“ศาลาเฉลิมไทย” โรงหนังสแตนด์ อโลน ในตำนาน ความทรงจำครั้งสุดท้ายในยุค 90s

โรงหนัง ศาลาเฉลิมไทย
ศาลาเฉลิมไทย

ก่อนจะมี โรงหนัง แฟรนไชส์ที่ขยายไปทั่วภูมิภาคอย่างปัจจุบัน ประเทศไทยก็เคยมียุคเฟื่องฟูของ “โรงหนังสแตนด์ อโลน” มาก่อน อาทิ สกาลา, ศาลาเฉลิมกรุง รวมไปถึง “ศาลาเฉลิมไทย”

“ศาลาเฉลิมไทย” ถือเป็นโรงหนังสแตนด์ อโลน แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากครั้งอดีต อาคารแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตัดกับถนนมหาไชย โครงการดังกล่าวริเริ่มขึ้นจากกลุ่มนักธุรกิจบันเทิงและมหรสพ ร่วมมือกับ บริษัท ศิลป์ไทย จำกัด ก่อนที่พวกเขาจะติดต่อขอเช่าสถานที่เพื่อสร้างอาคารขึ้น 

เวลาผ่านไปไม่นาน ตึกอาคารแห่งนี้ก็กลายมาเป็นโรงหนังที่สวยและทันสมัยที่สุดเลยก็ว่าได้ ทั้งหมดตกแต่งด้วยวัสดุอุปกรณ์ชั้นเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น วัสดุกันเสียงสะเทือน เวทีขนาดใหญ่ที่สามารถเลื่อนและหมุนเปลี่ยนฉากได้ รวมไปถึงหน้าเวทีที่มีแท่นเลื่อนขึ้นลงด้วยระบบไฮดรอลิก เตรียมพร้อมรองรับบุคคลที่จะมาเยี่ยมเยียน และรับความสุขจากโรงหนังแห่งนี้ไปแบบเต็มอิ่ม

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ศาลาเฉลิมไทยเปิดโรงเป็นปฐมฤกษ์ พร้อมให้ทุกคนมายลโฉม โดยวันนั้นมีละครเวทีเรื่อง “ราชันย์ผู้พิชิต” (ประพันธ์-ศักดิ์เกษม หุตาคม) ที่ แก้ว อัจฉริยกุล กำกับการแสดง มาประเดิมอีกด้วย 

หลังจากเปิดตัวไป “ศาลาเฉลิมไทย” ซึ่งได้รับกระแสตอบรับอันล้นหลามจากประชาชนคนไทย ก็นำภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง “รุ้งสวรรค์” มาฉาย เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ผู้ชมมากขึ้น

วันเวลาผ่านไปหลายทศวรรษ ศาลาเฉลิมไทยได้มอบความสุขให้กับผู้คนหลายชั่วอายุ เมื่อใครอยากจะดูหนัง หนึ่งตัวเลือกดี ๆ คงไม่พ้นศาลาเฉลิมไทยอย่างแน่นอน

ก่อนที่ พ.ศ. 2532 “โรงหนังเฉลิมไทย” จะถูกทิ้งไว้เพียงแต่ชื่อให้คนรุ่นใหม่รู้จัก เพราะในปีนั้น รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้รื้อศาลาเฉลิมไทย เนื่องจากอาคารดังกล่าวบดบังทัศนียภาพของ “โลหะปราสาท” วัดราชนัดดารามวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังศาลาเฉลิมไทย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.matichonweekly.com/column/article_384091

https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_44981


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2566