“บางเขน” ชื่อนี้มาจากไหน เกี่ยวอะไรกับพระเจ้าอู่ทอง?

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ภาพ: Facebook PRKU - งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“บางเขน” เป็นทั้งชื่อเขตและชื่อคลองในกรุงเทพมหานคร หลายคนเมื่อได้ยินคำว่าบางเขน อาจคิดไปว่ามีความเกี่ยวข้องกับ “นกกางเขน” แต่หากดูที่มาของชื่อแล้ว ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับนกกางเขนเลยสักนิด แต่กลับโยงไปถึง พระเจ้าอู่ทอง ได้อย่างนึกไม่ถึง

หนังสือ “เขตคลองมองเมือง” (สำนักพิมพ์มติชน) เล่าถึงความเป็นมาของชื่อบางเขนไว้ว่า มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า เมื่อครั้ง พระเจ้าอู่ทอง ทรงนำราษฎรอพยพหนีโรคห่า ได้นำทองคำใส่เรือเดินทางมาตามคลอง เมื่อถึงบริเวณหนึ่งที่คลองตื้นเขิน เรือไม่สามารถไปต่อได้ ราษฎรจึงต้องลงมาเข็นเรือ

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการเรียกขานสถานที่นั้นว่า “ทองเข็น” หรือ “คลองเข็น” ก่อนกลายมาเป็น “บางเขน” อย่างในปัจจุบัน

บางเขนเป็นชื่อที่เรียกกันมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏในโคลงกำสรวลสมุทร หรือที่รู้จักกันในชื่อ กำสรวลศรีปราชญ์ เล่าการเดินทางโดยเรือจากกรุงศรีอยุธยาผ่านบางเขนไปนครศรีธรรมราช ดังความตอนหนึ่งว่า

“มาทุ่งทุเรศพี้   บางเขน
เขนข่าวอกนมเฉลา   พี่ตั้ง
ปืนกามกระเวนหัว   ใจพี่ พระเอย
ฤาบ่ให้แก้วกั้ง   พี่คง คืนคง ฯ”

ในแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ พ.ศ. 2444 พบแนวคลองบางเขนที่เชื่อมจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งขวา ขึ้นไปทางเหนือตัดกับคลองวังหิน เมื่อ พ.ศ. 2472 ปากคลองบางเขน ตำบลตลาดแก้ว เป็นชุมทางการค้าขายทางน้ำที่คึกคัก แม่ค้าพ่อค้านำผลไม้จากสวนในคลองต่างๆ จากทางแถบจังหวัดนนทบุรีมาจำหน่าย เนื่องจากคลองบางเขนนี้ตัดกับคลองเปรมประชากรที่สี่แยกอำเภอบางเขน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท้องนา มีคลองซอยเล็กๆ จำนวนมากที่ผันน้ำเข้าสู่ท้องนา คลองบางเขนจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำสวนและทำนา

หนังสือ “เขตคลองมองเมือง บอกอีกว่า ปัจจุบัน คลองบางเขนเริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงถนนประชาชื่น มีความยาว 6,245 เมตร อยู่ในพื้นที่เขนบางซื่อ และจากถนนประชาชื่นไปถึงคลองลาดพร้าว ยาว 4,776 เมตร อยู่ในพื้นที่เขตจตุจักร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช. เขตคลองมองเมือง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2567