“วิวาห์ฮินดู” พิธีแต่งงานอินเดียสุดอลังการ ดั่งเทศกาลแห่งปี

วิวาห์ฮินดู แต่งงาน อินเดีย
(ภาพโดย Jayesh Jalodara ใน Unsplash)

ว่ากันว่า พิธีแต่งงาน ใน อินเดีย โดยเฉพาะของชาวฮินดู หรือ “วิวาห์ฮินดู” คือส่วนผสมระหว่างพิธีกรรมทางศาสนาและความเป็นคฤหัสถ์ เพราะมีครบทั้ง “ทางโลก” และ “ทางธรรม” เต็มไปด้วยขั้นตอนหรือพิธีกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งยังมีส่วนการเฉลิมฉลอง รวมแล้วกินเวลาตั้งแต่ 3 วัน ถึงเป็นสัปดาห์ โดยมากจะจัดในช่วงฤดูหนาว หรือเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

ก่อนงานวิวาห์ (Pre-Wedding) หรือก่อนวันแต่งจริง หลังการพูดคุยหารือเกี่ยวกับการแต่งงานของเหล่าพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวแล้ว จะมีพิธีทางศาสนาโดยพราหมณ์กล่าวบทสวดบูชาเทพเจ้า มีการเล่าขานตำนานเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ ในศาสนาฮินดู แทรกคติสอนใจให้ว่าที่บ่าวสาวได้สดับฟัง ขั้นตอนนี้จะจัดแยกกันระหว่างบ้านของทั้งสองฝ่าย

จากนั้น ฝ่ายเจ้าสาวจะนำขนมหวานมาให้ฝ่ายเจ้าบ่าวแล้วแลกแหวนหมั้นกัน ผู้ใหญ่ฝ่ายชาย (พ่อหรือพี่ชาย) ของฝ่ายเจ้าบ่าวจะแต้มฝุ่นผงสีแดงกลางหน้าผากเจ้าบ่าว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าชายผู้นี้กำลังจะเข้าสู่ พิธีแต่งงาน

ลำดับต่อมา เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องอยู่บ้านตนเอง เพื่อให้ญาตินำสมุนไพรและเครื่องประทินผิวทั้งหลาย เช่น ผงไม้จันทน์หอม สมุนไพรนานาชนิด มาขัดถูและบำรุงผิว เพื่อให้ผิวพรรณในวันแต่งงานมีความกระจ่างใส รวมถึงพิธีที่เรียกว่า “ฮัลดี” (Haldi) แปลว่า ขมิ้น คือการทาขมิ้นตามตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายก่อนพิธีแต่งงานจะเริ่มนั่นเอง

ในคืนเดียวกับที่มีการประทินผิวนี้ บ้านของทั้งสองฝ่ายจะมีการจัดงานสังคีตหรือมหรสพที่มีการร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน คล้ายงานปาร์ตี้สละโสด โดยทั่วไปจะจัดขึ้นภายในบ้าน แขกร่วมงานจะเป็นญาติหรือเพื่อนสนิทเท่านั้น ทั้งนี้ เจ้าสาวจะมีขึ้นตอนเพิ่มเติมเข้ามาคือ พิธี “เมเฮนดี” (Mehndi) คือการเพนต์ร่างกายเป็นลวดลายสวยงามบนมือและเท้า เพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับ วันงานวิวาห์ มีลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ดังนี้

1. การสวดมนต์บูชาเทพฮินดูโดยเหล่าพราหมณ์ เริ่มจากบูชาพระคเณศ (Ganesha Puja) เพื่อให้พิธีลุล่วงด้วยดี เจ้าสาวจะนั่งรออยู่ในพิธีในชุดส่าหรีสีแดง ส่วนเจ้าบ่าวจะขี่ม้าเข้ามาในพิธี บรรดาญาติพี่น้องจะเต้นรำไปกับเสียงเพลงตามหลังม้าเจ้าบ่าวเป็นขบวนอย่างเอิกเกริก

2. เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงหน้างาน ผ่านประตูเงินประตูทองของบรรดาญาติเจ้าสาว จะเข้ามาแลกมาลัยคล้องคอระหว่างกัน พิธีนี้เรียกว่า “จายามาลา” (Jayamaala) เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความผูกพันของทั้งคู่ ถัดมา ญาติผู้ใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่าย จะเข้ามาทักทายกัน โดยผู้อาวุโสสูงสุดของทั้งคู่จะแลกพวงมาลัยกับของขวัญ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าสองครอบครัวเป็นทองแผ่นเดียวกันแล้ว

3. พิธีมอบสินสอด หรือ “เกา ดาน” (Gau Daan) ในคติวิวาห์แบบฮินดู ฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นผู้มอบสินสอดให้กับทางบ้านเจ้าบ่าว จากนั้น แม่เจ้าบ่าวจะมอบสร้อยส่วนตัวที่เป็นสมบัติของตระกูลแก่เจ้าสาว เป็นนิมิตหมายว่าได้รับผู้หญิงคนนี้มาเป็นสะใภ้อย่างเป็นทางการ เรียกขั้นตอนนี้ว่า “มังคลา สูตรา” (Mangala Sootra)

4. พราหมณ์ในพิธีจะก่อกองไฟ จากนั้นสวดบูชาไฟ แล้วให้พรพร้อมเทศนาเกี่ยวกับชีวิตคู่หรือการครองเรือนร่วมกันของคู่บ่าวสาว เสร็จแล้วเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวจะจูงมือกันเดินรอบกองไฟประมาณ 7 รอบ พร้อมกล่าวคำสัญญาว่าจะครองคู่กันไปด้วย

5. พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายให้พรลูก ๆ ของตน พราหมณ์ทำการสวดอีกครั้ง พ่อเจ้าสาวจะจับมือเจ้าสาวยื่นให้เจ้าบ่าว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าได้มอบบุตรสาวของตนให้กับเขาอย่างเป็นทางการแล้ว จงดูแลกันให้ดีที่สุด จากนั้นเจ้าบ่าวและเจ้าสาวออกจากปะรำพิธี ก่อนหันมาโปรยข้าวสารและดอกไม้เข้าไปในบ้าน นัยเพื่อความสิริมงคล เป็นอันจบพิธี

นี่คือแก่นหลักของพิธีแต่งงานของชาวฮินดูในอินเดีย แต่รายละเอียดยิบย่อยต่าง ๆ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เพราะอินเดียคือประเทศที่มีภาษามากกว่า 500 ภาษา และวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกมากมาย ส่วนความยิ่งใหญ่อลังการของพิธีวิวาห์นั้นจะแตกต่างกันไปตามความร่ำรวย หรือวรรณะของแต่ละครอบครัว

สมัยหลัง ๆ มานี้ สถานที่จัดพิธีวิวาห์ของคนหนุ่มสาวอินเดียแปรเปลี่ยนจากบ้านมาเป็นโรงแรม ทำให้ธุรกิจโรงแรมในอินเดียพลอยได้รับอานิสงส์จากการ “จัดใหญ่” นี้ด้วย โดยเฉพาะคู่บ่าวสาวที่มีฐานะ ซึ่งมักจัดงานแต่งกัน 3-5 วัน ทั้งต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมากตามจำนวนแขกผู้ร่วมงาน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในฐานะดินแดนที่มีความหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อินเดียยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม มีทั้งความสง่างาม อลังการ และความประณีต ใน “วิวาห์ฮินดู” ของพวกเขา ทั้งหมดเกิดจากแนวคิดว่า เมื่อคู่รักจะเข้าสู่พิธีสมรส ทั้งครอบครัวและชุมชมจะมีส่วนร่วมด้วยเสมอ

งานแต่งงานในอินเดียจึงเป็นดั่งเทศกาลแห่งปีของสองครอบครัว มากกว่าเป็นเพียงเรื่องของคู่บ่าวสาว ไม่ต่างจากพิธีแต่งงานในบ้านเรา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

WeddingReview. พิธีแต่งงานฮินดู การแต่งงานของคนอินเดีย ที่นับถือศาสนาฮินดู. 2 กุมภาพันธ์ 2566. (ออนไลน์)

Manhattan Bride. Traditions | The Indian Wedding. Retrieved March 4, 2024. From https://www.manhattanbride.com/insights/indian/

Jaimie Mackey and Sharbari Bose; brides.com. 14 Hindu Wedding Ceremony Traditions. Retrieved March 4, 2024. From https://www.brides.com/hindu-wedding-ceremony-rituals-traditions-4795869


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2567