มโหระทึก ไม่ใช่เครื่องดนตรี

มโหระทึกเป็นเครื่องสูง ปัจจุบันในประเทศไทยใช้สำหรับพระราชพิธีเท่านั้น สอบถามจากพนักงานประโคมมโหระทึกทราบว่าปัจจุบันสำนักพระราชวังมีมโหระทึกใช้งานอยู่ห้าคู่

“กลองทอง” ในโคลงของเจ้าฟ้ากุ้งที่ยกมาข้างต้น น่าจะหมายถึงมโหระทึก จึงขอยกมาเป็นบทกวีนำเรื่อง

มโหระทึกเป็นของสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ ธรรมเนียมประโคมมโหระทึกได้สืบเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ยุคสำริดถึงยุคปัจจุบัน มันจึงน่าจะซ่อนเรื่องราวที่มีค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดี ไว้มากมาย

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมีความเห็นว่า กุญแจไขปัญหาประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนในสุวรรณภูมิแดนแห่งทอง (โลหะ) นี้อยู่ที่ยุคสำริด

ยุคสำริดก่อนที่ดินแดนนี้จะรับลัทธิความเชื่อจากอินเดียนั้น

วัตถุอันเป็นสัญลักษณ์มีความหมายสูงสุดก็คือ “มโหระทึก”

หลังจากรับลัทธิความเชื่อจากอินเดียแล้ว วัตถุอันเป็นสัญลักษณ์มีความหมายสูงสุดจึงเปลี่ยนเป็น “เทวรูป” และ/หรือ “พระพุทธรูป”

ทั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ทางเทคโนโลยีการหลอมและการหล่อโลหะ ที่หยั่งรากกำเนิดอยู่ในดินแดนนี้เอง

การนำเสนอเรื่อง “มโหระทึก” แท้จริงเป็นการพยายามร่างแบบคร่าวๆ ของประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ยุคสำริดนั่นอง

งานนี้เป็นงานที่ใหญ่เกินตัว ผมพยายามเก็บข้อมูลมานานหลายปี แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความสับสน การเขียนครั้งนี้ก็เป็นการเขียนไปค้นไปคิดไปเป็นรายเดือน ซึ่งต้องมีข้อบกพร่องมากมาย ขอท่านผู้รู้โปรดอภัยและช่วยแนะนำแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

ข้อมูลเท่าที่เคยมี

เรื่องมโหระทึกเป็นเรื่องสำคัญ แต่ข้อมูลที่เผยแพร่เป็นภาษาไทยยังมีไม่มาก ท่านที่สนใจควรเริ่มอ่านจากหนังสือ “สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย” ของ ศ.ชิน อยู่ดี บท “ยุคโลหะ” และ “วัฒนธรรมดองซอน”

นอกจากนั้น เท่าที่จำได้มีอยู่ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” วารสาร “ศิลปากร” และ “เมืองโบราณ” รวมทั้ง “ศิลปวัฒนธรรม” (ขออภัยที่บอกรายละเอียดมากกว่านั้นไม่ได้ เพราะจะต้องเสียเวลาค้นเป็นวันๆ)

และที่สำคัญควรจะอ่านหนังสือเรื่อง “คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งมีเนื้อหาบทหนึ่งอธิบายเรื่องมโหระทึกไว้ค่อนข้างมากและชัดเจน

มโหระทึก ไม่ใช่กลอง

โดยทั่วไปคนสมัยนี้มักเรียก “มโหระทึก” ว่า “กลองมโหระทึก” เพราะรูปร่างคล้ายกลองและใช้ “ตี” แต่ถ้าแบ่งประเภทกันอย่างเข้มงวดแล้ว มโหระทึกไม่ใช่กลอง Drum ตามวิชาการดนตรีตะวันตก

“โดยทั่วไปแล้วความหมายในทางดนตรีของ Drum ‘กลอง’ คือเครื่องดนตรีที่ใช้หนัง (หรือทางตะวันตกอาจใช้วัตถุสังเคราะห์) ขึงตึงปิดครอบวัตถุที่กลวง ส่วนตรงข้ามกับที่ขึงหนังอาจจะปิด (เช่นถ้ามันเป็นรูปถ้วย) หรือเปิด หรืออาจจะปิดด้วยหนังอีกแผ่นหนึ่ง

ตามคำจำกัดความนี้ สิ่งที่เรียกกันว่า “กลอง” Drum ในอุษาคเนย์จึงไม่ใช่กลอง กลองสำริด (มโหระทึก) ที่กล่าวถึงในบทที่ ๒ หน้า ๒๑ คือตัวอย่าง มันมิใช่ “membranophone” หน้ากลองที่ใช้ตีมิได้ทำด้วยหนัง ตัวอย่างที่คล้ายๆ กันนี้ก็คือพวก “กลองไม้” (โปง) “Slit-drum” แบบต่างๆ ที่ทำโดยเจาะหรือเผารู้ข้างๆ ท่อนไม้กลวง เช่น Kullkul ของชาวบาหลี โปง Slit drums ความจริงแล้วใช้ในการให้สัญญาณมากกว่าจะใช้เป็นเครื่องดนตรีจริงจัง (Musical Instruments of South-East Asia โดย Eric Taylor สำนักพิมพ์ Oxford University)

มโหระทึก ไม่ใช่เครื่องดนตรี

ต้องเริ่มด้วยคำนี้ มิฉะนั้นจะหลงทางการค้นคว้าศึกษาได้

ถ้าจัดมโหระทึกเป็นเครื่องดนตรี ก็จะไม่เข้าใจความหมายและบทบาทของมโหระทึกในสมัยแรกเริ่ม และจะสับสนใจการสืบค้นต้นตอของมโหระทึก เพราะจะมัวคิดแต่เปรียบเทียบกับเครื่องดนตรีแบบต่างๆ

มโหระทึกใช้ตีประโคมก็จริง แต่จะจัดเป็นเครื่องดนตรีก็กระไรอยู่

ปัจจุบันในประเทศไทยใช้ในพระราชพิธี ในกวางสี, กุ้ยโจว ชนชาติบางชนชาติยังใช่ตีประโคมในพิธีประจำปีและพิธีศพ

เท่าที่พบหลักฐานทางโบราณดคี และหลักฐานในจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ของจีน บทบาทของมโหระทึกมีหลายประการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและกลุ่มชนที่ใช้

ยิ่งศึกษามาก ก็เห็นข้อแตกต่างออกไปมาก

แต่ที่สรุปได้ค่อนข้างตรงกันแน่นอนคือ มโหระทึกเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม และคนที่ไม่ธรรมดาจึงจะมีมโหระทึกใช้

คตินิยมนี้สืบทอดมาตั้งแต่ยุคสำริดถึงทุกวันนี้

หัวข้อศึกษา

เมื่อจับเรื่องมโหระทึกขึ้นมา ปัญหาข้อสงสัยก็จะตามมามากมาย ผมลองประมวลออกมาเท่าที่จะนึกได้ขณะนี้ ดังเช่น

๑. ปัญหาการแบ่งประเภท การกำหนดอายุ

มีการค้นพบมโหระทึกตั้งแต่แถบใต้แยงซีเกียงลงมา จนถึงหมู่เกาะเกือบชิดออสเตรเลีย

มะโหระทึกที่พบมีลักษณะโดยรวมคล้ายกัน แต่ก็มีจุดแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด นักวิชาการจึงต้องพยายามแบ่งหมวดหมู่และจัดช่วงอายุ เพื่อสะดวกในการศึกษา

การจัดแบ่งที่นักวิชาการทั่วไปคุ้นเคยคือ แบ่งระบบเฮเกอร์ มีแบบก่อนเฮเกอร์ เฮเกอร์ ๑ เฮเกอร์ ๒ เฮเกอร์ ๓ เฮเกอร์ ๔ (ดูรายละเอียดใน “สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย” – ชิน อยู่ดี)

แบบก่อนเฮเกอร์ คือมโหระทึกแบบวัฒนธรรม “เตียน” ที่ขุดพบในยูนนาน

แบบเฮเกอร์ ๑ คือมโหระทึกแบบวัฒนธรรมดองซอนในเวียดนาม และในกวางสีบางส่วน

แบบเฮเกอร์ ๒ คือมโหระทึกที่พบส่วนใหญ่ในกวางสีและกวางตุ้ง

แบบเฮเกอร์ ๓ คือมโหระทึกที่พบทางตอนใต้กวางสี ลาว ไทย กะเหรี่ยง เป็นแบบที่เรามักเรียกว่ากลองกะเหรี่ยง รูปทรงก็เป็นแบบที่ใช้ในพระราชพิธีทุกวันนี้

แบบเฮเกอร์ ๔ คือมโหระทึกที่พบในกุ้ยโจว และแถบเหนือขึ้นไปเล็กน้อย ส่วนใหญ่พบแพร่หลายในหมู่ชาวม้ง ชาวเย้า

ในเรื่องการจัดแบ่งหมวดหมู่นี้ นักวิชาการจีนซึ่งได้ข้อมูลเกี่ยวกับมโหระทึกไว้มากที่สุดในโลก (พบมโหระทึกในจีนแถบกวางสี ยูนนาน กวางตุ้ง กุ้ยโจว มีจำนวนมากที่สุดในโลก) เห็นว่าการจัดระบบเฮเกอร์ยังไม่สมบูรณ์ จึงพยายามจัดใหม่ ซึ่งรายละเอียดผมจะนำเสนอในบทต่อๆ ไป

๒. ปัญหาแย่งกันว่าใครเป็นต้นตอเก่าแก่ที่สุด และเส้นทางการกระจายตัวออกไปของวัฒนธรรมมโหระทึก

ปัญหานี้เวียดนามกับจีนพยายามแย่งกันอยู่ว่าใครจะเก่าแก่กว่ากันแน่ระหว่างมโหระทึกดองซอนกับมโหระทึกเตียน

๓. มโหระทึกใช้ทำอะไรแน่ และมันมีความเป็นมาอย่างไร

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ทางวิชามานุษยวิทยาเลยทีเดียว

เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคติการบูชากายแม่ (ใช้สัญลักษณ์คือน้ำเต้า) ซึ่งมีมาก่อนคติบูชาโทเทม totem เสียอีก

๔. ลวดลายและรูปประกอบมโหระทึก จะตีความกันอย่างไรเพื่อที่เราจะเข้าใจสภาพสังคม คติความเชื่อ วัฒนธรรม และอื่นๆ ของกลุ่มชนที่ใช้มโหระทึก

๕. เทคโนโลยีการหล่อ แหล่งโลหะ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งโลหะ จะมีความสำคัญมาก จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนภาคใต้ของจีนกับตงง้วนนั้นมีแหล่งแร่ดีบุกและตะกั่วอยู่ที่ไหน ผมอ่านตำราเกี่ยวกับยุคสำริดเขียนโดยคนจีนหลายเล่ม ยังไม่มีใครบอกได้ชัดว่า แหล่งดีบุก แหล่งตะกั่วในตงง้วนมีหรือไม่อยู่ที่ไหน เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ว่า การหล่อสำริดต้องมีดีบุก และ/หรือ ตะกั่วเป็นส่วนผสมด้วย ทองแดงนั้นตงง้วนมี แต่ดีบุกจะมีหรือ

“ตู้ไหน่ซง” เขียนไว้ในหนังสือ “อธิบายเรื่องเครื่องสำริดยุคโบราณของจีน” หน้า ๖๓ ว่า “แหล่งดีบุก โดยทั่วไปมีแถบภาคใต้ของแยงซีเกียงลงไป” โดยอ้างหลักฐานจดหมายเหตุโบราณ ผมก็คิดต่อว่า ถ้าไม่มีดีบุก ตงง้วนจะเป็นต้นตอของเทคโนโลยีการหล่อสำริดตามที่พวกตงง้วนนิยมอ้างได้อย่างไร

ยกหัวข้อใหญ่ๆ เท่านี้ก่อน เมื่อลงเรื่องย่อยลงไปก็จะยิ่งสนุก อย่างเช่น ลำพังเรื่องกบบนหน้ามโหระทึกเรื่องเดียว ก็มีเรื่องต้องเขียนกันมากมาย หรืออย่างเรื่องน้ำเต้า นักวิชาการที่คุนหมิงเขียนเสนอทฤษฎี “บูชากายแม่” (น้ำเต้า) ไว้หลายเล่มหนาหลายร้อยหนา เพราะฉะนั้นเรื่องมโหระทึกนี้จะยาวกว่าหนึ่งปีแน่

และเนื่องจากเป็นการค้นไปเขียนไป ดังนั้นเนื้อหาอาจจะสะดุด กระโดดไปกระโดดมาบ้าง ขอได้โปรดเห็นใจล่วงหน้าด้วยครับ


หมายเหตุ: 


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 30 มกราคม พ.ศ.2560