ความเป็นมาของจังหวัดสุรินทร์ เมืองแห่งอีสานใต้ ที่ไม่ได้มีแต่คนอีสาน

ภาพประกอบเนื้อหา - ช้าง และ ควาญช้าง ในเทศกาลประจำปีที่ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 17 พ.ย. 2562 (ภาพจาก Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดทางตอนใต้ของภาคอีสานของไทย ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มาตั้งถิ่นฐาน นอกจากภาษาไทยแล้ว ภาษาอื่นๆ ที่คนสุรินทร์ใช้กันได้แก่

1. ภาษาเขมร ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์, ปราสาท, กาบเชิง, สังขะ, บัวเชด, จอมพระ, ศีขรภูมิ, ท่าตูม, ชุมพลบุรี, ลำดวน และพนมดงรัก

2. ภาษากวย (กูย หรือส่วย)  ได้แก่ อำเภอสำโรงทาบ, จอมพระ, ท่าตูม, สนม, ศีขรภูมิ, รัตนบุรี และศรีณรงค์

3. ภาษาไทยลาว (ภาษาอีสาน) ได้แก่ อำเภอรัตนบุรี, สนม, ท่าตูม, ชุมพลบุรี, ศีขรภูมิ และบางส่วนของอำเภออื่นๆ บ้างเล็กน้อย

ความเป็นมาของจังหวัดสุรินทร์โดยสรุป ดังนี้

1. ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 ขอมเจริญรุ่งเรืองและขยายขึ้นมาถึงบริเวณภาคอีสาน โดยเฉพาะในเขตอีสานใต้ ดังจะเห็นได้จากการสร้างปราสาทที่ก่อด้วยอิฐหรือศิลาแลง ซึ่งมีอยู่แทบทุกอำเภอของจังหวัดสุรินทร์ เช่น ปราสาทตาเมือนธม อำเภอกาบเชิง, ปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ, ปราสามจอมพระอำเภอจอมพระ, ปราสาทบ้านพลวง อำเภอปราสาท ฯลฯ

2. ประมาณ ปี พ.ศ. 2200 พวกส่วยอพยพมาจากเมืองอัตตะปือ และเมืองแสนปาง ในประเทศลาว ข้ามแม่น้ำโขงที่แก่งสะพือแล้วแยกย้ายไปตั้งหมู่บ้านในทำเลที่ตั้งที่เห็นว่าอุดมสมบูรณ์ คือ1) บ้านเมืองที  (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเมือง) 2) บ้านลำดวน หรือ โคกลำดวน 3)บ้านอัจจปึง (ปัจจุบันคือ บ้านสังขะ) 4) บ้านกุดหวาย (หรือบ้านเมืองเตา-รัตนบุรี)  5)บ้านเมืองเลิง (บ้านลีง อำเภอจอมพระ) 6) บ้านจาระพัด (บ้างว่าบ้านกุดปะไทย) มีหัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้ปกครอง

3. พ.ศ. 2302 รัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ ช้างเผือกแตกโรงมาแถวป่าแขวงเมืองจำปาศักดิ์ โปรดฯให้ออกติดตามจนมาถึงเขตอำเภอรัตนบุรีในปัจจุบันได้พบกับเชียงสี-หัวหน้าหมู่บ้านชาวส่วย บ้านกุดหวาย และมีหัวหน้าหมู่บ้านชาวส่วย ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า มาช่วยติดตามจนสำเร็จ พระเจ้าเอกทัศน์ทรงพอพระทัยที่ได้พระยาช้างเผือกลับมา จึงพระราชทานบรรดาศักด์ให้แก่ทุกคนดังนี้

1) เชียงปุม-หัวหน้าบ้านเมืองที เป็น หลวงสุวรรณภักดี

2) ตากะจะ-หัวหน้าบ้านลำดวน เป็น หลวงแก้วสุวรรณ

3) เชียงฆะ-หัวหบ้านบ้านอัจจปึง เป็น หลวงเพชร

4) เชียงขัน-หัวหน้าบ้านลำดวน เป็น หลวงปราบ

5) เชียงสี-หัวหน้าบ้านเมืองเลิง เป็นหลวงศรีนครเตา

6) เชียงไชย-หัวหน้าบ้านจาระพัด เป็น ขุนไชยสุริยงค์

โดยขึ้นตรงต่อกเมืองพิมาย ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ใหญ่ในขณะนั้น ภายหลังหัวหน้าผู้บ้านเหล่านี้ได้นำช้าง, ม้า, ยางสน, นอระมาด, งาช้าง และขึ้ผึ้ง ส่งเป็นส่วยบรรณาการไปกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดฯ ให้ตั้งเป็นเจ้าเมืองดังนี้

1)หลวงสุวรรณภักดี (ตากะจะ) เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนใหญ่เป็นเมืองขุขันธ์

2) หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็นพระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ เจ้าเมือง ยกบ้านโคกอัจจะ เป็นเมืองสังฆะ(ต่อมาเขียนเป็น สังขะ)

3) หลวงสุวรรณภักดี (เชียงปุม) เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์ จางวางเจ้าเมือง ตั้งบ้านคูประทายเป็นเมืองปะทายสะมันต์ (ภายหลังเปลี่ยนเป็น เมืองสุรินทร์ ตามชื่อเจ้าเมืองที่ได้ชื่อว่า “สุรินทร์” มาหลายชั่วคน)

4) หลวงศรีนครเตา (เชียงสี) เป็น พระศรีนครเตา เจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย (หรือเมืองเตา) เป็นเมืองรัตนบุรี

4. พ.ศ. 2369-2371 เกิดศึกเจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ บุตรเจ้าอนุวงศ์ได้ยกมาตีเมืองขุขันธ์ สังฆะ และสุรินทร์แตก เจ้าเมืองขุขันธ์ถูกฆ่าตาย ส่วนเจ้าเมืองสังฆะและสุรินทร์หนีเข้าป่าไปอาศัยอยู่แถบเขาดงเร็ก เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพมาปราบ ภายหลังเสร็จสงคราม กองทัพสยามมีชัย และสามารถยึดเวียงจันทน์ได้ แม่ทัพนายกองที่ไปร่วมรบต่างได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ รวมถึงเจ้าเมืองสังฆะและสุรินทร์

5. พ.ศ. 2372 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินเดชา (เลื่อนจากเจ้าพระยาราชสุภาวดี) เป็นแม่กองจัดราชการ ทำสำมะโนครัวและตั้งกองสักเลกอยู่ ณ บ้านจารพัด หรือกุดปะไทย (ในเขตอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน)

6. พ.ศ. 2386 เจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้มีตราถึงมืองนครจำปาศักดิ์ และหัวเมืองฝ่ายตะวันออก เช่น สุรินทร์, ขุขันธ์, สังฆะ, ร้อยเอ็ด และสุวรรณภูมิ เกณฑ์กองทพไปสมทบกับกองทัพไทยที่เมืองอุดงมีไชย (อุดรมีชัย) เพื่อทำสงครามกับญวน ในช่วงรัชกาลที่ 3 ที่มีศึกบริเวณชายแดนเขมร, ลาว กองทัพเมืองสุรินทร์, สังฆะ และขุขันธ์ ที่ยกไปช่วยรบทุกครั้งต่างมีความดีความชอบ ได้รับรรดาศักดิ์เป็น “พระยา” ทั้งสามเมือง

7. พ.ศ.2410 โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านห้วยอาบาล เป็นเมืองกันทรลักษณ์, ยกบ้านกันตวด ห้วยอุทุมพร เป็นเมืองอุทุมพรพิไสย

8. พ.ศ. 2412 โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านจารพัด หรือบ้านกุดปะไทยเป็น “เมืองศีขรภูมิพิสัย” โปรดเกล้าฯ ให้หลวงไชยสุริยวงศ์เป็นพระศีขรภูมานุกรักษ์ เป็นเจ้าเมือง โดยขึ้นกับเจ้าเมืองสังขะ

9. พ.ศ. 2413 เจ้าเมืองสุรินทร์ มีใบบอกขอตั้งบ้านลำดวนเป็นเมือง จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นามว่า “เมืองสรุพินทนิคม” โดยขึ้นกับเจ้าเมืองสุรินทร์

10. พ.ศ. 2426 คนสุรินทร์อพยพครอบครัวไปอยู่ฟากลำน้ำมูลด้านเหนือ บริวเณบ้านทับค่าย พระยาสุรินทร์ได้มีใบบอกขอตั้งบ้านทับค่ายเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นเมืองชุมพลบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอชุมพลบุรี)

11. พ.ศ. 2434 โปรดเกล้าฯ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นข้าหลวงใหญ่ หัวเมืองลาวกาว ซึ่งเมืองสุรินทร์, สังขะ และขุขันธ์ก็อยู่สังกัดด้วย

12. พ.ศ. 2450 มณฑลอีสานแบ่งออกเป็น 4 บริเวณ คือ อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, สุรินทร์ และขุขันธ์ สำหรับบริเวณสุรินทร์นั้นประกอบด้วย 2 เมืองคือ  1) เมืองสุรินทร์ มี 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทักษิณสุรินทร์, อุดรสุรินทร์, รัตนบุรี, สุรพินทนิคม, อำเภอชุมพล 2) เมืองสังขะ มี 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสังขะ, ศีขรภูมิ, จงกัล (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา)

13. พ.ศ. 2449 เมืองสังขะถูกยุบเป็นอำเภอ และขึ้นกับจังหวัดสุรินทร์

14. พ.ศ. 2451 สิ้นสุดตำแหน่งเจ้าเมือง ส่วนกลางเริ่มแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายปกครองเรียกว่า “ข้าหลวงประจำจังหวัด” (ต่อมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด) บุคคลแรกที่รับตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์คือ พระกรุงศรีบุรักรักษ์ (สุม สุมานนท์)


ข้อมูลจาก

เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2530, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรม ธนาคารไทยพาณิชย์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2562