ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ชาด” เป็น เครื่องประทินโฉม ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน บ้างก็ว่าเกิดขึ้นในสมัยโจ้วหวังหรือราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล บ้างก็ว่าเกิดอย่างน้อยก็น่าจะไม่เกินสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ (ราชวงศ์ฉิน) หรือราชวงศ์ฮั่น แม้ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วชาดถูกใช้เพื่อแต่งแต้มแก้มให้แดงระเรื่อตั้งแต่เมื่อใด แต่ใน ประเทศจีน อันยิ่งใหญ่กลับมีสูตรนานาชนิดที่รังสรรค์ “ชาด” ให้ออกมาสวยพร้อมเสิร์ฟเป็นจำนวนมาก และไม่ได้มีเพียง “ชาด” ที่ทำมาจากแร่หรือดอกไม้เท่านั้น ทว่าถึงขั้นทำมาจาก “สารขับถ่ายของแมลง”?
ชาดคืออะไร?
ชาดจัดเป็น เครื่องประทินโฉม หรือเครื่องสำอาง มีสีแดงเป็นเอกลักษณ์ มักใช้ทาบริเวณแก้ม ปาก เพื่อให้ผิวเปล่งปลั่งฝาดแดงระเรื่อ สุขภาพดี เหมือนคนดื่มน้ำครบ 8 แก้วต่อวัน
อุปกรณ์เพิ่มความงามนี้มีหลากชนิด เริ่มต้นจากสมัยโบราณ ซึ่งอย่างน้อยก็น่าจะราชวงศ์โจว มักใช้แร่หรือจูซาเพื่อเสริมเติมแต่งความงาม โดยเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่มีสีม่วงแดง ทำให้เป็นผง ก่อนจะผสมกับน้ำดอกหงฮวา
ก่อนที่ในสมัยราชวงศ์ฮั่นจะเกิดชาดจากดอกไม้ ซึ่งก็คือ “ชาดดอกหงหลาน” โดยชนเผ่าซุงหนูได้นำมาเผยแพร่ในจีนเนื่องจากศึกสงคราม จนหญิงจีนมากหน้าหลายตาได้รับวัฒนธรรมความงามนี้มา และเริ่มแต่งแต้มใบหน้าด้วยสีแดงจากชาดดอกไม้
“ชาดดอกหงหลาน” นี้ทำมาจากดอกหงหลาน มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เหลียงฮั่นและซีอวี้ (เอเชียกลาง) มีรสเผ็ด ลักษณะอุ่น ไม่มีพิษ จึงเหมาะกับการทำชาด
วิธีการทำชาดด้วยดอกหงหลาน ใน “ฉีหมินเย่าซู่ เล่มที่ 5” โดยเจี่ยซือเสีย สมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย ระบุไว้ว่า ต้องฆ่าดอกไม้ (หรือคือตำดอกไม้ให้ละเอียดนั่นแหละ) เสียก่อน ถึงจะเริ่มทำชาดได้ ในการฆ่าดอกไม้มีดังนี้
“นำดอกหงหลานมาตำให้ละเอียด ล้างด้วยน้ำ แล้วใส่ถุงผ้าคั้นน้ำสีเหลืองทิ้ง ตำอีก ล้างด้วยน้ำซาวข้าวฟ่างผสมกับน้ำส้มสายชูหมัก แล้วใส่ถุงผ้าคั้นน้ำ ได้น้ำสีแดง กากอย่าทิ้ง นำไปใส่ในอ่างกระเบื้อง ปิดผ้า พอรุ่งเช้านำมาตำให้ละเอียด วางบนเสื่อนำไปตากแดดพอหมาด แล้วปั้นเป็นแผ่น ในการปั้นต้องไม่แห้งเกินไป ให้ชื้นเล็กน้อย”
เมื่อฆ่าดอกไม้หรือตำดอกไม้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาทำชาด ซึ่งระบุไว้ต่อมาว่า
“นำต้นลั่วหลี ต้นหลีเตี้ยว และต้นเฮามาเผาให้เป็นขี้เถ้า ถ้าไม่มีใช้ขี้เถ้าหญ้าก็ได้ แช่น้ำแล้วรินเอาแต่น้ำใส น้ำแรกที่ได้เข้มข้นเกินไป ใช้ฆ่าดอกไม้ไม่ได้ เอามาซักผ้าเท่านั้น ใช้น้ำที่แช่ครั้งที่ 3 นำมาขยำกับดอกไม้ ทำให้สีสวย ขยำ 10 รอบ ออกแรงเต็มที่ ใส่ถุงผ้าคั้นเอาน้ำ ใส่ชามกระเบื้อง นำทับทิมเปรี้ยวสองสามผล เขี่ยเมล็ดออก ตำละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าวฟ่างเล็กน้อย
คั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำคั้นดอกไม้ ถ้าไม่มีทับทิม ใช้น้ำส้มสายชูหมักกับน้ำซาวข้าวแทน ถ้าไม่มีน้ำส้มสายชู ใช้น้ำซาวข้าวที่เปรี้ยวจัดก็ได้ เติมแป้งข้าวเท่าพุทราจีน ถ้าแป้งเยอะจะทำให้ได้สีออกขาว ใช้ไม้ไผ่สะอาดคนเป็นเวลานาน ปิดฝาตั้งไว้ข้ามคืน แล้วรินน้ำใสทิ้งให้หมด ใส่ถุงผ้าแขวนทิ้งไว้ 1 วัน วันรุ่งขึ้นก็แห้งหมาด ๆ ปั้นเป็นแท่งเล็กขนาดครึ่งหนึ่งของเชือกป่านผึ่งลมให้แห้งก็ใช้ได้”
ไม่เพียงแค่ดอกหงหลานเท่านั้น ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำชาด เพราะยังมี “ดอกซานเยียนจือ” ที่ทำให้เกิด ชาดซานฮวา, ชาดฮวาลู่ “ดอกกุหลาบ” ที่ทำให้เกิด ชาดกุหลาบ รวมไปถึง “ดอกซานหลิว” หรือ “ดอกตู้เจวียน” ที่มาของชาดดอกซานหลิว เป็นต้น
การใช้ชาดแต่งหน้าปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์จีนเรื่อยมา จนในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงก็เกิด “ชาดหูเยียนจือ” ที่ทำมาจาก “สารขับถ่ายของแมลง” อย่าง “จื่อเหมา” ซึ่งปรากฏในตำราแพทย์ “ว่ายไถมี่เย่า” โดยหวังทาว ในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นเพียงกรรมวิธีภายในตระกูลไว้ว่า
“จื่อเหมา 1 ชั่ง บดละเอียด ไป๋ผี (เปลือกของต้นเว่ยเหมา-แยกต่างหาก) 8 สลึง บดละเอียด หูถงเล่ย (ยางไม้ต้นหยางหลิ่ว) ครึ่งตำลึง น้ำตาลกรวดเปอร์เซีย 2 ช้อน
เตรียมวัตถุดิบทั้งสี่ นำน้ำ 8 เซิงใส่ในภาชนะโลหะ ต้มด้วยไฟแรงจนเดือดพล่าน เติมจื่อเหมา ต้มจนเดือด เติมไป๋ผี คนให้ทั่ว จากนั้นเติมหูถงเล่ยและน้ำตาลกรวด ต้มจนเดือด รอให้จื่อเหม่า ต้มจนเดือด รอให้จื่อเหมาตกตะกอนก็ใช้ได้ นำมากรองด้วยผ้าบาง ใช้ก้อนสำลีหรือผ้าจุ่มลงไปขนาดใหญ่เล็กตามใจชอบ พอจุ่มเสร็จใช้ไม้ไผ่ประกบเหมือนเนื้อเค็ม นำมาย่างบนเตาถ่าน ย่างจนแห้งแล้วจุ่มใหม่ ทำเช่นนี้หกเจ็ดครั้งก็ใช้ได้ ถ้าทำ 10 ครั้งขึ้นไปยิ่งดี สีจะเข้มสวยงาม”
แม้ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะไม่นิยมนำชาดจากแหล่งธรรมชาติมาเสริมเติมแต่งใบหน้าแล้ว เนื่องจากเครื่องสำอางสมัยใหม่มีพัฒนาการไปมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีต “ชาด” เป็นเครื่องสำอางที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ขาดไม่ได้
อ่านเพิ่มเติม :
- “หยางกุ้ยเฟย” สาวงามผู้นำเทรนด์การทาเล็บใน ประเทศจีน
- เขากวางก็มา ขาหมูก็มี! สูตรเด็ดความงามกว่าพันปีของสาวจีน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2566