“พันหนึ่งราตรี” นิทานอาหรับ ต้นฉบับจากอินเดีย?

ภาพวาด Ivan Tsarevich วีรบุรุษในนิทานพื้นบ้านของรัสเซีย กำลังขี่พรม วาดโดย Viktor Vasnetsov เมื่อ ค.ศ. 1880

“พันหนึ่งราตรี” (The Arabian Nights) หรือ “อาหรับราตรี” (Arabian Nights) เป็นงานประพันธ์ที่ถูกรวบรวมเป็นภาษาอาหรับในช่วงยุคทองของอิสลาม รวบรวมเรื่องเล่าหรือนิทานพื้นบ้านของเอเชียตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกาตอนเหนือหลายเรื่อง ที่มีทั้งเรื่องของอะลาดิน, อาลีบาบา, กะลาสีซินแบด ฯลฯ

เนื่องด้วยพันหนึ่งราตรีถูกถ่ายทอดผ่านการเล่าเรื่องมุขปาฐะ (ปากต่อปาก) มาอย่างยาวนาน ทำให้ยากที่จะสืบหาต้นกำเนิดที่แท้จริงได้แน่ชัดว่ามีที่มาจากที่ใดกันแน่ แม้พันหนึ่งราตรีจะดูเป็นเรื่องราวของโลกอาหรับหรือแถบตะวันออกกลาง (หรืออาจจะมีจีนรวมอยู่ด้วย) แต่มีความเป็นไปได้ว่าชาวอาหรับรับอิทธิพลมาจากอินเดียมาก่อน

พันหนึ่งราตรีได้รับความนิยมไปทั่วโลกมานานหลายศตวรรษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงได้รับอิทธิพลของพันหนึ่งราตรีเช่นเดียวกัน โดยทรงเก็บเนื้อความข้างท้ายเล่มของพันหนึ่งราตรี (ฉบับที่แปลโดย Antoine Galland) เรื่องหนึ่ง มาดัดแปลงเป็นพระราชนิพนธ์ “นิทราชาคริต” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2422

รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายว่า “แต่ต้นเดิมของนิทานนี้ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้แต่งและแต่งเมื่อใด… แต่คงไม่ต่ำกว่าเวลาที่เมืองอียิปต์ใช้กาแฟและยาสูบ ด้วยในเรื่องนี้ไม่ได้กล่าวถึงกาแฟและยาสูบเลย กาแฟนั้นเกิดใช้กันขึ้นในเมืองอาหรับในคริสตศักราช 1500 ปีเศษ… ยาสูบเกิดในประเทศอิตาลี ในคริสตศักราช 1560…”

อย่างไรก็ตาม ปรากฏหลักฐานที่น่าเชื่อเก่าที่สุดพบว่าพันหนึ่งราตรีเคยมีการกล่าวถึงมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 และเป็นไปได้ว่าพันหนึ่งราตรีอาจเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว

สำหรับ Antoine Galland เขาเป็นชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้แปลพันหนึ่งราตรีเป็นภาษาฝรั่งเศส ใช้เวลาแปลอยู่ถึง 14 ปี จึงแล้วเสร็จ ออกวางจำหน่ายเมื่อ ค.ศ. 1704 (พ.ศ. 2247) ฉบับแปลของ Antoine Galland นี้นับเป็นฉบับแปลภาษายุโรปฉบับแรก ซึ่งต้นฉบับมาจากชาวซีเรียน และเป็นฉบับแรกที่มีการกล่าวถึง “อะลาดิน”

ภาพ พันหนึ่งราตรี วาดโดย Sani ol molk ชาวอิหร่าน เมื่อ ค.ศ. 1849–1856

ขณะที่ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต) ทรงอธิบายว่า “แท้จริงนิทานพันหนึ่งราตรีนี้มีเหตุที่ควรเชื่อได้ว่าเค้ามูลมาจากอินเดีย พวกอาหรับได้ไปดัดแปลงแต่งเติมให้หน้าตาเป็นอาหรับ และจากอาหรับได้เลยไปทางตะวันตกจนถึงพวกกรีก ซึ่งแปรรูปไปเป็นนิทานอิสป

เหตุที่ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้เพราะทางอินเดียโบราณมีวิธีเล่านิทานสุภาษิต ซึ่งตั้งนิทานใหญ่ขึ้นไว้เรื่องหนึ่งเป็นโครงภายนอก แล้วคนในนิทานนั้นก็จะเล่านิทานซ้อนลงไป และในนิทานซ้อนยังมีนิทานซ้อนกันต่อ ๆ ไปอีก ลางทีตั้งห้าชั้นหกชั้น ประดุจดั่งหีบกลของญี่ปุ่นฉะนั้น

อีกประการหนึ่ง ถ้าเราจะสอบสวนดูให้ดีก็จะเห็นได้ว่าเค้าเรื่องของนิทานอาหรับตรงกับนิทานสุภาษิตภาษาสํสกฤตและบาลในอินเดียเป็นหลายเรื่อง และยังมีอีกหลายเรื่องที่นิทานในพันหนึ่งราตรีของอาหรับมิได้ตรงกับนิทานสํสกฤตใด ๆ แต่ไพล่มาตรงกับนิทานข้างไทยซึ่งได้มาจากมัธยมประเทศ (ทางบาลี?) และมาแต่งขึ้นใหม่เป็นภาษาไทย แต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ทุกวันนี้เรียกกันว่า ปกรณัม เช่น นนทุกปกรณัม…”

จากคำอธิบายของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ก็น่าเชื่อได้ว่าพันหนึ่งราตรีนั้นอาจได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ก่อนจะแพร่หลายไปยังดินแดนรอบข้าง แน่นอนว่า พันหนึ่งราตรีมีการพัฒนามาโดยตลอดช่วงหลายศตวรรษ โดยมีการเพิ่มเนื้อหาตามช่วงเวลาและสถานที่ต่าง ๆ เมื่อถูกเล่าต่อไปยังต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม เรื่องเล่าเหล่านั้นก็ถูกปรับเปลี่ยนเพี้ยนไปจนยากจะสืบหาเรื่องเล่าต้นฉบับได้ และเมื่อมีการแปลในยุคต่อมา ก็ถูกดัดแปลงปรับเปลี่ยนไปอีกเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2491). ลิลิต นิทราชาคริต. พระนคร : ไทยวัฒนาพานิช.

The Editors of Encyclopaedia Britannica. (2021). The Thousand and One Nights. Access 4 February 2021, from www.britannica.com/topic/The-Thousand-and-One-Nights


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2564