กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน : เล่าขานจากแบบเรียนไทยใหญ่

เด็กหญิงชาวไต กับหนังสือแบบเรียนชั้นปีที่ ๓ (ภาพโดย พิมุข ชาญธนะวัฒน์)

ในหนังสือแบบเรียนของชาวไต หรือชาวไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ฉบับชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งตีพิมพ์ไว้เป็นอักษรไตเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ และยังคงมีการใช้เรียนใช้สอนสืบเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ พบเห็นได้ทั่วไปตามโรงเรียนที่สร้างขึ้นเพื่อสอนเด็กๆ ในเขตปกครองอิสระรัฐฉาน-ฐานที่มั่นสำคัญของกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army)

ในหน้า ๔๑-๔๓ นั้นมีข้อความที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หัวข้อของบทเรียนเขียนไว้ว่า “กนเมิงไต” ซึ่งตรงกับภาษาไทยภาคกลางว่า “คนเมืองไต” เนื้อหารายละเอียดของบทเรียนนี้ เป็นการบรรยายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน มีข้อมูลที่บรรยายไว้ดังต่อไปนี้

ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองไต (เมืองไทยใหญ่ หรือรัฐฉาน) ประกอบด้วยกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่างๆดังนี้คือ ไต (ไทยใหญ่), ไตไท, ไตลื้อ, ไตเขิน, ไตยล, ไตลาว, ปะหล่อง, ข่าง, ปะโอ (ต่องสู่), แข่ (จีน), ยาง (กะเหรี่ยง), ลอยละ, ว้า, ลีซอ, อาข่า (อีก้อ), ลาหู่ (มูเซอ), แม้ว (ม้ง), มิน, อาซา, ทะนุ, ทะนอ และอิน (รวมทั้งสิ้น ๒๒ กลุ่มชาติพันธุ์)

ลักษณะทางภูมิประเทศของเมืองไตไม่เป็นพื้นที่ราบเหมือนอย่างเมืองพม่า แต่กลับอุดมสมบูรณ์ไปด้วยลำห้วย ภูเขา และป่าไม้มากมาย ผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ตามสันดอยสูงๆ ในแหล่งทำเลที่ซึ่งมีน้ำดี มีอากาศดี แต่ละกลุ่มมักตั้งบ้านเรือน (ชุมชน) กระจัดกระจายกันอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ได้แก่ ตามเนินเขาบ้าง ตามที่ราบท้องทุ่งในหุบเขาบ้าง ตามพื้นที่ติดลำห้วยเชิงเขาบ้าง ตามพื้นที่กลางป่าดงดิบบ้าง ตามดอยที่ไม่มีแมกไม้ปกคลุมบ้าง ตามยอดเขาสูงๆ หรือไม่ก็ทำบ้านเรือนอยู่กันในน้ำในหนองบึงก็มี

ในอดีตนั้นพื้นที่ซึ่งอยู่อาศัยทำกินแถบนี้ ได้มีบรรพบุรุษเข้ามาบุกเบิกทำมาหากินเลี้ยงชีพอยู่อาศัยสืบทอดกันต่อๆ มานานแล้ว ผู้ใดมีสติปัญญาในการประกอบอาชีพด้านใด ก็สามารถทำมาหากินในด้านที่ตนถนัดนั้นได้ ประชากรที่อาศัยอยู่ในตัวเวียง (ตัวเมือง-ศูนย์กลางการค้าการปกครอง) นั้นมักมีความสามารถในด้านการค้าขาย การช่างฝีมือต่างๆ เช่น เย็บเสื้อผ้าขาย หรือทำงานรับจ้างกินเงินเดือน ประชากรที่อาศัยอยู่ตามท้องทุ่งที่ราบ มักจะประกอบอาชีพทำสวน ทำนา ปลูกหอม ปลูกกระเทียม ยาสูบ แตง ถั่ว กล้วย อ้อย ส้ม ผักใบเขียวต่างๆ ประชากรที่อยู่อาศัยตามยอดดอยนั้น มีอาชีพทำสวน ทำไร่ ปลูกถั่ว แตง ข้าวโพด กล้วย งา อะลู ใบชา ใบมวนยาสูบ แล้วต่าง (บรรทุก) หลังวัว หรือหลังม้าเอาลงมาขายในตัวเวียง สำหรับประชากรที่อาศัยอยู่ตามหนองน้ำนั้น จะสร้างบ้านอยู่เหนือผิวน้ำ มีพื้นที่เพื่อทำไร่ทำสวนเช่นกัน จะไปไหนมาไหนก็มักจะขี่เรือขี่แพกันไป ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองไต (เมืองไทยใหญ่ หรือรัฐฉาน) นี้ มีมากมายหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์อยู่อาศัยกระจัดกระจายกันทั่วไปทุกทิศทุกทาง ตั้งแต่ด้านเหนือจรดด้านใต้ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนดังต่อไปนี้

พวกไตลื้อ ไตเขิน ไตยล อาข่า และลาหู่ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้อยู่อาศัยในเขตพื้นที่เมืองเชียงตุง

พวกปะหล่อง อาศัยอยู่ทางเขตน้ำสั่น จะลาย โหก๊ด โหสน บ้านโต่ง โข่โม่ง เมืองกวาง สันดอยน้ำคำ และก๊ดคาย

ข่าง อาศัยอยู่ทางเขตเมืองจี เมืองปอ ฮอวา เมืองปอแล สันดอยเจล้าน น้ำผักก่า ก๊ดคาย ชาวข่างใช้ตัวอักษรของอังกฤษมาเขียนเป็นเสียงพูดภาษาตน พวกเขามีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนกันอย่างจริงจัง

ปะโอ ชอบอยู่อาศัยตามสันดอยแถบเมืองลายข่า ป๋างโหลง เมืองป๋อน โหปง ลงมาถึงเขตเมืองตองกี ยองห่วย หนองหมอน สี่แซ่ง ชาวปะโอใช้ตัวอักษรของพม่ามาเขียนเป็นเสียงพูดภาษาตน มีความตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียนกันเป็นอย่างดี

แข่ และลีซอ อาศัยอยู่ทางเขตเมืองโกก้าง กุ่นโหลง โหป่าง หลู่ผ่าง เมืองแสนหวี หล่งถ่าง เซียวเคาะ และเมืองเง

ยาง อาศัยอยู่ทางเขตเมืองนาย ลายข่า เมืองกึ๋ง เมืองเกซี ประกอบอาชีพทำไร่-ทำสวน

ว้า อาศัยอยู่ทางเขตเมืองสะถ่ง มางแสง มางเลิน พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำคง (สาละวิน) ประกอบอาชีพทำไร่-ทำสวน

ลอยละ อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคง (สาละวิน) ตั้งแต่เขตตั้งยาน หนองผา หม่อผ้า มือต่อ เมืองหอม ดอยย่อง ประกอบอาชีพทำไร่-ทำสวน

แม้ว อาศัยอยู่ทางเขตเมืองหอม เมืองจี และเขตเชียงตุง ชอบอยู่ตามหัว (ต้น) น้ำ ตามยอดดอย ประกอบอาชีพทำไร่-ทำสวน ผู้หญิงแม้วนุ่งซิ่นดำ เอวพับซ้อนกัน เป็นรอยรูตามเอว ซิ่น ๑ ผืน มีทางกว้าง ๒-๓ วา ผู้ชายแม้วใช้ผ้าผืนยาวพันโพกหัวซ้อนทับกัน วัดจากหัวออกมากว้างเป็นศอกๆ มีลักษณะคล้ายกระด้งฝัดข้าว มองเห็นได้แต่ไกล มีพู่ห้อยข้างหลังแลดูสวยงามดี

ทะนุ อาศัยอยู่ทางเขตเมืองปั่งตะละ ปวยละ ป๋างหมี จะก่อย จามกา กะรอ ผู้หญิงทะนุสวมใส่เสื้อต่างซิ่น (แทนผ้าถุง) ชายขอบเสื้อยาวเสมอหัวเข่า นิยมเครื่องประดับที่ทำจากทองเหลือง และทองแดง

มิน อาศัยอยู่ทางเขตเมืองแสนหวี ป๊อดฮ่อง และตามดอยสูงๆ เขตเมืองไหยก็มี

อาซา อาศัยอยู่ทางเขตเมืองยองห่วย สร้างบ้านเหนือผิวน้ำ ตามหนองน้ำใหญ่ “ไฮยา” มีความชำนาญในการเย็บปักถักร้อย เช่น ทอซิ่นลาย เย็บถุง (ย่าม) ทอผ้าผืน มีฝีมือในการทำเครื่องมือเหล็กจำพวกมีด เคียว และยังเป็นช่างทองชั้นเลิศอีกด้วย

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งหลายนี้ล้วนมีภาษาและวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นผู้ที่มีภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว

ตำราแบบเรียนเล่มนี้แม้ว่าจะขาดข้อมูลที่เป็นรายละเอียดทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม แต่ก็นับว่ามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยทำให้เรารู้ว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ใดบ้างที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ณ เขตพื้นที่ใด

ปัญหาการเมืองการปกครองภายในประเทศพม่า รวมทั้งนโยบายการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามชนกลุ่มน้อยเป็นเวลายาวนานกว่า ๔๐ ปี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ ในปัจจุบันหลายกลุ่มชาติพันธุ์กำลังเผชิญกับสภาพการถูกกลืนกลาย หรือหลอมรวมเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น

ในฐานะนักมานุษยวิทยาแล้ว พวกเรามีความเห็นว่า กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งหลาย ควรมีสิทธิเสรีภาพในการดำรงอยู่บนผืนโลกใบนี้ อย่างสันติ เสมอภาค และมีความเป็นมนุษย์ที่มีเกียรติ-ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน


หมายเหตุ คำหรือข้อความในวงเล็บ เป็นการอธิบายความหมายเพิ่มเติมจากผู้เขียน

ขอขอบคุณ นายเหลาคำ ปิยชาติโชติกุล-ชาวไตจากรัฐฉาน