10 งิ้วที่ยิ่งใหญ่ของจีน มีงิ้วฮิตในเมืองไทยอย่างงิ้วแต้จิ๋วอยู่ด้วย

(บางส่วน) ของภาพนักแสดงงิ้วสมัยราชวงศ์ชิง

เมื่อเปรียบเทียบกับศิลปะความบันเทิงของประเทศอื่น เช่น อินเดีย, กรีก ฯลฯ งิ้วของจีนถือว่าเกิดขึ้นล่าช้ากว่า เนื่องจากอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อที่ไม่เน้นเรื่องบันเทิงที่ไม่มีสาระ (งิ้วจึงมีการแฝงคำสอนเรื่องคุณธรรม) งิ้วเกิดมาประมาณ 1,500 ปี งิ้วเริ่มมีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) แต่พัฒนาสมบูรณ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127-1279) ก่อนจะค่อยๆ แพร่หลายไปตามมณฑลต่างๆ เกิดเป็นงิ้วหลายร้อยชนิด

ปัจจุบันจีนมีงิ้วที่แพร่หลายในวงกว้างมี 200 กว่าชนิด ที่ยอมรับว่าเป็น “10 งิ้วที่ยิ่งใหญ่” ได้แก่ 1. งิ้วปักกิ่ง 2. งิ้วคุนฉี่ว์ หรือคุนจี้ว์ 3. งิ้วผิงอี้ว์ 4. งิ้วจิ้นจี้ว์ 5. งิ้วกุ้ยจี้ว์ 6. งิ้วฉินเซียง 7. งิ้วหวงเหมย 8. งิ้วเย่ว์จี้ว์ 9. งิ้วกวางตุ้ง 10. งิ้วแต้จิ๋ว

ในจำนวนดังกล่าวมี “งิ้วปักกิ่ง” ที่เกิดจากการผสมผสานงิ้วต่างถิ่นที่เข้าไปเล่นในกรุงปักกิ่งพัฒนาสมบูรณ์เป็นงิ้วชนิดใหม่เมื่อ พ.ศ. 2333 ที่มีสถานทางศิลปะสูงสุด เป็นงิ้วเมืองหลวงและได้รับยกย่องว่าเป็น “งิ้วประจำชาติของจีน”

และ “งิ้วคุนฉี่ว์” เป็นงิ้วหลวงสมัยราชวงศ์หมิง มีศิลปะประณีต ได้รับยกย่องจากสหประชาชาติให้เป็น “มรดกโลก” ประเภทศิลปะการแสดงเมื่อ พ.ศ. 2548

ส่วนงิ้วที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย ได้แก่ งิ้วกวางตุ้ง และงิ้วแต้จิ๋ว เป็นงิ้วที่แพร่หลายในถิ่นจีนโพ้นทะเล รวมทั้งประเทศไทย แต่ปัจจุบันในประเทศไทยคาดว่า คงเหลือเพียงแต่งิ้วแต้จิ๋วเท่านั้น เนื่องจากยังมีกลุ่มคนแต้จิ๋วซึ่งเป็นจีนกลุ่มใหญ่ในไทยเป็นคนดู แต่เหตุใดงิ้วจากแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นแค่เมืองหนึ่งในมณฑลกวางตุ้งจึงติดทำเนียบ “10 งิ้วที่ยิ่งใหญ่” ด้วย

เหมยหลันฟาง (พ.ศ. 2437-2504) ปรมาจารย์งิ้วปักกิ่ง เมื่อดูจิ๋วแต้จิ๋วครั้งแรกที่กว่างโจว (พ.ศ. 2499) ก็เอ่ยชมว่า “ผมดูงิ้วทั่วประเทศจีนมาแล้วกว่า 200 ชนิด ไม่มีดนตรีของงิ้วชนิดใดไพเราะและอุดมด้วยศิลปะแห่งการแสดงเสมอด้วยดนตรีงิ้วแต้จิ๋ว” หรือเมื่อคณะงิ้วแต้จิ๋วของทางการมณฑลกวางตุ้งไปแสดงที่กรุงปักกิ่ง (พ.ศ. 2500) ก็ได้รับคำชมเชยจากผู้ชม ผู้นำ และผู้รู้ทางศิลปะจำนวนมาก เช่น เหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล กัวมั่วญั่ว

ความโดดเด่นของงิ้วแต้จิ๋ว ได้แก่ ความไพเราะของดนตรีและเพลง (ดังที่เหมยหลันฟางกล่าวข้างต้น), ตัวตลกของงิ้วแต้จิ๋วมีหลากหลาย และมีชั้นเชิงศิลปะการแสดงที่เหนือกว่างิ้วอื่นๆ, เรื่องที่เล่นมีหลากหลาย มีการแสดงเรื่องร่วมสมัยก่อนงิ้วอื่น, เป็นงิ้วเก่าแก่ที่มีพัฒนาการต่อเนื่องไม่เคย “ตาย” โดยเป็นงิ้วเก่าแก่อายุมากกว่า 450 ปี รุ่นเดียวกับงิ้วคุนฉี่ว์ ที่เป็นมรดกโลก

ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้งิ้วแต้จิ๋วรอด “ตาย” ก็คือประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นที่ “พักพิง” จากภัยทางการเมืองของงิ้วแต้จิ๋ว ในช่วงที่ประเทศจีนเกิดจลาจลเพราะสงครามญี่ปุ่นและสงครามกลางเมือง งิ้วเก่าแก่ลายชนิด เช่น งิ้วคุนฉี่ว์แทบจะสูญ รัฐบาลต้องเชิญศิลปินเก่าๆ มาช่วยกันฟื้นฟูในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 แต่งิ้วแต้จิ๋วกลับมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเจริญ (ชั่วคราว) ตั้งแต่ พ.ศ. 2468-2500 ก่อนจะส่งกลับไปประเทศจีนเมื่อการเมืองปกติ

ระหว่าง พ.ศ. 2463-2473 กรุงเทพฯ เป็นเสมือนศูนย์กลางของงิ้วแต้จิ๋วโลก บนถนนเยาวราชมีโรงงิ้วสำหรับคณะงิ้วแสดงประจำอยู่ 10 แห่ง ที่เปิดแสดงทั้งเวลากลางวันและกลางคืน (เช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์ปัจจุบัน) ได้แก่ ทีงั่วที, หลักเทียง, ตั่งกวงฮึ้ง, ตงกก, ซิงตงกก, ไซโอ้ว ฯลฯ

ช่วงเวลานี้ ปรมาจารย์งิ้วมาอยู่เมืองไทยเป็นจำนวนมาก เช่น โหล่วลิ่มสื่อ, อึ้งเง็กเต้า, ฉื่อกุงช้วง, อั่งเหมียว, ลิ้มอยู่เหลียก เกิดการแลกเปลี่ยนวิชา ทั้งครูแต่งเพลง, คนเขียนบท, นักแสดง มีการสร้างและปรับปรุงงิ้วหลายเรื่อง เช่น เรื่อง “อ่วงกิมเล้ง” ซึ่งมีเค้าโครงมาจากนิทานพื้นบ้านจีนสมัยราชวง์หมิง งิ้วทุกถิ่นนำไปปรับปรุงเป็นบทงิ้วกว่า 200 ชนิด

แต่ “อ่วงกิมเล้ง” เวอร์ชั่นที่ดีที่สุด เป็นงิ้วแต้จิ๋วที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยผู้แต่งบทงิ้วที่เป็นงิ้วแต้จิ๋วที่ดังที่สุดลิ้มหยูเหลียก (พ.ศ. 2448-2524) ชาวจีนแต้จิ๋วที่เติบโตในสิงคโปร์ แต่งเรื่องอ่วงกิมเล้งเมื่อพักอยู่เมืองไทย ผู้จดโน้ตเพลงงิ้วเรื่องนี้คือ เตียแปะเกียก-คนไทยเชื้อสายจีน

งิ้วเรื่อง “อ่วงกิมเล้ง” ดังมาก และไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนจีน ในเวลานั้นหนุ่มจีนที่ไปสาวไทย พวกเธอจะขอให้ร้องในเรื่องอ่วงกิมเล้ง (เพลงขอทานตอนพระเอกตกยาก) ให้ฟัง แม้แต่ครูสุรพล สมบัติเจริญ  (พ.ศ. 2473-2511) ก็ยังใช้ชื่อ “อ่วงกิมเล้ง” ซึ่งเป็นชื่อพระเอกและชื่อเรื่องไปแต่งไว้ในเพลง “แซซี้อ่ายลื้อเจ๊กนั้ง” โดยนำทำนองเพลงทำนองจีนชื่อ “โป้ยกังเหล็ง” (สมัยหนึ่งใช้บรรเลงหน้าม่านบรรเลงก่อนหน้าที่จะเล่นละคร หรือฉายภาพยนตร์) มาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ ดังเนื้อร้องตอนหนึ่งที่ว่า

“…อ้วงกิมเล้งร้องเพลงให้เจ้าฟัง เสร็จจากดูหนังไปบางแสนดินแดนสุขขี ดูพระจันทน์ตกน้ำตกเมื่อยามราตี น้องกับพี่คุยกังที่บนหาดทราย…”

แต่การศูนย์กลางงิ้วแต้จิ๋วก็มีเกิดการชะงักงัน ใน พ.ศ. 2488 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายให้ปิดโรงเรียนจีน สร้างความไม่พอใจแก่บรรดาครูงิ้วที่อพยพมาอยู่เมืองไทยกว่า 30 ปี หลายท่านต่างเดินทางกลับประเทศจีน เช่น อั้งเหมียว-ปรมาจารย์ตลกงิ้วแต้จิ๋ว

ประมาณ พ.ศ. 2503 เริ่มมีคณะงิ้วแต้จิ๋วจากเกาะฮ่องกงเข้ามาเปิดแสดงในโรงงิ้วย่านเยาวราช พร้อมกับบันทึกทำเป็นภาพยนตร์ส่งไปฉายต่างจังหวัด โดยมี “ตั่งชอหุย” นักแสดงหญิงเล่นเป็นพระเอกและได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากนั้นประมาณ 10 ปีก็ต้องยุติลง เมื่อรัฐบาลไทยออกประกาศห้ามงิ้วจากฮ่องกงเข้ามาแสดงในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาด้านการเมือง

พ.ศ. 2510-12 เกิด “การบรรยาย” ด้วยภาษาไทยข้างเวทีงิ้ว เพราะคนไทยให้ความสนใจมาดูงิ้วมากขึ้น โดยเฉพาะงิ้วที่แสดงตามงานศาลเจ้า ซึ่งช่วงหัวค่ำจะเป็นการเล่นงิ้วเรื่องบู๊ มีการต่อสู้ สนุกสนาน จะบรรรยายภาษาไทยข้างเวทีเป็นระยะให้เข้าใจเรื่องได้ง่ายขึ้น

เมื่อคนดูงิ้วรู้ภาษาแต้จิ๋วน้อยลงเรื่อยๆ การบรรยายข้างเวทีก็เริ่มมีทั้งช่วงหัวค่ำและช่วงดึก ซึ่งส่งผลกระทบส่วนอื่น เช่น ดนตรีต้องลดเสียงนักแสดงก็ไม่รู้ว่าเพลงถึงท่อนใด, เสียงพากย์เสียงนักแสดงตีกันเอง, ผู้ดูก็ไม่รู้ว่าร้องอะไร พูดอะไร จนกระทั้งเกิดเป็น “งิ้วไทย” ขึ้นอย่างจริงโดย เม้ง ป.ปลา (อำพัน เจริญสุขลาภ) ที่ศึกษางิ้วแต้จิ๋วมาจากเมืองจีน เริ่มทดลองใช้ภาษาไทยในบทร้องและเพลงงิ้วก็พบว่าไปด้วยกันได้ดี หากการยอมรับขณะนั้นยังมีไม่มากนัก

พ.ศ. 2525 มีงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี คณะผู้จัดงานได้มอบให้ เม้ง ป.ปลา ทำงิ้วไทยเรื่องแรกคือ “เปาบุ้นจิ้นประหารเปาเมี่ยน” แสดงเป็นครั้งแรก เกิดการยอมรับอย่างกว้างขวาง เมื่อนำไปแสดงที่เมืองแต้จิ๋วคนจีนก็ยอมรับว่างิ้วแต้จิ๋วกับภาษาไทยไปด้วยกันได้

ที่กล่าวข้างต้นนั้นคือเรื่องราวของสังคม และบ้านเมืองแต่ละช่วงเวลาที่มี “งิ้ว” อยู่ในเหตุการณ์และบอกเล่าโดยบังเอิญ แต่สิ่งที่ “งิ้ว” ตั้งใจถ่ายทอดคือ “คุณธรรม” โดยเฉพาะคุณธรรมคำสอนของขงจื๊อ ในครอบครัวชาวจีนสามารถถกเถียง, พูดคุยกันเรื่องผิดชอบชั่วดีบนมาตรฐานเดียวกันได้ เพราะคนที่รู้หนังสือได้อ่านเรื่องเหล่านี้จากตำราขงจื๊อ คนที่อ่านไม่ออกรู้จากการดูงิ้ว

 


ข้อมูลจาก :

ผศ.ถาวร สิกขโกศล. “ความรู้เบื้องต้นเรื่องงิ้วแต้จิ๋ว” ใน, งิ้ว ในบริบทสังคมและศิลปวัฒนธรรมไทยฯ, สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน, 2555

รศ.ดร.พรพรรณ จันทโรรานนท์. “ ‘งิ้วแต้จิ๋ว’เรื่องราวและความสัมพันธ์กับศาลเจ้า” ใน, งิ้ว ในบริบทสังคมและศิลปวัฒนธรรมไทยฯ, สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน, 2555

วิภา จิรภาไพศาล. “งิ้ว” ในบริบทสังคมและศิลปวัฒนธรรมไทย, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม, 2548

วิภา จิรภาไพศาล. “งิ้ว” โอเปร่า (แฝงคุณธรรม) ตะวันออก ละครร้องที่ UNESCO ยกย่องเป็นมรดกโลก, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม, 2548

วิภา จิรภาไพศาล. “อ่วงกิมเล้ง” ร้องเพลงให้เจ้าฟัง!!, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2564