ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ครุย” เสื้อครุย หรือชุดครุย ที่เราคุ้นเคยกันว่าเป็นยูนิฟอร์มสำหรับร่วมพิธีสำเร็จการศึกษาในระดับต่าง ๆ คือมรดกทางวัฒนธรรมและอิทธิพลทางภาษาจากดินแดน “เปอร์เซีย” หรืออิหร่านในปัจจุบัน
เรื่องนี้ ศ. ดร. กุสุมา รักษมณี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือ กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม (มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา) ซึ่งได้รางวัลดีเด่น หนังสือสารคดีด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และชีวประวัติ จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.)
อาจารย์กุสุมาชี้ให้เห็นว่า ธรรมเนียมการสวมใส่ ครุย หรืออาภรณ์ที่สื่อถึงการให้เกียรติ พบได้ในวัฒนธรรมเปอร์เซียมาเนิ่นนานแล้ว ก่อนราชสำนักอยุธยาจะรับมาใช้ทั้งรูปแบบของเสื้อและคำเรียก
ราชสำนักเปอร์เซียมีธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองรัฐจะประทานเสื้อคลุมที่เรียกว่า “เสื้อเกียรติยศ” (robe of honour) แก่ทูตต่างเมือง นักปราชญ์ หรือขุนนาง ฯลฯ เพื่อแสดงบารมีหรือรสนิยมสูงส่งของผู้มอบ รวมถึงแสดงออกถึงสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้มอบกับผู้รับ
หลักฐานสำคัญของธรรมเนียมนี้คือ ภาพวาดประกอบคำบรรยายเมื่อ ค.ศ. 1000 เป็นพระเจ้ามะห์มูดผู้ปกครองรัฐอิสระทางตะวันออกของเปอร์เซีย ได้รับเสื้อเกียรติยศจากกาหลิบการดิร แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ประมุขของประชาชาชาติมุสลิมในขณะนั้น
โดยภาพวาดเป็นงานสีน้ำขนาดเล็กลงสีทองและเงิน อยู่ในหนังสือ ปูมจดหมายเหตุ (Jāmi’ al-tawārīkn) ของราชีด อัด ดีน (Rashīd-ad Dīn) นักประวัติศาสตร์เปอร์เซียสมัยราชวงศ์อิลข่าน
ในภาพ พระเจ้ามะห์มูดซึ่งประทับอยู่ท่ามกลางข้าราชบริพารกำลังสวมเสื้อเกียรติยศซึ่งเป็นเสื้อคลุมตัวยาว แขนยาว เปิดด้านหน้า เป็นผ้าปักทองประดับแถบสีแดงตามขอบเสื้อและต้นแขนปลายแขน
การประทานเสื้อเกียรติยศจะจัดเป็นพิธีอย่างเป็นทางการในราชสำนักหรือกลางชุมชน บางครั้งมีเครื่องยศอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น ผ้าโพกศีรษะ ผ้าคาดเอว กางเกง รองเท้า อาวุธประดับตกแต่งม้า ฯลฯ คือเป็นเครื่องยศที่ครอบคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า บางครั้งจึงเรียกชุดนี้ว่า “หัวถึงเท้า” (sar-u pā)
ในวัฒนธรรมเปอร์เซีย การประทานเสื้อเกียรติยศมีนัยแสดงความพึงพอใจและมิตรไมตรีของเจ้าผู้ปกครองต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง ธรรมเนียมนี้เฟื่องฟูในราชสำนักเปอร์เซียของราชวงศ์ศะฟะวีย์และกาญารมีในช่วงศตวรรษที่ 17-18 กระทั่งปลายศตวรรษที่ 19 ก็เสื่อมความนิยมลง และยกเลิกประเพณีนี้อย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลอิหร่านเมื่อ ค.ศ. 1928
คำเรียกเสื้อเกียรติยศในภาษาเปอร์เซียคือ คิลอะห์ (khil’at) เป็นคำที่รับมาจากภาษาอาหรับอีกที มีความหมายตรงตัวว่า “การเปลื้องเสื้อที่สวมอยู่ให้ผู้อื่น” คือประทานแก่ผู้ที่กษัตริย์โปรดปราน โดยอาจมอบฉลองพระองค์ที่ทรงสวมใส่อยู่ หรือจากคลังพระภูษาของกษัตริย์ก็ได้
ดูเหมือนราชสำนักอยุธยาในศตวรรษที่ 17 จะรู้จักธรรมเนียมดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะในบันทึกการเดินทางของคณะทูตเปอร์เซียจากราชสำนักกษัตริย์สุลัยมานแห่งราชวงศ์ศะฟะวีย์ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชทานเสื้อเกียรติยศ ผ้าโพกศีรษะ และผ้าคาดเอว แก่คณะราชทูตเปอร์เซีย โดยระบุว่า “เป็นเครื่องแต่งกายเกียรติยศตามข้อปฏิบัติของชาวอิหร่าน”
และบันทึกพระราชนิยมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า “ทรงเริ่มสวมเสื้อผ้าแบบอิหร่าน คือ ‘เสื้อคลุมตัวยาว’ มีลวดลายปัก สนับเพลา เสื้อ รองพระบาท และถุงพระบาท”
“เสื้อคลุมตัวยาว” หรือฉลองพระองค์จากคำบรรยายตรงกับลักษณะของครุย และมีลักษณะเดียวกันกับ คิลอะห์ จึงเป็นไปได้ว่า คิลอะห์เป็นที่มาของคำว่า “ครุย” ในภาษาไทย
ตรงกับที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยาม “ครุย” ว่า “ชื่อเสื้อจำพวกหนึ่งใช้สวมหรือคลุม มีหลายชนิด ใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศหรือแสดงหน้าที่ในพิธีการหรือแสดงวิทยฐานะ”
พระปฏิเวทย์วิศิษฏ์ มีความเห็นว่า เสื้อครุยเริ่มใช้ในสยามอย่างช้าไม่ต่ำกว่าแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังปรากฏในจดหมายเหตุออกพระวิสุทสุนทร เมื่อคณะราชทูตเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ราชทูตอยุธยาแต่งตัวเต็มยศตามธรรมเนียมไทย คือสวมเสื้อเยียรบับมีกลีบทองและดอกไม้ทอง และสวมเสื้อครุย
ในสมัย รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังมีพระราชกำหนดเสื้อครุย พ.ศ. 2454 โดยพระองค์มีพระราชปรารภตอนหนึ่งว่า “เสื้อครุยเป็นเครื่องแต่งตัวในงานเต็มยศใหญ่แต่โบราณมา…การที่ใช้เสื้อครุยนั้นสมควรจะมีพระราชกำหนดไว้ให้เป็นระเบียบเสียด้วย”
สำหรับครุยที่สวมใส่เนื่องในโอกาสเกี่ยวกับวิทยฐานะในสังคมไทย เกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2440 เรียกว่าเสื้อเนติบัณฑิต ทำด้วยผ้าแพรหรือผ้าเสิร์จสีดำเรียบแบบอังกฤษ กระทั่ง พ.ศ. 2457 รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานครุยเนติบัณฑิตอย่างไทยเป็นเสื้อครุยเสนามาตย์ คือเป็นผ้าโปร่งสีขาว ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาเป็นผ้าแพรหรือผ้าเสิร์จสีดำอีกครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2479) และใช้มาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ยึดรูปแบบของครุยตามพระราชกำหนด ที่ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2473) คือเป็นครุยผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดติดขอบรอบและต้นแขนปลายแขน
อ่านเพิ่มเติม :
- “ผ้าขาวม้า” คำยืมใช้จาก “เปอร์เซีย” คนไทยใช้ “ผ้าเคียนพุง”
- “กุหลาบ” คำยืมจากภาษาเปอร์เซีย ที่ดั้งเดิมไม่ได้แปลว่า “กุหลาบ” (?)
- ราชทูตกษัตริย์สุลัยมานบันทึกว่า ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ช่วย พระนารายณ์ ยึดบัลลังก์อยุธยา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เก็บความจากตอนหนึ่งของหนังสือ ‘กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม’ เขียนโดยกุสามา รักษมณี (มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2566)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567