เผยแพร่ |
---|
เมื่อมีคนกล่าวถึง “เจ้าหญิงดิสนีย์” หนึ่งในเจ้าหญิงที่ผู้คนจดจำได้มากคนหนึ่งคือ “เจ้าหญิงจัสมิน” จากเรื่อง “Aladdin” เจ้าหญิงสไตล์ “แขก” รูปร่างหน้าตาคล้ายชาวตะวันออกกลาง เล่าเรื่องที่มีฉากหลังในดินแดนทะเลทรายและเมืองอาหรับที่มั่งคั่งรุ่งเรือง แต่แท้จริงแล้ว เรื่องราวตาม “ต้นฉบับ” นั้นเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นที่ประเทศจีน
ที่มาของอะลาดิน
เรื่องราวของอะลาดินถูกเล่าว่ามีฉากหลังเกิดขึ้นในประเทศจีน (คาดว่าน่าจะเป็นจีนด้านตะวันตก) และแอฟริกา (คาดว่าน่าจะเป็นแอฟริกาเหนือ) เป็นเรื่องของอะลาดิน หนุ่มที่อาศัยอยู่ใน “เมืองหลวงแห่งหนึ่งในอาณาจักรที่กว้างใหญ่และมั่งคั่งของจีน” กับเจ้าหญิงที่มีชื่อว่า “Badroulbadour” ในภาษาอาหรับหมายถึง พระจันทร์เต็มดวงของพระจันทร์เต็มดวง (ไม่ได้มีชื่อว่า Jasmine ตามฉบับดิสนีย์ ) ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมก็มองว่า สุลต่านในเรื่องก็สื่อสารหมายถึง “ชาวจีน” นอกจากนี้ในเรื่องราวก็ไม่มีลิงและไม่มีพรมวิเศษแต่อย่างใด
เป็นเรื่องเข้าใจผิดกันอยู่มากว่า อะลาดินเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าใน “Arabian Nights” หรือที่รู้จักกันดีว่า อาหรับราตรี ซึ่งเป็นบันทึกรวมเรื่องเล่าและตำนานของชาวอาหรับ แต่เรื่องอะลาดินนี้ถูกบันทึกเป็นครั้งแรกโดย Antoine Galland ในช่วงศตวรรษที่ 18 เรื่องถูกบันทึกลงในหนังสือ “The One Thousand and One Nights” ฉบับยุโรปอันเป็นหนังสือเล่าเรื่องนิทานปรัมปราของตะวันออกกลาง หนังสือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Arabian Nights”
Antoine Galland อ้างว่าเขาได้ฟังเรื่องเล่าจากนักเดินทางชาวซีเรียนที่พบกันในกรุงปารีสนามว่า Hanna Diyab ขณะที่ Antoine Galland นำเรื่องเล่านี้เพิ่มเติมเข้าไปในหนังสืออาหรับราตรีฉบับที่เขาจัดทำขึ้น นั่นจึงทำให้อะลาดินกลายเป็นที่รู้จัก ก่อนหน้านี้ คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเป็นแค่ข้อกล่าวอ้างของ Antoine Galland จนกระทั่งบันทึกของ Diyab ถูกค้นพบในห้องสมุดวาติกันเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือเป็นการยืนยันเหตุผลที่ Galland กล่าวอ้าง
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้อีกหนึ่งข้อ นั่นคือ โครงเรื่องอันเป็นที่กล่าวขานกันต่อมานั้น มาจากการบอกเล่าของ Diyad มากน้อยแค่ไหน หรือเรื่องนี้ถูกตีความต่อโดย Galland ด้วยหรือไม่
แม้จะมีข้อบ่งชี้ว่าเรื่องราวของอะลาดิน เกิดขึ้นในจีน นักวิเคราะห์วรรณกรรมบางรายเชื่อว่า อลาดิน เป็นชาวจีน บางรายเชื่อว่าข้อมูลเรื่องเชื้อชาติของ “อะลาดิน” ไม่เคยถูกเอ่ยถึงอย่างชัดเจนแบบเห็นพ้องตรงกันทุกฝ่ายมาก่อน แต่ที่แน่ชัดคือไม่ได้เป็นเด็กเชื้อสายอาหรับซึ่งไปที่จีน
ขณะที่ชื่อของเจ้าหญิง หรือตำแหน่งที่เอ่ยถึงในเรื่องซึ่งใช้ว่า “สุลต่าน” ไปจนถึงธรรมเนียมแบบอิสลามนั้นก็ยังดูเหมือนเป็นเจตนาใส่กลิ่นอายแบบตะวันออกกลางไปมากกว่า Wen-chin Ouyang ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน ให้สัมภาษณ์กับคอลัมนิสต์ใน South China Morning Post ว่า บริบทของเรื่องเล่านี้ให้บรรยากาศแบบอิสลามมากกว่า และไม่คิดว่าผู้อ่านจะตีความหรือทำความเข้าใจเรื่องราวและองค์ประกอบเชิงวัฒนธรรมภายในเรื่อง อาทิ ความรับผิดชอบ และพันธสัญญากับคนรักแตกต่างออกไปหากเรื่องราวไปบอกเล่าในภูมิประเทศอื่น การใส่รายละเอียดให้เรื่องเกิดขึ้นในจีนเป็นกลยุทธ์ในการเล่าเท่านั้น
ต้นฉบับของอะลาดิน
สำหรับเรื่องราวอะลาดิน ในต้นฉบับ เขาเป็นคนว่างงาน ไม่ยอมทำการทำงานเพราะขี้เกียจ พ่อของเขามีชื่อว่ามุสตาฟา (Mustapha) เมื่อพ่อตาย เขายังคงไม่ทำงาน ทิ้งให้แม่ทำงานเพียงคนเดียว และออกจากบ้านไปผจญภัยเที่ยวเล่นตามใจทุกวัน จนวันหนึ่งได้พบกับ “ผู้วิเศษชาวแอฟริกัน” ที่อ้างตัวว่าเป็นน้องชาย (หรือพี่ชาย) ที่หายสาบสูญของมุสตาฟา
เวลาผ่านไป ผู้วิเศษชาวแอฟริกันคนนั้นพาอะลาดินเข้าไปในถ้ำ เขามอบแหวนวงหนึ่งให้ไว้เพื่อเป็นสิ่งป้องกันตัวในถ้ำแล้วมอบหมายให้อะลาดินตามหาตะเกียงวิเศษให้เขา เมื่ออะลาดินตามหาตะเกียงพบและกำลังจะมอบให้ผู้วิเศษชาวแอฟริกัน ทว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างทั้งสองจนอะลาดินถูกขังติดอยู่ในถ้ำ ส่วนผู้วิเศษชาวแอฟริกันก็เดินทางกลับแอฟริกา
หลายวันผ่านไป อะลาดินรู้สึกหมดหวังจึงสวดอ้อนวอนต่ออัลเลาะห์ ขณะที่เขากำลังสวดนั้นแหวนถูกกระแทกจนทำให้ “จินนี่” โผล่ออกมา เมื่อนั้นอะลาดินจึงสั่งให้จินนี่พาเขาออกจากถ้ำได้สำเร็จ เมื่อกลับมาถึงบ้านก็พบว่าแม่ของเขาป่วยหนัก ไม่มีเงินสำหรับซื้ออาหาร ทั้งสองจึงตัดสินใจที่จะขายตะเกียงเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย
วันต่อมาแม่ของอะลาดินทำความสะอาดตะเกียง และเมื่อนั้นจินนี่อีกตนหนึ่งที่อยู่ในตะเกียงก็โผล่ออกมา แต่จินนี่ออกมาหลอกหลอนแม่ของอะลาดินจนทำให้เธอหวาดกลัว อะลาดินมาพบจึงต้องรีบนำตะเกียงกลับเข้าไปในห้องและสั่งให้จินนี่บันดาลอาหารมาให้เขา แต่เมื่ออาหารหมด อะลาดินจึงตัดสินใจนำจานใส่อาหารไปขาย และเป็นเวลาเดียวกับที่เขาได้ข่าวว่า เจ้าหญิงกำลังจะไปอาบน้ำในโรงอาบน้ำ
อะลาดินจึงแอบเข้าไปในโรงอาบน้ำ เมื่อได้เห็นหน้าเจ้าหญิงก็ตกหลุมรักอย่างคลั่งไคล้ เขาพยายามสู่ขอเจ้าหญิงจากสุลต่านแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเจ้าหญิงกำลังจะแต่งงานกับชายสูงศักดิ์คนหนึ่งผู้เป็นบุตรชายของราชมนตรี อะลาดินเคืองแค้นมากจึงสั่งให้จินนี่ใช้อำนาจวิเศษให้เขาเข้าไปนอนกับเจ้าหญิงทุกคืน แล้วสลับตัวสามีของเจ้าหญิงไปขังไว้
ผ่านไปคืนแล้วคืนเล่า จนกระทั่งเจ้าหญิงขอร้องให้สุลต่านทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะ สุดท้ายเธอจึงได้แต่งงานอยู่กินกับอะลาดินในพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่สำหรับทั้งสอง
หลายปีผ่านไป ผู้วิเศษชาวแอฟริกันกลับมาที่เมืองและได้ข่าวว่าอะลาดินได้ดิบได้ดี เขาจึงวางอุบายหลอกล่อให้เจ้าหญิงขายตะเกียงวิเศษให้เขาจนสำเร็จ เมื่อนั้นเขาจึงสั่งให้จินนี่ย้ายพระราชวังและเจ้าหญิงไปอยู่กับเขาที่แอฟริกา เวทมนต์ของจินนี่ (แหวน) ไม่สามารถทำลายเวทย์มนต์ของจินนี่ (ตะเกียง) ได้ อะลาดินจึงให้จินนี่ (แหวน) พาเขาไปช่วยเหลือเจ้าหญิง ทั้งสองสังหารผู้วิเศษชาวแอฟริกันได้สำเร็จ พร้อมกับย้ายพระราชวังและกลับมาอาศัยที่จีนตามเดิม
เรื่องเหมือนจะจบลงอย่างสวยงาม แต่ยังมีเรื่องของน้องชาย (หรือพี่ชาย) ของผู้วิเศษชาวแอฟริกันที่ตามมาล้างแค้น เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นแต่สุดท้ายอะลาดินก็สามารถจัดการปัญหาทุกอย่างได้ลงด้วยดี อะลาดินได้กลายเป็นสุลต่านได้รับทรัพย์สมบัติทั้งหมดจากพ่อตา
อะลาดินในเวอร์ชันที่เราคุ้นเคยถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เขียนบท โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง The Thief of Bagdad (1924) และ ภาพยนตร์แอนิเมชันของดิสนีย์เรื่อง Aladdin (1992) ซึ่งทำให้ภาพจำของอะลาดินเปลี่ยนไปจากต้นฉบับอย่างมาก
แอนิเมชันของดิสนีย์ ก็ไม่ได้อ้างอิงกับเวอร์ชันของ Galland แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ The Thief of Bagdad ฉบับรีเมคปี 1940 และเล่าเรื่องในฉากหลังของเมือง Agrabah แห่ง Arabia แทนที่แบกแดด (ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเชื่อว่า ช่วงนั้นสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดแบกแดดในสงครามอ่าวครั้งแรก ดิสนีย์จึงต้องเปลี่ยนบริบทเพื่อเลี่ยงความกระอักกระอ่วน)
เช่นเดียวกับ Aladdin เวอร์ชันปี 2019 ก็คงถูกปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะเวอร์ชันไหน สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็จบอย่าง “Happy Ending”
อ้างอิง:
Is Aladdin really Chinese? How Hollywood invented the tale’s Middle Eastern identity. (2019). Access 22 May 2019, from https://www.scmp.com/culture/books/article/2182653/aladdin-really-chinese-how-hollywood-invented-tales-middle-eastern
Surprising Facts about Aladdin and the Arabian Nights. (2013). Access 22 May 2019, from https://interestingliterature.com/2013/01/30/surprising-facts-about-aladdin/
The Real Story of Aladdin. (2017). Access 22 May 2019, from https://www.chrisdantes.com/the-real-story-of-aladdin/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2562