“ระบำโป๊” ความบันเทิงยามสงคราม เปิด “หวอ” ท่ามกลางเสียง “หวอ”

ระบำโป๊ คณะ นางระบำ
คณะนางระบำของตึกไพบูลย์สมบัติ หรือตึก 9 ชั้น (ภาพจากหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ 17 มิถุนายน 2474 - อ้างใน หนังสือ กรุงเทพฯ ยามราตรี)

“ระบำโป๊” ความบันเทิงยามสงคราม เปิด “หวอ” ท่ามกลางเสียง “หวอ”

หลังไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนกรุง ประการแรก คือ การอพยพออกจากเมือง เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยอีกต่อไป การที่มีทหารญี่ปุ่นประจำการ จึงตกเป็นเป้าหมายของการทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตร ตามด้วยเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และการขาดแคลนสินค้าต่าง ๆ

เมื่อมีการทิ้งระเบิดเป็นครั้งแรกนับแต่วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2485 คนกรุงออกไปใช้ชีวิตยามค่ำคืนน้อยลง สถานบันเทิงต่าง ๆ ที่เคยเฟื่องฟูกลับเงียบเหงาซบเซาลง ดังที่ ยศ วัชรเสถียร เล่าสภาพชีวิตยามค่ำคืนของกรุงเทพฯ ในพื้นที่ถนนราชวงศ์ว่า

“ร้านตำบลถนนราชวงศ์ได้เฟื่องฟูอย่างสูงเรื่อยมาจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองลุกลามมาถึงเมืองไทย อันทำให้หาคนไปกินเหล้าและอาหารว่าง ตลอดจนอาหารหนักที่นั่นได้ยากในเวลาค่ำคืน เพราะกลัวเครื่องบินฝ่ายข้าศึกมาทิ้งระเบิดใส่ และส่วนมากผู้คนในพระนครก็อพยพย้ายที่หลับที่นอนไปอยู่นอกเขตพระนคร ทำให้พระนครในเวลาค่ำคืนมีภาวะเป็นนครร้าง…”

แม้ชีวิตยามค่ำคืนของกรุงเทพฯ จะเงียบเหงาสักเพียงไหน แต่ไม่ใช่สำหรับพื้นที่ของความบันเทิงทางกามารมณ์อย่างการแสดงเต้นรำ กระทั่งพัฒนาต่อมาเป็น “ระบำโป๊” หรือ “จ้ำบ๊ะ”

ย้อนกลับไปดูการพัฒนาของการแสดงเต้นรำในสถานเริงรมณ์ พบว่า เฟื่องฟูมาตั้งแต่ทศวรรษ 2470-2480 โดยโรงเต้นรำแบบคาบาเรต์แห่งแรกของกรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าเป็น โรสฮอลล์ ถนนสุรวงศ์ และยังมีสถานเริงรมณ์ประเภทนี้อีกหลายที่ เช่น ตึก 9 ชั้น หรือตึกไพบูลย์สมบัติ ถนนเยาวราช, ซ่วนหลีบาร์ ย่านสะพานหัน, ศรีอาทิตย์สถาน ย่านนางเลิ้ง, สถานเขษมสุข หลังตลาดมิ่งเมือง, ตึกทิฆัมพรหรือตึก 4 ชั้น ถนนเจริญกรุง, ตึกดำรงพาณิชย์หรือตึก 7 ชั้น และสยามโฮเต็ล ย่านวังบูรพา เป็นต้น

การเต้นรำรูปแบบหนึ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ คือ ระบำเปลือยกาย โดยเฉพาะจากคณะของนายหรั่ง เรืองนาม ที่มีชื่อเสียงโด่งดังรู้จักกันในนาม “ระบำนายหรั่งหัวแดง” “ระบำมหาสเน่ห์” หรือ​ “ระบำโป๊”

ระบำโป๊คณะของนายหรั่งเดินสายทำกาารแสดงตามงานวัด จนถูกตำรวจจับและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาก กระนั้นก็ดี คณะของนายหรั่งเปิดทำการแสดงต่อไป ปรากฏว่า โฆษณาในยุคนั้นเชิญชวนคนให้มาชมระบำโป๊คณะนี้ว่า “เชิญท่านมาชมระบำของนายหรั่งผู้เรืองนาม ท่านจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจ มีเพียงคณะเดียวเท่านั้นที่แสดงได้อย่างพิศวงงงงวย ชมแล้วชุ่มชื่นหัวใจ มีนางสาวทุกวัยคอยต้อนรับท่านเยอะแยะ”

ถึงปี 2476 นอกจากจะมีระบำโป๊คณะของนายหรั่งแล้วก็ยังมีคณะระบำใหม่เกิดขึ้นใช้ชื่อว่า “ระบำจ้ำบ๊ะ” ซึ่งเปิดแสดงเป็นครั้งแรกในงานออกร้านที่วัดชนะสงคราม เก็บค่าเข้าชมคนละ 1 บาท

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานเริงรมณ์ทั้งหลายซบเซา ส่งผลให้คณะระบำโป๊ปิดตัวไปเกือบทั้งหมด แต่คณะของนายหรั่งกลับยืนหยัดอยู่ได้ แม้จะได้รับผลกระทบจากภัยสงครามและวิถีชีวิตยามค่ำคืนของชาวกรุงที่แปรเปลี่ยนไปบ้าง นายหรั่งเปิดทำการแสดงที่ตึก 7 ชั้น และตึก 9 ชั้น ขณะที่กรุงเทพฯ ทั้งเมืองปิดไฟจนมืดมิด พรางตัวจากการทิ้งระเบิด เปิดเสียงหวอเตือนสนั่น ทำให้บางครั้งต้องหยุดทำการแสดงกลางคัน จนเมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดกลับไปแล้วจึงทำการแสดงต่อไป

แม้ว่าการแสดงระบำโป๊คณะของนายหรั่งต้องเสี่ยงภัยจากระเบิดทุกวัน ทว่ากลับได้รับความนิยมอย่างมากจากทั้งผู้ชมชาวไทยและทหารญี่ปุ่น ทั้งนี้ เนื่องจากนายหรั่งได้รับการร้องขอจากกองทัพญี่ปุ่นให้เปิดการแสดงเป็นพิเศษ นายทหารและพลทหารญี่ปุ่นแทบทุกคนจะมีแผนที่กรุงเทพฯ ซึ่งระบุที่ตั้งของตึก 9 ชั้น อันเป็นโรงเต้นรำเปิดทำการแสดงระบำโป๊ พร้อมด้วยคําอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่นปรากฏอย่างชัดเจน

นอกจากคณะของนายหรั่งแล้ว ยังมีคณะเล็ก ๆ ที่ตระเวนแสดงในงานเทศกาลหรืองานวัด พยายามแสดงระบำที่เน้นความโป๊เปลือยยิ่งกว่าคณะของนายหรั่งอีกด้วย โดยเจ้าของคณะจะใช้นักเต้นรำสาวที่ทําอาชีพเป็นโสเภณี ซึ่งกล้าเปิดเผยเรือนร่างมากกว่า

ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ระบำโป๊คณะของนายหรั่งจึงย้ายจากตึก 9 ชั้นไปเปิดการแสดงที่ตลาดบําเพ็ญบุญ ตรงข้ามโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เปิดทำการแสดงบริเวณชั้นลอยตรงกลางตลาด และเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะละคอนสารพัดศิลป”

นางระบำ (ภาพจาก หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2474)

คณะของนายหรั่งเปิดแสดงเป็นรอบ ๆ เริ่มตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงดึก ก่อนเปิดการแสดงแต่ละรอบ จะมีการเปิด “หวอ” ล่อตาผู้ชม โดยนายหรั่งจะแต่งกายด้วยชุดนายพลเรือชาติตะวันตก มาปรากฏตัวที่หน้าโรงเต้นรำ พร้อมด้วยนักเต้นรำสาวผิวขาว รูปร่างอวบตามรสนิยมของยุคสมัยนั้นประมาณ 3-4 คน แต่งกายวาบหวิว นุ่งสั้นวับ ๆ แวม ๆ แล้วเต้นเข้ากับจังหวะเสียงกลองด้วยท่าทางลีลายั่วยวน เพื่อเรียกน้ำย่อยจากผู้ชม

เมื่อปลุกเร้าความสนใจได้พอสมควรแล้ว นายหรั่งจะตะเบ๊ะให้กับผู้ชมแล้วพานักเต้นรำสาวกลับเข้าไป จากนั้นโฆษกจะประกาศเชิญชวนให้ผู้ชมตีตั๋วเข้าชมระบำของจริงในโรงซึ่งโป๊มากยิ่งกว่า ผู้ชมโดยเฉพาะผู้ชายที่ทนไม่ไหวก็จะยอมจ่ายค่าชมคนละ 1-2 บาท

ภายในโรงเต้นรำมีเก้าอี้ตั้งเป็นแถว บางครั้งก็ไม่มีเก้าอี้ มีแต่ลานให้ยืนดู เมื่อการแสดงเริ่มขึ้น นักเต้นรำสาวหน้าตาสะสวย ทาปากแดงจัด นุ่งสั้นเปิดเผยสัดส่วนร่างกาย ออกมาเต้นตามจังหวะเพลง แล้วค่อย ๆ เปลื้องผ้าออกทีละชิ้น ทำท่าจะโยนเสื้อผ้าที่ถอดออกให้ผู้ชม แต่กลับโยนไปหลังเวทีแทน จนในที่สุดก็เปลือยเปล่า มีเพียงการปกปิดหัวนมทั้งสองข้างกับปิดอวัยวะเพศเหมือนใส่จับปิ้ง

ผู้ชมที่ได้เห็นของสงวนของนักเต้นรำสาวต่างพากันตื่นเต้นฮือฮา แต่ที่จริงแล้วอวัยวะส่วนนั้นพอกแป้ง หรือดินสอพองไว้จนขาวโพลน บางครั้งก็มีผู้หญิงสวมเสื้อคลุมอาบน้ำเดินออกมายืนกลางเวที แล้วเปิดเสื้อคลุมซ้ายทีขวาที จนท้ายที่สุดเปิดเสื้อคลุมทั้งสองข้าง แต่กลับมีดอกเฟื่องฟ้ามัดเป็นช่อผูกบั้นเอวปิดบังอวัยวะเพศเอาไว้

นอกจากนี้ นายหรั่งเองยังเข้าร่วมแสดงด้วย เช่น เมื่อนักเต้นรำสาวนอนราบกลางเวทีแล้วยกขาสลับกัน นายหรั่งจะเข้าไปนั่งทําท่าดมกลิ่นบริเวณของสงวนของนักเต้นรำสาว แล้วทำท่าโบกมือไปมา เพื่อสื่อให้รู้ว่าเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ และอีกหนึ่งการแสดงที่เรียกเสียงเฮฮาจากผู้ชมคือ การที่นักเต้นรำสาวแต่ละคนเปิด “หวอ” ของตนแล้วเอามาชนกับ “หวอ” ของนักเต้นรำสาวอีกคน เรียกกันอย่างสนุก ๆ ว่า “ทํายุทธหัตถี”

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงระบําโป๊คณะของนายหรั่งนั้นเป็นความบันเทิงเชิงกามารมณ์ที่ทำให้ผู้ชมแทบลืมเสียง “หวอ” จากการทิ้งระเบิดไปชั่วขณะหนึ่งเลยทีเดียว เพราะมัวเอาแต่จับจ้องสนใจอยู่กับการเปิด “หวอ” ของนักเต้นรำสาวนั่นเอง

ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ามาประเทศไทยเพื่อปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่น ปรากฏว่า ระบําโป๊คณะของนายหรั่งก็ถูกร้องขอจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตรให้เปิดการแสดงเป็นพิเศษอีกด้วย กระทั่งเมื่อเข้าสู่ภาวะสงบแล้ว คณะของนายหรั่งได้ทำการแสดงระบำโป๊อยู่ที่ตลาดบำเพ็ญบุญอย่างถาวร

นี่คืออีกหนึ่งสีสันของชีวิตยามค่ำคืนของกรุงเทพฯ ความบันเทิงท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วีระยุทธ ปีสาลี. (2557). กรุงเทพฯ ยามราตรี. กรุงเทพฯ : มติชน.

พีรพล แสงสว่าง และอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (มิถุนายน 2558 – พฤษภาคม 2559). จ้ำบ๊ะ. เมื่อคราวระเบิดลง : ความบันเทิงเชิงกามารมณ์ในกรุงเทพฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2. จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์. ฉบับที่ 19


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2564