ถอดความหมายคำว่า “ดนตรี” ที่แต่เดิมไม่ได้หมายถึงการดีดสีตีเป่า

มโหระทึก หรือฆ้อง/กลองสัมฤทธิ์ พบที่อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือ “สุวรรณภูมิ ต้นกระแสประวัติศาสตร์ไทย” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ)

เดิมทีดูเหมือนคนที่พูดภาษาตระกูลไต-ลาว เคยเรียก ดนตรี ว่า “การร่ายรำทำเพลง” หรือการ “ดีดสีตีเป่า”

คำว่า “ดนตรี” น่าจะเป็นคำที่เข้ามาภายหลัง, เพราะเป็นคำสันสกฤต “ดนตรี” (Tantri) ซึ่งแผลงมาจาก “ตนฺตฺระ” คือคัมภีร์พิธีกรรมเสกเป่าที่รักษาเป็นความลับ ผู้ที่จะรู้ตันตระต้องมีครูบาอาจารย์คอยสอน, คอยคุม และเมื่อเรียนรู้วิชชาแตกฉานพร้อมทั้งมีศีลมีธรรม, ครูจะคอยเสกเป่าให้เป็นครูสืบทอดวิชชาต่อไป

Advertisement

คำว่าดนตรี (ตนฺตฺรี) ควรเทียบกับคำชาตรี ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจาก “ศาสฺตฺรี” ผู้รู้คัมภีร์ “ศาสฺตฺระ” หรือความรู้ที่เปิดเผย, เช่น ธรรมศาสตร์, คชศาสตร์, โหราศาสตร์, ศิลปศาสตร์ เป็นต้น ส่วน “ดนตรี” นั้น เป็นผู้รู้วิชชาลี้ลับรวมทั้งพิธีกรรมบางอย่างที่คนทั่วไปไม่มีสิทธิรู้

คำ “ดนตรี” น่าจะเข้ามาในภาษาไทยผ่านภาษาเขมร “นักดนตรี” คือผู้รู้ความลับ ต่อมาคำดนตรีคงหลุดออกจากคำว่า “นัก” แล้วกลายความหมาย, จนหมายถึงกิจการหรือวิชชาของผู้วิเศษกลุ่มหนึ่งหรือกลุ่มต่างๆ

คำ “ดนตรี” ติดตามในวรรณกรรมไทยโบราณได้ยาก, แต่ในกฎมณเฑียรบาล (ซึ่งนักปราชญ์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเก่ามาก) ปรากฏคำว่า “ขุนดนตรี” เป็นข้าราชการพราหมณ์ในราชสำนัก, มีหน้าที่ “ตีกลองโหรทึก” (ซึ่งจะหมายถึงกลองมโหรทึกที่รู้จักทุกวันนี้, หรือกลองบัณเฑาะว์, เป็นคนละประเด็น), ดูคล้ายกับว่าจะเป็นผู้คุมดนตรีในราชสำนักและน่าจะมีหน้าที่สำคัญทางพระราชพิธีอีกด้วย

ถ้าหากว่า “กลองโหรทึก” หมายถึงบัณเฑาะว์ ก็หมายความว่า “ขุนดนตรี” เป็นใหญ่ฝ่ายพราหมณ์เพราะเป็นผู้กำหนดฤกษ์ยามแม่นยำ หาก “โหรทึก” หมายถึงกลองมโหรทึก ก็อาจจะหมายความว่า ขุนดนตรีเป็นหมอผีรุ่นเก่าก่อนที่พราหมณ์เข้ามา เพราะชาวอุษาคเนย์มีกลองสำริดเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ดนตรีในอุษาคเนย์, ทุกชาติทุกภาษา, เต็มไปด้วยพิธีกรรม, ความลี้ลับ, ข้อห้าม และความศักดิ์สิทธิ์ ดนตรีตระกูลต่างๆ ในอุษาคเนย์, แม้จะเป็นของอุษาคเนย์ล้วน, ไม่มีส่วนคล้ายดนตรีอินเดีย(อินเดียไม่เรียกว่า “ดนตรี”, แต่ใช้คำว่า “วาทย์” การโต้ตอบ (ประสานเสียง), “ตุริยะ” เครื่องสาย, หรือ “สังคีต” การประชันเพลง) เมื่อชาวอุษาคเนย์เริ่มคบค้ากับชาวอินเดีย, เขานำคำสันสกฤตมาใช้มาก, เช่น “พิณพาทย์”, “ดุริยางค์” และ “สังคีต”, แต่คำหลักๆ ที่ไทยเลือกไว้เพื่อเรียกการร่ายรำทำเพลงของเขาคือ “ดนตรี”, ความรู้ลี้ลับในคัมภีร์ต้องห้าม

ทั้งนี้คงเป็นเพราะในสมัยก่อนประวัติศาสตร์, ก่อนที่ไทยจะรู้จักกับภาษาอินเดีย, การร่ายรำทำเพลงพื้นเมืองเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์, มีข้อหวงห้าม

เมื่อชนชาติที่พูดภาษาไต-ลาวเริ่มเรียนรู้ภาษาอินเดีย, เขาไม่คิดจะผนวกการร่ายรำทำเพลงของตนไว้ในหมวด “ศาสตระ” (ความรู้ที่เปิดเผย) แต่ผนวกไว้ในหมวด “ตันตระ” หรือ “ดนตรี” (ความรู้ลี้ลับต้องห้าม)

ชื่อเครื่องดนตรี

คำว่า “ปี่”, “ขลุ่ย” ไม่เป็นปัญหาเพราะดูเป็นคำไทยที่ใครๆ เข้าใจดี คำว่า “พิณ” ก็ง่ายเช่นกัน เพราะตรงกับเครื่องสายของอินเดีย “Vina” และ “ปี่ไฉน” ตรงกับ “Chanai”, “Soranai” ของเปอร์เซีย

แต่คำว่า “พาทย์” เป็นปัญหา ดูจากรูปศัพท์ก็รู้ว่า “พาทยะ” เป็นคำสันสกฤต, แต่อาจารย์ไทยบางคนว่า “พาทย์” หมายถึง “ฆ้องวง” ทั้งๆ ที่อินเดียไม่รู้จักระนาดหรือฆ้องวง

แม้อินเดียจะไม่มีระนาดหรือฆ้องวง, แต่เขามีเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งคล้ายฆ้องวง นั่นคือถ้วยแก้วหลายใบใส่น้ำตั้งแต่มากถึงน้อย, ทำเป็นโน้ตต่ำถึงสูง, วางเป็นวงรอบคนตรีแล้วตีได้เหมือนฆ้องวง เครื่องดนตรีชนิดนี้มีกล่าวถึงในวรรณกรรมเก่าแก่, จึงไม่ใช่ของที่คิดขึ้นมาใหม่

ในบรรดาชื่อวงถ้วยแก้วนี้มี :-

1. ชลตรังคัม (คลื่นน้ำ)
2. ชลมณฑลัม (วงน้ำ) และ
3. ชลวาทยัม (พาทย์น้ำ?)

เป็นที่รู้ๆ อยู่ว่าอุษาคเนย์หล่อสำริดได้ก่อนอินเดีย, มีฆ้องก่อนอินเดีย (อินเดียมีแต่แผ่นโลหะ (คังสะ) ที่ตีดังแช้งๆ) แล้วไหนมาก่อน ฆ้องวงในอุษาคเนย์? หรือชลวาทยัมในอินเดีย?

ผมไม่มีคำตอบและไม่เชื่อว่าจะหาคำตอบได้ เพราะชลวาทยัมใช้แล้วก็ยกเลิกไป, ฆ้องวงนานเข้าตัวรางผุเน่าเหลือแต่ฆ้องกระจัดกระจาย, จนไม่มีหลักฐานเก่าเหลือ แม้ฆ้องแต่ละใบอาจจะถูกส่งไปละลายเป็นโลหะหล่อเป็นพระพุทธรูป, ใครจะไปรู้?

บังเอิญเรารู้แน่ว่าวัฒนธรรมดองซอนมีกลองสำริดแน่ๆ, แต่ไม่รู้ว่าวัฒนธรรมบ้านเชียงมีฆ้อง ผมได้แต่เดาว่าบ้านเชียงน่าจะมีฆ้อง, แต่ยังคงไม่มีฆ้องวง หรือท่านผู้อ่านว่าอย่างไร?

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2560