“เล่นว่าว” สมัยอยุธยา ใครพลาดเล่นข้ามพระราชวัง มีโทษถึงขั้นตัดมือ!

เล่นว่าว ละครพรหมลิขิต
การเล่นว่าวในละครเรื่องพรหมลิขิต (ภาพจาก เฟซบุ๊ก Ch3Thailand)

“เล่นว่าว” หรือ “ชักว่าว” เป็นการละเล่นที่อยู่คู่สังคมไทยมาเนิ่นนาน แต่รู้ไหมว่าย้อนไปสมัย กรุงศรีอยุธยา หากเล่นว่าวผิดที่ โทษทัณฑ์ที่ได้รับคือการถูกตัดมือ!

ปรีดี หงษ์สต้น เล่าเรื่องนี้ตอนหนึ่งไว้ในบทความ “การเมืองเรื่องชักว่าว : การให้ความหมายใหม่ต่อการเล่นว่าวพนันในสมัยรัชกาลที่ ๕” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน ปี 2553 ว่า มีบันทึกเกี่ยวกับการเล่นว่าวอยู่อย่างกระจัดกระจายอยู่แทบทุกยุคทุกสมัย

ช่วงก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ บันทึกเกี่ยวกับการเล่นว่าวมักเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของราชสำนัก หรือเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ตัวอย่างเช่น พงศาวดารเหนือ ที่ระบุว่า “…แลพระยาร่วงขณะนั้นคะนองนัก มักเล่นเบี้ยแลเล่นว่าว…” ทั้งยังปรากฏในทวาทศมาสโคลงดั้นต้นยุคกรุงศรีอยุธยา ตำราพระราชพิธีเก่า กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกของเจ้าฟ้ากุ้ง พงศาวดารเมืองละแวก รวมทั้งยังมีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์

เล่นว่าว ที่เป็นส่วนประกอบของพิธีกรรม ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม หมายความว่า การชักว่าวขึ้นมิได้เป็นเพียงเพื่อความศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ว่าวยังมีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นเครื่องวัดลมในเดือนอ้ายและเดือนยี่ ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวที่จะมาถึงหลังจากฤดูฝนในเดือนสิบเอ็ดและเดือน 12

การชักว่าวขึ้นก็เพื่อจะได้สามารถสังเกตความแรงของลมว่า จะพัดน้ำลดลงเร็วแค่ไหน และจะส่งผลให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า ฤดูเก็บเกี่ยวจะมาถึงเร็วหรือช้า ข้อสังเกตของลาลูแบร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสะท้อนความจำเป็นของว่าวได้เป็นอย่างดี โดยบันทึกไว้ว่า ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามปรากฏให้เห็นในท้องฟ้าทุกคืนตลอดระยะเวลาสองเดือนของฤดูหนาว และทรงแต่งตั้งขุนนางให้คอยผลัดเปลี่ยนเวรถือสายป่านไว้

ปรีดี บอกอีกว่า การที่การชักว่าวมีความสำคัญในช่วงดังกล่าว น่าจะเป็นเพราะการค้าข้าวในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการขยายตัวมาก จึงต้องอาศัยความแม่นยำในการดูฤดูเก็บเกี่ยว เป็นที่น่าสันนิษฐานว่า กฎหมายเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งห้ามการเล่นว่าวข้ามพระราชวัง หากละเมิดมีโทษถึงตัดมือ

นอกจากเพื่อป้องกันการลบหลู่และความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างในวังแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเพราะต้องการป้องกันไม่ให้ว่าวของชาวบ้านไปทำให้เกิดความสับสนกับว่าวในวัง ที่กำลังทำหน้าที่สำคัญ คือ เป็นเครื่องวัดลมอยู่ก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2566