5 ทศวรรษ Woodstock เทศกาลดนตรีแห่งยุคฮิปปี กับความทรงจำของผจก.วง Nirvana

บรรยากาศในเทศกาลศิลปะและดนตรี Woodstock 1969 (ไม่ปรากฏวันที่ถ่าย) ภาพโดย Derek Redmond and Paul Campbell / Wikimedia Commons

วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1969 เทศกาลดนตรีวู้ดสต็อก (Woodstock) เริ่มต้นบรรเลงขึ้นก่อนที่มันจะกลายเป็นเทศกาลดนตรีครั้งประวัติศาสตร์ในฐานะงานแสดงศิลปะและวัฒนธรรมยุคฮิปปี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยุคสุดท้ายของวัฒนธรรม “ฮิปปี”

เทศกาลดนตรีครั้งที่ว่านี้จัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม ถึง 18 สิงหาคม 1969 ในพื้นที่ฟาร์มในนิวยอร์ก แต่ที่ใช้ชื่อว่า “วู้ดสต็อก” มาจากชื่อเรียกพื้นที่จัดดั้งเดิมซึ่งเคยถูกวางไว้ที่วู้ดสต็อกในอุลสเตอร์ (Ulster) แต่เมืองนี้มีท่าทีไม่ต้องการให้เทศกาลทางศิลปะและวัฒนธรรมขนาดใหญ่ซึ่งเชื่อว่าอาจมีผู้เข้าชมนับล้านมาร่วมงานจัดขึ้นในบริเวณเมืองของพวกเขา เมื่อเกิดเสียงต่อต้าน งานนี้เกือบถูกยกเลิกแล้ว แต่ Sam Yasgur เกลี้ยกล่อม Max พ่อของเขาให้มาจัดในที่ดินของครอบครัวในเขตซัลลิแวน ห่างจากวู้ดสต็อกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 40 ไมล์

งานที่เดิมทีเกือบถูกยกเลิกดำเนินต่อไปโดยคาดว่ามีผู้เข้าชมประมาณ 2 แสนราย แต่ความจริงแล้วเชื่อกันว่า เมื่อเทศกาลเริ่มต้นขึ้นกลับมีผู้เข้าชมมากกว่า 5 แสนราย (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้จ่ายค่าเข้าชม) เมื่อเป็นเช่นนั้นกลุ่มผู้จัดที่ปลาบปลื้มกับกระแสตอบรับเกินความคาดหมายอย่างท่วมท้นไม่มีทางเลือกนอกจากประกาศว่าให้เทศกาลนี้ฟรี (เหมือนความรัก)

ช่วงสุดสัปดาห์นั้นมีบรรยากาศที่กลายเป็นที่จดจำของคนยุคนั้นว่า เปียกแฉะจากฝน รถติด พื้นที่เต็มไปด้วยโคลน ไปจนถึงกระแสอื้อฉาวอย่างการใช้ยาเสพติด แต่โดยรวมแล้วเทศกาลนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมแห่งยุค

ในช่วงที่บรรยากาศบ้านเมืองอยู่ในยุคแวดล้อมด้วยสงครามเวียดนาม สงครามเย็น เทศกาลจึงกลายเป็นเสมือนภาพตัวอย่างสำคัญของกระแสวัฒนธรรมปรปักษ์ (counterculture) หรือวัฒนธรรมที่สวนทางกับวัฒนธรรมกระแสหลัก กลุ่มคนที่นิยมความเป็นเสรีมีทัศนคติเรื่องความรัก ความสงบ และมีสโลแกนอย่าง “Peace, love, not war” ซึ่งคำว่า “สันติ” (Peace) ก็เชื่อมโยงไปถึงกระแสคัดค้านสงครามเวียดนามที่โหมแรงอย่างหนักในค.ศ. 1969 ในฐานะกระแสการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามและความรุนแรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นยุคของ “ฮิปปี” ในยุค 60s

ช่วงเวลานั้นมีสื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้หลังจากที่มหกรรมเริ่มกลายเป็นกระแสแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าช่วงเริ่มต้นนั้น มุมมองของคนทำงานสื่อทั่วไปจากปากคำของแดนนี่ โกลด์เบิร์ก (Danny Goldberg) นักสื่อสารมวลชนวัยหนุ่มในยุคนั้น (ที่ในอนาคตจะทำงานเป็นผู้จัดการวง Nirvana) เผยว่า เป็นงานที่นักเขียนกลุ่มที่มีอายุแล้วไม่ค่อยอยากไปนัก

แดนนี่ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวง Nirvana

ช่วงนั้นแดนนี่ อยู่ในวัย 19 ปี และได้รับมอบหมายให้ไปรายงานข่าวให้กับบิลบอร์ด (Billboard) แดนนี่ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี ย้อนความทรงจำครั้งนั้นว่า เขาได้ไปทำรายงานที่นั่นก็เพราะไม่มีใครอยากไป

“มันเป็นคนละวัยกัน และงานที่เป็นลักษณะเดินทางไปใจกลางเมืองก็ไม่ค่อยดึงดูดสำหรับพวกเขาเท่าไหร่ ผมเลยได้ไปทำรายงานที่นั่น”

เทศกาลดนตรีครั้งนั้นมี Sri Swami Satchidananda ผู้นำแนวคิดทางจิตวิญญาณและปรมาจารย์โยคะที่มีชื่อเสียงจากอินเดียเป็นคนกล่าวเปิดงาน เนื้อหาในการกล่าวเปิดงานครั้งนั้นก็พูดถึงความโอบอ้อมอารีซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดต่อต้านการใช้ความรุนแรง แดนนี่ เล่าว่า เขาตื่นตาตื่นใจกับการพบเห็นคนอเมริกันวัยหนุ่มสาวรวมตัวกันจำนวนมากเพื่อรับชมงานศิลปะและดนตรี

พิธีเปิดเทศกาล Woodstock เมื่อ 15 ส.ค. 1969 ภาพของ Mark Goff

“ผมอินกับบรรยากาศที่อ่อนหวาน ความงดงามตามแบบธรรมชาติจากความเป็นพี่เป็นน้องในกลุ่มฮิปปีซึ่งแทบไม่ค่อยเป็นที่รับรู้แม้แต่ในช่วงเวลานั้น แต่มันค่อนข้างเด่นชัดในวู้ดสต็อก นับตั้งแต่นาทีแรกที่ผมไปถึงและช่วงสุดท้ายที่ผมเดินทางกลับ” แดนนี่ กล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากนิวยอร์กไทม์สที่เผยแพร่เมื่อปี 1970 เผยว่า กลุ่มผู้อยู่อาศัยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของผู้จัด ฟ้องร้อง Max Yasgur กล่าวหาว่า ผู้เข้าชมที่ตั้งแคมป์สร้างความเสียหายให้ฟาร์มของพวกเขา

แม้ภูมิหลังดั้งเดิมอันเป็นที่มาของการจัดงานนั้นเชื่อมโยงกับบริบทสถานการณ์ทางการเมืองและสงครามในฐานะวัฒนธรรมปรปักษ์ซึ่งอยู่ทางฝั่งตรงข้ามกับการทำสงคราม แต่จากปากคำของแดนนี่ แล้ว เขามองว่า เนื้อหาของเทศกาลแทบไม่ได้เป็นการเมืองแบบชัดเจนขนาดนั้น ตลอดการแสดงทางดนตรีหลายชั่วโมงในเทศกาล มีไม่กี่เพลงที่เชื่อมโยงกับการเมือง

อิทธิพลของวัฒนธรรมเหล่านี้ยังพอเห็นได้อยู่หลังจากช่วงเวลานั้นผ่านมา ในสหรัฐอเมริกายังมีสถานที่เล่นโยคะแพร่หลายไปทั่วประเทศและการเคลื่อนไหวรณรงค์ทางสิ่งแวดล้อมซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมย่อยที่มีต่อวัฒนธรรมหลักของสังคม อย่างไรก็ตาม แดนนี่ แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อวัฒนธรรมย่อยขยายตัวใหญ่เกินจะถูกนิยามว่าเป็น “วัฒนธรรมย่อย” แล้ว มันจึงกลายเป็นเรื่องสำหรับการล้อเลียนเสียดสีมากกว่าเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นความเชื่อในอุดมคติ

เมื่อปลายปี 2018 มีกระแสการจัดมหกรรมดนตรีครบรอบ 50 ปีวู้ดสต็อก จากกลุ่มผู้จัดกลุ่มเดิมระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2019 แต่เมื่อต้นเดือนสิงหาคม CNN รายงานข่าว มหกรรมครบรอบจะไม่ได้ถูกดำเนินการตามแผนการก่อนหน้านี้หลังจากประสบปัญหารุมเร้าหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนหลักถอนตัว ไปจนถึงไลน์อัพศิลปินที่มีนักร้องแถวหน้าถอนตัวด้วยเช่นกัน

 

โปรโมชั่นพิเศษ ส่งท้ายปี ซื้อนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 1 ปี (12 ฉบับ) ลด 15% พร้อมจัดส่งลงทะเบียนทุกฉบับ แถมฟรีอีก 1 เดือน (1 ฉบับ) เฉพาะวันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2563 คลิกดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่นี่


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2562