ที่มา | ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัดเชียงใหม่มาจากไหน |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ภายหลังจาก พ.ศ. 2400 คนล้านนา เรียกตัวเองว่า “คนเมือง” แต่ก่อนหน้านั้นทำไมถึงเรียกว่า “ลาว”
เมืองเชียงใหม่อยู่ในฐานะเมืองประเทศราชของกรุงสยาม ที่มีพรมแดนทางตะวันตกติดกับพม่า สืบมาจนราวหลัง พ.ศ. 2400 เมื่ออังกฤษยึดครองพม่าเป็นอาณานิคมได้หมดแล้ว ก็เริ่มเกิดความขัดแย้งกรุงสยามกับอังกฤษ ทั้งเรื่องเมืองเชียงใหม่และเรื่องอื่นๆ ทำให้กรุงสยามต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปกครองอย่างต่อเนื่องมาอีกนานจนเป็นจังหวัดเชียงใหม่ สืบมาจนทุกวันนี้
คนกรุงเทพฯ ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รู้จักเมืองเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ ในล้านนา นามลาวพุงดำบ้าง ลาวเฉียงบ้าง นอกจากรู้ด้วยตนเองแล้วยังรู้ผ่านวรรณคดีและการแสดง เช่น พระลอ, ขุนช้างขุนแผน, สาวเครือฟ้า ฯลฯ
ลาวเชียงใหม่
เมืองเชียงใหม่กลายเป็น “เมืองในอุดมคติ” เมื่อทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ตัดเชื่อมถึงเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2464 (ถึงเมืองลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2459) ขณะนั้น คนล้านนา เรียกตัวเองว่าลาว คนอื่นเรียกชาวล้านนาและเชียงใหม่ว่าลาว
เมื่อปฏิรูปการปกครองราว พ.ศ. 2435 สมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณล้านนาได้ชื่อเป็นลาวว่า มณฑลลาวเฉียง ครั้น พ.ศ. 2442 มีปัญหาทางการเมืองกับเจ้าอาณานิคม จึงให้ยกเลิกคำว่าลาว แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ แต่สำนึกของคนทั่วไปในภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ ยังเรียกคนเชียงใหม่และบริเวณล้านนาทั้งหมดเป็นลาว
ดังมีพยานในความนิยมละครเรื่องพระลอและสาวเครือฟ้า ฯลฯ ที่มีเพลงประกอบสำเนียงลาว (ล้านนา) รวมทั้งขุนช้างขุนแผน (แต่งขึ้นหลังรัชกาลที่ 2) บอกว่านางวันทองเรียกนางลาวทอง (จากเมืองเชียงทอง ใกล้ๆ เมืองเชียงใหม่และลำพูน) ว่า “อีลาวชาวดอนค่อนเจรจา กินกิ้งก่ากิ้งกบกูจะตบมึง”
แต่เมืองเชียงใหม่และล้านนาทั้งหมดก็ไม่ได้มีแต่ลาวพวกเดียว หากมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกมาก
ขอให้สังเกตด้วยว่าขุนช้างขุนแผนตั้งแต่ต้นจนจบ (สำนวนเก่า) แม้แต่งเพิ่มติม (สำนวนใหม่) ในสมัยหลังๆ ล้วนมีโครงเรื่องหลักเหตุการณ์เดียวกันทั้งหมด คือสงครามระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่
ล้านนาเป็นลาว
ความเป็นล้านนาเกิดขึ้นแท้จริงเมื่อราว พ.ศ. 2000 ในแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช ทรงได้รับยกอย่องเป็นมหาราชล้านนา
คนล้านนา เรียกตัวเองว่า ลาว และไม่เคยเรียกอย่างอื่นนอกจากลาว แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ ผู้เป็นนาย มีฐานะเทียบคำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางว่า ขุนและกษัตริย์ ดังเห็นทั่วไปในคำนำหน้านามเจ้านายเชื่อวงศ์ปกครองบ้านเมืองเก่าแก่ในตำนานพงศาวดาร เช่น ลาวเจือง (คือ ท้าวเจือง ท้าวฮุ่ง) ลาวเมง (คือ บิดาพระยามังราย) ฯลฯ แต่ก็มีชาติพันธุ์อื่นๆ อยู่ด้วย เช่น มอญ (เมง) พม่า (ม่าน) ไทยใหญ่ (เงี้ยว) ฯลฯ
ดังโคลงนิราศหริภุญชัย (วรรณกรรรมสมัยอยุธนา เล่ม 2 กรมศิลปากรชำระและพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2530) บทหนึ่งว่า
สุญารามหนุ่งหั้น บุญเลง
ที่รูปไททังเมง ม่านเงี้ยว
ถือลาดาบกับเกวง สกรรจ์แก่น คนแฮ
ช้างฉวาดพันเกล้าเกลี้ยว แกว่นสู้สงครามฯ
โคลงบาทที่สองว่า “ไททังเมง ม่านเงี้ยว” มีคำว่า ไท ไม่ได้หมายถึงคนไทยอย่างทุกวันนี้ หากเป็นศัพท์แปลว่า คน (เฉยๆ) ข้อความวรรคนี้หมายความว่า มีคนทั้งเมงม่านและเงี้ยว (ไม่ได้หมายถึงคนไทย)
คนเมือง
อาจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ผู้เชี่ยวชาญภาษาล้านนา อ้างว่าไม่พบคำว่า “คนเมือง” ในเอกสารโบราณของล้านนา และอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ผู้เขียนประวัติศาสตร์ล้านนาปัจจุบัน ก็ยังได้ยืนยันว่าคำว่า “คนเมือง” เพิ่งจะปรากฏเป็นครั้งแรกในรายงานของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงพิเศษฝ่ายลาวเฉียง (ดูแลเมืองลำพูนและลำปางระหว่าง พ.ศ. 2427-28)
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า คำว่า “คนเมือง” คงจะเป็นคำที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมาในสมัยหลังการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 หลัง พ.ศ. 2400 นี่เอง
หลังเปลี่ยนชื่อ ประเทศสยาม เป็น ประเทศไทย (Thailand) เมื่อ พ.ศ. 2482 ชาวเชียงใหม่และคนในล้านนาทั้งหมดที่มีหลายชาติพันธ์ก็ถูกบังคับให้เป็น “คนไทย” ตามชื่อประเทศไทย สืบจนปัจจุบัน ชื่อล้านนาก็ถูกเติมคำว่า ไทย ต่อท้ายเป็นล้านนาไทย
อ่านเพิ่มเติม :
- สุจิตต์ วงษ์เทศ : ล้านนา
- “ลานช้าง-ลานนา” หรือ “ล้านช้าง-ล้านนา”? เรียกชื่ออย่างไรกันแน่
- กองทัพมองโกล 20,000 นาย บุก “ล้านนา” ทำไม?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2562