พระเจ้าล้านตื้อ หนึ่งในพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ที่สุด ที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง ที่รอการค้นพบ

พระเจ้าล้านตื้อ ฉากหลังเป็น เมืองเชียงแสน เชียงแสน และ แม่น้ำโขง
(รูปเล็ก) พระรัศมีสำริดกว้าง 55 ซม. สูง 70 ซม. งมได้จากแม่น้ำโขง สันนิษฐานว่าเป็นของพระเจ้าล้านตื้อ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน (รูปใหญ่) สภาพเมืองเชียงแสน ถ่ายจากพระบรมธาตุนิมิตเจดีย์ วัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน แม่น้ำในรูปคือแม่น้ำโขง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2545)

ประมาณปี 2541 นายสกุล ศรีพรหม สส. นครราชสีมา พรรคชาติไทย ยื่นบัญญัติเรื่อง “ให้กู้พระพุทธรูปจมอยู่ในลำน้ำโขงหน้าเมืองเชียงแสน” บริเวณ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ต่อคณะกรรมาธิการศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งพระพุทธรูปนั้น สันนิษฐานว่าจะเป็น “พระเจ้าล้านตื้อ” 

สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มอบหมายให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเสนอต่อคณะกรรมาธิการ มีการสอบถามชาวเชียงแสนที่มีอายุระหว่าง 41-94 ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ 25-65 ปี ต่างเชื่อว่ามีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่เรียกกันว่า “พระเจ้าล้านตื้อ” จมอยู่ในลำน้ำโขงจริง ตามที่ตนเอง หรือบรรพบุรุษ เคยพบเห็น, เคยเล่าให้ฟัง แต่พระพุทธรูปนี้จมลงในแม่น้ำโขงตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครทราบ

ส่วนจุดที่พระเจ้าล้านตื้อจมนั้น คาดว่าเป็นบริเวณลำน้ำโขงนับตั้งแต่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสน จนถึงหน้าสถานีตำรวจน้ำอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งปัจจุบันยังปรากฏซากโบราณสถานหลงเหลืออยู่ให้เห็นบางแห่งตามริมฝั่ง

โดยระหว่าง พ.ศ. 2446-2528 ยังปรากฏร่องรอยของพื้นที่ที่เรียกว่า “เกาะดอนแท่น” เกาะที่ตั้งอยู่ระหว่างชายแดนไทยลาว ใกล้กับฝั่งไทย แม้เกาะดอนแท่นจะมีขนาดไม่ใหญ่ มีส่วนที่กว้างสุดเพียง 40 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร แต่มีกล่าวอ้างถึงในประชุมพงศาวดารและตำนาน

เกาะนี้ ชาวบ้านเรียกอีกชื่อว่า “เกาะดอนแห้ง” มากว่า 170 ปี เพราะเห็นว่าเป็นเกาะที่แห้งแล้งไม่มีอะไร ส่วนที่ชาวบ้านกล่าวว่าเกาะดอนแท่นอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น ในแผนที่เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขงที่เขียนตามสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศสเรียกว่า “หาดเกาะหลวง” มิใช่เกาะดอนแท่น

เรื่องของ “เกาะดอนแท่น” มีกล่าวไว้ในหนังสือหลายเล่ม เช่น

ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน กล่าวถึงความสำคัญของเกาะดอนแท่นที่เมืองเชียงแสน ซึ่งพระมหาเถรเจ้าหรือเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนมักจะมากระทำพิธีทางพุทธศาสนา เช่น พระมหาเถรเจ้าศิริวังโสได้นำพระพุทธรูปมา 2 องค์ จึงได้สร้างวัดพระแก้ว และวัดพระคำ บนเกาะดอนแท่น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป

พงศาวดารโยนก เรียกเกาะดอนแท่นว่า เกาะดอนแท่น หรือเกาะบันลังตระการ กล่าวถึงความสำคัญของเกาะนี้ว่า เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาในการทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธสิหิงค์และบวชกุลบุตร

ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงที่ตั้งของเกาะดอนแท่นว่า มีพระราชวังซึ่งพญาแสนภูทรงสร้างอยู่ทางทิศเหนือของเกาะ ซึ่งปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือบริเวณสถานีตำรวจภูธร อำเภอเชียงแสน ที่ทำการอำเภอเชียงแสน

ส่วนการดำเนินการค้นหา “พระเจ้าล้านตื้อ” พอสรุปได้ดังนี้

ประมาณ พ.ศ. 2479 การค้นพบพระพุทธรูปกลางลำน้ำโขงเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อพรานหาปลาออกไปทอดแหบริเวณกลางแม่น้ำโขง ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสน ได้เห็นเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมากลางน้ำ เศียรพระนั้นไม่มีพระรัศมีบนพระเกตุมาลา และแค่พระเศียรเพียงถึงแค่พระหนุ (คาง)

อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบพระรัศมีสำริดขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งจากลำน้ำโขงหน้าเมืองเชียงแสน และนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดร้าง บริเวณหลังตลาด (ปัจจุบันคือวัดคว้าง) ต่อมานำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดปงสนุกในอำเภอเชียงแสน และวัดมุงเมืองในอำเภอเมืองตามลำดับ เมื่อมีตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน (พ.ศ. 2500) จึงนำพระรัศมีดังกล่าวกลับมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2488-2490 พรานล่าปลากลุ่มอื่นๆ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า พบเสาวิหารขนาดใหญ่จำนวน 2-3 ต้นล้มทับกัน จมอยู่ในแม่น้ำโขงลึกประมาณ 4 เมตร บริเวณสามแยกหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอเชียงแสน

พ.ศ. 2489-2490 พรานหาปลาอีกพวกไปทอดอวนหาปลาบริเวณเกาะกลางหน้าเมืองเชียงแสน แต่อวนไปติดสิ่งของใต้น้ำ จึงดำลงไปปลดออก ก็พบว่าอวนได้ไปติดปลายพระกรรณของพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่ โดยที่ลองยืนตรงบริเวณเหนือพระอังสาแล้วยกมือขึ้นตั้งตรง ก็ยังไม่สามารถจับถึงปลายพระกรรณได้

พ.ศ. 2492-2493 มีการตั้งศาลเพียงตาบริเวณทางเหนือของเกาะดอนแท่น เพื่อบวงสรวงองค์พระพุทธรูป และเตรียมเรือเหล็กขนาดใหญ่ 2 ลำ พร้อมช้าง 3-4 เชือก และนิมนต์พระสงฆ์มาร่วมกระทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป ต้องใช้โซ่เหล็กมาผูกกับเสาวิหารของวัดร้างใต้น้ำ เพื่อให้มีที่เกาะเกี่ยวสำหรับคลำหาพระพุทธรูปได้ แต่เนื่องจากกระแสน้ำแรงและเย็นมาก ทำให้ไม่พบพระพุทธรูปแต่อย่างใด

พ.ศ. 2509 เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม นายชูสง่า ไชยพันธุ์ (ฤทธิประศาสน์) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น ขอให้ บริษัท อิตาเลียน-ไทยฯ จำกัด ที่ได้รับสัมปทานก่อสร้างสนามบินเมืองหลวงพระบาง สมัยนั้นต้องใช้อำเภอเชียงแสนเป็นที่พักชั่วคราว ส่งนักประดาน้ำลงค้นหาพระพุทธรูปในลำน้ำโขง เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย

ก่อนการดำเนินงานได้ตั้งศาลเพียงตา จากนั้นจึงใช้เรือท้องแบน เครื่องดูดทราย ชุดมนุษย์กบ ลวดสลิง ฯลฯ เข้ามาค้นหาองค์พระพุทธรูปที่บริเวณด้านเหนือของเกาะกลางน้ำ หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสน ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำวนและเชี่ยวมาก นักประดาน้ำค้นพบเพียงโบราณวัตถุอื่นๆ เล็กน้อย เช่น พระพุทธรูปขนาดเล็ก เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น หลังจากนั้นก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ อีกจนถึงปัจจุบัน

ทว่า พระรัศมี “พระเจ้าล้านตื้อ” จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน บ้างว่าเป็นของ “พระเจ้าทองทิพ” คำตอบนี้ ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“…ต่อแต่นั้นมาถึงศักราชได้ 797 (พุทธศักราช 1978 ตรงกับรัชกาลพญาสามฝั่งแกน) ตัวเมิงเมดพระยาอติโลกราชตนหลานได้พรองแล้ว ก็ยินดีด้วยคุณมหาสามีเจ้ามากนัก พระยาอติโลกราชเจ้าก็บ่งราชอาญาให้แก่หมื่นน้อย ว่าไร่นาเขตแดนป่ายางคำและผู้คนทั้งหลายมหาเทวีตนย่าทานไว้แต่ก่อนมีดังฤา พระองค์เราเป็นเจ้าก็จักทานไว้กับเป็นดังนั้นแล 

จึงให้ร้อยขุนกับสิบอ้ายนิมนต์เอาพระพุทธรูปเจ้าทองทิพองค์หนึ่ง แต่จอมทองเชียงใหม่อันมหาเถรเจ้าฟ้าหลั่งเอาแต่เมืองลังกานั้นกับให้เอาไม้ศรีมหาโพธิ์ต้นหนึ่งยังวัดพระคำดอนแท่นให้เป็นสักขีให้เป็นที่สาคารวะแก่คนและเทวดาแล้ว ก็ฝังหินจารึกกฎไว้ในปีเบิกสันเดือนกัตติกาเพ็ญเมงวันอังคารไทยดับไส้วันนั้น…”  (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

สรุปได้ “พระเจ้าทองทิพ” ที่กล่าวข้างต้น ต้องเป็นพระพุทธรูปสำคัญและมีขนาดใหญ่มาก จึงใช้คนนับร้อยในการเคลื่อนย้ายจากเชียงใหม่ มาประดิษฐานยังเกาะดอนแท่น โดยหล่อเป็นส่วนๆ ล่องตามลำน้ำกก ออกสู่แม่น้ำโขง จนถึงเมืองเชียงแสน แล้วนำมาประกอบเพื่อให้ประชาชนและเหล่าเทวดาได้กราบไหว้

พระพุทธรูปองค์นี้จึงน่าจะเป็นองค์เดียวกับพระพุทธรูปที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง ที่ชาวบ้านในปัจจุบันเรียกกันว่า “พระเจ้าล้านตื้อ” (ตื้อ เป็นหน่วยนับของภาคเหนือ หมายถึง โกฏิ (ชื่อมาตรานับ เท่ากับ 10 ล้าน))

หากลองประเมินว่า “พระเจ้าล้านตื้อ” พระรัศมี กว้าง 55 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร รวมทั้งจากจากคำบอกเล่าของพรานหาปลาช่วง พ.ศ. 2489-2490 ที่ว่า เมื่อยืนตรงบริเวณเหนือพระอังสาแล้วยกมือขึ้นตรง ก็ยังไม่สามารถจับถึงปลายพระกรรณของพระพุทธรูปได้ พอจะประมาณได้ว่า

“พระเจ้าล้านตื้อ” จะมีความกว้างของหน้าตักราว 8.5 เมตร สูง 10 เมตร และน่าจะเป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่ง หากก็ยังไม่เคยพบพระพุทธรูปทั้งองค์ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. “ตามรอย พระเจ้าล้านตื้อ : พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทยที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2567