“หยางกุ้ยเฟย” สาวงามผู้นำเทรนด์การทาเล็บในจีน

ภาพวาด หญิงจีน ราชวงศ์หมิง อยู่ในสวน
ภาพวาด หญิงจีน ราชวงศ์หมิง

ยุคนี้เราต่างเห็นใคร ๆ “ทาเล็บ” กันเป็นปกติ ทั้งสีพื้น ลวดลายการ์ตูน ติดตุ๊กตา หรือไล่สี ที่เรียกว่า “ออมเบร” เหล่านี้ล้วนสร้างความสวยงามให้กับปลายเล็บของเรา การทาเล็บปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ความงามของหลายชนชาติทั่วโลก เช่น จีน ซึ่งสาว ๆ มีเคล็ดลับการทาเล็บให้สวยปังมาแล้วกว่าพันปี!

การ “ทาเล็บ” ของจีนมีจุดเริ่มต้นในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้บุกเบิก แต่จากข้อความที่ปรากฏในหนังสือ “ว่าด้วยสรรพสิ่ง” ว่า “หยางกุ้ยเฟยทาทั้งเล็บมือเล็บเท้า เรียกว่าเทพธิดากระเรียนขาว หญิงในวังพากันเลียนแบบ” คาดคะเนได้ว่า หยางกุ้ยเฟย เป็นคนจุดกระแส หรือภาษาปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็น “ตัวแม่” นำเทรนด์การแต่งเล็บในช่วงเวลานั้น 

เมื่อการทาเล็บเริ่มแพร่หลาย จึงเกิดการบันทึกหรือค้นหาวิธีต่าง ๆ เพื่อแต่งแต้มสีสันให้ตนเอง ตามหลักฐานหนังสือ “เปิ่นเฉ่ากังมู่ ว่าด้วยพืช” เล่ม 7 และเล่ม 14 หญิงสาวจีนตั้งแต่ราชวงศ์ถังเป็นต้นมาได้เลือกใช้ ดอกเฟิ่งเซียน (ดอกเทียนดอกหรือดอกเทียนไทย) และ ดอกจื่อเจี่ย (ดอกเทียนกิ่ง) เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการทาเล็บ

ดอกเฟิ่งเซียน เป็นดอกไม้ที่มีสีแดงแบบดอกท้อ ผู้หญิงจีนสมัยนั้นจึงนิยมเอามาตกแต่งเล็บ โดยวิธีการนำบุปผาชนิดนี้มาทำเป็นอุปกรณ์เสริมความงามนั้นปรากฏในหนังสือ “นานาระสาระกุ่ยซิน” ของโจวมี่ สมัยราชวงศ์ซ่ง ว่า

“ดอกเฟิ่งเซียนมีสีแดง ใช้กลีบดอกบดละเอียด ใส่สารส้มเล็กน้อย ล้างเล็บให้สะอาดทาด้วยสีที่เตรียมไว้ ทาซ้ำหลายครั้ง ใช้ผ้าห่อข้ามคืน ทาครั้งแรกสีจาง ให้ทา 4-5 ครั้งจะมีสีแดงเหมือนครีมทาหน้า ล้างออกยาก ติดทนนับ 10 วัน แล้วค่อยๆ ลอกออก…ทุกวันนี้แม่เฒ่าอายุเจ็ดแปดสิบก็ยังทาเล็บ”

วิธีการดังกล่าวเมื่อได้ลองพินิจพิจารณาก็รู้สึกว่าคล้ายคลึงกับการทำเล็บในปัจจุบันที่ต้องมีการทาทับกันซ้ำ ๆ หลายครั้ง จนได้สีออกมาเข้มตามที่พอใจ 

นอกจากเฟิ่งเซียนแล้วก็ยังมี ดอกจื่อเจี่ย ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการยกระดับความสวยงามของเล็บให้โดดเด่นยิ่งขึ้น จากบันทึก “เปิ่นเฉ่ากังมู่ ว่าด้วยเรื่องพืช” เล่มที่ 14 ที่บันทึกโดย หลี่สื้อเจิน สมัยราชวงศ์ซ่ง ได้อธิบายคุณสมบัติดังกล่าวไว้ว่า

“ดอกจื่อเจี่ย (เทียนกิ่ง) สีเหลืองกับสีขาว บานในฤดูร้อน กลิ่นคล้ายดอกกุ้ยฮวา (สารภีฝรั่งหรือดอกหอมหมื่นลี้) ใช้ทาเล็บดีกว่าดอกเฟิ่งเซียน” 

ทว่าน่าเสียดายที่จื่อเจี่ยไม่ได้รับความนิยมเทียบเท่ากับเฟิ่งเซียน เนื่องจากเป็นดอกไม้หายาก ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน

ความงามในการตกแต่งเล็บในสังคมจีนยังคงพัฒนาต่อไปไม่หยุดหย่อน เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมเคมีก็เข้ามายึดพื้นที่การทำเล็บแบบธรรมชาติมากขึ้น ก่อนจะกลายมาเป็นการทาสีเล็บในรูปแบบต่าง ๆ ที่รู้จักกันในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลี่หยา. งามเพราะแต่ง ประวัติศาสตร์การประทินโฉมตำรับจีน. แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร. กรุงเทพ: มติชน, 2564.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2566