“ข่า” ชาติพันธุ์ชายขอบกับการต่อต้านอำนาจลาวและสยามผ่านขบวนการ “ข่าเจือง”

ลาวเทิง ข่า
นักรบเผ่าละเวนที่เมืองอัตตะปือ จัดอยู่ในกลุ่มลาวเทิง (ภาพจาก Treasure From Laos. Institut de Recherches sur la Culture Lao/Association Culturelle des Routes de la Soie, 1997)

ชาติพันธุ์ข่าคือใคร ? ทำไมจึงเป็นปัญหาในยุครัชกาลที่ 5 ปฏิรูปสยามประเทศ

“ข่า” กลุ่มชนออสโตรเอเชียติก (มอญเขมร) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศลาว บริเวณรอยต่อระหว่างลาวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตามภูเขาหรือพื้นที่สูง คำว่าข่าถูกเรียกโดยชนชั้นนำลาวล้านช้าง แปลว่า ข้า หรือ ทาส แต่พวกเขาเรียกตนเองว่าขมุหรือกำมุแปลว่าคนและบรูแปลว่าภูเขาหรือคนภูเขาต่อมาเรียกโดยทั่วไปในชื่อ ลาวเทิง แปลตรงตัวว่า ลาวบนที่สูง (เทิง แปลว่าสูงหรือบน)

คนไทยเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ข่าตามลาว เพราะถือว่าข่าอยู่ใต้อำนาจของลาว ข่ากับลาวเป็นคนละชาติพันธุ์ จากหลักฐานพงศาวดารล้านช้าง, พงศาวดารเมืองหลวงพระบาง, นิทานเรื่องบรมราชาและตำนานน้ำเต้าปุง ฯลฯ กล่าวตรงกันว่า ข่าอาศัยอยู่ในดินแดนล้านช้างก่อนชาว ไตหรือตระกูลไทลาว จะอพยพมาปกครองและลดฐานะชนพื้นเมืองลงเป็นไพร่ทาส ส่วนกลุ่มที่หลบหนีไปอาศัยตามป่าเขา แม้จะหาโอกาสแย่งชิงอำนาจคืนอยู่บ่อยครั้งแต่มักจะล้มเหลว

หลังกดชนพื้นเมืองให้กลายเป็นข่า ชาวไตในล้านช้างได้เปลี่ยนมาเรียกตนเองว่าลาว แปลว่านายหรือผู้เป็นใหญ่” ถือเป็นการตอกย้ำสถานะเหนือข่า ดังนั้นข่าจึงเป็นคำตระกูลไทกะไดที่ใช้เรียกชนพื้นเมืองออสโตรเอเชียติกที่ถูกลาวปกครองและกลายเป็นไพร่ทาสนั่นเอง

ข่า ลาว สยาม

เมื่อชาวข่ามีความต้องการปลดแอกตนเองให้เป็นอิสระ ชาวข่าต่อต้านผู้ปกครองลาวปรากฏผ่านการนับถือ ขุนเจืองอันเป็นตัวแทนวีรบุรุษฝ่ายพุทธศาสนาผู้เอาชนะ พญาแถน (ตัวแทนคติเก่ากลุ่มชนไทลาว ซึ่งเปรียบได้กับพระอินทร์) แม้ชาวข่าส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่การบูชาขุนเจืองเสมือนเป็นการข่มพญาแถนของชาวลาว เกิดเป็นประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับขุนเจืองในหมู่ชาติพันธุ์ข่า

ชาวข่าหรือลาวเทิงในล้านช้างดำรงเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์เรื่อยมา ระบบไพร่ของรัฐจารีตตระกูลไทลาว ทำให้ข่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก เพราะรัฐล้านช้างจะระดมส่วยข้าวไร่และของป่าจากชนกลุ่มนี้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและมั่งคั่งแก่อาณาจักร กระทั่งล้านช้างตกเป็นประเทศราชของสยาม ส่วยจากข่ากลายเป็นส่วนหนึ่งในบรรณาการลาวที่ไปยังกรุงเทพฯ

นอกจากการเก็บส่วย ยังมีการค้าทาสของชนชั้นนำหรือ การตีข่า ซึ่งส่งผลต่อสภาพชีวิตของชาติพันธุ์ข่าโดยตรง เป็นเหตุให้เกิด กบฏข่าที่ถือเป็น กบฏไพร่ ต่อต้านผู้ปกครองลาว เช่น กบฏเซียงแก้ว กบฏสาเกียดโง้ง แต่สยามมักอาศัยความวุ่นวายจากเหตุการณ์เหล่านี้สถาปนาอำนาจในล้านช้างให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยส่งกองทัพเข้าไปช่วยลาวปราบกบฏ เท่ากับสยามสร้างอิทธิพลทั้งในชาวลาวและชาวข่า แต่ไม่ได้ยั่งยืนนัก เพราะโครงสร้างอำนาจอันซับซ้อนในล้านช้างทำให้การต่อต้านจากชาติพันธุ์เหล่านี้ยังมีอยู่ต่อเนื่อง และพวกข่าได้สร้างปัญหาสืบมาจนถึงสมัยปฏิรูปประเทศของสยาม

ภาพลายเส้นหมู่บ้านชาวข่า (ภาพจาก Travels in Upper Laos and Siam with an Account of the Chinese Faw Invasion and Puan Resistance P. Neis, White Lotus, 1997)

เมื่อสยามปะทะชนพื้นเมือง

ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ราชสำนักกรุงเทพฯ เริ่มการปฏิรูปเพื่อความทันสมัย โดยนิยามให้ สยาม หมายถึงอาณาเขตภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย กลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายในปริมณฑลอำนาจและหัวเมืองประเทศราชถูกรวมเป็น ชาวสยามโครงสร้างรัฐแบบใหม่เช่นนี้ต่างจากรัฐจารีตในอดีตที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจค่อนข้างยืดหยุ่น ซึ่งขนาดอาณาจักรจะขึ้นอยู่กับพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์แต่ละพระองค์

คำว่า พระเจ้ากรุงสยาม ที่ใช้ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่กลายเป็นคำให้ความหมายถึงกษัตริย์ผู้ปกครองกลุ่มชาติพันธุ์มากมายในปริมณฑลอำนาจ ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สยามเริ่มแก้ปัญหากบฏหัวเมืองด้วยวิธีการแบบรัฐสมัยใหม่ พยายามรวมอำนาจดินแดนต่าง ๆ ให้ขึ้นตรงต่อรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เรียกว่าการสถาปนาพระราชอาณาเขตสยาม

สยามใช้วิธีแบบตะวันตกคือสร้างแผนที่เพื่ออ้างสิทธิอำนาจเหนือท้องถิ่น ผนวกเอาดินแดนอื่นที่ไม่เคยขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ มาอยู่ในแผนที่ และประสบความสำเร็จไปหลายส่วน เช่น ล้านนา มลายู และฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ภาคอีสาน) ในระหว่างการสำรวจทำแผนที่พระราชอาณาเขตสยามในดินแดนลาวล้านช้าง รัฐบาลกรุงเทพฯ ตั้งพระยาพิชัย เจ้าเมืองน่าน ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำหลวงพระบาง ใน พ.. 2428 การทำแผนที่บริเวณลาวเหนือเจออุปสรรคเพราะไม่สามารถรุกล้ำเข้าไปในเขตถิ่นที่อยู่ของพวกข่าได้โดยสะดวก

ภายใต้ ความเป็นสยามที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ผนวกรวมชาวข่านั้น ในทางปฏิบัติถือว่าชาติพันธุ์นี้อยู่ปลายสุดพระราชอาณาเขต คืออยู่ระดับล่างสุดทั้งในแง่บทบาทและตัวตน เพราะทางการมักถือว่าหากปกครองลาวได้ก็ควบคุมข่าได้ สยามยุติปัญหาความแปลกแยกระหว่างข่ากับลาวโดยเลือกละลายความเป็นชาติพันธุ์ข่า เปลี่ยนชื่อข่าเป็น ลาวเทิง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำให้ชนชั้นนำลาวรู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกันได้ สยามยังกำหนดให้การนับถือ ผี อันหมายถึงการบูชาพญาแถนและขุนเจือง เป็นวัฒนธรรมอันเป็นอื่นหรือสิ่งต้องห้าม ถือเป็นการกดทับทั้งชาติพันธุ์และคติความเชื่อของชนพื้นเมือง ชาวข่าจึงมองการสถาปนาพระราชอาณาเขตสยามเป็นความเสื่อม หรือกลียุค เพราะมีแต่การกดขี่และเอาเปรียบ

.. 2428 รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโอการให้ประกาศห้ามหัวเมืองลาวจับข่ามาซื้อขายอย่างทาส ปรากฎว่าหัวเมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงยังฝ่าฝืนอยู่ ส่งผลให้ชาวข่าให้การสนับสนุน จีนฮ่อ ที่เข้ามารุกรานลาวระหว่างปี 2428-2431 และรัฐบาลกรุงเทพฯ จึงต้องส่งกำลังไปร่วมกับหัวเมืองลาวล้านช้างจัดการปัญหาดังกล่าว

ข่าเจืองกับการต่อต้านอำนาจรัฐ

ตั้งแต่ พ.. 2417 เริ่มมีกบฏเพื่อปลดปล่อยชาติพันธุ์ข่า ผู้นำขบวนการคือ พระยาพระพระยาว่าน พวกเขานำตำนานเก่าแก่มาสร้างความชอบธรรมในการก่อกบฏเพื่อปลดแอกชาติพันธุ์ข่าจากลาวและสยาม โดยทำพิธีปลุกเสกที่ทุ่งไหหิน เมืองเชียงขวาง ยกตนขึ้นเป็น ขุนเจือง โดยคติผีเจืองหรือขุนเจืองนี้ เชื่อเรื่องการกลับมาของวีรบุรุษในตำนานเพื่อยุติยุคแห่งความวุ่นวายไร้ระเบียบ ชาวข่าซึ่งถูกลาวและสยามกดขี่จึงศรัทธาต่อขุนเจืองอย่างมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำลายความเหลื่อมล้ำนี้ได้

.. 2419 กลุ่มพระยาพระพระยาว่าน โจมตีทัพผสมสยามลาวที่บ้านสบดี ขบวนการข่าเจืองถูกปราบปรามอย่างหนักจนต้องไปรวมกับกบฏข่าอีกกลุ่มหนึ่งชื่อ กลุ่มท้าวล่าแสงแสนเหิน  ที่เมืองแทนเมืองยา แต่แนวทางของกลุ่มกบฏตามคติขุนเจืองยังคงแพร่หลายและกระจายตัวอยู่ทั่วลาวล้านช้าง โดยมีสองกลุ่มหลักข้างต้นคอยประสานความร่วมมือกันอยู่เรื่อย ๆ

ระหว่าง พ.. 2419 – 2429 ภายใต้เครือข่ายการต่อสู้ของกลุ่มกบฏ ท้าวล่าแสงแสนเหินแบ่งกองกำลังข่าเจืองออกเป็นหลายสาย นอกจากเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์แล้ว หัวเมืองทั้งหลายในลาวล้านช้างล้วนมีขบวนการข่าเจืองเคลื่อนไหวทั้งสิ้น ขณะที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ก็ทุ่มกำลังเข้าปราบปรามอย่างหนัก พ.. 2429 ทัพสยามเผชิญหน้ากับข่าเจืองกลุ่มพระยาว่าน เกิดการปะทะดุเดือด ทัพผสมสยามลาวระดมยิงปืนใหญ่อาร์มสตรองใส่ค่ายกบฏข่า จับตัวพระยาว่านและข่าเจืองคนสำคัญได้จำนวนมาก ก่อนนำมาตัดศีรษะเสียบประจาน ณ ทุ่งนาเมืองซ่อน ถือเป็นเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ขบวนการข่าเจืองตามจุดต่าง ๆ หวั่นเกรงสยาม

การสังหารพระยาว่านถือเป็นการทำลายความเชื่อที่ว่าผู้นำเหล่านี้อยู่ยงคงกระพัน แม้คติผีเจืองถือว่าการตายเพื่อขุนเจืองจะทำให้ได้ไปอยู่เมืองฟ้า แต่ก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของกองกำลังข่าเจืองที่เหลือ ประกอบกับขบวนการปลดแอกอ่อนกำลังลงอย่างมากเพราะขาดการประสานงานที่ดี ปีเดียวกันนั้นผู้นำข่าเจืองหลายกลุ่มเข้ามาขอมอบตัวกับทางการ พระยาพระซึ่งหลบหนีอยู่ช่วงหนึ่งก็ยอมมารับโทษด้วย ถือว่าใช้เวลานานกว่าสิบปีจึงปราบปรามกบฏข่าเจืองสำเร็จ

ทุ่งไห่หิน เมืองเชียงขวาง สถานที่ที่ “ขุนเจือง” ทำพิธีปลุกเสกเรียกขวัญและศรัทธาจากประชาชนชายขอบเพื่อต่อสู้กับกองทัพสยาม-ลาว (ภาพจาก Treasure From Laos. Institut de Recherches sur la Culture Lao/Association Culturelle des Routes de la Soie, 1997)

เหตุการณ์กบฏข่าเจืองเป็นภาพสะท้อนความหย่อนยานของการควบคุมไพร่โดยชนชั้นนำลาว และการต่อต้านการสถาปนาพระราชอาณาเขตสยาม โดยมีจีนฮ่อคอยบั่นทอนสเถียรภาพชนชั้นปกครองในปีท้าย ๆ ระหว่างนั้นทางการสยามยกระดับสังเกตการณ์และเฝ้าระวังกลุ่มชนเหล่านี้มากขึ้น แต่การรุกรานโดยจีนฮ่อและการขยายอำนาจของฝรั่งเศส ทำให้ทางการกรุงเทพฯ ส่งกำลังเข้าไปในลาวและอยู่ในสภาวะแข่งขันอำนาจกับฝรั่งเศสมากขึ้น สยามจึงพัวพันกับสงครามจีนฮ่อและชาติพันธุ์ข่าอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ชาวลาวก็เริ่มทบทวนบทบาทของสยามเพราะถูกลดอำนาจการปกครองตนเองลงเรื่อย ๆ สยามจึงถูกกลุ่มชนเหล่านี้มองเป็นศัตรูผู้กดขี่ ขณะที่มองฝรั่งเศสเป็นผู้ปลดปล่อย

เมื่อสยามผนวกลาวล้านช้างไม่ประสบความสำเร็จ ฝรั่งเศสสามารถสถาปนาอำนาจเหนือลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นรัฐอารักขาจากกรณี ร..112 การต่อต้านของชาติพันธุ์ข่าไม่ได้หายไปแต่ถูกเปลี่ยนมือไปเป็นต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสแทน มีสงครามปราบปรามชาติพันธุ์ข่าโดยรัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศส ชาวข่าและชาวลาวจำนวนหนึ่งที่รับผลกระทบก็อพยพข้ามฝั่งมาเขตสยาม

อย่างไรก็ตาม แนวคิดขุนเจืองยังมีอิทธิพลในหมู่ชาวข่าและเชื่อว่าพัฒนาเป็นแนวคิดยุคพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นคติความคิดสำคัญของกบฏผีบุญ หรือผู้มีบุญที่จะมีบทบาทในหัวเมืองลาวทั้งภาคอีสานและฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์. (2555). ข่าเจือง:กบฏไพร่ ขบวนการผู้มีบุญหลังสถาปนาพระราชอาณาเขต. กรุงเทพฯ : สารคดี.

กำพล จำปาพันธ์. (2558). นาคยุดครุฑลาวการเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒธรรม.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2519). ความเป็นมาของสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์.

โยซิยูกิ มาซูฮารา. (2546). ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของ ราชอาณาจักรลาวล้านช้าง. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562