“ระบำโป๊” ครั้งแรกในกรุงเทพฯ คนแก่ดูยืดอายุ 3 วัน!

นางระบำ ผู้หญิง ระบำ ระบำโป๊

“ระบำเปลือยกาย” หรือ “ระบำโป๊” ความเริงรมย์ยามค่ำคืนในยุคใหม่ของกรุงเทพฯ 

กิจกรรมยามค่ำคืนของชาวกรุงเทพฯ ในรูปแบบสังคมเมืองสมัยใหม่ เมื่อราว 100 ปีที่แล้ว มีหลากหลายมากมายโดย วีระยุทธ ปีสาลี ได้ทำการรวบรวมข้อมูลมาไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ “กรุงเทพฯ ยามราตรี” (มติชน, 2557) ซึ่งมีใจความว่า

ในช่วงทศวรรษที่ 2460 – 2480 หรือในสมัยรัชกาลที่ 6-7 นี้พบว่ามีมหรสพต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายในกรุงเทพฯ ผันแปรตามไลฟ์สไตล์ยามกลางคืนของชาวเมือง ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ที่พบว่ามีเปิดใหม่เป็นจำนวนมากจนแทบจะพบเห็นได้ทุกมุมเมือง หรือร้านกินดื่มสังสรรค์ซึ่งเป็นที่พบปะของผู้คนหลังเลิกงานก่อนกลับบ้านอย่าง ร้านกาแฟ คลับ ผับ บาร์ คาเฟ่ ที่มีให้เห็นมากขึ้นโดยเฉพาะในย่านเยาวราชและบางรัก

ทั้งนี้แม้ว่าจะมีสถานบันเทิงและมหรสพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากแต่ก็พบว่าในบรรดาสิ่งใหม่เหล่านี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรสร้างความตื่นเต้นเร้าใจไปได้มากกว่า “ระบำเปลือยกาย” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ ราวทศวรรษที่ 2470-2480

สำหรับ “ระบำเปลือยกาย” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่วนั้นก็คือ “ระบำของนายหรั่ง เรืองนาม” หรือบ้างก็เรียกกันว่า “ระบำนายหรั่งหัวแดง” “ระบำมหาสเน่ห์” หรือ​ “ระบำโป๊” แสดงโดยเหล่าผู้หญิงเปลือย หมายถึง ทั้งเนื้อทั้งตัวนั้นจะปิดไม่ให้เห็นแค่ส่วนหัวนมและอวัยวะเพศ ซึ่งในส่วนอวัยวะเพศนี้ก็ใช้แค่ใบตองเท่านั้นมาปิด

ในช่วงแรกการระบำโป๊ได้จัดแสดงขึ้นที่ตามงานวัดต่าง ๆ เช่นงานวัดภูเขาทองและงานวัดหัวลำโพง แต่เมื่อถูกตำรวจจับก็ย้ายไปแสดงอยู่ที่ชั้นบนของตลาดบำเพ็ญบุญ หรือบางครั้งก็ไปแสดงที่สถานเริงรมย์อื่น ๆ ก็มี

นางระบำ ผู้หญิง ระบำ ระบำโป๊
นางระบำ (ภาพจาก หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2474)

ในช่วง พ.ศ. 2476 พบว่านอกจากจะมีระบำโป๊ของคณะนายหรั่งแล้วก็ยังมีคณะระบำใหม่เกิดขึ้นชื่อว่า “ระบำจ้ำบ๊ะ” ซึ่งเปิดแสดงเป็นครั้งแรกในงานออกร้านที่วัดชนะสงคราม เก็บค่าเข้าชมคนละ 1 บาท แต่ในท้ายที่สุดระบำจ้ำบ๊ะก็ต้องยุบหายไปเพราะไม่พ้นถูกตำรวจจับไปได้อีกเช่นกัน

การเกิดขึ้นของระบำโป๊ในสังคมไทยสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางตะวันตกที่เข้ามาเยือนประเทศไทย ณ ขณะนั้น เพราะการระบำโป๊นับเป็นหนึ่งในรูปแบบการเต้นแบบตะวันตกในช่วงแรกที่ต่อมาได้พัฒนามาเป็นวัฒนธรรมการเต้นอะโกโก้ในทศวรรษที่ 2500 หรือในสมัยสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบำโป๊จะให้ความบันเทิงกับคนบางกลุ่มในกรุงเทพฯ แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่ามีชาวเมืองหลายคนที่ไม่พอใจมหรสพดังกล่าว จนเกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถากถางว่า ระบำโป๊นั้นคงมีข้อดีกว่าการระบำแบบนุ่งผ้าอยู่หลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือสามารถต่ออายุให้คนแก่อยู่ต่อไปได้อีกถึง 3 วัน!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2561