เปาบุ้นจิ้น เทพแห่งความยุติธรรมที่คนไทยรู้จัก เพราะละครทีวีเป็นสำคัญ?

เปาบุ้นจิ้น
เปาบุ้นจิ้น ละครทีวีเวอร์ชั่นที่เป็นที่จดจำอย่างมาก (ภาพจาก เพจ TVB Thailand)

เปาบุ้นจิ้น (พ.ศ. 1542-1605) เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ เขาเป็นขุนนางสมัยราชวงศ์ซ่ง แม้เปาบุ้นจิ้นจะเสียชีวิตมาเกือบพันปี แต่ด้วยชื่อเสียงคุณธรรม ผลงานในการตัดสินคดีความ ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งความยุติธรรม”

นอกจากชื่อของเปาบุ้นจิ้นแล้ว “เครื่องประหาร” ที่เป็นมีดเล่มใหญ่สำหรับตัดศีรษะผู้กระทำผิดของท่านเปาก็เป็นที่กล่าวถึงเช่นกัน และรู้จักอย่างกว้างขวางว่ามีการจำแนกการใช้งาน กล่าวคือ เครื่องประหารหัวมังกร สำหรับเจ้านายทั้งหลายและพระประยูรญาติ, เครื่องประหารหัวเสือ สำหรับขุนนางและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง, เครื่องประหารหัวสุนัข สำหรับประชาชนทั่วไป

ส่วนคดีความที่เปาบุ้นจิ้นตัดสินใจก็มีหลายคดีที่เป็นที่ “กล่าวขวัญ” ที่สะท้อนถึง ความเที่ยงธรรมของเปาบุ้นจิ้น ที่ยึดหลักการที่ว่า “ฮ่องเต้ทำผิด มีโทษเช่นสามัญชน” ดังจะเห็นได้จาก “คดีประหารราชบุตรเขย” และ “คดีประหารผังอี้” ซึ่งทั้งสองเป็นพระประยูรญาติ

คดีประหารราชบุตรเขย เฉินซื่อเหม่ย บัณฑิตยากจน ที่มีภรรยาเสียสละ ยอมทำงานหนักเลี้ยงดูพ่อแม่สามีและลูก เพื่อให้เขาเดินทางไปสอบจอหงวนที่เมืองหลวง เฉินซื่อเหมยไม่เพียงสอบได้ ฮ่องเต้ยังพระราชทานน้องสาวให้เป็นภรรยา แต่งตั้งเป็น “ราชบุตรเขย”

ขณะที่พ่อแม่เขาที่บ้านนอกเสียชีวิตจากความแร้นแค้น ภรรยาของเฉินซื่อเหม่ยพาลูกมาหาสามี แต่เขากลับปฏิเสธเพราะกลัวความผิดปิดบังเรื่องมีครอบครัว ซ้ำยังส่งคนมาลอบสังหารภรรยา ใส่ร้ายว่านางมีชู้สังหารคนตาย เรื่องถึงศาลไคฟง เปาบุ้นจิ้นตัดสินลงโทษประหารชีวิตต่อหน้าน้องสาวและมารดาของฮ่องเต้ ด้วยเครื่องประหารหัวมังกร

คดีประหารผังอี้ ผังอี้เป็นบุตรของราชครูใหญ่ในราชสำนัก และน้องชายพระสนมคนโปรด ผังอี้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนราชสำนักไปแจกเสบียงดูแลผู้ประสบภัยแห้งแล้งอดยาก กลับเอาเงินไปเสพสุขส่วนตัว, ฉุดคร่าผู้หญิงชาวบ้าน, ใช้แรงงานเยี่ยงทาส, สังหารคนที่ไม่เชื่อฟัง ฯลฯ สุดท้ายเรื่องถึงมือเปาบุ้นจิ้นและถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องประหารหัวมังกร

เปาบุ้นจิ้น ไม่เพียงตัดสินคดีโดยไม่เกรงกลัว “อำนาจ” หากยังไม่เห็นแก่ “ความสัมพันธ์”

ดังตัวอย่างในคดีดัง คดีประหารเปาเหมี่ยน เปาเหมี่ยนเป็นหลานชายของเปาบุ้นจิ้น แม่เปาเหมี่ยนคือ พี่สะใภ้ใหญ่ที่เปาบุ้นจิ้นเรียกอย่างนับถือว่า “แม่ซ้อ” ด้วยเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็กคู่มากับเปาเหมี่ยน ภายหลังเปาเหมี่ยนรับราชการ แต่กลับอาศัยอำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว รับสินฉ้อราษฎร์บังหลวง หูเบาเชื่อที่ปรึกษาสร้างความเสียหายแก่ราชการ ฯลฯ ทั้งมีหลักฐานแน่นหนา เปาบุ้นจิ้นยึดหลักกฎหมายจึงต้องลงโทษประหารเปาเหมี่ยน ด้วยเครื่องประหารหัวเสือ

แต่ที่เด็ดสุดก็คือ แม้แต่ “วิญญาณ” ก็ยังมาร้องเรียนท่านเปา

ดังเช่น คดีอ่างผีสิง เรื่องราวของพ่อค้าคนหนึ่งที่ถูกช่างทำเครื่องปั้นดินเผาฆ่าชิงทรัพย์ระหว่างเดินทางกลับบ้าน จากนั้นเผาศพทำลายหลักฐานเอามาผสมดินปั้นเป็นอ่างดำใบหนึ่ง วิญญาณพ่อค้าต้องการร้องเรียนให้แก่ตนเอง จึงหาทางมาร้องเรียนเปาบุ้นจิ้น สุดท้ายช่างทำเครื่องปั้นดินเผาก็ถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยเครื่องประหารหัวสุนัข

เรื่องราวของเปาบุ้นจิ้นเป็นที่รู้จักของคนไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการแปลเรื่องราวของเปาบุ้นจิ้นเป็นภาษาไทยใน พ.ศ. 2441 โดยนายหยองกรมทหารปืนใหญ่ ก่อนแพร่หลายมากขึ้นในเวลาต่อมาในรูปแบบของวรรณกรรม, งิ้ว, ภาพยนตร์ และละครทีวี

แต่เกียรติภูมิ ความเที่ยงธรรมของ “เปาบุ้นจิ้น” ในใจคนไทย คงต้องยกเครดิตให้ละครทีวี

ละครทีวีเรื่องเปาบุ้นจิ้นที่ออกอากาศในไทย ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2517 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มีจำนวนทั้งสิ้น 350 ตอน โดยบริษัท จงหัวเตี้ยนซื่อ แห่งไต้หวัน ต่อมาผู้ผลิตรายเดิมจัดทำเปาบุ้นจิ้นใหม่ โดยลดจำนวนตอนเหลือเพียง 236 ตอน ออกอากาศทางสถานีเดิมใน พ.ศ. 2538 และออกอากาศซ้ำอีก 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2549,  พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2558

หลายตอนที่เป็นการตัดสินประหารเจ้านายผู้มีอำนาจ, ข้าราชสำนักผู้ทรงอิทธิพล, นักเลงท้องถิ่น ฯลฯ ฉากที่ท่านเปาตัดสินโยนป้ายคำสั่งประหาร และพูดว่า “เปิดมีด” แม้จะเป็นเพียงละครทีวี แต่ก็ช่วยเยียวยาผู้ชมให้มีความหวังว่า “ความยุติธรรมมีจริง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

กาญจนาคพันธ์ (ขุนวิจิตรมาตรา). เปาบุ้นจิ้นชุดสี่ ชีวิตเปาบุ้นจิ้น, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, พิมพ์ครั้งที่ 3 กันยายน 2550.

วรรณา แต้มทอง. “การลงทัณฑ์ของ “เทพเจ้าแห่งความยุติธรรม” ใน, เอกสารการประชุมวิชาการสาขานิติศาสตร์ ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ระบบกฎหมายไทย : ปฏิรูป / เปลี่ยนผ่าน/ ปฏิสังขรณ์” วันที่ 8 มิถุนายน 2561  โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2567