ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2541 |
---|---|
ผู้เขียน | เอื้อ มณีรัตน์ |
เผยแพร่ |
ไม่มีใครทราบว่าคําว่า “ลาว” ที่หมายถึงมนุษย์เผ่าหนึ่งนั้น มีใช้ในภาษาพูดมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น มีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคําแหงมหาราช ดังนี้ :
“พ่อขุนพระรามคําแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นขุนในเมืองศรีสัชชนาไลสุโขไท ทังมากาวลาว แลไทเมือง ใต้หล้าฟ้า ฏ…ไทชาวอู ชาวของมาออก”
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ในสมัยนั้น (พ.ศ. 1835) ประชาชนที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำอู และแม่น้ำของ (โขง) ยังไม่ถูกเรียกว่า ลาว
ตามศิลาจารึกหลักที่ 45 ซึ่งทําขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1935 มีข้อความกล่าวถึงบรรพบุรุษของกษัตริย์ราชวงศ์น่านว่า “ดําพงษ์กาว” แปลว่า ตระกูลกาว ดังนั้น คําว่า ลาว ซึ่งอยู่ถัดกับคําว่า กาว ก็คงจะหมายถึงคนในภาคเหนือที่อยู่ในบริเวณล้านนาส่วนอื่น ๆ เช่นเดียวกับพวกไทเมือง
เราทราบกันดีว่า คนไทยในล้านนาเรียกตัวเองว่า คนเมือง ตรงกับที่ศิลาจารึก เขียนว่า ไทเมือง ถ้าเช่นนั้นคําว่า ลาว หมายถึงคนกลุ่มไหน?
…บริเวณภาคเหนือของประเทศ มีมนุษย์เผ่าอื่นอาศัยอยู่ก่อนแล้ว คือพวกที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร เมื่อถูกคนไทยแย่งที่ทํากิน มนุษย์เจ้าของถิ่นเดิมก็ถอยร่นไปอยู่ในป่า แรก ๆ ก็คงจะอยู่ในป่าใกล้ ๆ เมือง คือ ป่าละเมาะ ต่อมาเมื่อคนไทยขยายที่ทํากินออกไป คนที่อยู่ในป่าละเมาะก็ขยับออกไปอยู่ตามบริเวณป่าลึกหรือบนภูเขาที่ห่างไกลออกไปอีก
ในระหว่างที่อยู่ในป่าละเมาะนั้น คนไทยเรียกพวกเขาว่า “คนเหล่า” เพราะคําว่า เหล่า แปลว่า ป่าละเมาะ คําว่า “เหล่า” นี้คือที่มาของคําว่า ลาว ละว้า ลัวะ
ทีแรกคําว่า เหล่า จะกลายเป็น เลา ก่อน แล้วกลายเป็น ลาว ในเวลาต่อมา ผมทราบจากคําบอกเล่าของคุณลําจุล ฮวบเจริญ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง “ชีวิตเด็กชาวนา” ว่าที่ จ.อ่างทอง ในสมัยที่คุณลําจุลเป็นเด็ก เคยถูกผู้ใหญ่ใช้ให้เอาควายไปเลี้ยงที่ลาว (หรือเลา ซึ่งหมายถึงป่าละเมาะ) ในฤดูกาลทํานา เพื่อไม่ให้ควายลงไปเหยียบยําต้นข้าวในนา
คําว่า “ราวป่า” ที่แปลว่า ชายป่า นั้นก็คงจะมาจาก “ลาวป่า” ซึ่งเพี้ยนมาจาก “เลาป่า” และ “เหล่าป่า” ต่อมาคนเข้าใจว่า “ราว” คงจะแปลว่า ใกล้ ความหมายของคําว่า “ราวป่า” ก็เปลี่ยนไป
จังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือมีชื่อหมู่บ้านคล้าย ๆ กันอยู่คือ “บ้านเหล่า” ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ป่า หรือกลางป่าละเมาะ ปัจจุบันนี้ป่าที่ว่านั้นหายไปเกือบหมดแล้ว เหลือแต่ชื่อหมู่บ้านไว้เป็นอนุสรณ์
คนไทยภาคกลางในสมัยก่อนเข้าใจว่า คนไทยภาคเหนือเป็นพวกที่ไม่มีอารยธรรม อยู่ตามป่าตามเขา จึงเรียกว่า “คนเหล่า” ซึ่งกลายเป็น “คนลาว” ในเวลาต่อมา ในวรรณคดีเรื่อง “ลิลิตยวนพ่าย” คนอยุธยาเรียกคนเชียงใหม่ว่า “ลาว” ดังคําโคลงต่อไปนี้
แพนดั้งไย่ไย่เข้า ทักแทน ก่อนนา
ตัวต่อตัวลาวตาย ตื่นหยัน
หางยูงหักโหมแพน ทองเท่า
ยวนพ่ายพลล้านร้น ค่ายคึง
สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า “ลิลิตยวนพ่าย” แต่งขึ้นในสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2034-2072
ดร.ฮันส์ เพนธ์ แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนว่า “ตามตํานานเชียงใหม่ จึงปรากฏว่า มีราชวงศ์ลาวสายตะวันตกและสายตะวันออก ตั้งแต่สมัยลาวเจื๋องมา ซึ่งสายตะวันตก (ภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน) เป็นสายพี่ และสายตะวันออก (ประเทศลาวปัจจุบัน) เป็นสายน้อง ต้นตระกูลของ ลาวทั้ง 2 สายก็สืบมาจากลาวจง ต่อมาคําว่า ‘ลาว’ และ ‘เมืองราว’ ค่อย ๆ เลิกใช้ในภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน
ตามตํานานเมืองเชียงใหม่ปรากฏว่าพญามังรายเป็นกษัตริย์องค์แรกที่ไม่ได้ใช้คําว่า ลาว นําหน้าพระนาม แต่เรียกพญามังราย และบางครั้งเท่านั้นที่เรียกพญาลาวตามเชื้อสายราชวงศ์ดังอธิบายข้างต้นมาแล้ว แต่สําหรับพระบิดาของพญามังราย ตํานานยังเรียกทั้ง 2 พระนามคือ ‘พญาเม็ง’ และ ‘ลาวเม็ง’”
ผมไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานดังกล่าว เพราะไม่น่าเป็นไปได้ว่าประชาชนที่เรียกตนเองว่าลาวมานานประมาณ 600 ปี จะเปลี่ยนชื่อเชื้อชาติของตนเพียงเพราะพญามังรายไม่ใช้คําว่า ลาว นําหน้าพระนาม
ข้อที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ คําว่า ลาว ที่นําหน้าพระนามกษัตริย์ราชวงศ์เชียงแสนนั้น เป็นคําเดียวกับ เลา อันเป็นคําที่นิยมใช้นําหน้าชื่อของเจ้านายภาคเหนือในสมัยก่อน ผมรู้จักกับเชื้อสายของเจ้าเมืองพะเยา คนหนึ่ง เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อ เจ้าหนานเลาแก้ว ศีติสาร
นอกจากนั้นยังได้พบรายชื่อเจ้านายตระกูล “ณ เชียงใหม่” หลายคนที่ใช้คําว่า เลา นําหน้า เช่น เจ้าน้อยเลาแก้ว เจ้าน้อยเลาลี เจ้าน้อยเลากู๊ เจ้าน้อยเลาอินทร์ เจ้าหนานเลาเสือ เจ้าน้อยเลาจ้อง เจ้าน้อยเลาแว้ เจ้าน้อยเลาเมือง เจ้าน้อยเลาคํา เจ้าหนานเลาช้าง (จากหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่))
พระยาอนุมานราชธน เขียนว่า “ไทยขาว คําว่า เลา แปลว่า ใหญ่ เช่น ผู้เลาหมายความว่าผู้ใหญ่ แปลว่า ท่าน พูดเป็นคําสุภาพให้เกียรติยศ อย่างเช่น “เลามาแต่ไหน” คือ ท่านมาแต่ไหน ทางอีสานใช้อย่างเดียวกันกับไทยขาว แต่เสียงเป็นลาว” (จาก “บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ” เล่ม 2 หน้า 230)
จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนว่า “ในปัจจุบันนี้ พวกชาวห้อในมณฑลยูนนานก็ยังเรียกชาวไทยภาคเหนือ (คนเมือง) โดยใช้คําว่า ลาว นําหน้าชื่อ แต่ออกเสียงสั้นนิดหน่อยคล้ายเลา คําว่า ลาว ที่ใช้นําหน้าชื่อนั้นเป็นคํายกย่องทํานองเดียวกับนาย ซึ่งความหมายเดิมคือผู้เป็นนาย” (จาก “ความเป็นมาของคําสยาม, ไทย, ลาว และขอม”)
คนไทยภาคเหนือรับเอาตัวอักษรมาจากมอญ สําหรับใช้เขียนพระธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้า คนสมัยก่อนนับถือตัวอักษรว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า “ตัวธรรม” ใช้ในทางศาสนาโดยเฉพาะ เมื่อจะนํามาเขียนประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นก็ต้องให้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา โดยเขียนแบบพระธรรมเทศนา คือใช้ภาษาบาลีนํา ตัวอย่างเช่น ตํานานราชวงศ์ปกรณ์ ซึ่งเขียนว่า
“นโมตัสสัตถุ ฯ สุรณะมหิยัง พุทธเสตถัง นมิตวา สุคตะภวะธัมมัง สาธุ สังฆัญจะ นิมิตวา อหัง ราชานุ ราชะ ทายาทะ รัฏฐาธิปติ สัพพะทุกขะ ภะยะโรคา อนุตรายา วินาสันตุ ฯ
สาธโว ดูรา โสตุชนะ สัปปุริสะ เจ้าทั้งหลาย อาจารย์เจ้าจักกล่าวเป็นนิทานสุภะกถา จารีต ลําดับราชวงศ์ท้าวพระยา อันเสวยราชสมบัติในนพบุรีศรีพิงค์เชียงใหม่ ในสัตตะ ปัญญาส ล้านนา 52 หัวเมือง ตั้งแต่ลวจังกราชเจ้า ต่อมาเท้าถึงเจ้าพระยามังรายด้วยลําดับ ต่อเท้าถึงกาลบัดนี้ จึงนมัสการยังพระติรัตนะ พระเจ้าแก้วทั้งสาม ด้วยคาถาบาทต้นว่า สุรณะมหิยัง พุทธเสตถัง นี้แล ฯ”
คําว่า ลวจังกราช นั้น บางตํานานเขียนว่า ลวจักกราช และมีผู้สันนิษฐานว่า คําหลังนี้มาจาก “ลัวะจก” ผู้ซึ่งมีจอบให้เช่ายืมถึง 500 เล่ม จนได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าของพวกลัวะ ผมไม่เชื่อข้อสันนิษฐานนี้ เพราะถ้าปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์เชียงแสนเป็นชาวลัวะ คงไม่มีการรักษารัฐพิธีบางอย่างเอาไว้
พิธีที่ว่านี้ เบอร์นาตซิค (Bernatzik) เขียนไว้เมื่อ ค.ศ. 1964 ว่า ที่เมืองเชียงตุงในปี พ.ศ. 2470 พวกชาน (คนไทยในรัฐฉาน เมืองเชียงตุง) มีการทําพิธีรําลึกถึงความสําคัญที่ชนเผ่าตนสามารถยึดครองอํานาจได้เป็นประจําทุกปี โดยจัดให้ชาว “ว้า” (ละว้า หรือลัวะ) คนหนึ่งขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ซึ่งประดับประดาด้วยเครื่องสูง ต่อจากนั้นพวกชานก็จะเข้ามาทําท่าใช้กําลังขับไล่ “ว้า” ผู้นั้นลงจากบัลลังก์ พิธีจําลองประวัติศาสตร์ซึ่งตรงกับที่พรรณนาไว้ในพงศาวดารเมืองเชียงตุงว่า “พิธีนั่งเมือง” นี้ยุติลงด้วยการเลี้ยงฉลองชัยชนะ
ในพงศาวดารเชียงตุงกล่าวถึง “พิธีนั่งเมือง” ไว้ว่า หลังจากที่ได้สร้างหอคํา (ปราสาททอง) เสร็จแล้ว คนไทยก็ให้พวก “ละว้า” นั่งรับประทานอาหารอยู่บนหอคํา จากนั้นก็กําหนดให้คนถือแส้ไปทําท่าขับไล่พวกละว้าให้ลงจากหอคํานั้น แล้วพญาผู้ครองเมืองจึงขึ้นไปนั่งบนแท่นในหอคําแทน พิธีนี้สะท้อนให้เห็นว่าชน เผ่าไทเป็นผู้มาทีหลัง ยึดครองพื้นที่ แย่งอํานาจการปกครองจากพวกละว้าได้ แล้วขับไล่พวกละว้าออกไป (ข้อมูลข้างต้นนี้ได้มาจากหนังสือ “ลัวะเมืองน่าน” ของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา)
ถ้าคนไทยเคยมีบรรพบุรุษเป็นลัวะ คงไม่รักษาประเพณีที่แสดงถึงความอัปยศของบรรพบุรุษไว้เป็นเวลานานนับพันปีเช่นนั้น
คําว่า ลวจักกราช น่าจะเป็นคําบาลี ที่แปลมาจาก พญาเลาจักก์ คําว่า เลา นั้นไม่สามารถเขียนเป็นภาษาบาลีให้ตรงกับคําเดิมได้ เพราะภาษาบาลีไม่มีสระเอา คําว่า “ภควโต” นั้นเขียนว่า “ภควเตา” ดังนั้นถ้าเขียนว่า เลา ก็จะอ่านเป็น โลไป เสียงที่ใกล้เคียงกับคําว่า เลา ที่สุดก็คือ ลว (ละวะ) คําว่า จักก์ นั้นถ้าเขียนตามรูปภาษาสันสกฤตก็คือ จักร นั่นก็คือ พระนามของกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์เชียงแสน คือ เลาจักร
เนื่องจากในสมัยที่เขียนตํานานเมืองเชียงแสนนั้น อักษรศาสตร์ล้านนายังไม่เจริญ มีผู้รู้บางคนคิดเครื่องหมายสระเอาขึ้นใช้ โดยเขียนเป็นอักษรล้านนาตามภาพวงเล็บ (1) ให้อ่านว่า เลา เครื่องหมายเส้น ขีดเฉียง ๆ เหนือตัวอักษรนั้นบังคับให้อ่านเป็นสระเอา คนที่ไม่ทราบหลักอักขรวิธีที่เพิ่มเติมขึ้นจากหลักภาษาบาลีอาจจะอ่านผิด ผู้เขียนตํานานจึงเขียนตามภาพวงเล็บ (2) คํานี้ถ้าอ่านตามหลักอักขรวิธีแล้วจะอ่านว่า ลาว แต่เนื่องจากคําว่า ลาว ไม่มีในภาษาล้านนามาแต่เดิม ผู้อ่านก็จะอ่านว่า เลา ตามพระนามที่แท้จริง
ตัวอักษรนั้นมีไว้ใช้แทนเสียงในภาษาพูด เวลาอ่านจึงต้องอ่านให้ตรงกับเสียงที่คนพูด คําว่า น้ำ เช้า ได้ ถ้าให้คนภาคกลางในสมัยปัจจุบันอ่านแทบทุกคนจะออกเสียงว่า น้าม ช้าว ด้าย แต่ถ้าให้คนภาคเหนือออกเสียงตามภาษาพูดของคนเมือง จะมีเสียงสระอํา เอา ไอ ถูกต้อง คําว่า “ข้าว” ในสมัยพ่อขุนรามคําแหงเขียนว่า “เข้า” ตรงกับภาษาพูดของคนภาคเหนือ ต่อมาเสียงสระเอากลายเป็น อาว จึงเขียนว่า ข้าว จนกระทั่งปัจจุบัน
พระยาอนุมานราชธนเขียนไว้ในหนังสือ “บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ” เล่ม 2 หน้า 224 ว่า “มีศัพท์ที่น่าสงสัยอยู่คู่หนึ่งทางบางบอน มีชื่อว่า วัดกก วัดเลา พ้องกันกับชื่อแม่น้ำทางเชียงรายว่า แม่กก แม่เลา หรือแม่เลาก็ไม่ทราบ สงสัยว่าคนทางโน้นจะยกย้ายมาตั้งบ้านทางนี้ แล้วใช้ชื่อวัดเป็นที่ระลึกถึงบ้าน”
แม่น้ำลาวไหลมาบรรจบกับแม่น้ำกก ตรงบริเวณที่เรียกว่า สบลาว ในท้องที่ อ.เวียงชัย ต้นน้ำอยู่ที่ขุนลาวใกล้ ๆ กับเขตรอยต่อของ จ.เชียงราย-เชียงใหม่ ไหลผ่าน อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่สรวย และอ.แม่ลาว ชื่อเดิมของแม่น้ำสายนี้คงจะเป็นแม่เลาคู่กับแม่กก ซึ่งเป็นชื่อของพรรณไม้ที่ชอบขึ้นในที่ชุ่มแฉะ เช่นใกล้ ๆ กับแม่น้ำหรือห้วยหนองคลองบึง คนสมัยก่อนคงจะตั้งชื่อแม่น้ำตามลักษณะภูมิประเทศ ที่มีต้นกกต้นเลา ขึ้นหนาแน่นริมฝั่งแม่น้ำ
คําว่า ลาว คงไม่หมายถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ตามบริเวณลุ่มแม่น้ำนั้น เพราะมีแต่คนเมืองหรือคนเผ่าอื่น ๆ อาศัยอยู่ ไม่มีคนไทยภาคอีสานหรือคนไทยในล้านช้างอพยพมาอยู่จนกลายเป็นหมู่บ้านแม้แต่แห่งเดียว
แหล่งน้ำบางแห่งที่กลายเป็นชื่อหมู่บ้านก็มีพอเป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่ เช่น บ้านหนองเลา อ.เชียงคํา จ.พะเยา และ บ้านน้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เป็นต้น แต่บางแห่งก็กลายเป็นหนองลาวไป ดังชื่อบ้านหนองลาวในเขต อ.ภูกามยาว จ.พะเยา เป็นต้น ดังนั้นการที่คําว่า เลา กลายเป็น ลาว นั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ผมเดาเอาเอง แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้อย่างยิ่ง
จากหลักฐานในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย และวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอในสมัยอยุธยา แสดงว่าคนภาคกลางเรียกคนไทยภาคเหนือว่า ลาว ก่อนที่จะเรียกคนไทยภาคอีสานและคนไทยในล้านช้างว่า ลาว ในภายหลัง เพราะเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างคนไทยทั้ง 2 ภาคนั้นหลายอย่าง เช่น รับประทานข้าวเหนียว มีพิธีแห่บั้งไฟ ประเพณีลงข่วง (หญิงสาวคอยให้ชายหนุ่มมาเกี้ยวพาราสี ภาคเหนือเรียกว่า อยู่ บ่าว แปลว่า ต้อนรับหนุ่ม) ใช้อักษรธรรมแบบเดียวกัน ทางเหนือเรียกว่า ตัวธรรม หรือตัวเมือง มีวรรณคดีซ้ำเรื่องกันหลายเรื่อง ฯลฯ จนเกือบจะมองหาข้อแตกต่างไม่พบ
แต่ก็ยังมีคนช่างสังเกตมองเห็นความแตกต่างตรงที่คนภาคเหนือนิยมสักท้องน้อยจนดําลงไปถึงขา จึงเรียกว่าพวก “ลาวพุงดํา” ส่วนคนภาคอีสานไม่นิยมสัก กันถึงขนาดนั้น เลยให้ชื่อว่าพวก “ลาวพุงขาว” ความจริงคนไทยทั้ง 2 ภาคนั้นพูดภาษาต่างกันพอสมควร แต่คนภาคกลางไม่รู้จะจําแนกความแตกต่างทางด้านภาษาอย่างไร เพราะเป็นภาษาไทยด้วยกัน การใช้พุงของผู้ชายมาเป็นเครื่องจําแนกควา แตกต่าง จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในสมัยนั้น
ผมได้แสดงความเห็นเรื่องคําว่า ลาว นี้มาแล้วหลายครั้ง บางข้อมูลก็ซ้ำกัน เพราะถ้าไม่นํามากล่าวซ้ำก็จะขาดประเด็นสําคัญไป มาถึงตรงนี้ ผมคิดว่าคงไม่มีปัญญาค้นคว้าอะไรอีกแล้ว จึงขอวางมือให้ผู้อื่นช่วยค้นคว้าต่อ ถึงแม้ผลการค้นคว้าจะไปคนละทางผมก็ยังอยากจะทราบ การคิดอะไรอยู่คนเดียว มันสนุกที่ตรงไหนล่ะครับ?
อ่านเพิ่มเติม
- หลัง พ.ศ. 2400 คนล้านนาเรียกตัวเองว่า“คนเมือง” แต่ก่อนหน้านั้นทำไมเรียกว่า“ลาว”
- กระแส “L-pop” ทำคนไทยคลั่งเพลงลาวหนักหนา ก่อนหน้า K-pop หรือ J-pop นับร้อยปี
- “ข่า” ชาติพันธุ์ชายขอบกับการต่อต้านอำนาจลาวและสยามผ่านขบวนการ “ข่าเจือง”
- ทัศนคติชนชั้นนำสยามต่อชาว “ลาว” ล้านนา-ล้านช้าง มองเป็นพวกเกียจคร้าน-หัวอ่อน-ล้าหลัง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2562