สุจิตต์ วงษ์เทศ : ล้านนา

ประตูเมือง เมืองเชียงใหม่
ประตูเมืองเชียงใหม่ (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2442)

ล้านนา หมายถึง ดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลบริเวณที่เป็นภาคเหนือของประเทศไทยทุกวันนี้ โดยมีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางมาแต่สมัยแรกๆ และเป็นชื่อที่มีอยู่คู่กันมากับล้านช้างที่หมายถึงดินแดนตอนเหนือของลาว มีเมืองหลวงพระบางเป็นศูนย์กลาง

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อธิบาย พร้อมด้วยเสนอหลักฐานและร่องรอยต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย แล้วย้ำว่าชื่อที่ถูกต้องคือ ล้านนา (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ งานจารึกและประวัติศาสตร์ ของ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร รวบรวมและจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองอายุ 6 รอบ เมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ. 2534)

หลักฐานสำคัญคือจารึกจากเชียงราย พ.ศ. 2096 พระไชยเชษฐาธิราช ซึ่งได้เป็นกษัตริย์ล้านนา ตามคำเรียกร้องของชาวล้านนา ในฐานะที่พระองค์เป็นหลานตาของกษัตริย์ล้านนา ได้กลับไปครองเมืองลาวที่ล้านช้าง เมื่อ พ.ศ. 2091 และจะให้เชียงใหม่เป็นเมืองลูกหลวง ตามจารึก พ.ศ. 2096 พระองค์ยังถือว่าเป็นกษัตริย์ทั้งสองแผ่นดิน คือ ล้านช้าง ล้านนา อยู่ แต่ทางล้านนาไม่ยอมถือเช่นนั้น เพราะได้ยกพระเมกุฏิขึ้นเป็นกษัตริย์ล้านนาแทนแล้ว

ในเอกสารโบราณ ผูกชื่อล้านช้างกับล้านนาเป็นภาษาบาลีไว้ดังนี้

ศรีสตนาคนหุต แยกคำแปลว่า สต แปลว่า ร้อย – นหุต แปลว่า หมื่น – นาค แปลว่า ช้าง รวมความแล้วแปลว่า ล้านช้าง ในจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 วัดศรีชุมมีคำว่า แสนช้าง และในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีคำว่า เมืองกว้างช้างหลาย แสดงว่ามีช้างจำนวนมาก หมายถึงความกว้างขวางของบ้านเมือง

เขตตทสลข แยกคำแปลว่า ทส แปลว่า สิบ, ลข แปลว่า แสน, เขตต แปลว่า พื้นที่ หรือนา รวมความแล้วแปลว่าล้านนา ในโคลงนิราศหริภุญชัย (ฉบับกรุงเทพฯ) บทที่ 108 เขียนว่า “เป็นปิ่นทศลักษ์ เลิศหล้า” คำว่า ทศลักษณ์ ก็หมายถึง ล้านนา

เนื่องจากภาษาถิ่นภาคเหนือ ไม่นิยมเขียนรูปวรรณยุกต์ในใบลานสมัยโบราณ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนคิดไปว่า ดินแดนภาคเหนือสมัยโบราณมีชื่อเรียกว่าลานนา แล้วภายหลังเรียกว่า ลานนาไทย

แท้จริงแล้วในภาคเหนือมักไม่ใช้ ลาน ในความหมายว่า บริเวณที่ว่าง แต่ใช้คำว่า ข่วง เช่น ข่วงเมรุ ข่วงวัด วัดหัวข่วง ฯลฯ

ฉะนั้นชื่อที่ถูกต้องก็คือ “ล้านนา” เท่านั้น

นอกจากนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ สำรวจพบว่ายังมีประเพณีตั้งชื่อตำแหน่งเป็นจำนวนนับอยู่ 2 กลุ่ม (โองการแช่งน้ำฯ : ดวงกมล 2524 : 306-317) ดังต่อไปนี้

กลุ่มแรก นับจากจำนวนไพร่ ดังจะเห็นจากชื่อตำแหน่งว่านายสิบ, นายซาว (ซาว เท่ากับ ยี่สิบ), นายร้อย, นายพัน, เจ้าหมื่น, เจ้าแสน เป็นต้น

อีกกลุ่มหนึ่ง นับจากจำนวนที่นา ดังมีร่องรอยหลงเหลืออยู่ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ. 1974 ความว่า “อนึ่งผู้เกษตราธิบดีแลร้อยแล พันนา หมื่นนา แสนนา กำนันนา” สมัยโบราณ กลุ่มลาวหัวพันห้าทั้งหก และเขตการปกครองของภาคเหนือแต่โบราณ ก็เรียก พันนา ที่ยูนนานมีแคว้นชื่อ สิบสองพันนา (แต่ออกเสียงว่าสิบสองปันนา) ในแค้นพะเยาก็แบ่งเขตการปกครองถึง 36 พันนา

ในที่สุดก็คือ “ล้านนา” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2560