กบ กลอง และ “เทพฟ้าผ่า” การบูชาเพื่อความอุดมสมบูรณ์-เจริญเผ่าพันธุ์ของ “ชาวจ้วง”

ชาวจ้วง กลองสำริด กลองมโหระทึก เทศกาลบูชามะก่วย บูชา เทพฟ้าผ่า
ภาพเขียนสมัยใหม่ที่ช่างเขียนสร้างจินตนาการพิธีกรรมตีมโหระทึกยุคดึกดาบรรพ์ (จาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2547)

คติการบูชา “เทพฟ้าผ่า” ของ “ชาวจ้วง” เครือญาติเก่าแก่ของคนไทย ซึ่งพูดภาษาตระกูลเดียวกับเรา (ตระกูลไท-ลาว) ไม่เพียงเพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล แต่ยังเพื่อสยบภัยธรรมชาติจากฟ้าฝน โดยมีสื่อกลางคือ “มะก่วย” หรือกบ เขียด และ “กลองมโหระทึก” หรือ กลองสำริด เป้าหมายสูงสุดคือเพื่อการอยู่ดีกินดีและเจริญเผ่าพันธ์ุ ซึ่งหลักความเชื่อนี้ยังหลงเหลืออยู่ในวัฒนธรรมไทยด้วยเช่นกัน

ชาวจ้วง เป็นกลุ่มชนที่พัฒนาสู่สังคมเกษตรกรรมได้เร็วเป็นชนกลุ่มแรก ๆ คือราวหมื่นปีที่แล้ว พวกเขารู้จักการปลูกข้าวตามริมน้ำ ปลูกพืชตระกูลถั่วและอ้อยในที่ดอน ชาวจ้วงจึงเห็นความสำคัญของน้ำ และฝน เพราะนี่คือเงื่อนไขสำคัญในการทำเกษตร เมื่อพวกเขาสังเกตเห็นว่ามักมีฟ้าร้องฟ้าผ่าก่อนฝนตก จึงคิดว่าฝนตกเพราะ “ฟ้าผ่า” และมีเทพเจ้าผู้ทำให้ฟ้าผ่า หรือ “เทพฟ้าผ่า” หรือเทพสายฟ้า ที่ได้รับความยำเกรงอย่างสูงในหมู่ชาวจ้วง

แน่นอนว่าบางครั้งฝนก็มาเป็นพายุลม เป็นฝนฟ้าคะนองที่กระหน่ำหนักจนเกิดน้ำท่วม เป็นอุทกภัยทำลายบ้านเรือน พื้นที่กสิกรรม และก่ออันตรายถึงชีวิตผู้คน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกินกำลังมนุษย์จะต้านทานได้ ทำได้เพียงอ้อนวอนเทพฟ้าผ่าว่าอย่าลงโทษมนุษย์ด้วยการบันดาลพายุฝนที่รุนแรงเลย

ในแถบลุ่มแม่น้ำหงสุ่ยเหอ (ถิ่นชาวจ้วง) เป็นเขตฝนตกหนัก แต่เต็มไปด้วยภูเขาหิน ท้องนาก็ซึมซับน้ำได้น้อย น้ำจึงมักเอ่อท่วมหลังฝนตกหนักเป็นประจำ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ภัยพิบัติจากฟ้าฝนมีเหตุจากพิโรธของเทพฟ้าผ่า ต้องมีการบวงสรวงบูชาเพื่อให้คลายความโกรธ ชุมชนชาวจ้วงจึงมีศาลเจ้าประจำหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยที่มี “ศาลเจ้าเทพฟ้าผ่า”

ชาวจ้วงยังเชื่อมโยงเทพฟ้าผ่ากับสัตว์ที่มีเอี่ยวกับฟ้าฝนอยู่เป็นประจำ คือ กบ เขียด ในภาษาจ้วงเรียกว่า “มะก่วย” เพราะเจ้าพวกนี้มักส่งเสียงร้องระงมก่อนฝนตก เนื่องจากพวกมันไวต่อความชื้นในอากาศ เมื่อพวกเขาจับสังเกตสัญชาตญาณดังกล่าวได้ จึงเกิดคติความเชื่อที่ว่า มะก่วย เป็นธิดาของเทพฟ้าผ่า เป็นทูตที่ท่านส่งลงมาอยู่ร่วมกับมนุษย์ และเป็นสื่อกลางระหว่างพวกเขากับเทพ ดังมีคำกล่าวว่า “มะก่วยร้อง ฟ้าก็ผ่าฝนก็ตก” เป็นที่มาของ “เทศกาลบูชามะก่วย”

เมื่อนวัตกรรมทางการเกษตรและความรู้เกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศยังไม่เจริญ ผู้คนจึงคิดเชื่อมโยงไปว่า “มะก่วย” สามารถเรียกฝนได้ เพราะเป็นทูตของเทพฟ้าผ่า มี “กลองสำริด” หรือ กลองมโหระทึก ที่ถูกนับถือให้เป็นอาวุธของเทพฟ้าผ่า มีอำนาจกำราบปราบน้ำท่วมได้ ดังปรากฏภาพเขียนสีบนหน้าผาแถบลุ่มแม่น้ำจั่วเจียง เป็นภาพขนาดใหญ่ของผู้คนจำนวนมากบูชากลองสำริด อาจสะท้อนถึงพิธีกรรมการบูชาเทพฟ้าผ่า ป้องกันน้ำท่วม

เรื่องกลองสำริดคือเทพศาสตรานี้ มีปรากฏในตำนานพื้นบ้านของชาวจ้วง เล่าว่า สมัยโบราณมีพี่น้องสามคนสร้างกลองสำริดเลียนแบบอาวุธวิเศษของเทพฟ้าผ่า โดยมี “กบ” บนหน้ากลองหกตัว ลำตัวมีปีกสองข้าง และสามารถบินไปมาได้ หากผีน้ำ หรือ “ตูเอ๋อ” สร้างคลื่นเอ่อท่วมทำลายพื้นที่ต่าง ๆ กลองสำริดจะบินลงไปในน้ำ ขจัดปัดเป่าภัยร้ายให้ผองชน

เทศกาลบูชามะก่วย ยังมีร่องรอยการบูชาเทพฟ้าผ่าและการกำราบน้ำ ด้วยการเซ่นบวงสรวงมะก่วยและกลองสำริดคู่กัน เริ่มจากหามกลองสำริดไปไว้ริมน้ำ แล้วแข่งกันประโคมตีกลองอยู่คนละฟากแม่น้ำให้เสียงดังกระหึ่ม เจตนาคือสร้างเสียงข่มขวัญเหล่าผีน้ำว่า เทพฟ้าผ่าผู้ยิ่งใหญ่มาถึงริมน้ำแล้ว (นะโว้ย) ผีน้ำจงอยู่แต่ในน้ำ อย่าออกมาสร้างความยุ่งเหยิงแก่แผ่นดิน

เทศกาลบูชามะก่วย จึงมีนัยทั้งบูชามะก่วยธิดาของเทพฟ้าผ่า ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล หรือการ “เรียกฝน” นั่นแหละ แต่ขณะเดียวกันการบูชาด้วยกลองสำริด อาวุธเทพฟ้าผ่า ก็เพื่อปัดเป่าผีน้ำที่อาจสร้างอุทกภัยไปด้วยเช่นกัน

อาจกล่าวได้ว่า มะก่วย กับ กลองสำริด คือตัวละครเอกในพิธีกรรมข้างต้น จึงเกี่ยวข้องกับความปรารถนาในการ “เจริญเผ่าพันธุ์” ของชาวจ้วง เพราะตั้งต้นจากความต้องการให้เผ่าพันธุ์ของตนกินดีอยู่ดี เพิ่มโอกาสในการอยู่รอด เพิ่มจำนวนประชากร และแคล้วคลาดจากภัยธรรมชาติ ความปรารถนาดังกล่าวยังปรากฏผ่านภาพเขียนสีบนหน้าผาแถบแม่น้ำจั่วเจียง ที่เป็นภาพอวัยวะเพศ ภาพการร่วมเพศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์โดยตรง รวมถึงภาพหญิงท้องโตที่บ่งบอกถึงการมีลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์เช่นกัน

หรืออย่าง “มะก่วย” ที่อาศัยอยู่ทั่วไปตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ก็เป็นสัญลักษณ์ของการ “มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง” ที่ชัดเจน เพราะออกไข่คราวละมาก ๆ บรรพบุรุษชาวจ้วงคงสังเกตเห็นพฤติกรรมนี้มานาน แล้วเชื่อมโยงเข้ากับการเจริญเผ่าพันธุ์ของตน คือปรารถนาให้เผ่าพันธุ์เจริญพันธุ์ได้ดี (เหมือนกบเขียด)

แม้แต่ เทศกาลบูชามะก่วย ยังมีนัยนี้ซ่อนอยู่ คือ ชาวจ้วงจะมองว่ามะก่วยล้วนเป็นเพศเมีย แล้วเรียกว่า “แม่นางมะก่วย” พร้อมจำลองรูปลักษณ์เพื่อบูชา บ้างเป็นลักษณะของหญิงตั้งครรภ์ เช่น ที่หมู่บ้านเฉียวโถตุน ในมณฑลกวางสี มีรูปจำหลักศิลาที่ “ศาลามะก่วย” แต่ส่วนใหญ่มักเป็นรูปกบประดับหน้ากลองสำริด รวมถึงรูป “กบซ้อน” แสดงการผสมพันธุ์ ก็เป็นสัญลักษณ์ของการแพร่ลูกหลานเช่นกัน

ปัจจุบันกลองสำริดในเทศกาลบูชามะก่วยไม่มีรูปกบประดับแล้ว แต่การบูชามะก่วย การโคมมโหระทึกยังพบได้ในแถบภาคเหนือของมณฑลกวางสีของจีน ส่วนภาคใต้แทบไม่มีพิธีดังกล่าวแล้ว แต่ก็พบร่องรอยหลักฐานมากมายทั้งภาพเขียนสีตามหน้าผาและซากกลองที่ขุดค้นพบ

ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ที่พิธีกรรมระดับพระราชพิธีเนื่องในพระมหากษัตริย์ของไทย ยังปรากฏการใช้กลองมโหระทึก (อย่างจริงจัง) อยู่หลายพิธี โดยเฉพาะพิธีที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์อย่างพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ รวมถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นี่จึงเป็นร่องรอยหลักฐานที่บ่งชี้ว่า คนไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับชาวจ้วงแห่งมณฑลกวางสี มีบรรพชนหรือความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมร่วมกันอยู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

บักหนาน ถงกู่. “บูชาเทพฟ้าผ่า เพื่อเจริญเผ่าพันธุ์”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539.

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, มิวเซียมสยาม. “ ‘คนกบแดง’ เพราะประกอบพิธีกรรมขอน้ำจากฟ้า จึงต้องทำท่าอย่างกบ”. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. จาก https://www.museumsiam.org/museumcore_Frog


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2567