“สหพัฒน์” บริษัทมหาชนที่ถือกำเนิดจากร้านค้าเบ็ดเตล็ด ขายไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

สหพัฒน์ เทียม โชควัฒฯา
ขวา-เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งสหพัฒน์ ออกเยี่ยมร้านค้าในต่างจังหวัด (ภาพจาก อนุสรณ์ในงานพระราชทานดินฝังศพ นายเทียม โชควัฒนา)

“สหพัฒน์” หรือ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ถือกำเนิดจากร้าน “เฮียบเซ่งเชียง” ร้านค้าเล็กๆ ที่จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด ซึ่งเป็นกิจการของ “ลี้เฮงเทียม” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “เทียม โชควัฒนา”

เทียม โชควัฒนา (พ.ศ. 2459-2534) บิดาเป็นชาวจีนโพ้นทะเลจากอำเภอโผวเล้ง เมืองแต้จิ๋ว ประเทศจีน มารดาเป็นลูกจีนที่เกิดในเมืองไทย เทียมเกิดในชุมชนจีนย่าน “สำเพ็ง” ในวัยเด็กเข้าเรียนที่โรงเรียนเผยอิง ถนนทรงวาด ปี 2474 เกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การค้าซบเซา บิดาของเขาซึ่งเป็นเป็นเสมียนร้านโพยก๊วนที่รับส่งเงินไปประเทศจีน จึงลาออกมาเปิดกิจการร้านขายของชำของตนเองชื่อ “ร้านเปียวฮะ” 

ร้านเปียวฮะ ขายของชำทั้งค้าปลีกและค้าส่ง จำหน่ายสินค้าประเภท นม, น้ำตาล, แป้งสาลี, น้ำมัน ฯลฯ ซึ่งสมัยนั้นยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยร้านเปียวฮะจะสั่งสินค้าจากบริษัทต่างชาติ เช่น บอร์เนียว, มิตซุย, แองโกล-ไทย ฯลฯ หรือไม่ก็ต้องติดต่อกับร้านค้าแถวทรงวาดที่สั่งสินค้าจากสิงคโปร์, ฮ่องกง, มาเก๊า เข้ามาจำหน่ายในไทย

ส่วนแรงงานของร้านในระยะเริ่มต้น ก็คนในครอบครัวที่มาร่วมแรงกัน รวมถึงเทียม ที่ลาออกจากโรงเรียนมาช่วยงานบิดา รับเงินเดือน 6 บาท ทำหน้าที่รับใช้ทั่วไปในร้าน จนกระทั่งได้ 22 บาท ตามเงื่อนไขของบิดาที่ประกาศว่า “หากใคร [ลูกๆ หลานๆ ในร้าน] สามารถแบกกระสอบน้ำตาลหนัก 100 กิโลกรัมได้ ฉันถือว่าจบปริญญาและจะขึ้นเงินเป็น 22 บาท ทันที…” และเทียมก็เป็นเพียงคนเดียวที่ผ่านบททดสอบนี้

การทำงานที่ร้านเปียวฮะ ทำให้เทียมได้ติดต่อพูดคุยกับลูกค้ามากหน้าหลายตาที่เข้ามาติดต่อที่ร้านแต่ละวัน จากเด็กนักเรียนไม่ประสา ก็เริ่มซึมซับความรู้ในการทำการค้า จนวันหนึ่งเทียมก็เสนอกับเถ้าแก่ของร้านหรือบิดาของตนเองว่า “ทำไมเราต้องรอให้ลูกค้ามาหาเรา”

การคอยให้ลูกค้ามาซื้อของที่ร้าน ทำให้จำหน่ายสินค้าได้จำกัด เหตุใดจึงไม่ลองเป็นฝ่ายออกไปหาลูกค้าเองบ้าง แต่ไม่ได้มีใครเห็นด้วย ยกเว้นพี่ชายที่เป็นหลงจู๊ของร้าน (ผู้จัดการร้าน) เทียมจึงเริ่มปั่นจักรยานออกไปเปิดออเดอร์รับสินค้า แบบ “เซลส์แมน” ในปัจจุบัน ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ เพราะทำให้ยอดขายของร้านเปียวฮะเพิ่มขึ้น

ช่วงเวลา 10 ปีในร้านค้าของบิดา ที่เขาทำงานวันละ 12 ชั่วโมงติดต่อกันในช่วง 5 ปีหลัง ก็ถึงเวลา “บิน”

ประมาณปี 2485 เทียมแยกตัวออกมาเปิดกิจการของตัวเอง ในชื่อ “เฮียบเซ่งเชียง” ที่มีความหมายว่า “ความเจริญก้าวหน้า” เปิดเป็นร้านค้าเบ็ดเตล็ดทุกชนิด ตั้งแต่ เสื้อผ้า, ยารักษาโรค, เครื่องกระป๋อง (อาหาร, ผลไม้ ฯลฯ บรรจุกระป๋อง) แต่ขณะนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สินค้าต่างๆ หายาก เทียมจึงต้องออกไปติดต่อหาซื้อสินค้า หรือทำหน้าที่เป็นนายหน้ากลายๆ ไปในตัว ทำให้มีพื้นฐานในการหาและขายสินค้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กระติกน้ำ, ถ่านไฟฉาย, ยากันยุง, หีบเพลง ฯลฯ

การต้องดิ้นรนติดต่อกับต่างประเทศเพื่อสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่าย คือปัจจัยทำให้เกิดบริษัทลูกของเฮียบเซ่งเชียงในยุคแรกๆ เช่น ปี 2489 ตั้งบริษัท ฮิบเฮงฮง ขึ้นเพื่อติดต่อค้าขายกับฮ่องกง, ปี 2492 ร่วมทุนกับผู้อื่นตั้งบริษัท เกียงแซ เพื่อขายสินค้าพื้นเมืองและผลิตผลการเกษตร, ปี 2495 ตั้งบริษัท เคียวโกะ เพื่อทำการติดต่อค้าขายกับประเทศญี่ปุ่น การร่วมมือนี้นับเป็นมุมมองที่เปิดกว้างของนายห้างเทียม เพราะในยุคนั้นพ่อค้าจีนจำนวนหนึ่งปฏิเสธที่จะทำการค้ากับญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ในปี 2495 ยังเปลี่ยนชื่อ “เฮียบเซ่งเชียง” เป็น “บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด” หรือ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน สินค้าที่จำหน่ายในระยะแรกก็มีมากมายหลายชนิด ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ เครื่องเคลือบ, เครื่องเหล็ก, เครื่องสำอาง, เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ เรียกว่าอะไรที่มนุษย์ต้องกินต้องใช้ เวลานั้นสหพัฒน์ขายทุกอย่าง

ปี 2501 สหพัฒน์ ติดต่อกับ บริษัท ไลอ้อน ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสั่งแชมพูผงและยาสีฟันแบรนด์ไลอ้อนเข้ามาจำหน่าย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ในปีต่อมา สหพัฒน์ ต้องสั่งเครื่องจักรเข้ามาทำการบรรจุแชมพูเอง เพื่อให้มีสินค้าทันกับความต้องการของตลาด ก่อนที่จะมีการร่วมทุนกันก่อตั้ง บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2510

ปี 2504 สหพัฒน์เปิดบริษัทจำหน่ายเครื่องสำอางแมคแฟคเตอร์ และสร้างประวัติการขาย ด้วยการมี “ผู้แนะนำสินค้า” หรือ BA (Beauty Advisor) ประจำเคาน์เตอร์ ทำหน้าที่แนะนำสินค้า และให้คำปรึกษาด้านความงามแก่ลูกค้า 

ปี 2515 สหพัฒน์ตั้งบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด เพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้เครื่องหมายการค้า “มาม่า” ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท เพรซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ของไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิต และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ซึ่งรับผิดชอบในด้านการตลาดและการจำหน่ายสินค้า

ปี 2519 สหพัฒน์ ที่เคยจำหน่ายผงซักฟอกท้อป (ปี 2503), ผงซักฟอกช้างเผือก (ปี 2505) เริ่มจำหน่ายผงซักฟอกแบรนด์น้องใหม่ ซึ่งใช้ชื่อขุนนางจีนที่ซื่อสัตย์อย่าง “เปาบุ้นจิ้น” มาเป็นชื่อแบรนด์ เอารูปนักแสดงที่รับบทเปาบุ้นจิ้น-ซีรีย์ยาวทางทีวีที่กำลังเป็นที่นิยมเวลานั้นมาเป็นโลโก้สินค้า ภายใต้สโลแกนว่า “คุณภาพซื่อสัตย์ ราคายุติธรรม” เพื่อหวังตีผู้นำตลาดเวลานั้นที่เป็นสินค้าแบรนด์ตะวันตก และรีแบรนด์ให้ร่วมสมัยเป็น “ผงซักฟอกเปา” ในปี 2530

ปี 2537 จดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

อนุสรณ์ในงานพระราชทานดินฝังศพ นายเทียม โชควัฒนา วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ณ สุสานมังกรทอง จังหวัดชลบุรี 2534.

https://www.sahapat.co.th

https://www.mama.co.th


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2567