เผยแพร่ |
---|
“พระพุทธรูปยืน” ปางที่คนไทยคุ้นกันดีก็น่าจะมี ปางประทานพร ที่พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้น หงายพระหัตถ์ออกแสดงท่าให้พร รวมถึง ปางประทานอภัย (อภัยมุทรา) ที่ยกพระหัตถ์ซ้าย หรือขวา หรือทั้งสองข้าง ป้องไปข้างหน้า โดยหันฝ่าพระหัตถ์ออกมาแสดงท่าอภัย แต่ที่เราไม่ค่อยคุ้นกันก็คือ พระพุทธรูปปางยืนคลายเมื่อย ซึ่งพบที่ประเทศศรีลังกา
พระพุทธรูปปางยืนคลายเมื่อย ความสูงราว 7 เมตร ประดิษฐานอยู่ที่คัลวิหาร เมืองโปลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา มีลักษณะพักเข่าในท่วงท่าตริภังค์ (ยืนโดยเอียงศีรษะ ไหล่ และสะโพก) พระหัตถ์ทั้งสองกอดพระอุระอย่างหลวมๆ เป็นท่ายืนพักผ่อน แต่พระเกตุมาลากลับหายไป ทำให้มีผู้สงสัยว่า หรือพระพุทธรูปองค์นี้จะเป็นพระพุทธสาวก หรือหากเป็นรูปพระพุทธเจ้าแล้วจะเป็นปางอะไร เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน
จากข้อมูลของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ในหนังสือ “พระพุทธรูปปางต่างๆ ในสยามประเทศ” กล่าวว่า มีผู้อธิบายไว้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะเป็นพระพุทธรูปปางถวายเนตร ตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ หลังพระองค์เสด็จออกจากรัตนบัลลังก์ที่ตรัสรู้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ไปยืน “กลางแจ้ง” ลืมพระเนตรบูชาพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน
แต่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ก็กล่าวว่า “ปางถวายเนตร” เป็นปางที่เพิ่งคิดในประเทศไทย เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งไม่น่าจะเอาไปอธิบายการสร้างพระพุทธรูปที่คัลวิหารในศรีลังกา ซึ่งสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ได้
นอกจากนี้ หากพิจารณาร่องรอยแนวอิฐด้านข้างที่พังลงเหลือสูงจากพื้นดินเพียงฐานพระพุทธรูป ย่อมทำให้รู้ว่า พระพุทธรูปยืน องค์นี้สร้าง “ในอาคาร” ย่อมไม่น่าใช่พระปางถวายเนตรแน่ แต่น่าจะเป็นภาพพระพุทธองค์ทรงยืนอยู่ในพระคันธกุฎี ซึ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี อธิบายว่า
“เป็นการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถยืนเพื่อสำราญพระอิริยาบถ คลายความเมื่อยล้าจากการเดินเป็นระยะทางไกลตามที่มีกล่าวในพระอรรถกถาแห่งพระกสิสูตร” นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม พระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในสยามประเทศ
- ทำไม “พระพุทธชินราช” จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองมากที่สุด?
- นิมิตอัศจรรย์ “หยก” ใหญ่ที่สุดในโลกจากแคนาดา สู่พระพุทธรูปหยกวัดธรรมมงคลฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2567