ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กลองมโหระทึก ที่ค้นพบกันมักปรากฏรูปกบในจุดต่าง ๆ ที่มาของรูปกบนี้เชื่อมโยงกับความเชื่อของคนสมัยหนึ่งที่มองว่า กบ คางคก เขียด เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อฝนตก สัตว์จำพวกนี้จะปรากฏออกมาให้พบเห็น จึงมองกันว่าเป็นสัญลักษณ์เรียกฝน
ความเป็นมาของความเชื่อว่าด้วยเรื่องสัตว์สัญลักษณ์ของฝนและน้ำนั้น จากหนังสือ “พญาคันคาก หรือคางคกยกรบ” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายไว้ว่า คนโบราณนับถือว่า กบ คางคก เขียด เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของฝน น้ำ และความสมบูรณ์ มาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ปรากฏรูปกบประดับ กลองสำริด หรือ กลองมโหระทึก อันเป็นกลองไว้ใช้สำหรับตีขอฝน
ก่อนจะเอ่ยถึงกบบนกลอง เบื้องต้นคงต้องทำความเข้าใจมุมมองที่คนโบราณมีต่อ “กบ” อันเป็นสัตว์ที่มีผู้คนนับถือในหลายวัฒนธรรม
ความเชื่อเรื่อง “กบ”
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้เขียนบทความ “พญาคันคากบุกสวรรค์ปราบภัยแล้งสู้เทวดา” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2558 อธิบายไว้ว่า นอกจากเรื่องกบที่ปรากฏตัวพร้อมฝนแล้ว คนโบราณยังพิศวงกับวงจรชีวิตของกบและคางคก เนื่องจากพวกมันสามารถเปลี่ยนร่างจากลูกอ๊อดเป็นกบหรือคางคก ดังนั้น ในหลายวัฒนธรรมจึงถือว่าพวกมันเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ ชาวโอลเม็ก (Olmec) กลุ่มชนโบราณในอเมริกากลางเชื่อว่า คางคกเป็นเทพเจ้าแห่งการเกิดใหม่ ขณะที่หลายชนเผ่าในอเมริกาใต้และอเมริกากลางใช้พิษจากคางคกทำให้มึนเมาขณะทำพิธีกรรมทางศาสนา พลังอำนาจของกบและคางคกทั้งช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย และยังเป็นพิษร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม ในยุคกลางของยุโรป คางคกถูกมองเป็นสัตว์ร้ายเนื่องจากแม่มดหรือพ่อมดใช้เลือดของมันเป็นส่วนผสมของยาพิษ
สำหรับชาวจีน มีนิทานและตำนานหลายเรื่องที่คางคกเป็นผู้มีเวทมนตร์และทักษะทางมายา เป็นผู้เก็บความจริง พลังแห่งความลับของโลก และความลับของการเป็นอมตะ หรือในอีกหลายวัฒนธรรม กบและคางคกเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังชีวิต ความอุดสมบูรณ์ และการให้กำเนิดใหม่ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับน้ำและฝน ในอียิปต์ กบก็เป็นสัญลักษณ์ของน้ำและความอุดมสมบูรณ์
เมื่อเป็นดังนี้ จึงนำมาสู่การบรรยายต่อมาซึ่งพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อธิบายว่า ด้วยเหตุดังกล่าว กลองมโหระทึกจึงมักพบการประดับรูปกบบนหน้ากลอง ชาวกะเหรี่ยงเรียกกลองลักษณะนี้ว่า “กลองกบ” หรือ “ฆ้องกบ” ในไทยเรียก กลองมโหระทึก เริ่มเรียกเมื่อราว พ.ศ. 1900 ปรากฏในกฎมณเฑียรบาล แต่ไม่พบที่มาและความหมายของคำ (เจนจิรา เบญจพงศ์ 2555 : 324) หากเรียกโดยยึดตามวัสดุเป็นหลัก นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “กลองสำริด”
กลองสำริดที่ว่านี้ มีนักวิชาการสันนิษฐานว่า กำเนิดของการผลิตอาจมาจากวัฒนธรรมดองซอน (Dong Son) หรือ “ด่งเซิน” มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่เขตเวียดนามเหนือในลุ่มน้ำแดง เป็นวัฒนธรรมที่ผลิตกลองสำริดส่งออกไปค้าขายแลกเปลี่ยนยังหมู่บ้านแว่นแคว้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กลุ่มชนในวัฒนธรรมดองซอนถูกกล่าวถึงในเอกสารจีนว่า ก่อตัวเป็นบ้านเมืองระดับแคว้นเมื่อราว 2,000 ปีที่แล้ว (Higham 2014 : 200) ในเอกสารจีนได้กล่าวว่า ในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 587-617) เว้ย เซียง (Wei Zheng) บันทึกไว้ว่า “ในความแตกต่างของกลุ่มชาวเผ่าลาวได้ทำกลองสำริด ก่อนที่จะเข้าสู่สงคราม หัวหน้าเผ่าจะเรียกระดมนักรบของเผ่าด้วยการตีกลอง” และในเอกสารสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-906) บันทึกว่า ชนเผ่าป่าเถื่อนทางใต้ตีกลองเพื่อไว้ทุกข์ และระหว่างพิธีเฉลิมฉลอง (Higham 2014 : 200)
“ชนเผ่าป่าเถื่อนทางใต้” เป็นที่ยากเดาว่าเป็นกลุ่มใด พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อธิบายว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา กลุ่มชนต่าง ๆ ที่ใช้กลองสำริดในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นับตั้งแต่ขอฝนยันพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายมีการกล่าวถึงกลุ่มชนมากมาย หนังสือดนตรีอุษาคเนย์ (2555) พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ใช้กลองสำริดไว้ ได้แก่ ชาวจ้วง (พูดภาษาตระกูลไท) ชาวเมี่ยน (เย้า) ชาวม้งดำ (เหมียวดำ) กะเหรี่ยง และลาว เป็นต้น (เจนจิรา เบญจพงศ์ 2555 : 324-335) และยังมีอีกหลายกลุ่มที่ใช้กลองสำริด เช่น ขุม (ในลาว) ไทผู้ใหญ่ (ในยูนนาน)
บทความของพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ยังยกข้อมูลผลการวิจัยจากห้องแล็บว่า ได้ทดสอบเสียงของกลองสำริด พบว่าเสียงโทนต่ำของกลองสำริดที่ตีออกไปสามารถกระตุ้นให้กบร้องได้ ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องจริงที่เมื่อตีกลองสำริดแล้วจะมีเสียงของกบร้องตามมาด้วย ทำให้คนสมัยโบราณเชื่อว่าการตีกลองจะทำให้ฝนตกได้ (Cooler 1997 : 38)
นอกจากนี้ ในเอกสารของพม่ากล่าวว่า ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าชเวโบมิน (Shwebo-Min) หัวหน้าชาวกะเหรี่ยงชื่อว่าพับบาตาเทวราชา (Pabbata Devaraja) (แปลว่า ราชาแห่งภูเขา) นำของมาบรรณาการให้พระเจ้าชเวโบมิน สิ่งสำคัญที่นำมาถวายคือลูกสาวและกลองกบ เมื่อหัวหน้าชาวกะเหรี่ยงตายจะฝังกลองกบลงไปด้วย กลองที่ฝังลงไปนี้จะมีประเพณีทำให้กลองชำรุด เพราะถือกันว่าเป็นการปลดปล่อยผีกลอง (spirit of the drum) ให้เป็นอิสระและติดต่อวิญญาณของเจ้าของกลองไปยังโลกหน้า (Cooler 1997 : 35-37)
สรุปแล้ว กลองมโหระทึก คือกลองเรียกฝน ดังเห็นได้จากในพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่มีการใช้กลองมโหระทึกตีในพิธีกรรมก็เพื่อเป็นสัญญาณว่าฝนกำลังจะมา และคนที่เรียกฝนนั้นก็คือกบ
คำถามต่อมาคือ แล้วกบและคางคก ไปปรากฏบน กลองมโหระทึก ได้อย่างไร
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อธิบายว่า ในประเทศเวียดนามมีนิทานเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากมีชื่อว่า “ปู่คางคกบุกสวรรค์” เล่าว่า กาลครั้งหนึ่งได้เกิดความแห้งแล้งขึ้นบนโลก พืชพันธุ์และสัตว์ตายไปเป็นอันมาก ในสระน้ำแห้งเหือดแห่งหนึ่งมีคางคกน่ารังเกียจได้ตัดสินใจเดินทางเพื่อไปพบราชาแห่งสวรรค์ (King of Heaven) ระหว่างทางคางคกได้พบเพื่อนร่วมทางได้แก่ ปู หมี เสือ ผึ้ง และหมาจิ้งจอก เมื่อพวกมันได้ไปถึงประตูสวรรค์ คางคกได้มองเห็นกลองใบใหญ่ จากนั้นคางคกได้บอกเพื่อนของเขาว่า ปูจงเข้าไปในไหที่ใส่น้ำ ผึ้งจงอยู่หลังประตู หมาจิ้งจอก หมี และเสือให้ซ้อนอยู่ด้านข้างประตู
จากนั้นคางคกได้เอาไม้ตีกลอง 3 ทีเสียงดังสนั่น ราชาแห่งสวรรค์รู้สึกโกรธมากเมื่อได้เห็นคางคกผู้กล้าทำเสียงดังบนสวรรค์ และได้สั่งให้ไก่มาฆ่าคางคก แต่คางคกได้เรียกให้หมาจิ้งจอกมาช่วย จากนั้นราชาได้สั่งให้หมาสวรรค์มาปราบหมาจิ้งจอก เมื่อหมาสวรรค์มาใกล้กับประตู หมีได้โผล่ออกมาและฆ่าหมาทิ้งเสีย ราชาโกรธมากจึงได้เรียกให้ เทพเจ้าแห่งสายฟ้า (Thunder God) มาฆ่าหมี ทันใดนั้น เทพเจ้าแห่งสายฟ้าได้ถูกฝูงผึ้งที่ซ่อนอยู่หลังประตูต่อยเอา ร้องไห้เจ็บปวด เทพเจ้าแห่งสายฟ้ากระโดดหนีลงไปในไหใส่น้ำ ทันใดนั้น ปูที่ซ่อนอยู่ในไหก็เอาก้ามหนีบเทพเจ้าแห่งสายฟ้า ทำให้เทพเจ้าแห่งสายฟ้าต้องกระโดดออกมา แต่แล้วก็ต้องเจอกับเสือที่โผล่ออกมาต่อสู้ด้วย
“หยุด หยุด” ราชาแห่งสวรรค์ขอร้อง “ปู่คางคก บอกเพื่อนของเจ้าและเสือช่วยหยุดทำร้ายเทพเจ้าแห่งสายฟ้าทีเถอะ” เสือจึงหยุดทำร้ายเทพเจ้าแห่งสายฟ้า เมื่อเห็นว่าไม่อาจเอาชนะคางคกและเพื่อน ๆ ได้ ในที่สุดราชาแห่งสวรรค์จึงยอมต่อคางคก
“พระองค์ท่าน ฝนไม่ตกบนโลกมาช้านานแล้ว” ปู่คางคกพูด “ถ้าหากความแห้งแล้งยังดำเนินต่อไป สิ่งมีชีวิตบนโลกจะตายหมด พวกเราต้องการฝนสักครั้งเพื่อค้ำจุนชีวิตของพวกเราทั้งมวล”
ราชาแห่งสวรรค์เกรงว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกอาจจะปฏิวัติถ้าหากสัตว์ทั้งปวงไม่ได้รับฝน ดังนั้น ราชาจึงได้ตรัสกับคางคกด้วยความนุ่มนวลว่า “ปู่คางคก กลับไปบ้านไปเสีย แล้วฝนจะตกสู่โลกในทันใด”
แต่ก่อนที่คางคกและเพื่อนจะจากไป ราชาแห่งสวรรค์ได้พูดว่า “ปู่คางคก ในกาลข้างหน้า เมื่อพวกเจ้าต้องการฝน พวกเจ้าไม่ต้องมาที่สวรรค์อีก เพียงแค่ปู่คางคกส่งเสียงร้อง ข้าจะรู้ว่าข้าต้องปล่อยฝนลงไปสู่โลก”
เมื่อปู่คางคกกลับไปถึงโลก ฝนได้ตกลงในทุกที่ นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อคางคกส่งเสียงร้อง ฝนก็จะตกลงในทันใด
ดังนั้น ที่เรียกกันว่าเป็น “กบ” บนหน้ากลอง จึงอาจเป็น “คางคก” บนหน้ากลองก็ได้ สาเหตุที่คางคกมีอำนาจถึงขนาดปราบราชาแห่งสวรรค์ได้ ก็เพราะเราจะสังเกตได้ว่าก่อนที่ฝนจะตกนั้นทั้งคางคก กบ เขียดต่างจะออกมาร้องก่อนที่ฟ้าจะผ่าฝนจะตก ด้วยเพราะมันเป็นสัตว์ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของความชื้นในอากาศ คนโบราณจึงคิดว่าคางคกเป็นผู้กำหนดฟ้าฝนให้ตกตามฤดูกาล
สำหรับใน อีสาน ยังมีตำนานที่คล้ายกันคือ ตำนานพญาคันคาก ซึ่งในอีสานมีหลายสำนวน และยังแพร่หลายในลาว ถือเป็นตำนานโบราณสำคัญ เนื่องจากอธิบายความเชื่อของคนโบราณว่าบูชาคางคกเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีอำนาจเรียกน้ำฟ้าน้ำฝนจากพญาแถน (ผีฟ้า) ผู้เป็นใหญ่แห่งสวรรค์ จึงเป็นเหตุให้กลุ่มคนไทลาวนับถือผีฟ้าผีแถนเป็นเทวดาศักดิ์สิทธิ์ โดยมีโครงเรื่องคล้ายกับนิทานเรื่องปู่คางคกบุกสวรรค์ของเวียดนาม คือด้วยความแห้งแล้ง ทำให้คางคกบุกขึ้นไปบนสวรรค์พร้อมกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ เพื่อไปพบกับผู้เป็นใหญ่บนฟ้า
กรณีเวียดนามก็คือราชาแห่งสวรรค์ ส่วนไทลาวก็คือพญาแถนหรือผีฟ้า เมื่อบุกไปแล้วเจรจาไม่รู้เรื่องก็ต้องรบกัน ในที่สุดคางคกชนะพญาแถน และเป็นผู้กำหนดให้พญาแถนต้องส่งน้ำฟ้าลงมาเมื่อคางคกร้อง
อ่านเพิ่มเติม :
- ไลฟ์สดจาก ‘คำชะอี’ พบกลองมโหระทึก 2,500 ปี คาดใหญ่สุดในไทย
- ไป่เยว่ : บรรพบุรุษของชนชาติไทเท่านั้นหรือ?
- มโหระทึก ไม่ใช่เครื่องดนตรี
อ้างอิง :
เจนจิรา เบญจพงศ์. ดนตรีอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2555.
Cooler, Richard M. The Karen Bronze Drums of Burma : Types, Iconography, Manufacture, and Use. Brill Academic Publishers, 1997.
Higham, Charles. Early Mainland Southeast Asia : From First Humans to Angkor. Thailand : River Book, 2014.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความ “พญาคันคากบุกสวรรค์ปราบภัยแล้งสู้เทวดา” เขียนโดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2563