ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คำว่า “เขมร” ที่คนไทยใช้เรียกผู้คนและประเทศ “กัมพูชา” กันอย่างติดปากนั้น มีที่มาหรือเก่าแก่แค่ไหน อนึ่ง ชาวกัมพูชาซึ่งเรียกตนเองว่า “แขฺมร” หรือ ขแมร์ นั้น เป็นคำเดียวกันหรือมีรากทางภาษาเดียวกันหรือไม่?
รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ เขมรใช้ไทยยืม (สนพ. อมรินทร์, 2553) ว่า หลักฐานการเรียกชาวกัมพูชาว่า เขมร ซึ่งเก่าแก่ที่สุด (เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบัน) คือ ศิลาจารึกเขมรสมัยก่อนพระนคร มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ได้แก่ ศิลาจารึก Ka.64 พบที่บ้านเมลบ (เมลุบ) ตำบลโรกา อำเภอเปียเรียง จังหวัดไพรแรง กล่าวถึงทาสชาวเขมรโบราณไว้ดังข้อความในบรรดที่ 13 ว่า “(๑๓) กฺญุม เกฺมร โฆ โต ๒๐. ๒๐.๗ เทร สิ ๒”
คำว่า “เกฺมร” ในภาษาเขมรสมัยก่อนพระนคร ตรงกับคำว่า “เขฺมร” ในภาษาเขมรสมัยพระนคร เมื่อถอดความหมายคำว่า “กฺญุม เกฺมร” แล้ว น่าจะแปลว่า ข้ารับใช้ (ที่เป็น) ชาวเขมร นัยคือเรียกตนเองว่า เกฺมร มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 นั่นเอง
นอกจากจารึกดังกล่าวแล้ว ยังปรากฏการใช้คำว่า เกฺมร ในภาษาเขมรสมัยก่อนพระนครว่ามีวิวัฒนาการทางเสียง ทำให้เสียง ก ในภาษาเขมรสมัยก่อนพระนคร กลายเป็นเสียง ข ในสมัยพระนคร
คำว่า เกฺมร จึงค่อย ๆ กลายเป็นคำว่า เขฺมร ในสมัยพระนคร และมีการใช้คำนี้ในศิลาจารึกอย่างน้อยจำนวนสองหลัก คือ จารึก K.366 กล่าวถึง “ไต เสา เขฺมร” อันหมายถึง ข้ารับใช้หญิง เสา (ชื่อเฉพาะ) ที่เป็นชาวเขมร
หลักฐานที่ชัดเจนสำหรับการใช้คำว่า เขฺมร ในฐานะคำที่ชาวเขมรสมัยพระนครเรียกตนเอง คือข้อความใน ศิลาจารึกปราสาทบันทายฉมาร์ (K.227) สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 เขียนด้วยอักษรเขมรโบราณ จำนวน 29 บรรทัด มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“…บันทูลให้มีราชพิธี ณ เสด็จนำ ชาวเขมร (อฺนกเขฺมร) ทั้ง 4 ผู้ซึ่งได้ทำการรบเพื่อรักษาความมั่นคง มีจำนวน 78 ตำบลไปยังกัมพุชเทศ แล้วประสาทแก่นักสัญชักทั้งสองโอยนาม อำเตง และสถาปนารูป”
จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ชาวกัมพูชาโบราณในอาณาจักรกัมพูชาสมัยพระนคร เรียกตนเองว่า เขฺมร หรือ อฺนกเขฺมร แปลว่า ชาวเขมร
เมื่อภาษาไทยรับคำนี้มาใช้เพื่อเรียกชาวกัมพูชา จึงเขียนคำว่า เขมร ตามรูปเขียนในภาษาเขมรโบราณสมัยพระนคร แต่เพราะไทยไม่มีเสียงตัวสะกด ร เราจึงออกเสียงตัวสะกดแม่กน (น)
ดังนั้น คำว่า เขมร ที่ใช้ในภาษาไทย น่าจะเป็นคำที่เรารับมาจากภาษาเขมรโบราณสมัยพระนคร
หลักฐานที่สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานข้างต้นคือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก หมายเลข 2/ก104 ต้นฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งต้นฉบับน่าจะเขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ได้กล่าวคำว่าเขมร โดยเขียนตามเสียงอ่านว่า เขมน
แสดงว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีการเรียกกัมพูชาว่าเขมรแล้ว ดังความว่า
“…อยู่มาเจ้าอยาด บุตรเจ้าราม อันผู้เป็นเจ้าให้ไปอยู่จัตุรมุขนั้น ก็ชวนเขมร (ต้นฉบับเขม่น) ทั้งหลายแข็งแก่ราชบุตรท่าน…” หรือ “…เจ้าอยาดได้แต่งเขมร (ต้นฉบับเขียน เขมน) ชองพรรณออกสกัด…”
ใน กำสรวลสมุทร มีความตอนหนึ่งกล่าวถึง เขมน ว่า “รักเนื้อชรม่อนเนื้อ เขมนเขมา อยู่นา”
อาจารย์ศานติ ชี้ว่า ภาษาเขมรสมัยหลังพระนครเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยพระนครมาก ทั้งเรื่องระบบเสียง พยัญชนะ และสระ ดังนั้น คำว่า เขฺมร ในภาษาเขมรโบราณจึงเปลี่ยนเสียงสระเอเป็นสระแอ และไม่ออกเสียงพยัญชนะท้าย คือ ร จึงเขียนว่า แขฺมร และออกเสียงว่า แคฺมร์ (คะ-แม) ในภาษาปัจจุบัน
คำว่า “เขมร” ในภาษาไทยจึงมีที่มาเดียวกับคำว่า “แขฺมร” หรือ ขแมร์ ในกัมพูชา โดยตั้งต้นจากพุทธศตวรรษที่ 12
อย่างไรก็ตาม เขมร ในภาษาไทยซึ่งรับมาจากภาษาเขมรโบราณสมัยพระนคร (ร่วมสมัยกับสุโขทัยและอยุธยา) ออกเสียงตัวสะกด น อย่างชัดเจน แต่คำว่า แขฺมร ในภาษากัมพูชากลับเปลี่ยนแปลงทั้งรูปเขียนและเสียงจากรากเหง้าในภาษาเขมรโบราณสมัยพระนครไป
อ่านเพิ่มเติม :
- เหตุใดคำว่า “ไท” ถึงมีความหมายว่า “อิสระ” ทำไม “ไท” ต้องเติม “ย.”
- “เขมร” ไม่เรียกตัวเองว่า “ขอม” ไม่มีคำว่าขอมในภาษาเขมร คำว่า “ขอม” มาจากไหน?
- คำว่า “ลาว” มาจากไหน? “คนเมือง” ภาคเหนือ-ล้านนา ถูกเรียกว่าลาวก่อนคนอีสาน-สปป.ลาว?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2567