เปาบุ้นจิ้น ปฏิเสธจานฝนหมึกเมืองตวนโจวจากชาวบ้าน ของตัวเองที่ใช้ก็โยนลงน้ำ

เปาบุ้นจิ้น

เปาบุ้นจิ้น (ค.ศ. 999 – ค.ศ. 1062) ขุนนางจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง ผู้มีชื่อเรื่องความยุติธรรมเที่ยงตรง ก่อนจะมาประจำการที่ศาลไคฟง ในเมืองหลวงนั้น ช่วงหนึ่งเปาบุ้นจิ้นเคยเป็นนายอำเภอเมืองตวนโจว (ปัจจุบันคือเมืองจ้าวชิ่ง มณฑลกวางตุ้ง) อยู่ประมาณ 3 ปี เมืองตวนโจวนี้มีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงคือ “จานฝนหมึก”

ในสังคมจีนที่นิยมการจดบันทึกข้อมูลต่างๆ “จานฝนหมึก” ถือเป็นหนึ่งใน “สี่สิ่งล้ำค่าในห้องหนังสือ” ได้แก่ หมึก, พู่กัน, กระดาษ และจานฝนหมึก สำหรับจานฝนหมึกของจีนที่มีชื่อเสียงมี 4 ประเภท ได้แก่ จานฝนหมึกตวนเอี้ยน, จานฝนหมึกเซ่อเอี้ยน, จานฝนหมึกเถอเหอเอี้ยน และจานฝนหมึกเฉิงหนีเอี้ยน โดยจานฝนหมึกตวนเอี้ยน จากเมืองตวนโจว มีชื่อเสียงที่สุด

จานฝนหมึกของเมืองตวนโจว ทำจากหินตวนสือ นอกจากความสวยงามแล้ว ยังฝนหมึกได้เร็วได้ง่าย น้ำหมึกที่ฝนได้แห้งเป็นเกล็ดช้า ใช้เขียนหนังสือได้ดี จานฝนหมึกเมืองตวนโจวจึงมีชื่อเสียงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง แม้แต่ห้องทรงพระอักษรของจักรพรรดิก็ยังมีจานฝนหมึกของเมืองตวนโจว

จานฝนหมึกเมืองตวนโจวจึงเป็นสินค้า “OTOP” ห้าดาวที่ใครๆ ก็อยากได้ ก่อนเปาบุ้นจิ้นจะมาเป็นนายอำเภอเมืองตวนโจว นายอำเภอคนก่อนๆ มักจะขอจานฝนหมึกจากชาวบ้าน ไปติดสินบนข้าราชสำนักชั้นผู้ใหญ่เป็นประจำ

เปาบุ้นจิ้นมาเป็นนายอำเภอเมืองตวนโจวเมื่อถึงคราวต้องโยกย้ายไปที่อื่น ชาวบ้านนำจานฝนหมึกมาให้เป็นของขวัญที่ระลึกจำนวนมาก เปาบุ้นจิ้นไม่ได้รับไว้แม้แต่อันเดียว จานฝนหมึกที่ใช้ประจำก็ทิ้งลงแม่น้ำ ไม่พกพาจานฝนหมึกตวนโจวติดตัวมาเลย เพื่อตัดขาดกับธรรมเนียมของกำนัลให้ข้าราชการ ทั้งที่เขาเองก็เป็นผู้ชื่นชอบศิลปะการใช้พู่กันจีน

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “เปาบุ้นจิ้น” ขุนนางผดุงความยุติธรรม มีตัวตนจริงไหม ทำไมเรียก “สินบนเข้าไม่ถึงยมราชเปา”


ข้อมูลจาก

สำนักงานกิจการชาวจีนโพ้นทะเลในคณะรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศจีน. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม 2550


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2564