“เซ่นตะกวด” บูชาผี ประเพณีกับวิถีชีวิตพิสดารที่บ้านตรึม จังหวัดสุรินทร์

ตะกวด บ้านตรึม จังหวัดสุรินทร์
ตะกวดที่บ้านตรึมมีสิทธิเสรีและปลอดภัยในชุมชนแห่งนี้ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539)

ส่องพิธีกรรมของ “ชาวกูย” บ้านตรึม “หมู่บ้านตะกวด” แห่ง จังหวัดสุรินทร์ ที่ซึ่งชาวบ้านอยู่ร่วมกับ “ตะกวด” ประหนึ่งสมาชิกของหมู่บ้าน ทั้งเคารพเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ตัวแทนผีบรรพชน

“ชาวกูย” หรือส่วย คือชนชาติที่พูดภาษามอญ-เขมรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในภาคอีสาน แถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และบางส่วนของอุบลราชธานี โดยคำว่า กูย หรือ กวย แปลว่า “คน” เป็นคำที่พวกเขาเรียกขานชาติพันธุ์ของตน แต่คนไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียก “ส่วย” เพราะเป็นไพร่ที่หาสินค้าจำพวกของป่ามาส่งส่วยให้กรุงเทพฯ จึงเรียกติดปากแทนชื่อชนชาติจริง ๆ ของพวกเขาไป

ที่จังหวัดสุรินทร์มีวัฒนธรรมของชาวกูยอันน่าสนใจอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่ง ณ บ้านตรึม ตำบลบ้านตรึม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอาจดูแปลกประหลาดสำหรับคนไทยถิ่นอื่น ๆ โดยเป็นพิธีกรรมที่ชาวกูยบ้านตรึมกระทำสืบต่อกันมาหลายรุ่น นั่นคือ เซ่นตะกวด เซ่นสังเวยผีปู่ตา และบูชาตะกวดในฐานะสัตว์สัญลักษณ์ของบรรพชน

เรื่องราวเหล่านี้ ปราณี วงษ์เทศ ได้เล่าไว้ในบทความเรื่อง “เซ่นตะกวด : พิธีกรรมของชาวกูยบ้านตรึม” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน พ.ศ. 2539 เผยให้เห็นถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในพิธีกรรม จากการพูดคุยกับบุคคลสำคัญในชุมชน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ชาวกูยบ้านตรึม กับ ตะกวด มีความผูกพันกันในมิติทางวัฒนธรรมและอยู่ร่วมกันได้จริง ๆ จนทำให้ชุมชนแห่งนี้ถูกขนานนามว่า “หมู่บ้านตะกวด”

ชาวบ้าน ตะกวด บ้านตรึม
ชาวบ้านกับตะกวดบ้านตรึม (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน)

ตะกวด หมูป่า ในตำนานผีบรรพชน

ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวกูยแห่งบ้านตรึมมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า พวกเขามีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ก่อนจะอพยพมายังบริเวณบ้านตรึมเมื่อ 200 ปีก่อน โดยชาวบ้านตรึมในอดีตนับถือ “หมูป่า” ในฐานะ อาหยะ เป็นผีประจำหมู่บ้าน ผีปู่ตา หรือผีบรรพชน

เมื่อชาวบ้านออกไปล่าสัตว์ ได้หมูป่าหรือสัตว์อื่น ๆ มา ก็จะตัดหูเก็บไว้ที่บ้านผู้เฒ่าหัวหน้าหมู่บ้าน เรียกว่า “เฒ่าจ้ำ” กระทั่งหมูป่าถูกล่าจนหมด จึงได้เกิดภัยแล้งขึ้น ชาวบ้านก็ร่วมกันทำพิธีถามผีจนได้ทราบว่า ผีบรรพชนไม่พอใจและหนีกลับปรางค์กู่ไปในร่าง ตะกวด แล้ว

ทราบดังนั้นหัวหน้าหมู่บ้านจึงไปรับตะกวดมายังบ้านตรึม ทำให้ตะกวดบ้านตรึมกลายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นตัวแทน อาหยะ หรือผีบรรพชน และชาวบ้านจะไม่ทำร้ายหรือกินตะกวดอย่างเด็ดขาด

ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ตะกวดบ้านตรึมจะหลบอยู่ในโพรงไม้เพื่อวางไข่ ชาวบ้านถือว่าเป็นช่วงจำศีลของตะกวด พอเข้าสู่ต้นฤดูฝน ลูกตะกวดตัวเล็ก ๆ จะเริ่มเดินเพ่นพ่านตามหมู่บ้าน ชาวบ้านมักจะจับลูกตะกวดมาพิจารณาหางแทนเครื่องเสี่ยงทาย โดยเชื่อว่า หากลูกตะกวดหางไหม้ ปีนั้นฟ้าฝนจะดี ไร่นาอุดมสมบูรณ์ แต่หากหางออกไปทางสีอ่อนหรือเหลือง ฝนฟ้าจะแล้ง ชาวบ้านต้องเตรียมรับสถานการณ์

วงจรชีวิตของตะกวดทำให้ชาวบ้านตรึมช่วยกันรักษาต้นไม้ใหญ่ ไม่ตัดโค่น เพื่อคงไว้เป็นที่อยู่หรือจำศีลของบรรดาตะกวด และเชื่อว่า หากไร้ต้นไม้ใหญ่ ตะกวดไร้ที่อยู่ จนหายไปหมดหมู่บ้าน จะเกิดภัยแล้งรุนแรง สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว

เซ่นสังเวยผีปู่ตา

แต่ละปี ชาวบ้านตรึมจะมีพิธี แซนอาหยะ เซ่นสังเวยผีปู่ตา หรือผีบรรพชนประจำหมู่บ้าน โดยเป็นช่วงข้างขึ้นเดือน 3 และเดือน 6 ก่อนพิธีจะมีแม่เฒ่าในหมู่บ้านเตรียมเครื่องเซ่นที่บ้านของเฒ่าจ้ำผู้ทำพิธีกรรม แบ่งเครื่องเซ่นไหว้เป็น 3 สำรับ สำหรับ 3 จุด เครื่องเซ่นจะประกอบด้วยเครื่องบูชาต่าง ๆ เช่น ธูปเทียน หมากพลู ดอกไม้ เหล้า ไก่ต้ม ฯลฯ

เครื่องสังเวยสำคัญในพิธีคือ “เต่าต้ม” ที่แม่เฒ่าจะขอบอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตอนนำเต่าลงหม้อน้ำเดือดพล่านว่า ขอให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี หายเจ็บหายไข้ และฝนตกต้องตามฤดูกาล

พิธีกรรมจะเริ่มก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ชาวบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ไปบ้านของเฒ่าจ้ำ มีการเชิญ “หูหมูป่า” ที่สืบทอดกันในหมู่ผู้รับตำแหน่งเฒ่าจ้ำของหมู่บ้าน เอามาไว้รวมกับกลุ่มเครื่องเซ่นไหว้ เฒ่าจ้ำจะเอาน้ำขมิ้นพรมทั่วหูหมูป่า พลางว่ากล่าวขอให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข ระหว่างนั้น ชาวบ้านจะทยอยเอาเครื่องเซ่นอย่าง ไก่ต้ม พันธุ์ข้าว ส่งให้เฒ่าจ้ำในช่วงเซ่นหูหมูป่าด้วย

พิธีเซ่นหูหมูป่าจะเสร็จช่วงฟ้าเริ่มสาง จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปยัง “ดอนปู่ตา” หรือศาลผีบรรพชนริมหนองน้ำนอกหมู่บ้าน ชาวบ้านมักนำถุงข้าวเปลือกและถุงหอมกระเทียมไปแขวนตามกิ่งไม้เพื่อขอให้ผีบรรพชนอำนวยให้อยู่สุขสบาย ห่างไกลความทุกข์ยาก เฒ่าจ้ำจะขึ้นไปยังบริเวณแท่นพิธีแล้วคอยรับดอกไม้จากชาวบ้าน เริ่มจุดธูปเทียนบูชา เทเหล้าเซ่นผีลงบนรูปแทนผีปู่ตา ซึ่งเป็นท่อนไม้ขนาดเท่าแขน ปลายด้านหนึ่งมีรอยบากคล้าย “ปลัดขิก” แต่จะสลักให้มีหน้าตาเหมือนมนุษย์

เฒ่าจ้ำจะหยิบสายสิญจน์ที่แช่ในขันน้ำขมิ้นมาคล้องที่หูหมูป่า สวดอธิษฐาน แล้วเอาเหล้ารดท่อนไม้อีกครั้ง นำดอกไม้ของชาวบ้านส่งให้ชาวบ้านส่งต่อกันเป็นทอด ๆ จนทั่วถึง แล้วส่งคืนมายังเฒ่าจ้ำ ให้เป็นผู้ยกไปตั้งบูชาบนแท่นพิธี

ในการเซ่นผี เฒ่าจ้ำจะพูดกับผีบรรพชนในเชิงวิงวอนเป็นภาษากูย ปราณี วงษ์เทศ แปลเป็นภาษาไทยไว้ดังนี้

“ถึงฤดูขวบปีแล้ว ลูกหลานมาเซ่นสังเวยอาหารต่ออาหยะ เอาข้าวขึ้นยุ้ง ให้ช่วยรักษาลูกหลานให้อยู่ดีมีสุขทุกคน ให้ฝนตกแต่หัวปี เพื่อลูกหลานจะได้ทำนา ได้อยู่ได้กิน อย่าให้ข้าวขาดเล้า ข้าวขาดกระบุง ให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุขทุก ๆ คน…”

จากนั้นชาวบ้านทำการเสี่ยงทายด้วยการพิจารณาคางไก่ต้มว่าปีนี้จะโชคดีในการทำนาหรือไม่ ก่อนจะเอาน้ำที่เตรียมมาสาดไปทั่วบริเวณหอผีปู่ตา และสาดกันเองอย่างสนุกสนาน พร้อมโห่ร้องด้วยความบันเทิง ส่วนเด็ก ๆ จะแย่งกันเก็บถุงข้าวเปลือก หัวหอม กระเทียม ที่แขวนตามกิ่งไม้มาไว้เป็นข้าวขวัญหรือขายแลกขนม

เสมาหินกับรังตะกวด

หลังจบพิธีที่หอผีปู่ตา เฒ่าจ้ำกับชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งจะไปเซ่นไหว้หอเสมาหินภายในวัดบ้านตรึม ซึ่งเป็นของเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยชาวบ้านสร้างหอคลุมไว้สำหรับเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน

ส่วนเครื่องเซ่นอีกชุด เฒ่าจ้ำจะนำไปเซ่นที่หอผีบริเวณโคนต้นมะขามใหญ่กลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเนินดินที่มีซากอิฐและหินกระจายอยู่ คล้ายเป็นเนินโบราณสถาน ปราณี วิเคราะห์ว่า เนินนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับเสมาหินที่ถูกนำไปเก็บรวมกันไว้ในวัด

ตะกวด บ้านตรึม ปีน ต้นไม้
ตะกวดบ้านตรึมป่ายปีนสู่โพรงไม้ใหญ่ (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน)

จุดสุดท้ายนี้จะเชื่อมโยงกับตะกวดโดยตรง เพราะเป็นโคนต้นไม้ใหญ่ ถือเป็นรังตะกวด หรือสถานที่จำศีลและออกลูกออกหลานของพวกมัน หลังเฒ่าจ้ำทำพิธีเซ่นตะกวดเสร็จ จะมีการสาดน้ำตามพอเป็นพิธี แล้วชวนชาวบ้านไปกินเลี้ยงที่บ้าน โดยมีเมนูหลักคือไก่และเต่าเป็นอาหาร เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีเซ่นตะกวด บูชาผีปู่ตา ผีบรรพชน

อย่างไรก็ตาม เต่าไม่ใช่อาหารที่ชาวกูยกินกันเป็นปกติ พวกเขาจะกินเฉพาะวันเซ่นผีเท่านั้น

ในทางมนุษยวิทยา ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตะกวด” ถือเป็นสัญลักษณ์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในแง่หนึ่ง ดังปรากฏร่องรอยเป็นลวดลายบนหน้ากลองทองหรือกลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองซอน ในเวียดนาม ในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาฉบับหอสมุดแห่งชาติ ก็เล่ากำเนิดกรุงกัมพูชาว่ามาจากตะกวด หรือแม้แต่ชาดก ยังเล่าว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสวยชาติเป็นตะกวดด้วย

สำหรับชาวบ้านตรึม ความสัมพันธ์กับตะกวดทำให้พวกเขาร่วมใจกันรักษาต้นไม้ใหญ่อันเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าตะกวด อาจนับเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติไปในตัว รวมถึงพิธีกรรมเซ่นสังเวยที่มีตะกวดเข้ามาเอี่ยว ยังสะท้อนวิถีชีวิตที่แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ บนพื้นฐานความเคารพที่มีต่อบรรพชนหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า จะดลบันดาลให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข สามารถทำมาหากินได้อย่างราบรื่นและยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567