วาทะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อทุบ “ศาลาเฉลิมไทย” มอง “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ต่ำทราม

(ซ้าย) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (ขวา) ศาลาเฉลิมไทย (From Wikimedia Commons, public domain)

ถนนราชดำเนินเป็นถนนสายสำคัญของกรุงเทพฯ เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ของชาติที่สะท้อนเรื่องราวผ่านงานศิลปะด้านสถาปัตยกรรมมาตลอดหลายช่วงสมัย อำนาจทางการเมืองที่มีขึ้นมีลงระหว่าง “คณะราษฎร” และ “คณะเจ้า” ก็ส่งผลกระทบต่อสถาปัตยกรรมบนถนนราชดำเนินอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสรณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีพิธีเปิดวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 และยังมีการขยายถนนราชดำเนินกลาง ประดับประดาโคมไฟอย่างวิจิตรทันสมัย และสองฟากถนนก็มีตึกสมัยใหม่ที่ออกแบบโดย นายจิตรเสน อภัยวงศ์ สถาปนิกที่จบการศึกษามาจากฝรั่งเศส ซึ่งรูปแบบอาคารได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุคใหม่ (Modern Architecture) ที่ให้ความสำคัญกับรูปทรงเรขาคณิต โดยเฉพาะแบบคิวบิซึ่ม

หนึ่งในอาคารที่นายจิตรเสน อภัยวงศ์ ออกแบบคือ “ศาลาเฉลิมไทย” ตั้งอยู่ที่มุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย ฝั่งตรงข้ามป้อมมหากาฬ เป็นอาคารใช้แสดงมหรสพเช่น ฉายภาพยนตร์และแสดงละครเวที กระทั่งได้ถูกรื้อถอนเนื่องจากบดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท วัดราชนัดดา ทว่านั่นไม่ใช่สาเหตุประการเดียวของการรื้อถอนศาลาเฉลิมไทย

ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายในหนังสือ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” (สำนักพิมพ์มติชน, 2552) ว่า เบื้องหลังคือความพยายามในการลบประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรในยุคสมัยที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ คือช่วง พ.ศ. 2475-2490 ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายว่า

“…ความพยายามจะลบประวัติศาสตร์ทุกๆ ด้านที่เกิดในช่วง 15 ปี ของ ‘คณะราษฎร’ โดยผ่านวิธีการต่างๆ โดยมีเป้าหมายคือทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของ ‘คณะราษฎร’ กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลุ่มปัญญาชนแนว ‘อนุรักษ์นิยม’ ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคมไทยหลังปี 2500 กลุ่มดังกล่าวมีแนวคิดที่มุ่งฟื้นฟูบทบาทและสถาณภาพทางการเมืองของ ‘สถาบันกษัตริย์’ ที่ถูกลดบทบาทความสำคัญลงไปโดย ‘คณะราษฎร’ หลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475”

เมื่อกลุ่มอนุรักษ์นิยมก้าวขึ้นมามีอำนาจจึงพยายามลบล้างผลผลิตของคณะราษฎร นั่นรวมถึงสถาปัตยกรรมด้วยเช่นกัน ศาลาเฉลิมไทยจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องถูกรื้อถอน ด้วยเหตุที่เป็นสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรแล้ว ยังเป็นอาคารที่บดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท และวัดราชนัดดา ซึ่งนับเป็นแรงผลักสำคัญที่ต้องรื้ออาคารแห่งนี้

ศาลาเฉลิมไทย (From Wikimedia Commons, public domain)

ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีมติลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 เรื่อง โครงการรื้อฟื้นพระที่นั่งภูวดลทัศนัย หอกลองประจำเมือง และสร้างพระบรมรูป ร.3 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติมอบโครงการรื้อฟื้นพระที่นั่งภูวดลทัศนัย หอกลองประจำเมืองและสร้างพระบรมรูป รัชกาลที่ 3 ให้กระทรวงการคลังไปปรึกษากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 

กระทั่งต่อมา พ.ศ. 2532 ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้รื้อศาลาเฉลิมไทยในที่สุด แม้จะมีการคัดค้านจากหลายภาคส่วนก็ตาม

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปัญญาชนที่มีแนวคิดแบบ “อนุรักษ์นิยม” กล่าวถึงการรื้อศาลาเฉลิมไทย ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2532 ความตอนหนึ่งว่า

“…การสร้างศาลาเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาโดยสิ้นเชิง… แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดาอันเป็นสิ่งสวยงามกลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทยอันเป็นโรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง

คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รับผิดชอบในการสร้างถนนราชดำเนินกลางขึ้นนั้น มิได้มีใจรักศิลปะหรือวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใดเลย และออกจะไม่เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญ และจำเป็นอีกด้วย จึงสามารถทำกับวัดราชนัดดาได้ถึงเพียงนี้… เมื่อโรงหนังเฉลิมไทยถูกทุบทิ้งไปแล้ว ภาพของวัดราชนัดดาและโลหะปราสาทก็จะปรากฏแจ่มแจ้ง… เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรยินดีและเป็นที่น่าภูมิใจของคนในกรุงเทพมหานครทั้งหมด…

ในยุค 50 ปี ที่แล้วมานี้ (ยุคของคณะราษฎร – ผู้เขียน) ได้มีการสร้างตึกรามที่น่าเกลียดน่ากลัวเอาไว้ในกรุงเทพมหานครอีกมากพอสมควร เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มทุบทิ้งอะไรกันขึ้นแล้ว เราก็ควรรู้สึกมันมือ เที่ยวทุบทิ้งตึกอื่นๆ ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง และมีสถาปัตยกรรมอันไม่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของกรุงเทพฯ…”

ชาตรี ประกิตนนทการ แสดงความเห็นต่อแนวคิดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ว่า เป็นการวิจารณ์ที่ตั้งอยู่บนอารมณ์มากกว่าเหตุผล และการวิจารณ์นี้เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ทางการเมืองมากกว่าเรื่องคุณค่าทางศิลปะ โดยชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายถึงการทำลายศิลปะอย่างกรณีของการรื้อศาลาเฉลิมไทยว่า

“…การประเมินคุณค่าทางศิลปะของวัตถุใดๆ ก็ตามล้วนผันแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา มิใช่เป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืน หรือมีลักษณะเป็นสัจจัสากลจริงแม้แต่อย่างใด… การวัดประเมินคุณค่าควรจะต้องใช้มาตรฐานหลายอย่างเข้ามาร่วมเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาด้วยเสมอ โดยเฉพาะ ‘คุณค่าทางประวัติศาสตร์’ ซึ่งอาคารเหล่านั้นทำหน้าที่สะท้อนภาพของสังคมในยุคใดสมัยหนึ่งนั้นยิ่งต้องคำนึงถึงให้มาก มิฉะนั้นแล้ว จะเท่ากับเป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่สามารถบ่งบอกเรื่องราวในยุคสมัยบางยุคลงไปอย่างน่าเสียดาย”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2563