เหตุใดคำว่า “ไท” ถึงมีความหมายว่า “อิสระ” ทำไม “ไท” ต้องเติม “ย.”

หญิงไทย หนังสือเล่าเรื่องกรุงสยาม คนไทย ไทย ไท คนไท
หญิงไทยวัย 14 ปี และชายไทย (ใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่าทั้งสองข้าง) ในอดีต (ภาพจากหนังสือ เล่าเรื่องกรุงสยาม โดย ม.ปัลเลอกัวซ์)

คำว่า “ไท” กับคำว่า “ไทย” ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความไว้ว่า คำว่า “ไท” หมายถึง ไทย, ผู้เป็นใหญ่, ชนชาติไท, ความมีอิสระในตัว, ความไม่เป็นทาส ส่วนคำว่า “ไทย” หมายถึง ชื่อประเทศไทย

แล้วคำว่า “ไท” มีที่มาที่ไปอย่างไรถึงมีความหมายว่า “อิสระ” และคำว่า “ไทย” ทำไมต้องเติม ย. เพิ่มจากคำว่า “ไท” ?

ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้อธิบายว่า ชาวสยามเรียกตนเองว่า “ไทย” ซึ่งแปลว่า “อิสระ” ไม่เรียกตนเองว่าชาวสยาม ซึ่งดูเหมือนว่าคำนี้จะเป็นคำที่ชาวต่างชาตินิยมใช้เรียกผู้คนในย่านนี้ ดังที่ ลา ลูแบร์ บันทึกไว้ว่า

“คำว่า สยาม (siam) นั้น ไม่เป็นที่รู้จักของชนชาวสยาม เป็นคำที่พวกปอรตุเกศซึ่งอยู่ในชมพูทวีปใช้เรียก ยากที่จะสืบได้ว่ามีต้นเค้ามาจากคำว่ากระไร. พวกปอรตุเกศใช้เรียกเป็นนามประชาชาติ ไม่ใช่นามแห่งราชอาณาจักร...อนึ่งผู้ที่รู้ภาษาปอรตุเกศนั้น ย่อมจะรู้ดีว่าการเขียนว่า Siam กับ Siaô นั้น อ่านออกเสียงเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งถ้าจะเทียบภาษาฝรั่งเศสกับภาษาปอรตุเกศแล้ว เราก็จะต้องเรียกว่า ชาวซิออง (Sions) แทนที่จะเรียกว่า ชาวสยาม เพราะเมื่อปอรตุเกศเขียนคำชาวสยามในภาษาละติน ก็ใช้เรียกว่า ชาว Sions อยู่

ชาวสยามเรียกตนเองว่า ไทย (Tàï) แปลว่า อิสระ อันเป็นความหมายตามศัพท์ในภาษาของพวกเขาอยู่ในปัจจุบัน…ผู้ที่รู้ภาษาพะโคยืนยันว่า สยาม แปลว่า อิสระ ในภาษานั้นเหมือนกัน ฉะนั้นพวกปอรตุเกศจึงน่าจะนำเอาคำ ๆ นี้มาใช้เรียกชาวสยามก็เป็นได้ เพราะได้รู้จักชาวสยามจากปากคำของชาวพะโค (มอญ)

อนึ่ง นาวาร์แรต (Navarrete) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ พงศาวดารแห่งราชอาณาจักรจีน ตอนที่ 1 บทที่ 5 ว่า คำว่า สยาม ที่เขียน เสียน (Sian) นั้น มาจากคำสองคำ คือ เสียนโล้ (Sien Lô) แต่มิได้บอกไว้ว่าคำสองคำนี้หมายความว่ากระไร และมาจากภาษาไหน แม้จะได้สรุปเอาว่าเป็นคำที่ชาวจีนใช้เรียก เมืองไทย (Meüang Tàï) จึงเป็นนามที่ชาวสยามใช้เรียกราชอาณาจักรสยาม (เพราะคำว่า เมือง แปลว่า ราชอาณาจักร) และคำ ๆ นี้ เขียนอย่างง่าย ๆ ว่า Muantay…ส่วนเมืองสยามนั้น ชาวสยามเรียกว่า ศรีอโยธยา (Si-yo-thi-ya)… ลางทีพวกเขาก็เรียกเมืองสยามว่า กรุงเทพพระมหานคร (Crung-thé-paprà-maha-nacôn)…

อนึ่ง ชาวสยามที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้ เรียกตนเองว่า ไทยน้อย (Tàï-nôë, Siams-Petits) และตามที่ข้าพเจ้าได้ยินมา ก็ยังมีชนอีกจำพวกหนึ่งซึ่งยังป่าเถื่อนอยู่มาก เรียกกันว่า ไทยใหญ่ (Tàï-yàï, Siams-grands) และตั้งสำนักหลักแหล่งอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือ ข้าพเจ้าได้อ่านพบในจดหมายเหตุหลายฉบับกล่าวถึงแว่นแคว้นอาณาจักรสยามณ (Siammon) หรือสยามี (Siami) แต่เอกสารเหล่านั้นมิได้ลงความเห็นไปในทำนองที่ว่าชนชาติเหล่านี้เป็นคนป่าเถื่อนแต่ประการใด.”

สันนิษฐานว่า คำว่า “สยาม” และ “ชาวสยาม” ถูกเรียกโดยชาวต่างชาติ ในขณะที่คนกรุงศรีอยุธยาจะเรียกตนเองว่าไทมากกว่า คำว่าสยามถูกนำมาใช้ในราชการอย่างเข้มข้นก็เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในอดีตก่อนหน้านั้น ชนชั้นผู้ปกครองไม่ได้ให้ความสนใจใช้คำนี้เท่าใดนัก

สังฆราชปัลเลอกัวซ์ พระสหายในรัชกาลที่ 4 ได้จัดทำพจนานุกรมภาษาไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษเล่มแรก ได้ให้ความหมายของคำว่า “ไทย” ว่าหมายถึง libre, les Thai, les Siamios (ฝรั่งเศส) และ free, the Thai, the Siamese (อังกฤษ) ทั้งนี้ สังฆราชปัลเลอกัวซ์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ลงไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้คนระดับชนชั้นผู้ถูกปกครอง ท่านจึงอธิบายคำว่า Siamios หรือ Siamese เพิ่มเติมว่าเป็น “คำที่ไม่ใช้แล้ว” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในระดับชนชั้นผู้ถูกปกครองเรียกตนเองว่า “ไท” มาโดยตลอด แต่ในราชสำนักนิยมใช้คำว่า “สยาม”

ทั้ง ลา ลูแบร์ และสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ต่างก็ให้ความหมายคำว่า “ไท” ว่าหมายถึง “อิสระ” หรือ “เสรี” แต่แท้จริงแล้วคำ ๆ นี้มีความหมายเช่นนั้นมาตั้งแต่แรกหรือ?

แน่นอนว่า คำว่า “ไท” หมายถึงชนชาติ “ไท” หรือ “ไต” จิตร ภูมิศักดิ์ สืบสาวหาความหมายดั้งเดิมของคำว่า “ไท” จนค้นพบว่า หมายถึง “คนสังคม” หรือ “คนเมือง” กระทั่งได้พัฒนาเปลี่ยนจากความหมายเดิมมาสู่ความหมายใหม่ว่า “เสรีชน” ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่สังคมได้พัฒนาไปสู่ระบอบการผลิตที่มี “ข้า” หรือ “ทาส”

จิตรได้อธิบายว่า เริ่มจากการที่เผ่า “ไท” มีข้าหรือทาสเป็นคนต่างเผ่า ทำให้เกิดสำนึกในเผ่า “ไท” ขึ้น นั่นคือ “ไท” หรือ “ไต” เป็นเสรีชน เป็นผู้ที่ไม่ได้ตกเป็นข้าหรือทาส ต่อมาคนเผ่า “ไท” เดียวกันบางคนได้กลายเป็นข้าหรือทาส ถูกจัดให้เป็นพวกไม่มีอิสระ ไม่เป็น “ไท” แม้จะเป็นคนในเผ่า “ไท” เช่นเดียวกัน แต่ไม่เป็น “ไท” แก่ตัว นี่จึงทำให้เกิดสำนึกใหม่ของการเปลี่ยนความหมายของคำว่า “ไท”

ต่อมา ในยุคที่เผ่าไทในลุ่มแม่น้ำยมสามารถปลดแอกจากเขมร จิตรอธิบายว่า ทำให้ “…จิตใจของสังคมย่อมปรารถนาประกาศความเป็น ไท คือเป็นเสรีชนที่ไม่ต้องเป็นทาส ฉะนั้น ชนเผ่าไทแห่งสุโขทัยจึงเรียกตนเองว่า ไท อย่างรู้สึกภาคภูมิใจสุด เมืองไท จึงมีความหมายเป็น เมืองแห่งเสรีภาพ คำว่า ไท จึงพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง คือหมายถึง ความเป็นอิสระ หรือเสรีภาพ…”

ซึ่งปรากฏคำว่า “ไท” ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแห่งอยู่หลายแห่ง ดังนั้น คำว่า “ไท” นอกจากจะหมายถึงชนชาติไทแล้ว ยังหมายถึงเมืองของเสรีชนที่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ นั่นคือ เมืองที่เป็นเอกราช

นอกจากนี้คำว่า “ไท” ยังพัฒนาความหมายต่อไปอีก มีความหมายว่า “ผู้เป็นใหญ่” ซึ่งพัฒนามาจากพื้นฐานสังคมที่ว่า ชนชาติไทได้ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือสังคม เป็นชนชั้นปกครอง ลักษณะเดียวกับการกำเนิดของคำว่า “ลาว” (ที่มีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นผู้มีอํานาจ เป็นนาย) จิตรได้สรุปพัฒนาการของคำว่า “ไท” ตามลำดับดังนี้

– เป็นชื่อชนชาติตระกูลภาษาไท-ไต มีความหมายดั้งเดิมว่า คนสังคม หรือคนเมือง
– เป็นชื่อวรรณะหรือฐานันดรทางสังคม ซึ่งแปลว่า เสรีชน
– เป็นคำวิเศษณ์แปลว่า อิสระ, เอกราช
– เป็นคำวิเศษณ์และคำนาม แปลว่า ผู้เป็นใหญ่

จิตรเชื่อว่า ชื่อของชนชาติไทมีพัฒนาการของความหมายมาทีละขั้น ตามสภาพชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ได้คงความหมายสำเร็จรูปมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ส่วนคำว่า “ไทย” ที่มี “ย.” นั้น เกิดจากความเฟื่องฟูของภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะแต่เดิมภาษาบาลีไม่มีสระไอ แต่ก่อนเขียนคำว่า “ไท” ในภาษาบาลีว่า เทยฺย เมื่อจะเขียนเป็นภาษาไทย จึงเอา ย. ยักษ์ พ่วงท้ายเข้าให้ด้วย ไท+ย. จึงเป็นคำว่า “ไทย”

ความคลั่งไคล้ภาษาบาลีนี่เองจึงทำให้ “ไทย” มี ย. ติดมาจนถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ลาลูแบร์. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พิมพ์ครั้งที่ 4. ศรีปัญญา, 2557

จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม. พิมพ์ครั้งที่ 2. เรือนแก้วการพิมพ์, 2524.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. จากสยามเป็นไทย นามนั้นสำคัญไฉน?. มติชน, 2548.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2563