“ศกุนตลา” กับวิบากกรรมที่ไม่ได้ก่อ ทุกข์ของหญิงคนหนึ่งที่ถูกฉาบด้วยความ “โรแมนติก”

ศกุนตลา ท้าวทุษยันต์
เหตุการณ์ศกุนตลามาพบท้าวทุษยันต์ แต่ทุษยันต์จำนางไม่ได้ (ภาพจากเว็บไซต์ Museums of India)

ศกุนตลา นิทานที่แทรกอยู่ในมหากาพย์ “มหาภารตะ” ของ อินเดีย เรื่องราวของสตรีผู้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะมีชีวิตที่ดีได้ในตอนท้ายของเรื่อง

ศกุนตลา เวอร์ชันภาษาไทยเป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โดยทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครสำหรับการแสดง มีทั้งบทละครรำ บทละครร้องรำ หรือละครดึกดำบรรพ์ รวม 4 สำนวน ต้นแบบคือบทละครนาฏกะเรื่องอภิชญาณศากุนตละ ของกาลิทาส วรรณคดีอินเดียรุ่นแรก ๆ ที่รู้จักกันในยุโรป แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย วิลเลียม โจนส์ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงแปลจากฉบับภาษาอังกฤษของวิลเลียม โจนส์ อีกที

Advertisement

ศกุนตลาเป็นหญิงงาม แต่มีชีวิตที่ลำบากจากวิบากกรรมที่นางไม่ได้ก่อด้วยซ้ำ อาจเรียกได้ว่านางคือต้นแบบแรก ๆ ของ “พล็อต” ว่าด้วยสตรีรูปโฉมงดงามผู้ตกอับ แล้วลงท้ายด้วยการครองคู่กับกษัตริย์รูปงามผู้ยิ่งใหญ่ ระหว่างนั้นก็มีอุปสรรคแวะเวียนมาขัดขวางอยู่เนือง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังรู้สึกว่านี่บททดสอบของรักแท้

บทความ “ความรักที่ไม่น่ารื่นรมย์ของศกุนตลา” ที่เขียนโดย อาทิตย์ ศรีจันทร์ ในศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนกรกฎาคม 2566 ชี้ให้เห็นว่า หากตัดความ “โรแมนติก” ที่ฉาบเรื่องของ ศกุนตลา ไว้ นี่อาจเป็นตัวอย่างของการ “โรแมนติไซส์” ชะตากรรมอันน่าเวทนาของผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ต้องพิสูจน์ตนเองอยู่ตลอดเวลาในชะตากรรมสุดรันทด

“นี่ฤๅบุตรีพระดาบส   งามหมดหาใครจะเปรียบได้

อนิจจาบิดาท่านแสร้งใช้   มารดต้นไม้พรวนดิน

ดูผิวสินวลละอองอ่อน   มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น

สองเนตรงามกว่ามฤคิน   นางนี้เป็นปิ่นโลกา

งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน   งามกรดังลายเลขา

งามรูปเลอสรรขวัญฟ้า   งามยิ่งบุปผาเบ่งบาน

ควรฤๅมานุ่งคากรอง   ควรแต่เครื่องทองไพศาล

ควรแต่เป็นยอดนงคราญ   ควรคู่ผู้ผ่านแผ่นไผท”

บทชมโฉมนางในวรรณคดี เผยภาวะที่เกิดขึ้นกับ “ท้าวทุษยันต์” กษัตริย์แห่งเมืองหัสดินตอนที่ได้พบกับศกุนตลา ระหว่างที่พระองค์ออกตามล่ากวางป่า ก่อนที่ต่อมาทั้งคู่จะตกหลุมรักกันและกัน ได้เสียและแต่งงานกันแบบ “คนธรรพ์วิวาห์” กลางป่า หรือการแต่งงานโดยความพึงพอใจ ปราศจากพิธีรีตอง

เมื่อมีเหตุให้ทั้งคู่ต้องพลัดพราก ท้าวทุษยันต์มอบแหวนแก่ศกุนตลาไว้เป็นพยานรัก หลังจากนั้นศกุนตลาต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการกว่าจะคลี่คลายทั้งหมดได้ นำพาให้นางกับคนรักกลับมาครองคู่กันอีกครั้ง

เรื่องย่อข้างต้นอาจดูธรรมดา ชีวิตของศกุนตลารันทดขนาดไหนกัน? ขอให้พิจารณาเรื่องราวก่อนหน้าและระหว่างนั้นอีกหน่อย ตั้งแต่กาลกำเนิดของนางศกุนตลา

ศกุนตลาเป็นบุตรีของพระฤๅษีผู้ยิ่งใหญ่ คือฤๅษีวิศวามิตร กับนางอัปสรเมนกา ดูเหมือนนางจะมีชาติกำเนิดที่สูงส่ง แต่แท้จริงนางเกิดจากความขัดแย้งที่ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้อง เพียงเพราะฤๅษีวิศวามิตรผู้บำเพ็ญพรตจนตบะกล้าแข็ง สร้างความไม่พอใจแก่พระอินทร์ที่กลัวว่าผู้อื่นจะมีฤทธิ์เดชเหนือตน จึงส่งนางอัปสรเมนกามา “ยั่ว”

การทำลายตบะฤๅษีวิศวามิตรสำเร็จดังประสงค์ของพระอินทร์ มหาฤๅษีกับนางอัปสรได้เสียกัน นางเมนกาตั้งท้องแล้วคลอดธิดาน้อย แต่ฤๅษีวิศวามิตรระลึกได้ว่าตนโดนขัดขาจึงขับไล่เมียอัปสรไปเสียให้พ้นและไม่รับผิดชอบใด ๆ ต่อบุตรีที่เกิดแก่นาง นางเมนกาจึงกลับสวรรค์ไป ทิ้งให้ธิดาน้อยอยู่กลางป่าเพียงลำพัง ยังดีที่มีพวกนกคอยดูแล จนฤๅษีกัณวะมาพบเข้าแล้วเวทนา จึงรับมาอุปถัมภ์เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ในนาม ศกุนตลา แปลว่า หมู่มวลวิหค ตามที่ฤๅษีกัณวะพบนางท่ามกลางเหล่านกที่เลี้ยงดู

ศกุนตลาเติบโตเป็นสตรีรูปโฉมงดงามไร้ที่ติ คอยปรนนิบัติฤๅษีกัณวะในฐานะลูกเลี้ยง มีหน้าที่ต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือนอาศรม กระทั่งมีโอกาสได้พบท้าวทุษยันต์กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองหัสดิน แม้ความงามของนางจะสะกดกษัตริย์หนุ่มจนหลงใหล แต่ฐานะของนางก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่เมื่อท้าวทุษยันต์ทรงทราบว่านางมีต้นกำเนิดที่ไม่ธรรมดา (ฤๅษีวิศวามิตรอยู่ในวรรณะกษัตริย์ก่อนมาบำเพ็ญตบะ) จึงตกลงปลงใจที่จะรับเป็นคู่ครองอย่างจริงจัง

ศกุนตลาซึ่งมีใจให้กับท้าวทุษยันต์อยู่แล้วจึงรับรักและแต่งงานกับท้าวทุษยันต์ ฝ่ายฤๅษีกัณวะมิได้ขัดขวางใด ๆ ทั้งเทศนาสั่งสอนให้นางเป็นเมียที่ดีตามคติโบราณ แต่กษัตริย์หนุ่มจำเป็นต้องรีบเดินทางกลับเมือง ไม่สามารถพาศกุนตลาที่วิวาห์กลางป่ากลับไปด้วยได้ ทำได้เพียงมอบแหวนไว้แก่นางเพื่อเป็นหลักประกันความรักมั่นที่มีต่อกัน

ศกุนตลา ท้าวทุษยันต์
ท้าวทุษยันต์มอบแหวนให้ศกุนตลา (ภาพโดย Ravi Varma ใน Wellcome Images สิทธิการใช้งาน CC BY 4.0)

หลังจากนั้นชีวิตของศกุนตลาพบวิบากกรรมที่นางไม่ได้ก่ออีกครั้งหลังพรากจากสามี เมื่อฤๅษีทุรวาสมาเยือนในขณะที่นางปริวิตกถึงความรักของตนเองที่ต้องพลัดพรากจากท้าวทุษยันต์ ทำให้ไม่ได้ยินเสียงร้องเรียกของทุรวาสดาบสที่มายืนเรียกอยู่หน้าบ้าน ฤๅษีทุรวาสจึงสาปนางให้แม้คนรักพบหน้าก็จำไม่ได้ เมื่อฤๅษีทุรวาสได้ทราบความทุกข์ของนางในภายหลังจึงคลายความโกรธ แต่คำสาปฤๅษีนั้นทรงพลัง ไม่อาจลบล้างได้ ฤๅษีนักแช่งทำได้เพียงบรรเทาความรุนแรงคำสาปให้ว่า หากท้าวทุษยันต์ได้เห็นแหวนจะจำนางได้ในที่สุด

ฝ่ายฤๅษีกัณวะเห็นศกุนตลาป่วยไข้ใจอยู่ไม่วาย จึงพานางไปพบท้าวทุษยันต์เพื่อจัดพิธีอภิเษกอย่างถูกต้อง ปรากฏว่าคำสาปทำให้ท้าวทุษยันต์จำศกุนตลาไม่ได้จริง ๆ หนักกว่านั้นคือแหวนที่พระองค์เคยให้ไว้กับนางยังหล่นหายอีก แม้นางจะอุ้มท้องลูกไปเป็นพยานความรักก็ไม่เป็นผล

ศกุนตลาจึงกลับออกมาเลี้ยงพระโอรสนามว่า “พระภรต” โดยไม่ได้รับการเหลียวแลจากสามี เมื่อท้าวทุษยันต์ได้พบแหวนที่หายไปในภายหลังและระลึกถึงนางอันเป็นที่รักได้ก็สายไป เพราะศกุนตลาถูกรับไปอยู่บนสวรรค์ ท้าวทุษยันต์ต้องฟูมฟายถึงศกุนตลาอยู่พักใหญ่ กว่าทั้งสามพระองค์จะมีโอกาสได้พบกันอีกครั้ง และครองคู่กันอย่างมีความสุขในท้ายที่สุด

อาทิตย์ ศรีจันทร์ ให้ความเห็นว่า โครงเรื่องลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาก ๆ ข้อพิสูจน์ (รักแท้) อาจเกิดขึ้นจากความเลวร้ายของใครสักคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง การแก้ไขอุปสรรคนำไปสู่การครองรักกันอีกครั้ง เราสามารถเห็นคอนเซ็ปต์ดังกล่าวในวรรณกรรมไทยหลายเรื่อง

“ผมไม่มีเจตนาจะลดทอนคุณค่าของวรรณกรรมไทย เวลาที่เราเห็นและรับรู้โครงเรื่องของบันเทิงคดี อาจทำให้เราเห็นแต่เพียงความโรแมนติคที่เคลือบฉาบอยู่ด้านนอก จนละเลยไปว่าชีวิตของตัวละครที่เราเห็นว่าสวยงามนั้น อาจมีแง่มุมของความไม่น่าอภิรมย์อยู่ด้วยเช่นกัน”

นอกจากชีวิตแรกเกิดที่น่าเห็นใจแล้ว เรื่องราวของศกุนตลาอาจสอนเราได้ด้วยว่า เอาเข้าจริงคนคนหนึ่งสามารถพบพานความทุกข์ได้ง่าย ๆ เพียงเพราะอารมณ์ของใครสักคนที่ไม่แน่นอน คิดไปเองว่าตนถูกดูหมิ่น หรือไม่ได้รับเกียรติอย่างที่ตนคาดหวัง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2567