ค้นหลักฐาน “พระพุทธเจ้า” เคยเสวยพระชาติเป็น “เหี้ย”

พระพุทธเจ้า เสวยชาติ เหี้ย โคธชาดก
ชาดกเรื่องที่ 138 โคธชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเหี้ย จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเครือวัลย์วรวิหาร ธนบุรี

เหี้ย ไม่ใช่สัตว์ที่พึงรังเกียจ พระพุทธเจ้า ของเราแต่ปางก่อนก็เคยเสวยพระชาติเป็นเหี้ย ใน นิบาตชาดก หมวดเอกนิบาต ชาดกเรื่องที่ 138 โคธชาดก มีเรื่องย่อว่า ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเหี้ยโคธบัณฑิตอาศัยในจอมปลวกใกล้อาศรมของพระดาบสผู้สัมมาปฏิบัติ ทุกวันพระโพธิสัตว์จะเข้าไปสู่อาศรมเพื่อสดับธรรม ต่อมาดาบสตนนั้นย้ายไปอยู่ถิ่นอื่น มีดาบสทุศีลอีกตนหนึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในอาศรมแทน วันหนึ่งชาวบ้านปรุงอาหารจากเนื้อเหี้ยนำไปถวาย

‘…ครั้นดาบสฉันเนื้อเหี้ยแล้ว ความปรารถนาในรสก็ผูกไว้ [คือติดใจในรสอันอร่อย] จึงถามว่ามังสะนี้มีรสอร่อยนัก เป็นมังสะสัตว์อะไร ครั้นได้ฟังว่ามังสะเหี้ยดังนี้ จึงคิดว่าเหี้ยใหญ่มาสู่สำนักเราตัวหนึ่ง อย่าเลยเราจะฆ่าเหี้ยใหญ่ตัวนั้นกินเสียเถิด…’

Advertisement

ดาบสทุศีลจ้องจะทำร้ายเหี้ยพระโพธิสัตว์แต่ไม่สำเร็จ และถูกเหี้ยพระโพธิสัตว์ตำหนิความด่างพร้อยในพรหมจรรย์ จนต้องหลีกลาไปอยู่ที่อื่น

เหี้ยไม่ใช่สัตว์เลวร้ายและไม่มีอะไรน่ารังเกียจ ถึงขั้นปรักปรำให้มันเป็นต้นเหตุของเสนียดจัญไร

หากมนุษย์จะให้ความเป็นธรรมกับมันสักหน่อย เหี้ยควรจะถูกจัดขึ้นทำเนียบเป็นสัตว์ชั้นสูงเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากรูปกายมีเกล็ด มีขาทั้งสี่และท่อนหางทรงพลัง มีลิ้น 2 แฉก ลักษณะที่ว่านี้ไม่ต่างอะไรกับมังกร ที่สำคัญคือมันไม่ได้สร้างความเดือดร้อนรุนแรงให้มนุษย์ มันจึงน่าจะได้รับการยกย่องมากกว่าถูกหยามเหยียด เหี้ยเองก็คงจะภูมิใจที่ได้กำเนิดเป็นมัน

มนุษย์ต่างหากที่คิดมากเกินเหี้ย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เหี้ย…อีกแล้ว” เขียนโดย บุญเตือน ศรีวรพจน์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2559