สำรวจ “เหี้ย” ในตำนานพื้นเมือง อัปมงคลหรือไม่?

จิตรกรรมฝาผนัง จุลปทุมชาดก ที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นฉาก พระยาเหี้ยช่วยพระปทุมกุมาร

“เหี้ย” ในความเชื่อของคนไทยทั่วไปเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ดี อัปมงคล เข้าบ้านไหนเป็นวอดวายถึงความเชื่อที่ว่าจะจริงเท็จแค่ไหน ไม่อาจพิสูจน์ความอัปมงคลของมันได้ แต่มักมีการยืมชื่อของมันมาใช้เป็นคำก่นด่ากันอย่างหนาหู

เหี้ยในความเชื่อพื้นบ้านของแต่ละภาค ไม่เป็นที่เล่าขานให้ได้ยินนัก แต่ทางภาคใต้มีการนำเข้าไปเกี่ยวกับชีวิตและวัฒนธรรมหลายอย่าง โดยเรียกกันภายใต้ชื่อว่า “แลน” ครอบคลุมทั้งเหี้ยและตะกวด

สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ 2529 เล่ม 8 ให้ความหมาย “แลน” ไว้ว่า

“แลน” ในความรู้สึกของชาวภาคใต้เป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจด้วย 2 สาเหตุ คือ แลนชอบกินของเน่าเหม็น โดยเฉพาะซากศพของสัตว์ แม้กระทั่งซากศพของคน และชอบกินสัตว์ เช่น อึ่งอ่าง คางคก เขียด และตัวหนอน

บางแห่งถึงกับไม่ให้นำแลนเข้าบ้านเพราะเชื่อกันว่าถ้าแลนขึ้นบ้านใคร บ้านนั้น “โส้ย” (ซวย) เป็นอัปมงคล

เรื่องราวของแลนในภาคใต้นั้นปรากฏในรูปแบบนิทานพื้นบ้านเรื่อง “แลนทองกับแลนเถื่อน” เล่ากันในเขต อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นนิทานให้คติสอนใจว่าด้วยโทษของความอิจฉาริษยา โดยเล่าว่า

มีหญิงสาว 2 คน คนหนึ่งยากจน แต่ชอบเอื้อเฟื้อชาวบ้าน อีกคนร่ำรวย แต่เย่อหยิ่ง ดูถูกชาวบ้าน ทั้งสองเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งหญิงยากจนพบแลนทองตัวหนึ่ง จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านด้วยความอารี วันหนึ่งเธอจึงจูบที่หัวแลน ทำให้แลนทองตัวนั้นพ้นจากคำสาปแม่มดกลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม ซึ่งเป็นลูกชายของเจ้าเมืองคนหนึ่ง ทั้งสองจึงแต่งงานกันอย่างมีความสุขสืบมา ต่อมาหญิงผู้ร่ำรวยทราบข่าว เกิดความอิจฉาริษยา ต้องการจะได้ดีกว่าเพื่อนที่อดีตเคยยากจน จึงจ้างให้คนใช้ไปจับแลนตัวโตมาให้ตัวหนึ่ง นางกอดจูบแลนเถื่อน (แลนธรรมดา) หวังจะให้กลายเป็นหนุ่มรูปงาม แต่แลนเถื่อนตกใจ ข่วนหน้าตาหญิงสาวคนนั้นเป็นแผล ตั้งแต่นั้นมาหญิงสาวคนนั้นก็ไม่มีใครขอแต่งงานด้วย

นอกจากนี้เรื่องของแลนยังปรากฏในเรื่อง “นายแรง” เป็นตำนานการเกิดแม่น้ำ ภูเขาบางแห่งในจังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา เช่น การเกิดเขารุนคลองห้วยแลน เขาหัวหมา เขาแดง เขาเก้าแสนหรือเก้าเส้ง เป็นต้น โดยนิทานเรื่องนายแรงได้จากการเอาลักษณะของภูมิประเทศมาผูกแต่งเป็นเรื่องราว เพื่อให้คนรุ่นต่อมาได้เรียนรู้และเกิดความรักความภูมิใจในท้องถิ่นตนเอง

แม้ว่าแลนในความรู้สึกของผู้คนเป็นสิ่งไม่ดีนัก แต่ในทางเศรษฐกิจ แลนเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถทำรายได้ให้กับผู้ล่าเป็นอย่างดีซึ่งหนังแลนสามารถนำไปทำเครื่องหนังประเภทของใช้ และทำเครื่องประดับได้อย่างสวยงามไม่แพ้หนังจระเข้เลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มิถุนายน 2561