เผยแพร่ |
---|
ภาพเขียนสีบนผาหินฮวาซาน (Huashan Rock Art) หรือที่คนจ้วงเรียกว่า “ผาลาย” อยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำหนิงเจียง อำเภอหนิงหมิง มณฑลกวางสี ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจ้วง อันมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับไทยใหญ่และลาว
อาจารย์เจีย แยนจอง แห่งมหาวิทยาลัยยูนนาน กล่าวถึงภาพเขียนชุดนี้ไว้เมื่อ พ.ศ. 2532 ว่า
“ภาพเขียนสีผาลาย หมายถึงภาพเขียนสีบนหน้าผาหินปูนตามชายฝั่งหนิงเจียง แห่งอำเภอหนิงหมิง และสองฟากแม่น้ำจ่อเจียง แห่งอำเภอหลงโจว อำเภอฉงจ่อ และอำเภอฝูซุย…ในจำนวนภาพที่พบแล้วในขณะนี้รวม 50 ภาพนั้น ภาพที่วาดไว้บนหน้าผาภูผาลาย แห่งอำเภอหนิงหมิง นับว่าเป็นภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีรูปหุ่นตัวบุคคลมากที่สุด และเนื้อความที่บรรจุไว้ในภาพก็ค่อนข้างสลับซับซ้อน ฉะนั้น คนทั้งหลายก็เลยให้ชื่อภาพหน้าผาที่มีอยู่ตามริมแม่น้ำสายนี้ทั้งหมดว่า ภาพหน้าผาฮวาซาน ภาษาจ้วงเรียกว่า ‘ผาลาย’
ภาพเขียนสีผาลายนี้ ส่วนใหญ่ที่สุดอยู่บนผาของภูสูงๆ ริมฝั่งหนิงเจียงและจ่อเจียง เป็นระยะยาวหลายร้อยกิโลเมตร ขนาดของแต่ละภาพ ใหญ่ที่สุดกว้าง 3 เมตร เล็กที่สุดกว้าง 40-50 เซนติเมตร วาดด้วยสีที่ค่อนไปทางแดง ชั้นของสีหนาเท่าเปลือกไข่ ยังชัดเจนสดใส แต่ละภาพมีรูปคนบ้าง รูปสัตว์บ้าง ลายเส้นวงกลมบ้าง เป็นลวดลายที่ง่ายๆ
จดหมายเหตุแคว้นหนิงหมิงบันทึกไว้ว่า ‘ภูฮวาซานห่างจากเมือง 50 ลี้ หน้าผามีรูปคนสีแดงโดยธรรมชาติ ล้วนเปลือย ใหญ่บ้างเล็กบ้าง บ้างถือโล่ถือหอก บ้างก็ขี่ม้า…อนึ่ง ตลอดสองฝั่งแม่น้ำ ภาพหน้าผาแบบนี้มีมากแห่ง’
นักวิชาการทางกวางสีประมาณกันว่า ภาพเหล่านี้ทยอยสร้างขึ้นนับแต่สมัยฉินและฮั่น จนถึงหยวน เป็นเวลานานถึง 2,000 ปี ภาพเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่ออะไร? นักวิชาการหลายท่านยังมีความเห็นต่างกัน บ้างว่าเป็นภาพการกินน้ำสาบานก่อนออกรบ บ้างว่าเป็นภาพเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และบ้างก็ว่าเป็นภาพแสดงถึงการจับปลาล่าสัตว์ของบรรพบุรุษเผ่าจ้วงในสมัยโบราณ เป็นภาพบวงสรวงอุทกเทพ ข้อสังเกตของผู้ให้ความเห็นคือ ภาพเหล่านี้ล้วนอยู่ในบริเวณใกล้วังวนตรงโค้งน้ำ”
ขณะที่ศาสตราจารย์ฟ่าน โหงวกุ้ย ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชนชาติกวางสี และศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยวัฒนธรรมจีนกวางสี เป็นผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาพฮวาซานมายาวนานหลายสิบปี ได้กล่าวถึงภาพเขียนชุดนี้ว่า
“…คำถามที่ยังติดค้างในเรื่องของผาหินแห่งนี้มีอยู่หลายปัญหา ปัจจุบันเพิ่งมีการค้นพบคำตอบได้เพียงปัญหาเดียว คือภาพเขียนสีแดงที่ผาหิน เขียนขึ้นเมื่อใด ประมาณปีไหน คำตอบที่พบ ได้มาจากการตรวจสอบวัดอายุด้วยคาร์บอน 14 ถึงได้รู้ว่าผาหินฮวาซานมีอายุราว 2,200-2,700 ปีมาแล้ว
ก่อนหน้านี้เราเคยเชิญนักวิชาการทั่วประเทศจีนจำนวน 100 กว่าคน มาประชุมศึกษาปัญหาที่ยังติดค้างอยู่ของภาพเขียนสีที่ผาหิน แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ คำถามแรกก็คือ ข้อสงสัยที่ว่า สีแดงที่ใช้วาดภาพบนผาหินมีอายุเวลาไม่ต่ำกว่า 2,200 ปีมาแล้ว หากทำไมความชัดเจนจึงยังเหมือนเดิม? ทำไมสีแดงนั้นจึงสดกระจ่างมาอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง? วัตถุดิบที่นำมาใช้ทำสีวาดภาพทำมาจากอะไรกันแน่? ทำไมจึงอยู่ยาวนานมาได้ถึงขนาดนี้?
เคยมีคนอเมริกันมาตรวจสอบภาพบนผาหิน เขาบอกเราว่า ถ้ามีบริษัทไหนในโลกสามารถผลิตสีวาดภาพได้สดชัด มีอายุยาวนานหลายพันปีแบบสีภาพเขียนของผาหินได้ จะต้องถือว่าเก่งมาก ๆ มีอาจารย์ทางด้านเคมีของมหาวิทยาลัยชนชาติกวางสี เคยขูดเอาสีจากภาพเขียนของผาหินไปตรวจสอบวิจัย ทดลองว่าทำขึ้นจากองค์ประกอบอะไรบ้าง และได้พยายามทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อลองเอาสีที่ทำเลียนแบบนี้ไปวาดภาพดู เพียงเอาพัดลมเป่าอยู่ไม่กี่วัน ภาพก็เลือนจางหายไปแล้ว ดังนั้น กับคำถามพื้นฐานที่สุด ว่าวัตถุดิบที่ใช้วาดภาพทำด้วยอะไร เรายังหาคำตอบไม่ได้จนบัดนี้
ข้อสงสัยที่ 2 ก็คือ คนโบราณเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน พวกเขาขึ้นไปวาดภาพบนผาหินแห่งนั้นได้อย่างไร? เราจะเห็นได้ว่า ภาพบนผาหินนี้อยู่ริมน้ำ ภูเขาก็สูงชันมาก ถ้าปีนไปวาดภาพจากยอดเขาลงมา จะต้องใช้เชือกโหนตัวลงมาห้อยอยู่จึงจะวาดภาพได้ แต่บนผาหินฮวาซานนั้น มีบางส่วนที่เว้าเข้าไปอยู่ด้วย ตรงที่เว้าเข้าไป จะไปห้อยตัวโหนเชือกวาดภาพอยู่ได้อย่างไรเล่า? หากจะมีการวาดภาพจากข้างล่างขึ้นไปหายอดเขา ก็ต้องทำนั่งร้านไปนั่งวาดภาพกัน แต่ผาหินนี้อยู่ประชิดผิวน้ำ พื้นล่างเป็นห้วงน้ำลึกทั้งนั้น แล้วจะทำนั่งร้านไต่ขึ้นไปวาดภาพกันได้อย่างไร?
ข้อสงสัยที่ 3 ภาพเขียนสีที่ผาหินฮวาซานอยู่ริมน้ำทั้งหมด ทำไมคนโบราณถึงไปเลือกวาดภาพที่ริมน้ำ? ข้อสงสัยที่ 4 ทำไมทุกจุดที่มีการวาดภาพ จึงเป็นอ่าว เป็นแนวโค้งของแม่น้ำทั้งสิ้น ต้องเป็นโค้งอ่าวจึงจะมีการวาดภาพ เป็นแบบนี้เพราะอะไร?
ข้อสงสัยที่ 5 ภาพที่วาดไว้ ต้องการแสดงถึงความหมายอะไร? ยังไม่มีใครรู้คำตอบอย่างแท้จริง แต่มีการพยายามอธิบายตีความกันเยอะมากๆ บางคนบอกว่าเป็นเรื่องสงครามการต่อสู้ บางคนว่าเป็นการประกวดร้องเพลง บ้างว่าเป็นลักษณะการจดจารอักษรภาพไว้เสมือนบันทึกโบราณ เพราะแต่เดิมยังไม่มีตัวอักษร จึงใช้ภาพจารึกเป็นอักษรภาพไว้
ข้อสงสัยสุดท้ายคือ แล้วจิตรกรโบราณที่วาดภาพไว้ เขาใช้เครื่องมืออะไรในการวาดภาพ? บางคนสันนิษฐานว่าใช้ไม้กวาด ผมสงสัยว่าถ้าเป็นไม้กวาดจะวาดได้อย่างไร ลองให้คนปัจจุบันเอาไม้กวาดขึ้นไปวาดภาพดูบ้างเถอะ ทำไม่ได้หรอก แล้วคนโบราณจะเอาไม้กวาดมาวาดภาพเข้าไปได้อย่างไร นี่เป็นข้อสงสัยที่สำคัญเช่นกัน… หลายปีก่อนผมเคยจัดงานสัมมนาศึกษาถึงภาพเขียนชุดนี้ นักวิชาการจีนบางคนสงสัยว่า อาจเป็นการทำพิธีกรรมอะไรสักอย่าง เช่น เตรียมจับสัตว์ร้ายในแม่น้ำ…”
ปัจจุบัน ภาพเขียนสีบนผาหินฮวาซานนี้ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 49 ของประเทศจีน
อ้างอิง :
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. (พฤศจิกายน, 2558). ปริศนาในภาพเขียนสีที่แผ่นดินจ้วง. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 : ฉบับที่ 1.
Zuojiang Huashan Rock Art Cultural Landscape – UNESCO World Heritage. Access 3 July 2020, from https://www.chinadiscovery.com/guangxi/zuojiang-huashan-rock-art-cultural-landscape.html
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563