ตาหรั่ง เรืองนาม มีชื่อจริงคือ บุญศรี สอนซุ่มเสียง จัดตั้งคณะละครในกรุงเทพฯ ร่วมร้อยปีที่แล้ว ธุรกิจไปได้สวย มีทั้งระบำโป๊ และลิเก รองรับกลุ่มผู้ชมได้หลายรสนิยม

วิธีประชาสัมพันธ์ที่ดีของคณะนี้คือ ตาหรั่งจะพาสาวในสังกัดเดินจากบ้านฝั่งธนฯ ข้ามสะพานพุทธฯ มาที่ “วิก” ฝั่งพระนคร คนเห็นเข้าก็เล่ากันปากต่อปากจนคนอยากไปชมกันเอง สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกญี่ปุ่นก็เป็นลูกค้าตาหรั่งกับเขาด้วย เมื่อสงครามจบลง ฝรั่งเข้ามา ฝรั่งก็เป็นลูกค้าของตาหรั่งเช่นกัน

นอกจากระบำโป๊ของคณะนายหรั่งแล้ว ในช่วง พ.ศ. 2476 พบว่ายังมีคณะระบำใหม่เกิดขึ้นชื่อ “ระบำจ้ำบ๊ะ” ซึ่งเปิดแสดงเป็นครั้งแรกในงานออกร้านที่วัดชนะสงคราม เก็บค่าเข้าชมคนละ 1 บาท แต่ที่สุดแล้ว ระบำจ้ำบ๊ะก็ยุบหายไปเพราะถูกตำรวจจับ

ส่วนเพลง Cherry Pink ที่ (คนไทย) ผู้จินตนาการล้ำเลิศช่างเอามาประกอบการแสดงนั้น ศุภาศิริ เล่าว่า ต้นตำรับเป็นฝรั่งเศส ชื่อฝรั่งเศสว่า CERISIER ROSE ET POMMIER BLANC ความหมายเหมือนกับชื่อเต็มภาษาอังกฤษที่ว่า เชอร์รีสีชมพู และดอกแอปเปิลสีขาว

เจ้าของเพลงคือ Louis Guglielmi เกิดในสเปน เมื่อ ค.ศ. 1916 เป็นคนมีเชื้อสายอิตาเลียนด้วย และมาเป็นนักแต่งเพลงที่โด่งดังในฝรั่งเศส ชื่อที่คนรู้จักคือในนามปากกว่า Louiguy แต่งทั้งเพลงป็อปจนถึงเพลงประกอบภาพยนตร์ สำหรับเพลง Cherry Pink ก็ฮิตแพร่กระจายไปทั้งยุโรป อเมริกา มาจนถึงเอเชีย แต่ละชาติมักใส่เนื้อร้องเป็นภาษาของตัวเอง ไทยเราก็มีด้วย เนื้อร้องที่ใส่ภาษาไทยว่า

“โอ้เชอร์รี่เอ๋ย… เราเคยภิรมย์สุขสันต์ ท่ามกลางแสงจันทร์สกาวสดใส”

ศุภาศิริ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เพลงที่เป็นเนื้อร้องภาษาสเปนดังกว่าฝรั่งเศสต้นตำรับเสียอีก หลายคนจึงเข้าใจผิดว่าเพลงมาจากสเปนหรืออเมริกาใต้

เพลงนี้มีนักร้องนักดนตรีบันทึกเสียงไว้หลายเวอร์ชัน ฉบับที่มีชื่อเสียงมากคือเวอร์ชันของ ราชาแมมโบ้ ชาวคิวบา นาม “Perez Prado” วงของเขาบันทึกแผ่นเพลงนี้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1951 ผลงานประสบความสำเร็จส่งให้เจ้าของงานกลายเป็นเศรษฐีก็ว่าได้

อีก 4 ปีต่อมา คุณเปเรซ ชวนนักเป่าทรัมเป็ตชื่อ Billy Regis มาเป่าโน้ตท่อนอินโทรแรกของเพลง “ต่า ตา ตา ต๊า” แบบที่คนทั่วไปรู้จัก เพลงนี้ขึ้นชาร์ตจัดอันดับหลายสัปดาห์ด้วย

คุณเปเรซ เสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1989 ว่ากันว่า เพลง Cherry Pink ที่คนแทบทั่วโลกเปิดกันนั้นก็ยังเป็นเวอร์ชันที่บรรเลงโดยวงของคุณเปเรซ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. เพลงของโลกและของเรา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.

วีระยุทธ ปีสาลี. กรุงเทพฯ ยามราตรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2564