ทัศนคติชนชั้นนำสยามต่อชาว “ลาว” ล้านนา-ล้านช้าง มองเป็นพวกเกียจคร้าน-หัวอ่อน-ล้าหลัง?

บทนํา

เมื่อพูดถึงคําว่า “ลาว” ในการรับรู้ของคนไทยปัจจุบันอาจมี 2 ความหมาย คือ หนึ่ง ลาวที่เป็นพลเมืองของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ต่อไปจะเรียกว่า สปป.ลาว) และสอง พลเมืองไทยเชื้อสายลาวที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย เมื่อย้อนกลับไปในอดีตคําว่า “ลาว” ในการรับรู้ของคนไทยในแต่ละยุคสมัยก่อนหน้าที่จะรวมตัวกันเป็น “สยาม” หรือ “ประเทศไทย” ในปัจจุบันนั้นมีความหมายครอบคลุมถึงคนที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และชนกลุ่มน้อยที่อยู่เหนือขึ้นไปตามรอยต่อชายแดนพม่า จีน และเวียดนาม

การรับรู้และทัศนคติของผู้คนในอาณาจักรต่าง ๆ ที่กลายเป็นประเทศไทยปัจจุบัน ที่มีต่อผู้คนในอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรล้านช้างขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ของผู้ปกครอง ซึ่งมีทั้งการเป็นเครือญาติร่วมมือกันป้องกันการรุกรานจากอาณาจักรอื่น ๆ และทําสงครามเพื่อขยายอาณาเขต โดยมีจุดหมายทางด้านผลประโยชน์และเศรษฐกิจเป็นหลัก ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า การจัดกลุ่มคนลาวในแต่ละช่วงเวลามีความซับซ้อนมากขึ้น และเป็นสิ่งสะท้อนบริบททางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันการเรียกผู้คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานว่า “ลาว” และเรียกผู้คนในประเทศ สปป.ลาวว่าเป็น “ลาว” โดยคําว่า “ลาว” เป็นคําเรียกที่แฝงนัยยะของการดูหมิ่นอีกด้วย การแสดงออกถึงความรู้สึกดูหมิ่นด้วยคําว่า “ลาว” ผ่านสื่อต่าง ๆ ได้ สร้างความไม่พอใจทั้งจากคนอีสานและผู้คนในประเทศสปป.ลาว จนเกิดเป็นกรณีพิพาทบ่อยครั้ง ผู้เขียนจึงมีความสงสัยที่จะทบทวนการรับรู้และทัศนคติของไทยที่มีต่อกลุ่มคนลาวในแต่ละช่วงเวลา โดยหวังว่าจะช่วยทําให้เข้าใจถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ดีขึ้น

ความหมายดั้งเดิมของคําว่า “ลาว”

เดิมคําว่า “ลาว” มีความหมายถึงคนในเชิงยกย่องว่าเป็นผู้มีอํานาจ และเป็นสรรพนามที่ใช้เรียกบุรุษที่สามด้วยความรักใคร่นับถือ [1] การรับรู้เกี่ยวกับคําว่า “ลาว” ในสังคมไทยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเริ่มต้นเมื่อใด แต่หลักฐานในสมัยสุโขทัย ผู้คนที่ได้รับการเรียกว่า “ลาว” น่าจะหมายถึงอาณาจักรที่อยู่เหนือสุโขทัยขึ้นไปซึ่งก็หมายถึงลาวล้านนา ในขณะที่คนที่อยู่บริเวณล้านช้างซึ่งได้แก่ลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำอูยังไม่ถูกเรียกว่า “ลาว” [2] และทัศนะของชาวสุโขทัยที่มีต่อกลุ่มลาวล้านนาเป็นการรับรู้ว่าเป็นคนอีกพวกหนึ่งซึ่งมีฐานะทางการเมืองเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้การปรากฏตัวของชุมชนไทย-ลาวทําให้ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันเริ่มถูกกําหนดด้วยความจําเป็นทางผลประโยชน์แห่งรัฐ ทั้งไทยและลาวต่างพยายามสถาปนาอํานาจทางการเมืองภายในของตนให้เข้มแข็งมั่นคง และหลีกเลี่ยงการถูกครอบงําทางการเมืองโดยรัฐข้างเคียงหรือรัฐอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็พยายามขยายอํานาจทางการเมืองของตนออกไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการเข้าไปครอบงํารัฐข้างเคียงด้วย เป็นผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีต่อกันเริ่มพัฒนาไปทางสงครามหรือเป็นพันธมิตรกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ [3]

(ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การรับรู้และทัศนคติของไทย ในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ต่อคําว่า “ลาว”

ในสมัยอยุธยาคําว่า “ลาว” ใช้เรียกกลุ่มคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป และกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ทัศนคติของผู้คนในสมัยอยุธยาซึ่งมีต่อกลุ่มลาวล้านนาคือรับรู้ ว่าเป็นอีกอาณาจักรหนึ่งที่แยกต่างหากออกไปจากตน และแสดงการดูหมิ่นเกลียดชังอันเนื่องมาจากสงครามแย่งชิงอาณาจักรสุโขทัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง [4] ในขณะที่ลาวล้านช้างความสัมพันธ์กับอยุธยาเป็นไปด้วยดีเนื่องจากมีการสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระดับผู้ปกครอง โดยระยะนี้ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณอีสานตอนล่างยังไม่ถูกเรียกว่า “ลาว” แต่มีชื่อเรียกที่ต่างออกไปคือ “เขมรป่าดง” [5]

ในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงเวลาที่สยามต้องต่อสู้ขับไล่พม่าออกไปจากพื้นที่และสถาปนา ศูนย์กลางอํานาจรัฐขึ้นใหม่ รวมทั้งขยายอาณาเขตเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักร จากการที่สยามเรียนรู้ว่าพม่าใช้ล้านนาเป็นฐานในการสะสมกําลังและเสบียงอาหารในการเข้าโจมตีอยุธยา ชนชั้นนําของสยามจึงเปลี่ยนท่าที่ใหม่ในการช่วยเหลือล้านนาขับไล่พม่าและแต่งตั้งเจ้าเมืองล้านนาเป็นเจ้าประเทศราชเพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านในการสืบข่าวและป้องกันศึกจากพม่า

ในขณะที่ล้านช้างซึ่งมีการแยกออกเป็น 3 อาณาจักร สยามได้ใช้กําลังเข้าปราบปรามและจัดให้อยู่ภายใต้ระบบประเทศราชของสยาม สงครามที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนลาวล้านช้างแต่ละครั้งจะมีการกวาดต้อนผู้คนลงมาเป็นกําลังในสยาม ทั้งที่อยู่ในบริเวณภาคกลางของสยาม และในภูมิภาคที่เรียกรวม ๆ ว่าหัวเมืองลาวตะวันออก เมืองจํานวนมากเกิดขึ้นจากการอพยพกวาดต้อนครัวลาวล้านช้างเข้ามาในช่วงเวลานี้ [6]

ในระยะแรกความสัมพันธ์ระหว่างหัวเมืองลาวต่าง ๆ เป็นไปด้วยดีเนื่องจากมีการสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติในราชสํานัก แต่เมื่อเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทัศนคติ และการรับรู้ที่มีต่อกลุ่มคนลาวเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไป และแสดงถึงความดูถูกดูหมิ่นในความเป็นลาวอย่างเด่นชัด [7]

จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การขยายอํานาจจากชาติตะวันตกทําให้ท่าทีของสยามเริ่มเปลี่ยนไปจากการที่ปล่อยให้ประเทศราชลาวเหล่านั้นปกครองตนเองอย่างอิสระเป็นการปกครองอย่างรัดกุมมากขึ้น เห็นได้จากการจําแนกกลุ่มคนลาวอย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม ทัศนคติที่ดูถูกความเป็น “ลาว” ว่ามีฐานะทางการเมืองต่ำต้อยกว่ายังคงปรากฏอยู่ [8]

การรับรู้และทัศนคติของไทยต่อคําว่า “ลาว” สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวได้ว่าลัทธิการล่าอาณานิคมเป็นแรงผลักดันที่ทําให้สยามต้องเข้าไปจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองลาวมากขึ้น โดยสยามเริ่มจําแนกกลุ่มคนลาวและจัด แบ่งพื้นที่เพื่ออํานวยความสะดวกในการปกครอง การเอาใจใส่อย่างจริงจังในพื้นที่ 2 แห่งนี้เห็นได้จากการส่งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นสูงไปกํากับราชการตามหัวเมืองสําคัญเพื่อรับรู้สภาพที่เป็นจริงของราษฎรตามหัวเมืองต่าง ๆ รายงานที่ส่งมายังกรุงเทพฯ แสดงทัศนคติที่มีต่อคนลาวแถบเมืองอุบลและเมืองจําปาศักดิ์ว่ามีความล้าหลังในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ที่อัตคัดขัดสน อาหารการกิน ความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ การรักษาอาการเจ็บป่วย ฯลฯ [9]  ในขณะที่กลุ่มคนลาวล้านนาข้าราชการชั้นสูงของสยามมีทัศนคติในแง่ลบต่อพฤติกรรมของผู้ปกครองท้องถิ่นอย่างมาก [10]

หลังจากสยามเสียสิทธิครอบครองพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงใน พ.ศ. 2436 ทําให้ชนชั้นนําสยามเปลี่ยน ท่าทีของตนและสร้างการรับรู้ใหม่ว่า คนในหัวเมืองล้านนาและหัวเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นคนไทยเช่นเดียวกันกับคนสยาม [11] และเพิ่มการจัดการปกครองที่รัดกุมมากขึ้นด้วยการสถาปนาระบบมณฑลเทศาภิบาล โดยเฉพาะหัวเมืองลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่สยามดูแลเอาใจใส่อย่างมากเนื่องจากมีพื้นที่ติดกับฝรั่งเศส [12]

กรณีของหัวเมืองลาวล้านนาหรือมณฑลพายัพ ทัศนคติของชนชั้นนําสยามที่มีต่อราษฎรแถบนั้นคือการดูถูกว่าเป็นลาวซึ่งมีฐานะทางการเมืองต่ำกว่า แม้แต่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งเข้ามาถวายตัวในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่ พ.ศ. 2429 ยังได้รับการดูหมิ่นเช่นกัน โดยต่างพากันเรียกตําหนักของพระองค์ว่า “ตําหนักเจ้าลาว” [13] ซึ่งคําเรียกดังกล่าวมีนัยยะของการดูถูกร่วมด้วย

นางฟ้อนในพระตำหนักของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ครั้งรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เชียงใหม่ 27 มกราคม 2469 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

กรณีของเมืองจําปาศักดิ์ สัญญาที่สยามทําไว้กับฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2436 ทําให้เมืองจําปาศักดิ์ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงยังคงอยู่ในการครอบครองของสยาม แต่ฝรั่งเศสได้สร้างเมืองใหม่ตรงข้ามเมืองจําปา ศักดิ์ชื่อเมืองบ้านม่วงและชักชวนให้เจ้ายุติธรรมธร (คําสุก) เจ้าเมืองจําปาศักดิ์ไปอยู่กับฝรั่งเศส เพราะต้องการดึงราษฎรที่มีความศรัทธาในตัวเจ้าเมืองให้ตามไปด้วย [14] ฝ่ายสยามได้ใช้วิธีผูกใจเจ้านายโดยหวังผลให้ราษฎรเข้ากับฝ่ายสยามเช่นกัน

ในหัวเมืองลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง แม้ว่าจะมีการสถาปนาระบบมณฑลเทศาภิบาลและจัดตั้งกองทหาร แต่ทัศนคติที่ชนชั้นนํามีต่อราษฎรในแถบนี้คือความไม่ไว้วางใจว่าเป็นพวกต่างชาติและเกรงว่าอาจก่อการกบฏ [15] รวมทั้งมีท่าทีรังเกียจว่ามีความเกียจคร้านและป่าเถื่อน [16]

ในขณะที่หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เช่น เมืองหลวงพระบาง บุตรหลานของเจ้าเมืองหลวงพระบางที่ เคยลงมาฝึกหัดราชการที่กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นเครื่องมือของฝรั่งเศสในการชักจูงราษฎรให้ไปเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส [17] ทําให้ทัศนคติที่มีต่อเจ้านายเมืองหลวงพระบางตกต่ำลงอย่างมาก โดยชนชั้นนําของสยามติดตามดูการเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิดเพราะกลัวการเสียสิทธิครอบครองหัวเมืองลาวเพิ่มเติม อีกทั้งสนใจศึกษาวิธีการจัดการปกครองของฝรั่งเศสอย่างละเอียดเพื่อนํามาปรับปรุงการปกครองหัวเมืองลาวฝั่งขวาของตน [18]

จากการที่สยามเพิ่มบทบาทในการจัดการปกครองหัวเมืองลาวโดยการลดทอนอํานาจทางเศรษฐกิจและ อํานาจการควบคุมกําลังคนของเจ้านายและขุนนางพื้นเมืองทั้งในหัวเมืองลาวล้านนาและลาวฝั่งขวา แม่น้ำโขงทําให้เกิดกบฏตามมาใน พ.ศ. 2445-2446 ทําให้กรุงเทพฯ ต้องเสียงบประมาณมหาศาลในการ ปราบปราม ในกรณีของลาวล้านนาหรือมณฑลพายัพ กบฏเงี้ยวที่เกิดขึ้นทําให้คลังมณฑลพายัพถึงกับล่ม [19]

ในกรณีหัวเมืองลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง ชนชั้นนําสยามเห็นว่ากบฏผีบุญที่ลุกลามบานปลายเกิดจากความโง่เขลาของราษฎรที่หลงเชื่อถ้อยคําหลอกลวง และขาดการตรึกตรอง [20] ความรุนแรงของกบฏที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันในพื้นที่ทั้ง 2 แห่งส่งผลต่อการรับรู้และทัศนคติของชนชั้นนําสยามให้มีการปรับเปลี่ยน นโยบายในการปกครองใหม่ โดยสร้างคําอธิบายว่าคนลาวที่อาศัยอยู่ในมณฑลพายัพ (ลาวล้านนา) มณฑลอิสาณและมณฑลอุดร (ลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงหรือลาวอีสาน) เป็นกลุ่มคนชาติพันธุ์เดียวกันกับคนสยาม [21] อีกทั้งวางรากฐานการสอนหนังสือไทยเพื่อชักจูงให้คนลาว ทั้ง 2 กลุ่มมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามร่วมกันกับคนกรุงเทพฯ

ในขณะที่หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แม้ว่าสยามเสียสิทธิครอบครองฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสแต่ยังคงให้ความสําคัญกับพื้นที่และประชากรในเขตดังกล่าว เนื่องจากความเกรงกลัวในการขยาย อิทธิพลของฝรั่งเศสเข้ามายังพื้นที่ราบสูงโคราช มีการสั่งการให้เมืองสําคัญ ๆ บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง เช่น เมืองจําปาศักดิ์ เมืองท่าแขก เมืองมุกดาหาร ฯลฯ สืบราชการ ในด้านต่าง ๆ เช่น การเก็บภาษี การตัดถนน การลําเลียงกําลังทหาร ฯลฯ โดยเฉพาะข่าวการอพยพย้ายถิ่นไปมาของราษฎรทั้ง 2 ฝั่ง [22]

กรณีของเมืองจําปาศักดิ์ซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ในการปกครองของสยาม ชนชั้นนําสยามเห็นว่าคนเหล่านี้มีความเกียจคร้าน ทํามาหากินแค่พออยู่รอด แต่ก็เชื่อว่าหากชี้แจงให้เห็นถึงประโยชน์ก็น่าที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญได้ และยังเชื่อมั่นว่าสยามยังคงมีอิทธิพลเหนือหัวเมืองจําปาศักดิ์ฝั่งขวา และวางแผนพัฒนาอาชีพของราษฎรด้านการเพาะปลูกและการคมนาคม เมื่อเกิดกบฏผีบุญขึ้นทั้งทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง สยามและฝรั่งเศสได้ร่วมมือกันปราบปราม ภายหลังกบฏผีบุญสงบลงสยามจึงยอมยกเมืองจําปาศักดิ์ให้ฝรั่งเศส และร่วมมือกันทางด้านการค้ามากขึ้น [23]

เห็นได้ว่าการรับรู้และทัศนคติของชนชั้นนําสยามที่มีต่อคนลาวในพื้นที่ต่าง ๆ เปลี่ยนไปเกิดจากปัจจัย ภายนอกและปัจจัยภายใน

โดยปัจจัยภายนอก ได้แก่ [24]

1. การขยายตัวของจักรวรรดินิยมตะวันตกที่ส่งผลกับรัฐเพื่อนบ้าน โดยรัฐข้างเคียงของสยามต่างตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกไม่ว่าจะเป็นอินเดีย พม่า ญวน เขมร ทําให้สยามต้องเร่งปรับตัวด้วยการรับ วิทยาการจากตะวันตกในด้านต่าง ๆ มาพัฒนาให้เจริญตามแนวทางของตะวันตก การที่สยามยังคงรู้สึกแบ่งแยกว่าคนในหัวเมืองล้านช้างและล้านนาว่าเป็น “ลาว” อยู่อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนนี้ให้กับตะวันตก

2. การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจอันเกิดจากการเซ็นสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษใน พ.ศ. 2398 ทําให้เศรษฐกิจสยามเติบโตขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งมีผลให้โครงสร้างการผลิตและการปกครองแบบเดิมของรัฐสยามไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จากการที่สยามต้องเปิดเสรีทางการค้าทําให้คนในบังคับตะวันตกเดินทางเข้ามาในสยามมากขึ้นและมักมีเรื่องวิวาททางการค้ากับคนพื้น เมืองอยู่เสมอ เมื่อมีปัญหารัฐสยามไม่สามารถตัดสินคดีความได้เนื่องจากได้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ให้กับคนในบังคับต่างประเทศนับตั้งแต่การเซ็นสัญญาเบาริ่ง กรณีลาวล้านนาเห็นได้ชัดถึงปัญหาและข้อขัดแย้งนี้และเป็นเหตุที่รัฐสยามต้องเข้าไปควบคุมหัวเมืองลาวเหล่านี้ในที่สุด

หญิงชาวเขาเป่าแคน (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ปัจจัยภายใน ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องรัฐ เขตแดน และประชากรของชนชั้นนําสยาม เดิมทีการปกครองแบบรัฐจารีตของสยาม รัฐไม่ได้มีอาณาเขตที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับพระราชอํานาจและความสามารถของกษัตริย์ แต่ละพระองค์ อํานาจในการปกครองของกษัตริย์ที่มีต่อเมืองต่าง ๆ เป็นไปอย่างหลวม ๆ ยิ่งไกลจากราชธานี ชออกไปเท่าใด อํานาจของกษัตริย์ก็ยิ่งลดลงเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสร้างการปกครองแบบรวมศูนย์และมีอํานาจในพื้นที่อย่างแท้จริง แนวคิดเชิงดินแดนและพระราชอาณาเขตที่แน่ชัดปรากฏเป็นรูปธรรมจากการจัดทําแผนที่แบบตะวันตกทําให้รัฐสยามปรากฏตัวตนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก [25]

สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิด “สํานึกแห่งความเป็นชาติ” ที่หมายถึงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคมโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นําของรัฐภายใต้อาณาเขตที่ชัดเจน [26]

การเกิดรัฐแบบใหม่ที่เรียก “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” จึงให้ความสําคัญกับการสร้างบูรณภาพทางดินแดนและเอกภาพของประชากร [27] รวมทั้งเอกภาพทางด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดย กษัตริย์ในฐานะองค์อธิปัตย์สูงสุดต้องมีอํานาจเด็ดขาดเหนือพลเมืองในรัฐอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นพื้นฐานแนวคิดรัฐ-ชาติ (Nation-State) ดังนั้น หัวเมืองลาวทั้งล้านนาและล้านช้างที่เคยมีผู้ปกครองพื้นเมืองของตนดํารงอยู่อย่างอิสระต้องถูกทําให้หมดไป รวมทั้งความแตกต่างทางด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมต้องปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะร่วมกันกับส่วนกลาง

ในขณะที่แนวคิดที่มีต่อประชากรแบบรัฐจารีตที่ดําเนินมาก่อนหน้ารัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวอิงอยู่กับหลักพระพุทธศาสนา โดยมองว่าคนเป็น “สัตว์” ที่เกิดมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ความเป็นไปของมนุษย์เป็นไปตามกรรมที่ถูกกําหนดไว้ในชาติที่แล้ว แต่เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มมีการติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น แนวคิดดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไป โดยทรงเห็นว่าความเจริญและความเสื่อมเกิดจากการกระทําของมนุษย์เอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่รับอิทธิพลความเป็นเหตุเป็นผลมาจากวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก

จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความคิดดังกล่าวเริ่มชัดเจนขึ้น ประกอบกับการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาเบาริ่งทําให้รัฐได้ประโยชน์จากราษฎรเพิ่มขึ้นในด้านการผลิต การบริโภค และการเสียภาษี ทําให้รัฐมองว่าความเจริญของสังคมเกิดจากคนกลุ่มต่าง ๆ รวมตัวกันทํางานตามความถนัด และความสามารถของตน และยอมรับว่าคนเป็นส่วนประกอบที่สําคัญของสังคม [28]

ความเจริญของสังคมจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการร่วมมือกันของคนในชาติ การที่หัวเมืองลาวกลุ่มต่าง ๆ ยังคงเป็นประเทศราชที่มีอิสระในการปกครองตนเองจึงขัดต่อแนวคิดแบบใหม่ ดังนั้น จึงต้องมีการรวมเขตแดนและรวมเอาคนที่เคยถือว่าเป็น “ต่างชาติต่างภาษา” เข้ามาเป็นพลเมืองของรัฐสยาม รวมทั้งวางนโยบายเพื่อลบภาพการแบ่งแยกความเป็น “ลาว” และ “ไทย” ให้หมดไป

เมื่อศึกษาถึงความพยายามของกรุงเทพฯ ในการผนวกลาวกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพระราช อาณาเขต อีกเหตุผลหนึ่งที่สําคัญไม่แพ้กันคือเรื่องผลประโยชน์ที่ได้จากหัวเมืองลาว แม้ว่าก่อนหน้าทศวรรษ 2450 กรุงเทพฯ ต้องใช้เงินจํานวนมากในการวางรากฐานระบบราชการให้เข้าแทนที่เจ้านายและขุนนางพื้นเมือง แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บภาษี และลดอํานาจทางเศรษฐกิจของเจ้านายพื้นเมืองลง ทําให้ฐานะทางการคลังของกรุงเทพฯ ดีขึ้น เช่น ในหัวเมืองลาวล้านนา (หัวเมืองลาวเฉียง/มณฑลลาวเฉียง/ มณฑลพายัพ/ มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ) มีการจัดตั้งกรมป่าไม้ตั้งแต่ พ.ศ. 2439 โดยโอนกรรมสิทธิ์การให้สัมปทานไม้จากบรรดาเจ้านายมาเป็นของกรุงเทพฯ ทําให้เงินรายได้จากการทําไม้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

โดยปีแรกที่กรมป่าไม้ถูกจัดตั้งขึ้นมีรายได้ 333,360 บาท ใน พ.ศ. 2443 รายได้จากการทําไม้เพิ่มเป็น 1,467,583 บาท [29] จนถึง พ.ศ. 2443 รายได้จากการบริหารจัดการในมณฑลพายัพรวม 2,188,854 บาท โดยมีรายจ่าย 1,205,185 บาท [30] หมายถึงส่วนต่างที่มณฑลพายัพสามารถส่งเข้าสู่ส่วนกลางได้สูงถึง 983,669 บาท

ประกอบกับการใช้พระราชบัญญัติเก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์หรือแทนการเรียกส่วยโดยเรียกเก็บเป็นรายหัวจากราษฎรชายที่มีอายุ 16-60 ปี หัวละ 4 บาท ซึ่งการเก็บภาษีด้วยวิธีนี้หมายถึงการที่มีจํานวนราษฎรในพระราชอาณาเขตมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังมากขึ้นเท่านั้น

ใน พ.ศ. 2447 มีการทําสํามะโนครัวพลเมืองทั่วพระราชอาณาเขต พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดํารงราชานุภาพ ประมาณว่ายอดพลเมืองของสยามรวมทั้งสิ้นราว 6,686,846 คน โดยมณฑลอิสาณ (หัวเมืองลาวตะวันออกและลาวตะวันออกเฉียงเหนือ/ หัวเมืองลาวกาว/ มณฑลลาวกาว/ มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ) มีจํานวนราษฎร 915,750 คน มณฑลอุดร (หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ/ หัวเมืองลาวพวน/ มณฑลลาวพวน) จํานวน 576,947 คน และมณฑลพายัพจํานวน 485,563 [31] คน เมื่อรวมจํานวนราษฎรในมณฑลทั้งสามคิดเป็นร้อยละ 30 ของ จํานวนประชากรทั่วทั้งสยาม

ใน พ.ศ. 2449 เฉพาะมณฑลอิสาณ ซึ่งแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 บริเวณ ได้แก่ บริเวณอุบล มีจํานวนประชากรที่สามารถเก็บค่าแรงแทนเกณฑ์ได้ 66,097 คน บริเวณขุขัน จํานวน 34,711 คน บริเวณ สุรินทร์ จํานวน 18,763 คน บริเวณร้อยเอ็ด จํานวน 81,170 คน เมื่อรวมค่าแรงแทนเกณฑ์ที่จะเก็บได้ใน พ.ศ. 2449 อยู่ที่ 802,964 บาท [32] ซึ่งนับเป็นรายได้มหาศาล ด้วยเหตุผลทางด้านผลประโยชน์ดังกล่าว ทําให้สยามต้องเปลี่ยนแปลงการรับรู้และทัศนคติที่มีต่อกลุ่มคนลาวเหล่านั้นใหม่ โดยนับรวมเป็นประชากรส่วนหนึ่งของสยาม

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การรับรู้และทัศนคติของไทยต่อคําว่า “ลาว” สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การรับรู้และทัศนคติของชนชั้นนําสยามที่มีต่อหัวเมืองลาวล้านนาหรือมณฑลพายัพ คือเห็นว่าคนล้านนาเป็นคนขี้เกียจ เนื่องจากพอใจกับการทํามาหาเลี้ยงชีพโดยไม่ขวนขวายสะสมทุนทรัพย์แบบคนกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าคนล้านนาเป็นคนหัวอ่อน เชื่อคนง่าย ซึ่งเป็นอันตรายต่อการควบคุมของรัฐเนื่องจากอาจมีผู้ชักชวนให้เข้ากับชาติตะวันตก [33]

ในขณะที่กลุ่มเจ้านายพื้นเมือง ทัศนคติของชนชั้นนําสยามที่มีต่อบรรดาเจ้านายคือการขาดความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้ง ๆ ที่กรุงเทพฯ ให้โอกาสในการเข้ารับราชการก่อนคนกลุ่มอื่น ๆ โดยให้มีตําแหน่งหน้าที่ตามโครงสร้างการปกครองแบบใหม่ [34]

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรปทําให้คนกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่พอใจการปกครองของอังกฤษและฝรั่งเศส เริ่มรวมตัวกันขับไล่ ในมณฑลพายัพมีข่าวการรวมกลุ่มต่อต้านอังกฤษหลายกรณี เช่น กรณีเจ้าเมืองพม่า ชื่อ เม่งกุน เข้ามาเกลี้ยกล่อมชาวพม่าในมณฑลพายัพ และซ่องสุมผู้คนเพื่อตีเอาพม่ากลับคืน มีการระดม พรรคพวกโดยการแจกการ์ดเชื้อเชิญพ่อค้าไม้ชาวพม่าให้เข้าร่วม เหตุที่กลุ่มของเจ้าเม่งกุนใช้เมืองเชียงใหม่เป็นฐานเพราะเห็นว่าเมืองเชียงใหม่เคยเป็นของพม่ามาก่อน โดยกลุ่มเจ้าเม่งกุนได้วางตัวพม่าไว้ทุกตําบล และนัดกันแย่งชิงอาวุธตามโรงพัก เมื่อกรุงเทพฯ สั่งสอบสวนเรื่องนี้ พบหลักฐานน่าเชื่อถือหลายอย่าง เช่น รายชื่อเจ้านายและขุนนางล้านนา รวมทั้งพวกพ่อค้าพม่าที่ได้รับหนังสือไว้จํานวนหนึ่ง ทั้งในเมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน เมืองเชียงของ เมืองลําปาง เมืองแพร่ และเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งมีข่าวว่าเจ้าเม่งกุนได้เกลี้ยกล่อม ให้เจ้าเมืองลําพูนเข้าร่วมด้วย [35]

ทั้งนี้ในมณฑลพายัพหรือหัวเมืองลาวล้านนามีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยปะปนอยู่กับชาวพื้นเมืองจํานวนมาก นอกจากพม่าแล้วยังมีไทยใหญ่หรือเงี้ยว ซึ่งทําการค้าจํานวนไม่น้อย ตัวอย่างครอบครัวคหบดีชาว ไทยใหญ่ในเมืองลําปาง แม้ว่าจะมีการปราบปรามกบฏเงี้ยวครั้งใหญ่ในเมืองแพร่ตั้งแต่ พ.ศ. 2445 แต่เงี้ยวที่อาศัยอยู่ตามรอยต่อเขตแดนยังได้สร้างปัญหาโดยไม่ยอมรับอํานาจการปกครองของสยาม เมื่อก่อคดีมักหนีข้ามแม่น้ำโขงไปยังเขตแดนของอังกฤษและฝรั่งเศส [36]

นอกจากนี้ยังมี ขมุ มูเซอ แม้ว เย้า และชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งอํานาจการปกครองของ สยามยังไม่สามารถเข้าถึงเช่นกัน ปัญหาซึ่งเกิดจากความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนในบังคับ ตะวันตกซึ่งเคลื่อนย้ายไปมาตามชายแดนแม่น้ำโขงในมณฑลพายัพมีมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากฝรั่งเศสติดพันสงครามกับเยอรมนีจึงถอนทหารฝรั่งเศสที่เป็นกองหนุนและพวกที่ทําป่าไม้ไปร่วมรบ ทําให้ฮ่อ เงี้ยว ญวน ไทดํา และกลุ่มอื่น ๆ ถือโอกาสลุกขึ้นต่อต้าน

ครอบครัวคหบดีไทยใหญ่ (เงี้ยว) ในเมืองลำปาง (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น ทัศนคติของชนชั้นนําสยามที่มีต่อราษฎรฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่ มณฑลอุดร มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด ไม่ต่างจากมณฑลพายัพมากนัก คือมีความวิตกกังวลกับ การก่อการจลาจลของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง เนื่องจากฝรั่งเศสต้องถอนทหารบางส่วนออกไปร่วมรบในสงคราม ฝรั่งเศสจึงเกรงว่าราษฎรฝั่งซ้าย โดยเฉพาะชาวญวนซึ่งมีจํานวนมากอาจก่อการจลาจล จึงขอร้องให้สยามช่วยตรวจตราผู้ที่ตนเห็นว่าเป็นอันตราย

หลักฐานทางราชการจํานวนมากในช่วงนี้ชี้ให้เห็นถึงความกังวลร่วมกันของฝรั่งเศสและสยาม ตัวอย่างเช่นพื้นที่แถบเมืองหนองคายและนครพนม กอมมิแซฝรั่งเศสจากเมืองสุวันเขตได้ข้ามฝั่งมาปรึกษาพระบริหารราชอาณาเขตร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้ช่วยจับญวนองฮาย (หรือกองกาว) ที่เมืองมุกดาหาร และญวนอื่น ๆ อีก 15 คน เนื่องจากยุยงให้ก่อการร้าย โดยนําข่าวหนังสือพิมพ์ไปโฆษณากับญวนฝั่งซ้ายว่า เยอรมันจะให้เงินช่วยและคืนเอกราชให้กับญวน กอมมิแซฝรั่งเศสได้อ้างถึงความเดือดร้อนจากการที่สยามมีอาณาเขตติดต่อกับทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส หากเกิดความไม่สงบทางชายแดน สยามจะได้รับความลําบากเช่นกัน [37]

ในขณะที่ทัศนคติของชนชั้นนําสยามที่มีต่อหัวเมืองลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้ง ที่ 1 คือการยอมรับว่าราษฎรลาวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของ ฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นอีกประเทศหนึ่งต่างหาก และมีความกังวลที่จะเกิดการจลาจลทั้งในเมืองสิบสองจุไทและสิบสองปันนา ทําให้สยามต้องคอยระวังตรวจตราไม่ให้พวกที่ต้องการทําร้ายฝรั่งเศสมาใช้ดินแดนสยามในการซ่องสุมอาวุธและผู้คน [38]

แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงแต่ยังคงมีข่าวการจลาจลที่ทําให้สยามต้องกวดขันดูแลพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอยู่เป็นระยะ เช่น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2462 พวกฮ่อ แม้ว เงี้ยว ญวน และลาวราว 27,000 คน สมคบกันเป็นกบฏต่อฝรั่งเศสและเข้าตีเมืองซําเหนือ เมืองห้วยทราย หลวงพระบางและเมืองขึ้นได้หลาย เมือง ตัวเจ้าเมืองหลวงพระบางถูกฝรั่งเศสควบคุมตัวไว้และให้เจ้าสาธุคําตัน ลูกเจ้าเมืองหลวงพระบางคุมไพร่เตรียมการรบ

เหตุการณ์จลาจลครั้งนี้มีคนหลายกลุ่มเข้าร่วมและกระจายไปหลายเมือง โดยมีหัวหน้าเป็นเย้าชื่อบักใจ๋ มีพรรคพวก 2,000 คน เป็นคนญวน 700 คน นอกนั้นเป็นภูไท ฮ่อ ลาว จีน ลื้อ แม้ว และเย้า นอกจากฆ่ากอมมิแซฝรั่งเศสตายแล้วยังมีการปล้นปืนจากทหารฝรั่งเศสและเผาบ้านเรือนราษฎรราว 300 ครัว ทําให้ ราษฎรบางส่วนแตกหนีมาที่เมืองเชียงแสน ทางสยามได้พยายามสอบสวนสาเหตุของจลาจลและพบว่าเกิดจากการที่ฝรั่งเศสให้ลูกพระยาเมืองสอน เมืองขึ้นของเมืองหลวงพระบางไปเก็บภาษีแม้ว เย้า

พวกแม้ว เย้า ไม่พอใจจึงจับลูกพระยาเมืองสอนฆ่าทิ้ง เมื่อแม้ว เย้า กลุ่มอื่น ๆ ทราบข่าวจึงพากันมาสมทบเพิ่มเติม ในขณะที่ทหารญวนในกองทหารฝรั่งเศสเริ่มแตกหนีและเข้าร่วมกับกบฏ ส่วนญวนที่เมืองเวียงจันทน์ได้เริ่มก่อจลาจลเช่นกัน ทางมณฑลอุดรจึงกังวลว่าญวนในฝั่งขวาจะข้ามไปสมทบด้วยจึงกําชับให้เมืองหนองคายตรวจตราความสงบเรียบร้อย ในขณะที่เมืองปากลายของฝรั่งเศสเกิดกบฏเพราะฝรั่งห้ามมิให้แม้ว เย้า ปลูกฝิ่น โดยบังคับให้ซื้อจากรัฐบาล การจลาจลในครั้งนี้ฝรั่งเศสระดมทหารจากเมืองเวียงจันทน์ เขมร และเมืองอื่น ๆ มาร่วมปราบจนสงบลงในที่สุด [39]

เห็นได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ทําให้อํานาจของอังกฤษและฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกต่ำลง ทั้งพม่า เงี้ยว เขมร ญวน และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในสยามได้เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน เจ้าอาณานิคม โดยคนเหล่านี้ยังคงรู้สึกผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองและไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่ง ของสยาม ในขณะที่ราษฎรลาวส่วนใหญ่ซึ่งชนชั้นนำสยามนับรวมว่าเป็นไทยไม่ได้สร้างความวุ่นวายในช่วงสงครามโลกและมีความจงรักภักดีต่อสยามอย่างมาก [40]

จากการที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ใช้ดินแดนสยามเป็นที่ซ่องสุมผู้คนเพื่อขับไล่เจ้าอาณานิคม ทําให้รัฐบาล สยามตระหนักถึงปัญหาการขาดความเป็นเอกภาพภายในชาติ และมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยน นโยบายในการจัดการปกครองใหม่ โดยเน้นส่งเสริมการศึกษาให้กับคนทุกกลุ่มเพื่อลบล้างความเป็นลาวออกจากการรับรู้ของราษฎร เร่งดูแลทุกข์สุขของราษฎร ในฐานะที่เป็นพลเมืองส่วนหนึ่งของรัฐ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกันและกันให้มากยิ่งขึ้น [41]

อย่างไรก็ตาม ชนชั้นนําสยามยังคงเห็นว่าราษฎรในมณฑลอิสาณเป็นผู้ที่ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับความเจริญแบบใหม่ แต่มีข้อดีคือบังคับบัญชาได้ง่าย ๆ ในภาพรวมมณฑลอิสาณ มณฑลอุดร และมณฑลนคร ราชสีมายังคงมีปัญหาในการประกอบอาชีพ เนื่องจากความแห้งแล้งและอุปสรรคทางด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ [43]

ในขณะที่หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงออกตรวจราชการเพื่อสืบข่าว และพบว่าอํานาจการปกครองของฝรั่งเศสอ่อนแอลงมาก และทรงเชื่อว่า สยามยังมีบทบาทกับราษฎรฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอยู่มาก โดยเฉพาะพระราชมุนี เจ้าคณะมณฑลอุบล ซึ่งคณะสงฆ์เมืองจําปาศักดิ์และเมืองสีทันดรยอมรับในความรอบรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา จนข้ามแม่น้ำโขงมาปรึกษาอยู่เนือง ๆ พระองค์ทรงบันทึกไว้ว่า

“…เห็นได้ชัดว่าในทางใจเรายังเปนใหญ่อยู่ในดินแดนใกล้เคียง กับพระสงฆ์แล้วราษฎรบอกตรงว่าเปนคนละต่างหากแต่ในทางปกครองเท่านั้น ในทางใจยังคงนับว่าเป็นพวกเดียวกัน อย่างเดิมโดยแท้…” [44]

แสดงว่าในทัศนะของพระองค์ ราษฎรลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงยังคงมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันกับสยาม อย่างไรก็ตาม สยามไม่สามารถดึงหัวเมืองลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของตนได้ ทําได้เพียงส่งเชื้อพระวงศ์และข้าราชการชั้นสูงออกตรวจราชการและร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อพัฒนาเส้นทางการค้า การสื่อสาร การคมนาคม และการปักปันเขตแดน โดยเล็งเห็นประโยชน์ทางการปกครองและ เศรษฐกิจร่วมกัน

ใน พ.ศ. 2462 กรมขุนกําแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสด็จตรวจราชการในอินโดจีน ในรายงานตอนหนึ่ง พระองค์ทรงเรียกคนลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงว่า “ไทย” ในตอนที่อธิบายว่าฝรั่งเศสต้องการสร้างถนนเพื่อทําให้คนเขมร ญวน และลาว ไปมาหาสู่กันได้ง่ายและรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ความว่า “…it will serve to make the people such as the Cambodians, An Amites, and Thai, feel like one people and under one administrations…” [45]

การเรียกราษฎรฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงว่าเป็นไทย เป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงการรับรู้ว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนลาวดังที่เคยเข้าใจกันมา ซึ่งก็คงเกิดจากผลประโยชน์ทางการปกครอง

“แคนวงของทหารเมืองอุบลราชธานีสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ ร้องรำทำเพลง : ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม)” แคนถือเป็นเครื่องดนตรีร่วมระหว่างไทยกับลาว แต่ในปัจจุบันยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน “เสียงแคนของลาว” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

การรับรู้และทัศนคติของไทยต่อคําว่า “ลาว” สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การเสด็จประพาสมณฑลพายัพของพระองค์เป็นการเน้นย้ำ ให้บรรดาเจ้านายและราษฎรเห็นว่าอํานาจการปกครองสูงสุดอยู่ที่กษัตริย์สยามแต่เพียงผู้เดียว และมีพระราชประสงค์สร้างความเป็นเอกชาติด้วยการลบภาพความเป็นลาวออกจากราษฎรมณฑลพายัพอย่างเด็ดขาด [46]

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 วิธีการต่าง ๆ ที่รัฐบาลสยามได้พยายามสร้างการรับรู้ ใหม่ว่า ราษฎรในมณฑลพายัพไม่ใช่คนลาวดังที่เข้าใจกันมายังคงไม่ประสบความสําเร็จมากนัก เนื่องจากมีข่าวว่าจังหวัดเชียงใหม่ภายใต้การนําของเจ้าแก้วนวรัฐ อาจแยกตัวเป็นอิสระ [47] และราษฎรทั่วไปยังคงมีความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างไทยและลาว [48]

จนถึง พ.ศ. 2482 ความรู้สึกแบ่งแยกดังกล่าวยังคงมีอยู่ จากข้อสังเกตของหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลไปร่วมงานพระศพเจ้าแก้วนวรัฐ และเสนอว่าหากรัฐบาลหมั่นโฆษณาว่าคนลาวเหล่านั้นมีเชื้อชาติไทยเช่นเดียวกันจะช่วยทําให้พวกเขาเกิดความภูมิใจและลดการแบ่งแยกระหว่างไทย-ลาวได้ในที่สุด [49]

ในขณะที่การรับรู้และทัศนคติของชนชั้นนําสยามที่มีต่อราษฎรที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง หรือมณฑลภาคอีสานในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือยอมรับว่าราษฎรเหล่านี้เป็นคน ไทย แต่มีความล้าหลังในด้านความเชื่อ การศึกษา และการประกอบอาชีพ ในแง่ดีคือราษฎรในภูมิภาคนี้เป็นผู้รักความสงบ ปกครองง่าย เป็นคนมักน้อย ใช้ชีวิตอย่างสมถะ และไม่ค่อยมีคดีความอุกฉกรรจ์ [50]

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของข้าราชการท้องถิ่นกลับเห็นว่าภูมิภาคนี้ยังเสี่ยงต่อการเข้าแทรกแซงของฝรั่งเศส [51] ในทางกลับกันราษฎรที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานเองรับรู้ได้ถึงความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างไทย (กรุงเทพฯ) และลาว (ภาคอีสาน) รวมถึงมีความรู้สึกว่าตนเองได้รับการดูถูกจากภูมิภาคอื่น ๆ และเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจที่ภูมิภาคของตนไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกับภาคอื่น ๆ [52]

ส่วนหัวเมืองลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การเสด็จประพาสอินโดจีนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทําให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและฝรั่งเศสดีขึ้นตามลําดับ แต่จากการที่ฝรั่งเศสเปิดโอกาสให้ราษฎรฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้เลือกตั้งผู้แทนพลเมืองเพื่อลดการต่อต้านจากชาวลาวและเวียดนาม [53] ประกอบกับความเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน [54] ซึ่งเกี่ยวข้องกับราษฎรทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และไม่เป็นผลดีต่อระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม ทําให้ชนชั้นนําสยามต้องเพิ่มความเอาใจใส่หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมากขึ้น

การรับรู้และทัศนคติของส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) หรือราษฎรในภาคอื่น ๆ ที่มีต่อกลุ่มคนลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำ โขง (สปป.ลาว) คือการแบ่งแยกว่าเป็นประชากรของอีกประเทศหนึ่ง แต่มีลักษณะคล้ายคลึงกับราษฎรภาคอีสาน โดยเฉพาะราษฎรที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งในทัศนะของ โซเร็น อิวาร์สสัน (Soren Ivarsson) เห็นว่าองค์ประกอบพื้นฐานในการรวมเป็นประเทศคือการมีประวัติศาสตร์ ภาษา และศาสนาร่วมกัน [56]

ดังนั้น การที่คนไทยทั่วไปเรียกผู้คนที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานโดยเฉพาะฝั่งขวาแม่น้ำโขงว่าเป็นคนลาวเช่นเดียวกันกับคนลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศ สปป.ลาว เนื่องจากเห็นว่าคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมกัน มีภาษาพูดเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกัน แต่ถูกแบ่งแยกด้วยเส้นเขตแดนประเทศและแนวคิดเรื่องรัฐชาติซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 

หมายเหตุ บทความในนิตยสารชื่อ การรับรู้และทัศนคติของไทยต่อคำว่า “ลาว”

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2562