“ไชยามพวาน” หนึ่งใน “วานรสิบแปดมงกุฎ” ขุนศึกของพระราม

หัวโขน ไชยามพวาน
หัวโขน ไชยามพวาน (ภาพจากหนังสือ หัวโขน สมบัติศิลป์ แผ่นดินไทย)

“ไชยามพวาน” คือหนึ่งในกลุ่มเสนาวานร กำลังสำคัญที่ช่วยพระรามปราบทศกัณฐ์ในเรื่อง รามเกียรติ์ โดยมีชื่อเรียกกลุ่มนี้ว่า “วานรสิบแปดมงกุฎ” ชื่อเดียวกับสำนวน “สิบแปดมงกุฎ”

วานรสิบแปดมงกุฎ หรือ เสนาวานร 18 ตน ถือเป็นทหารระดับ “ขุนศึก” ของพระราม เป็นกลุ่มทหารเอกที่อิทธิฤทธิ์และบรรดาศักดิ์เป็นรองเพียงกลุ่มพญาวานรอย่าง หนุมาน สุครีพ องคต ชมพูพาน นิลพัท นิลนนท์ (อาจรวมชามพูวราช ที่เป็นพญาหมีด้วย) เท่านั้น

Advertisement

เสนาวานรเหล่านี้มาจากเมืองขีดขินของสุครีพ และเมืองชมพูของท้าวมหาชมพู โดยวานรทั้ง 18 ตน คือเทพที่จุติลงมาอาสารับใช้พระราม ผู้เป็นองค์นารายณ์อวตาร ให้การสนับสนุนพระรามกำราบเหล่าอสูรและเผ่าพันธ์ุยักษ์ ดังบทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ว่า

“เมื่อนั้น  ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่

ต่างทูลอาสาพระภูวไนย  จะขอไปเป็นพลพระอวตาร

มาล้างเหล่าอสูรพาลา  ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน”

ทั้งนี้ 18 เทวดา มีทั้งโอรสของมเหสักขเทวราช เทพนพเคราะห์ ท้าวโลกบาล และเทพประจำธรรมชาติทั้งหลาย สีกายของวานรเหล่านี้จึงเป็นไปตามสีกายเดิมของเทพผู้จุติลงมา

รามเกียรติ์ รามายณะ พระราม รบ ทศกัณฐ์ มี วานร สิบแปดมงกุฎ เป็นเสนาวานร หนึ่งในนั้น ชื่อ ไชยามพวาน
สงครามกรุงลงกา ในรามายณะ หรือ รามเกียรติ์, ผลงาน Sahibdin (ภาพจาก Wikimedia Commons)

สำหรับ “ไชยามพวาน” คือ พระอีศาณหรือพระวิศาลเทวบุตร แบ่งภาคมาจุติเป็นวานรเมืองขีดขิน ได้รับพรจากพระอิศวรให้เป็นผู้ถือธงชัยนำกองทัพพระรามไปรบ เนื่องจากมีชื่อเป็นมงคลข่มนามอสูร ไชยามพวานเป็นวานรกายสีเทา หรือสีมอหมึกอ่อน เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกาได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาฝ่ายขวาแห่งเมืองขีดขิน

ในส่วนเสนาวานรตนอื่น ๆ ได้แก่ 1) เกยูร 2) มายูร 3) โกมุท หรือโคมุท 4) ไวยบุตร 5) สุรกานต์ 6) นิลเอก 7) นิลขัน 8) กุมิตัน 9) นิลราช 10) สัตพลี 11) วิสันตราวี 12) สุรเสน 13) นิลปานัน 14) มาลุนทเกสร 15) นิลปาสัน 16) นิลพานร หรือวิมล 17) เกสรทมาลา

นอกจากนี้ วานรสิบแปดมงกุฎ ยังได้รับพรจากพระอิศวรว่า แม้สิ้นชีพก็ฟื้นคืนชีวิตได้ หากพระพายพัดผ่าน เช่นเดียวกับหนุมาน

เสนาวานรกลุ่มนี้ยังเป็นที่มาของสำนวนเชิงลบ สื่อถึงพวกมิจฉาชีพที่ใช่เล่ห์เหลี่ยมหรือกลโกงหลอกลวงผู้อื่นให้เดือดร้อน หรือพวก “สิบแปดมงกุฎ”

ที่มาของสำนวนข้างต้น สง่า กาญจนาคพันธุ์ หรือ ขุนวิจิตรมาตรา กล่าวไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ว่า “ในสมัยหนึ่ง มีนักเลงการพนันพวกหนึ่งซึ่งถือกันว่าเป็นนักเลงใหญ่หรือนักเลงชั้นยอด พวกนี้สักตรามงกุฎ จึงได้ชื่อว่าสิบแปดมงกุฎ หลังจากนั้นใครก็ตามที่เป็นนักเลงการพนัน แม้จะไม่ได้สักตรามงกุฎ ก็เรียกกันว่า ‘สิบแปดมงกุฎ’

คำว่า ‘มงกุฎ’ ทำให้นึกถึง สิบแปดมงกุฎ ในเรื่องรามเกียรติ์  เมื่อกล่าวถึงนักเลงการพนันที่สักตรามงกุฎ จึงเติมคำเป็น ‘สิบแปดมงกุฎ’ ต่อมา สิบแปดมงกุฎได้ขยายความหมายออกไป หมายถึง ผู้ที่มีเล่ห์เหลี่ยมมาก ผู้ที่ปลิ้นปล้อนหลอกลวงผู้อื่น”

สำนวนสิบแปดมงกุฎจึงติดปากคนไทยเรื่อยมา ทั้งที่พฤติกรรมไม่เหมาะสมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับลักษณาการใด ๆ ของเหล่าวานรสิบแปดมงกุฎเลย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ทัศชล เทพกำปนาท, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. “สิบแปดมงกุฎคือพวกร้ายหรือพวกดี”. 10 พฤษภาคม 2564. (ออนไลน์).

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. “สิบแปดมงกุฎ”. 26 ตุลาคม 2550. (ออนไลน์).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566