รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร ผู้ไท โส้ โย้ย กะเลิง เป็นใคร มาจากไหน?

ชาติพันธุ์ แอ่งสกลนคร
กลุ่มชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540)

ในภาคอีสานมีชุมชนวัฒนธรรมท้องถิ่นมากมาย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะชาวไทลาวหรือชาวอีสานเท่านั้น หากมีกลุ่ม ชาติพันธุ์ ที่พูดภาษาถิ่น เช่น กลุ่มผู้ไท หรือภูไท แสก โซ่ หรือโส้ กูย ญ้อ หรือย้อ โย้ย กะเลิง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบางสิ่งบางอย่างแตกต่างกันเฉพาะ ความหลากหลายของ กลุ่มชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร ค่อนข้างจะเด่นชัดกว่า โดยเฉพาะที่จังหวัดสกลนครมีทั้งไทยอีสานหรือไทลาวที่ตั้งรกรากกระจัดกระจายทุกอำเภอ

ส่วนชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น ๆ อาจเห็นเด่นชัดเฉพาะจุด เช่น ผู้ไทมีมากในวาริชภูมิและพรรณานิคม ส่วนในอำเภอเมืองจะพบเห็นกะเลิง ย้อ และญวน สำหรับโย้ยจะมีมากที่วานรนิวาสและอากาศอำนวย และโส้รวมตัวที่กุสุมาลย์ โดยโส้เป็นกลุ่ม ชาติพันธุ์ กลุ่มมองโกลอยด์ตระกูลมอญ-เขมร เช่นเดียวกับ พวกข่า กะเลิง และแสก ถิ่นเดิมอยู่ที่เมืองภูวานากระแด้งรอยต่อคำม่วน-สุวรรณเขต ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

กะเลิงกุดบากน้ำอูน ต้นตำรับวัฒนธรรมทับควาย

คำว่า กะเลิง ชาวจีนเรียกว่า คุน-ลุนหรือกุรุง ในภาษาจามเป็นกะลุง แหล่งใหญ่ของกะเลิงอยู่ที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำตะโปน

กะเลิงย้ายมาจากลาวครั้งศึกปราบเจ้าอนุวงศ์เวียงจันท์สมัยรัชกาลที่ 3 มาอยู่ตามแนวเทือกเขาภูพาน เช่น กลุ่มกะเลิงบ้านบัว อำเภอกุดบาก บริเวณต้นน้ำอูน อาชีพดั้งเดิมของกลุ่มนี้จะทำไร่ภู มีข้าวไร่ พริก ฝ้าย และยาสูบเป็นหลัก ข้าวไร่ของกะเลิงมี 2 ชนิดคือ ข้าวฮูด และข้าวฮ้าว อย่างแรกเมื่อรวงสุกใช้มือรูดเมล็ดได้จากรวง ส่วนอย่างหลังต้องเกี่ยวแบบเดียวกับนาหว่าน

กะเลิงจัดเป็นกลุ่มชนที่มีฝีมือในการหาของป่าโดยเฉพาะหมากแหน่ง ที่เป็นสมุนไพรออกผลตามโคนต้นไม้ติดกับรากพืชในช่วงเดือน 9 ก่อนนี้กะเลิงจะเลี้ยงหมูพื้นบ้านที่ชื่อว่า “หมูกี้” เป็นหมูหูสั้นราคาดีแต่ไม่เลี้ยงเป็นเรื่องเป็นราว แม้ว่าหมูชนิดนี้มีเนื้อแดงมากก็จริง แต่ชาวบ้านนิยมใช้เลี้ยงผีปู่ตา กระทั่งมีการปลูกมันสำปะหลังมากขึ้นการเลี้ยงหมูจึงน้อยลง เพราะเกรงว่าจะลงทำลายไร่

ชาวกะเลิงยังคงเชื่อในผีแจหรือผีเรือนอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังเชื่อในเรื่องผีป่าผีภู เวลาออกล่าสัตว์จะต้องพูดหยาบตลกลามกเพื่อให้ผีป่าชอบใจด้วยเสมอ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปมากถึงขนาดผู้เฒ่าบ้านบัวบอกว่า “เมื่อป่าไม้หมดไปเพิ่นกะหนีไปอยู่ที่อื่น อย่างผีดำหมากก่อน แต่ก่อนเข็ด (ศักดิ์สิทธิ์) แต่ทุกวันนี้มันบ่เข็ดป่าหมดแล้ว ผีก็อยู่ไม่ได้”

ในอดีตมีระบบแลกเปลี่ยนระหว่างกันตามลักษณะหลักแหล่งของหมู่บ้าน อย่างเช่นกะเลิงตามภูเขาทำไร่ จะนำผลผลิตลงมาแลกกับคนในบ้านอื่น เช่นกะเลิงที่บ้านนายอ บ้านดงมะไฟที่มีดตีขวานขาย ส่วนไทย้อบ้านสามผงริมแม่น้ำสงครามมีปลาร้า ปลาย่าง และผู้ไทบ้านม่วง-บ้านขมิ้น อำเภอพรรณานิคม ทำหม้อดิน ตุ่มน้ำและเกลือสินเธาว์

บรรยากาศสมัยเก่าจะมีคาราวานกองเกวียนของ “นายฮ้อย” มาจอดพักที่ทุ่งนาใกล้หมู่บ้านแต่ละแห่งเสมอ หมู่บ้านทุกแห่งจึงมิได้อยู่ในสภาพโดดเดี่ยว

ชุมชนกะเลิงเป็นชุมชนระบบเครือญาติทั้งโดยสายเลือดและเครือญาติข้างเคียง หลายหมู่บ้านมีคนในสกุลเดียว ยกตัวอย่าง สกุลกุดวงศ์แก้วเป็นสกุลของกะเลิงบ้านบัว เช่นเดียวกับสกุลศรีมุกดาเป็นของกะเลิงบ้านกุดแฮด แต่ถ้าที่กุดบากต้องเป็นสกุลดาบละอำ ซึ่งความเหมือนเช่นนี้อาจไม่ใช่เกิดแต่เฉพาะการแต่งงานเท่านั้น หากเป็นไปได้จากการเปลี่ยนนามสกุลตามเพื่อให้เป็นอะไรโดยนัยหนึ่งเดียวของหมู่บ้าน อีกประการเพราะกะเลิงรูปร่างเตี้ยผิวคล้ำผิดกับผู้ไทกลุ่มอื่น การเลือกคู่ครองจึงต้องคล้ายกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาชีวิตคู่

กะเลิงทุกวันนี้ยังฝังใจอยู่กับภาพเก่า ๆ ถึงกับบอกว่าตัวเองเป็นไทภูหูสั้นหรือคนที่มีความรู้น้อยนั่นเอง

ป่าช้าหรือดอนปู่ตาเป็นป่าที่มีความสำคัญต่อชุมชนถือเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ จุดนี้จึงยังเป็นป่าที่เหลืออยู่ ตามธรรมเนียมของผู้ไท ข่า โส้ กะเลิง แต่เดิมนั้นนิยมฝังศพเผาศพในป่าช้า ตรงกันข้ามกับกลุ่มไท ลาว ย้อ โย้ย ที่แต่เดิมนิยมเผาศพในที่นา โดยทำพิธีเสี่ยงไข่โยนไปแตกที่ไหนแสดงว่าผู้ตายให้เผาศพตรงนั้น

อีกอย่างที่น่าสนใจ คือ “วัฒนธรรมบนทับควาย” ของชาวกะเลิงที่เกิดจากการย้ายสัตว์เข้าไปหากินในป่าโคกระหว่างนั้นจะเกิดเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ระหว่างพ่อกับลูก มีการเรียนรู้วิธีการฟันเชือก จักสานเครื่องมือเครื่องใช้และวิทยาการอื่น ๆ ที่จะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตเมื่อเติบใหญ่ขึ้น

บ้านเรือนของชาวผู้ไท (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540)

ผู้ไทถือผี

มีบันทึกไว้ในพงศาวดารเมืองแถนกล่าวถึงตำนานการเกิดมนุษย์ต้นกำเนิดของชาวผู้ไทว่า เกิดจากเทวดา 5 พี่น้องกับภรรยา ก่อนตายเพื่อเกิดใหม่ได้อธิษฐานจิตเข้าไปอยู่ในน้ำเต้าที่ลอยลงมาตกที่ทุ่งนาเตาใกล้เมืองแถน เมื่อน้ำเต้าแตกออกเกิดเป็นมนุษย์ชายหญิง คนแรกเป็นพวกข่า คนที่สองเป็นไทดำ คนที่สามเป็นลาวพุงขาว คนที่สี่เป็นจีนฮ่อ คนที่ห้าเป็นแกวหรือญวน

ชาวผู้ไทที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองวัง เมืองตะโปน เมืองคำอ้อ หลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 กระจายอยู่ในอีสาน เหนือแถวอำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อำเภอหนองสูง อำเภอคำชะอี และอำเภอเมืองมุกดาหาร เรียกได้ว่ากระจัดกระจายอยู่โดยรอบเทือกเขาภูพานในเขตกาฬสินธุ์ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร อำนาจเจริญ ยโสธร

ผู้ไทมี 2 พวกคือ ไทดำ และไทขาว มีความคล้ายกันในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิธีกรรมความเชื่อ การบวช แต่งงาน พ่อล่าม การเฆี่ยนเขย ผีเรือนผีบรรพบุรุษ

การนับถือผีของชาวผู้ไทจะมีการผสมผสานกับพุทธในพิธีกรรมตามฮีตสิบสอง เช่น การทำบุญข้าวสาก การทำบุญข้าวประดับดิน และการทำบุญซำฮะ เป็นพิธีกรรมอันสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องผี แต่มีพระเข้าร่วมพิธีด้วย

การเลี้ยงผีบรรพบุรุษของชาวผู้ไท จะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ เลี้ยงประจำปีที่นิยมในวันสงกรานต์ และเลี้ยงในการบะ และการคอบ (การบะหรือการบนบานศาลกล่าว ส่วนการคอบคือการแก้บนอาจเรียกว่าการขอบก็ได้) โดยมีเจ้าจำเป็นสื่อกลางระหว่างคนกับผีที่ผู้ไทจะเรียกว่าผีเจ้าปู่เจ้าจ้ำจะเป็นคนที่สืบทอดมาตามสายตระกูลชั้นสูงในอดีต ดังนั้นการแต่งตัวในพิธีจะคล้ายนักรบโบราณ เสื้อผ้าสีแดงคลุมยาวถึงเข่า ถือง้าวและเหน็บดาบสั้น

เครื่องสังเวยในพิธีที่ขาดไม่ได้คือ น้ำหอมจากการฝนแก่นจันทน์แดงและแก่นจันทน์หอมผสมน้ำสะอาดถวายเป็นเครื่องดื่มช้างซึ่งหมายถึงเหล้าจากปลายข้าวผสมแกลบหมัก เรียกเหล้าไห และม้าที่เป็นเหล้าโรงหรือเหล้าขาว ส่วนเครื่องเซ่นที่เป็นอาหารหลัก ต้องมีลาบแดง แกงร้อน (ลาบแดงคือก้อยหรือลาบเลือด แกงร้อน คือแกงเนื้อเครื่องใน) นอกจากนี้ยังต้องมีเนื้อสด ๆ และเท้าสัตว์ครบข้างประกอบด้วย สำหรับของหวานจะเป็นข้าวดำ (ข้าวเหนียวนึ่งคลุกดินหม้อ) และข้าวแดง (ข้าวเหนียวนึ่งคลุกปูนแดง) ดอกไม้นิยมใช้พวงมาลัยดอกจำปา ที่เชื่อกันว่าเป็นดอกไม้บูชาผี

ในกลุ่มผู้ไทมีไทดำ (ไททรงดำหรือลาวโซ่ง) ซึ่งเป็นชนชาติไตสาขาหนึ่งที่อพยพมาจากสิบสองเจ้าไทหรือสิบสองผู้ไทแถวเมืองแถน หรือเดียนเบียนฟู เข้ามาอยู่ในไทยลึกเข้ามาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่หากย้อนกลับไปอดีตมีบันทึกบอกว่าไทดำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา บรรพบุรุษมาจากเมืองทันต์ ประเทศลาวเมื่อครั้งสงครามเมืองทันต์ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จนกระทั่งในรัชกาลที่ 3 ไทดำกลุ่มนี้ได้ย้ายขยับลงมาอยู่ที่บ้านแหลมและเขาย้อย (โดยเฉพาะที่ตำบลหนองปรง ที่คนไทดำเรียกว่าบ้านเก่า) จังหวัดเพชรบุรี อีกส่วนหนึ่งอพยพโยกย้ายถิ่นขึ้นมาถึงนครปฐม สุพรรณบุรี และพิษณุโลก

ไทดําที่จริงผิวขาวแต่ที่เรียกเช่นนี้ เพราะเครื่องแต่งกายนิยมใช้ผ้าสีดํา คล้ายกับพวกที่อยู่แถบเมืองไลใส่ผ้าสีขาวเรียกไทขาว

เคยมีบันทึกหนึ่งเขียนถึงไทดำเมืองวาด เมืองชายแดนเวียดนามด้านทิศตะวันตกติดจังหวัดหัวพันของลาวว่า ไฟฟ้าเมืองนี้ดับเวลาสี่ทุ่มครึ่ง คำว่า ดับไฟฟ้า ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า มอดไฟ เป็นภาษาน่ารักแบบไม่น่าเชื่อว่านอกจากคำว่าดับไฟอันเป็นคำไทยแท้ ๆ แล้ว ในภาษาไทดำยังสามารถใช้คำว่ามอดไฟแทนได้อย่างไม่ขัดเขิน

ในบันทึกดังกล่าวยังบอกถึง “ป่าแห้ว” หรือป่าช้าแปลตามภาษาไทลุ่มน้ำตาว ที่มีพิธีกรรมอันผูกโยงกับผีไม่มีศาสนา เมื่อเผาศพคนตายไทดำเมืองวาดจะเอากระดูกไปฝังที่ป่าแห้วแล้วสร้างบ้านขนาดเล็กคล้ายหอผีที่เรียกว่า “เรือนแห้ว” มีเครื่องมือทำกินเช่นแหจับปลา วางไว้หน้าเรือนแห้วประดับธงผ้าแขวนในแนวตั้งมีร่มคล้ายฉัตรแขวนด้วยนก (แทนผู้ชาย) หรือปลี (แทนผู้หญิง) ความคล้ายเช่นนี้ พอเห็นได้ในพิธีส่งวิญญาณไปสวรรค์ของกลุ่มผู้ไทบ้านท่าบ่อศรีสงคราม

นัยตรงนี้บอกได้ถึงความเหมือนของไทดำในลาว เวียดนาม รวมถึงไทดำเพชรบุรีและผู้ไทบางพื้นที่ใน แอ่งสกลนคร ซึ่งคติความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องการนับถือผีไม่ใช่แต่เพียงผู้ไท หากยังรวมถึงกลุ่มโส้ด้วยที่ศรัทธานี้ยังมีอย่างแนบแน่น

พวกธรอหรือโส้ทาง แอ่งสกลนคร ภาษาพูดมีส่วนคล้ายกับพวกกูยหรือส่วยทางอีสานใต้อย่างมาก นักภาษาศาสตร์จัดภาษาโส้กับส่วยอยู่ในตระกูลมอญ-เขมรสาขากะตุ ซึ่งได้แก่ภาษาธรอ กูย เขมร มอญ ข่า และบลู

เหตุที่ชาวโส้ดั้งเดิมอาศัยอยู่ตามไหล่เขาแถวเมืองบก เมืองวังของลาว ทำให้มีความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณเวทมนตร์ไสยศาสตร์อย่างมาก ดังนั้นโส้จึงมีพิธีเหยาหรือเยาอันเป็นพิธีกรรมของการทรงเจ้าเข้าผีเพื่อบำบัดความเจ็บไข้เสมอ รวมถึงพิธีเลี้ยงผีแจหรือผีเรือน พิธีเรียะธรอระเวียหรือเลี้ยงผีตาแฮก และพิธีซางกะมู๊ด (ซางแปลว่าการกระทำ ส่วนกะมู๊ดแปลว่าผี ดังนั้นซางกะมู๊ดจึงหมายถึงการกระทำให้ผีดิบกลายเป็นผีสุกก่อนที่จะนำคนตายไปเผาหรือฝัง)

ประเพณีพิธีกรรมส่วนใหญ่จะมีความเชื่อปะปนอยู่ด้วยจนแยกไม่ออกว่าอะไรคือประเพณี อะไรคือพิธีกรรม โดยเฉพาะการเลี้ยงชุมนุมผีหรือพิธีเหยาลงสนามที่ในแต่ละชุมชนจะจัดไม่ตรงกัน ระหว่างเดือน 3-6 นั้น นับเป็นพิธีใหญ่อันรวมความหมายตรงนี้อย่างครบถ้วน เป็นพิธีกรรมที่ทำกันเป็นประเพณีประจำทุก ๆ ปี

ไทโส้ที่ยังรวมกลุ่มกันเด่นชัดที่สุดในแอ่งสกลนครอยู่ที่อำเภอกุสุมาลย์ ที่นั่นยังมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจโดยเฉพาะด้านดนตรีที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ชนกลุ่มนี้มีประเพณีเฉพาะและใช้เครื่องดนตรี “เฉพาะ” เป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น กระจับปี่ (พิณ) ซอหนังกบ แคน กลองตุ้ม กลองเล็ง โปงลาง พังฮาด ฉิ่ง ฉาบ หมากกรับแก็บ ส่วนเครื่องดนตรี (เครื่องให้จังหวะ) ที่ได้จากวัสดุธรรมชาติหรือของรอบตัว เช่น บั้งไม้ไผ่ มีดหัก เคียวหัก ขวานหัก และโอ่ง เหล่านี้จะเน้นการใช้เฉพาะเวลาทำพิธีกรรมเท่านั้น อย่างเช่นมีดหัก ขวานหักจะใช้เป็นเครื่องสร้างจังหวะในพิธีซางกะมู๊ด

ไทโส้เชื่อว่ามีอยู่ 2 ผีที่ต้องบูชา คือ ผีน้ำอันหมายรวมถึงผีป่า ผีเขา ผีฟ้าผีแถน ผีนาผีไร่ และผีมูล (ผีบรรพบุรุษ) ซึ่งการเหยาผีมูลจะใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีหลักประกอบเครื่องทำจังหวะธรรมชาติ เช่นบั้งไม้ไผ่ท่อนยาว 1 เมตรกระทุ้งดิน ลายแคนของชาวโส้ที่บรรเลงในพิธีกรรมจะมี ลายผู้ไทใหญ่ ลายผู้ไทน้อย ลายภู่ตอมดอก เป็นต้น

พิธีเหยาของชาวผู้ไท (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540)

ชุมชนประมง โย้ยริมน้ำ

ในกระบวนกลุ่ม ชาติพันธุ์ ของแอ่งวัฒนธรรมสกลนครนั้น ไทย้อและไทโย้ยจัดเป็นกลุ่มที่วางรากฐานวัฒนธรรมปลาแดกได้ชัดเจนที่สุดกลุ่มหนึ่ง

โย้ยเป็นกลุ่มชนเก่าแก่มีถิ่นฐานในมณฑลไกวเจา-กวางสี จีน จะเรียกโย้ยว่าสร้อง แต่บางแห่งของเวียดนามเรียกว่าโด้ย โย้ยยังมีเรียกชื่ออื่นอีกว่าอี้หรือไย แต่โย้ยเรียกตัวเองว่าโย่ย

โดยสรุปไม่ว่าจะเป็นโย่ย อี้ ไย สร้อง และโด้ย รวมความหมายถึงโย้ยทั้งสิ้น

โย้ยอพยพครั้งใหญ่เมื่อเกิดศึกเจืองที่ซำเหนือก่อนย้ายมาตั้งถิ่นใหม่ที่บ้านฮ่อมท้าวฮูเซใกล้เมืองมหาชัยกองแก้ว ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์บันทึกว่าไทโย้ย อำเภออากาศอำนวย บรรพบุรุษมาจากปากน้ำเมืองฮ่อมท้าวฮูเซ ประเทศลาวในสมัยรัชกาลที่ 2 แรกตั้งหลักฐานที่บ้านม่วงริมยาม (ริมลำน้ำยาม ตำบลอากาศในปัจจุบัน) จากนั้นกระจายไปยังตำบลสามัคคี โพนงาม ท่าก้อน นาฮี วาใหญ่ โพนแพง และบะหว้า ดังนั้นในเขตอำเภอนี้จึงนับได้ว่ามีไทโย้ยปักหลักอย่างหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของสกลนคร

ธรรมชาติแต่เดิมของไทโย้ยเป็นคนใจบุญและนิ่งเย็น ระบบความเชื่อจะศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมาก โดยเฉพาะประเพณีการไหลเรือไฟที่ทำต่อเนื่องกันมานาน แต่โบราณแล้วโย้ยถือเอาการไหลเรือไฟเป็นประเพณีบุญเดือนสิบ โดยจะมีพิธีกรรมร่วมกัน 2 อย่าง ประกอบกันคือ ประเพณีบุญข้าวสาก (สลากภัต) ทางพุทธทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ ชาวโย้ยถือวันนี้เป็นวันโฮมหรือวันรวมญาติด้วย และประเพณีไหว้ห้านบูชาไฟหรือการไหลเรือไฟอันเป็นประเพณีทางพราหมณ์ เป็นการบูชาแม่น้ำ

การไหลเรือไฟเดิมทำจากกาบท่อนกล้วยต่อกันยาว 5-6 เมตร ใส่ขนมข้าวต้ม กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน เผือก มัน ส่วนเครื่องประดับหลักมีตะเกียงหรือขี้ไต้ที่โย้ยเรียกว่า ก้านจู้ เรือไฟจะปล่อยลอยตามลำน้ำเพื่อนำสิ่งชั่วร้ายไหลลงแม่น้ำโขงและเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่เชื่อกันว่าประทับไว้บนหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนันมหานนที การไหลเรือไฟนี้บางกระแสว่าเป็นการอัญเชิญผีเงือกกลับเมืองฮ่อมปากกะดิงในแม่น้ำโขง ซึ่งสัมพันธ์กับฤดูกาลที่น้ำในแม่น้ำยามไหลลงแม่น้ำโขงเป็นปกติในช่วงนี้

ความเชื่อในเรื่องผีของโย้ยมีเช่นเดียวกับ ชาติพันธุ์ ใน แอ่งสกลนคร กลุ่มอื่น ๆ เชื่อในผีตาแฮกหรือผีไร่นา เชื่อในผีปู่ตาหรือผีแจ โดยเฉพาะความเชื่อในผีน้ำหรือผีเงือก ที่ถือเป็นผีเลว คติต่าง ๆ เหล่านี้อาจใช้เป็นอุบายไม่ให้เด็กเล่นน้ำซึ่งอาจจมหรือไม่สบายได้

สำหรับไทย้อซึ่งมีมากเป็นอันดับสองรองจากกลุ่มไทลาว ภาษาพูดอยู่ในกลุ่มตระกูลไตแบบเดียวกับผู้ไท สังคมย้อเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นหลักมีประเพณีที่เรียกว่า “นาวาน” คล้ายกับการลงแขกทำนาในภาคกลาง ซึ่งการวานแรงใช้ได้กับทุกเรื่อง

บ้านย้อในอดีตจะเป็นบ้านแฝดติดกันสองห้องมีหลังคาแยก เรียกว่า “เฮืยนหัวลอย” ต่อมาพัฒนาเป็นหลังคาเดี่ยว ย้อถือตัวว่าสูงศักดิ์มาจากชาติตระกูลเจ้า ดังนั้นการแต่งงานจะวนเวียนอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มย้อเท่านั้น มีเรื่องน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับสังคมย้อ เฉพาะในวันแต่งงานซึ่งเป็นงานมงคลนั้นปลาจะถือเป็นอาหารชั้นเยี่ยม ยกตัวอย่างลาบเตี้ยหรือลาบปลาตอง (ปลาฉลาด) จัดเป็นอาหารพิเศษนิยมในวันนี้

ย้อและโย้ยนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ “ไหล” เป็นส่วนใหญ่ อาชีพหลักที่เห็นนอกจากทำนาก็คือการประมง

พระยาอนุมานราชธน ปราชญ์เมืองไทยจำแนกวัฒนธรรมออกเป็น 4 ประเภทคือ คติธรรม วัฒนธรรมเกี่ยวกับการดำเนิน ชีวิตเป็นเรื่องของจิตใจ เนติธรรม วัฒนธรรมทางจารีตประเพณี วัตถุธรรม วัฒนธรรมทางเครื่องมือเครื่องใช้บ้านเรือน และสหธรรม วัฒนธรรมทางสังคมที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

วัฒนธรรมของกลุ่มชนเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมย่อยที่คู่ควรต่อการศึกษา บางอย่างเกี่ยวโยงและบ่งบอกความเป็นมาของชนชาติในภาพรวมได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ชนกลุ่มชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร กรกฎาคม 2538

เอกสารหมายเลข 2 ลักษณะทางชาติพันธุ์ของกลุ่มไทดสิบสองจุไท ผศ.มนู อุดมเวช

เอกสารหมายเลข 5 พิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษของชาวผู้ไทคำชะอี อ.วิญญ ผลสวัสดิ์

เอกสารหมายเลข 6 ประวัติศาสตร์หมู่บ้านผู้ไท กรณีศึกษาบ้านหนองโอใหญ่ รศ.สุวิทย์ ธีรศาสวัต ณรงค์ อุปัญญ์

เอกสารหมายเลข 8 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนชาติพันธุ์ญ้อ ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข

เอกสารหมายเลข 11 บทบาทของพิธีกรรมบำบัดของชาวธรอ (โส้) และชาวกูย อ.อิศราพร จันทร์ทอง

เอกสารหมายเลข 14 ลักษณะทางชาติพันธุ์ชาวไทโย้ยอากาศอํานวย อ.พรรณอร อุซุภาพ

เอกสารหมายเลข 15 ลักษณะทางชาติพันธุ์ชาวกะเลิงบ้านบัว ผศ.สุรัตน์ วรางค์รัตน์

เอกสารหมายเลข 16 วัฒนธรรมไทโย้ยบ้านอากาศ ลัดดา พนัสนอก

เอกสารหมายเลข 17 ดนตรีในพิธีกรรมของชาวโส้กุสุมาลย์ อ.สมชัย สุวรรณไตร


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “กลุ่มชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร” เขียนโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม 2565