“เชิดสิงโต” เริ่มเล่นในไทยครั้งแรกเมื่อใด แล้ว “เชิดมังกร” มาตอนไหน

เชิดสิงโต
คณะเชิดสิงโต เชิดมังกร และแป๊ะยิ้ม ในช่วงเทศกาลตรุษจีน (ภาพจาก www.matichon.co.th)

เชิดสิงโต เป็นการละเล่น การแสดง ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะการการแสดง, กายกรรม และวัฒนธรรมความเชื่อของจีน การเชิดสิงโตใช้ในวาระต่างๆ เช่น งานเฉลิมฉลองเกี่ยวกับเทพเจ้า, งานเปิดกิจการ, งานแซยิดวันเกิด, งานฉลองเทศกาลตรุษจีน ฯลฯ

ปัจจุบันนอกจาก “เชิดสิงโต” ยังมี “เชิดมังกร” อีกด้วย

นั่นเป็นเพราะสิงโตและมังกร ต่างก็เป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อของจีน สำหรับเทศกาลตรุษจีนเดิมนั้น นิยมเชิดสิงโตมากกว่า เพราะมังกรเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์จีน

การเชิดมังกรเพิ่งมานิยมกันสัก 30 กว่าปีนี้เอง เมื่อสิงโตตัวเล็กใช้คนเชิดตั้งแต่ 1-2, 4-5 คน ตามขนาดของสิงโต ถูกการเชิดมังกรที่ใช้คนนับสิบๆ คนเชิด ตัวมังกรยาวหลายสิบเมตร ย่อมชวนให้ตื่นตาตื่นใจกว่าชิงพื้นที่ไปได้

แล้วทำไม คณะสิงโต ต้องมี “แป๊ะยิ้ม”

ในการเชิดสิงโต หรือเชิดมังกร แต่ละครั้งจะประกอบด้วย คนที่เชิดสิงโตหรือมังกรในตำแหน่งต่างๆ, นักดนตรี และแป๊ะยิ้ม สันนิษฐานว่า “แป๊ะยิ้ม” คือ “แป๊ะกง” ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำท้องถิ่น (เทียบได้กับเจ้าที่เจ้าทาง)

ด้วยการเชิดสิงโต เป็นการแสดงที่อึกทึก ทั้งสิงโตก็เป็นสัตว์ใหญ่ สัตว์มงคล คณะสิงโตแห่สิงโตไปตามที่ต่างๆ ในชุมชน ย่อมรบกวนจิตวิญญาณของสถานที่นั้นๆ จึงต้องมีแป๊ะกงในคราบแป๊ะยิ้ม ไปทำหน้าที่ตรงนั้น แต่เพราะหน้ากากแป๊ะกงที่ยิ้มแย้มและลีลาของผู้เล่น จึงถูกเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตลกมีหน้าที่เพิ่มสีสันให้คณะ

เมื่อ 60-70 ปีก่อน ในช่วงเทศกาลตรุษจีน มักมีการเชิดสิงโตเข้าไปในร้านค้าและบ้านเรือน ซึ่งแต่ละบ้าน ต่างก็ยินดีต้อนรับคณะสิงโตที่เข้ามาและมีการให้อั่งเปา (เงินในซองแดง) กับคณะสิงโต เรื่องนี้ เชาวน์ พงษ์พิชิต นักเขียนอาวุโสเชื้อสายจีน บันทึกเรื่องนี้ไว้ใน “ลูกจีนรักชาติ” (สนพ.มติชน) ตอนหนึ่งว่า

“บรรดาเถ้าแก่และอาเสี่ยทั้งหลาย ต่างก็อยากให้สิงโตไปเชิดที่หน้าร้านของตนนานที่สุด โดยถือกันว่ามันเป็นเรื่องมีเกียรติ พวกเขาจึงหลับหูหลับตาจุดประทัดพวงแล้วพวงเล่า ใช้ไม้ไผ่ลำยาวๆ ชูอั่งเปา และผักหอม (ภาษาจีนมีชื่อทับศัพท์คำว่า เกิดทรัพย์) ไว้สูงๆ จนคนเชิดหัวสิงโตต้องเหยียบไหล่ต่อตัวเพื่อนจึงงาบเอาอั่งเปาลงมาได้…”

แล้วการ “เชิดสิงโต” ในไทยเริ่มขึ้นเมื่อไร

งานวิจัยของปัทมา วัฒนบุญญา และคณะ เรื่องศิลปะการแสดงฝั่งธนบุรีในศตวรรษที่ 21 (กรณีศึกษาเขตธนบุรี) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยากล่าวว่า การเชิดสิงโตในไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยชาวจีนที่เข้ามาค้าขายจัดการแสดงถวายเฉพาะพระพักตร์

หากพงศาวดารเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกว่า เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  โดยองเชียงสือแห่งเวียดนามที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธสมภาร ฝึกหัดชาวญวนเชิดสิงโตจนสามารถจัดการแสดงถวาย

ไม่ว่าการ “เชิดสิงโต” ครั้งแรกจะเกิดที่ฝั่งธนบุรี หรือกรุงเทพฯ แต่ก็ทำให้ทราบว่าการเชิดสิงโตในไทยมีมานานกว่า 200 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เสี่ยวจิว. ที่เรียกว่า ‘แต้จิ๋ว’, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2556.

พรพิพัฒณ์ ราชกิจกำธร และสุภาวดี โพธิเวชกุล. “การเชิดสิงโต : ศิลปการแสดงวัฒนธรรมย่านฝั่งธนบุรี” ใน, ศิลปกรรมสาร ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธนวาคม 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567